|
เจียงหนานแสนงาม
พิมพ์ครั้งแรก: พ.ศ. 2543
พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 42 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึก ไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 2 เมษายน – 14 เมษายน 2542 ในพระราชนิพนธ์ “คำนำ” ทรงกล่าวเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ตอนหนึ่งว่า
"…คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง ภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของกิมย้ง ก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ อาจารย์ของก๊วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่องจอมใจจักรพรรดิ หรือเจียงซานเหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า "เจียงหนานเห่า" หรือ เจียงหนานแสนงาม ป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก
เจียงหนานแสนงามทิวทัศน์เก่าที่คุ้นเคยแดดออก บุปผาริมนทีแดงกว่าเพลิงชุนเทียนย่างมา น้ำนทีเขียวดุจครามไม่คิดถึงเจียงหนานได้อย่างไร
ไป๋จวีอี้ (ค.ศ. 772 - ค.ศ. 846) กวีเอกและขุนนางในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นผู้แต่งร้อยกรองบทนี้ นักวรรณดคีกล่าวว่า บทกวีนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย ไพเราะ ฟังสบาย ใช้อักษรเพียง 27 ตัวก็บรรยายภาพฤดูใบไม้ผลิที่เจียงหนานได้อย่างดี...
|
|
หวงเหออู่อารยธรรม
พิมพ์ครั้งแรก: พ.ศ.2544
"หวงเหออู่อารยธรรม" พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 7-20 มีนาคม 2543 ครั้งนี้ทรงบันทึกเป็นจดหมาย 14 ฉบับ ตามจำนวนวันของการเสด็จฯ เยือนจีนในคราวนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจ ในมณฑลส่านซี มณฑลซานตง มณฑลเหอหนาน อันเป็นบริเวณที่แม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน เป็นอู่อารยธรรมของจีน
|
|
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
พิมพ์ครั้งแรก: พ.ศ. 2544
พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาจีน ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2544 ในพระราชนิพนธ์ "คำนำ" ทรงเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาในครั้งนี้ว่า
"ข้าพเจ้าเรียนภาษาจีนมา 20 ปีแล้ว แต่ความรู้ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่สถานทูตจีนจัดครูมาสอนเป็นประจำ จึงเกิดความคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาอยู่ในแวดวงคนจีน เรียนภาษาจีนอย่างเดียวไม่ต้องทำงานอื่นสักพักหนึ่ง น่าจะดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าระยะหลังๆ นี้ การงานที่เมืองไทยค่อนข้างมาก จะปลีกตัวมาได้นานสักเท่าไร เมื่อ 3 ปีก่อนเคยไปสหรัฐอเมริกาเดือนหนึ่ง จึงคิดว่าน่าจะอยู่จีนได้เหมือนกัน ได้ไปลองปรึกษากับใครๆ ที่เมืองจีน ทั้งทางมหาวิทยาลัยและคนอื่น ทุกคนต่างเห็นดีด้วย ลองไปสืบราคาที่อยู่และค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง รู้สึกว่าค่อนข้างแพง แต่ก็น่าจะสู้ราคาได้ ภายหลังท่านทูตฟู่เสวียจัง ทูตจีนประจำประเทศไทยในขณะนั้นบอกว่า กระทรวงศึกษาธิการจีนจะรับภาระค่าใช้จ่ายทุกๆ ด้าน ทั้งด้านที่พักในมหาวิทยาลัย การเล่าเรียน และอาหารการกิน"
|
|
ต้นน้ำ ภูผาและป่าทราย
พิมพ์ครั้งแรก: พ.ศ. 2548
พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงพระราชนิพนธ์คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 13-27 สิงหาคม 2544 ในครั้งนี้ทรงบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เขตปกครองตนเองทิเบต มหานครปักกิ่ง และมณฑลเหอเป่ย ในพระราชนิพนธ์ "คำนำ" ทรงกล่าวว่า
"…พื้นที่ทั้ง 3 แห่งที่เป็นจุดหลักของการไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นเรื่องภูเขาและที่ราบสูง ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเล 4,000-5,000 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบสูงที่สูงสุดในโลก จนได้สมญาว่า “หลังคาโลก” นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ทะเลทราย มีป่าทราย และโอเอซิสเขียวขจีในบางแห่ง ส่วนที่หนิงเซี่ยนั้นมีที่ราบสูงดินเหลืองด้วย
|