Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 39-52


(น. 39) รูป 25 ในพิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น
Museum of the War of Resistance Against Japan.


รูป 26 ตัวเขียนลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินในห้องโถงกลางของพิพิธภัณฑ์
President Jiang Zemin's hand-writing in the main hall of the Museum.

(น. 39) วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2542
ตอนเช้านี้ไปที่พิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น อยู่ที่หว่านผิง ชานเมืองปักกิ่ง เข้าไปที่ห้องโถง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวต้อนรับและแนะนำผู้อำนวยการเขตจงไถของปักกิ่ง แล้วเล่าประวัติของพิพิธภัณฑ์ว่าสร้างขึ้นเพื่อเล่าประวัติสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของประชาชนจีน ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 ถึงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1945 อันเป็นวันที่ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อจีน สร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1987 ครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่สะพานหลูโกวเฉียว (สะพานมาร์โคโปโล) ในค.ศ. 1995 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ได้อนุมัติให้ขยายพิพิธภัณฑ์ การดำเนินการแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1997 ทันงานที่ระลึกครบรอบ 60 ปี ที่ห้องโถงกลางมีตัวเขียนลายมือประธานาธิบดีเจียง ผนังซ้ายขวามีโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้อง ด้านหนึ่งเป็นเพลงชาติจีน อีกด้านดูเหมือนจะเป็นเพลงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์นี้มีผู้เข้าชมประมาณปีละล้านกว่าคน และมีวัตถุประสงค์ต้องการให้การศึกษาแก่เยาวชน เป็นบทเรียนว่าถ้าเราไม่เตรียมพร้อมมัวล้าหลังจะถูกรังแก จึงจำเป็นต้องสร้างประเทศของเราให้รุ่งเรือง รวมทั้งสอนให้รู้ว่าต้องร่วมมือสามัคคีกับประชาชนทั่วโลกเพื่อต่อต้านสงครามรักษาสันติภาพ


(น. 40) รูป 27 กำแพงเหล็กผนังทอง
Wall carved in the shape of men carrying weapons. The meaning is that people can sacrifice their lives as a living wall to protect their motherland.

(น. 40) กล่าวต้อนรับและเล่าประวัติพิพิธภัณฑ์แล้ว ผู้อำนวยการให้ผู้บรรยายพาชม จากห้องโถงมีห้องแสดงอีก 6 ห้อง ที่ห้องโถงมีรูปสลักคนถืออาวุธยืนเรียงกัน เรียกว่า กำแพงเหล็กผนังทอง หมายความว่า เราต้องสร้างกำแพงป้องกันประเทศด้วยเลือดเนื้อของเรา ส่วนที่เพดานแขวนระฆังสำริด 8 ใบ สื่อความหมายว่าเพื่อเตือนสติเราให้ระวังภัยจากศัตรู
(น. 41) ห้องที่ 1 แสดงเหตุการณ์ที่เมืองเสิ่นหยัง (เมืองมุกเดนตามที่ญี่ปุ่นตั้งชื่อไว้ในภายหลัง) มณฑลเหลียวหนิง เมื่อ ค.ศ. 1931 และเหตุการณ์ที่สะพานหลูโกวเฉียว เมืองหว่านผิง ใกล้กรุงปักกิ่ง ในค.ศ. 1937 มีแผนที่แสดงการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเข้ามาในตงเป่ยหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อญี่ปุ่นได้ชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1905 มีภาพแสดงประวัติความเป็นมาดังนี้ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1927 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจัดการประชุมบูรพาขึ้นที่กรุงโตเกียว มีมติให้แยกแมนจูเรียและมองโกเลียออกกจากจีนมาเป็นของญี่ปุ่น แมนจูเรียอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินการต่างๆ ตามมติดังนี้


(น. 41) รูป 28 ภาพเหตุการณ์ กันยายน ค.ศ. 1931 – กรกฎาคม ค.ศ. 1937
Pictures displaying the events from September 1931 - July 1937


(น. 42) รูป 29 ภาพเหตุการณ์ กันยายน ค.ศ. 1931 – กรกฎาคม ค.ศ. 1937
Pictures displaying the events from September 1931 - July 1937

(น. 42) วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีเมืองเสิ่นหยัง ภายใน 4 เดือนก็สามารถยึดได้เมืองเสิ่นหยัง (มณฑลเหลียวหนิง) ฉังชุน (มณฑลจี๋หลิน) และฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง) แล้วยึดเมืองอื่นๆ ต่อเนื่องมา ภาคอีสานของจีนก็อยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจัดตั้งหม่านโจวกั๋วขึ้น (ประเทศแมนจูเรีย ภาษาไทยถอดเสียงเคลื่อนเป็น แมนจูกัว) พอถึง ค.ศ. 1934 ญี่ปุ่นสถาปนาพระเจ้าผู่อี๋เป็นจักรพรรดิหม่านโจวกั๋ว หลังจากญี่ปุ่นบุกตงเป่ย พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เป็นแกนนำรวมพลังประชาชนต่อต้านญี่ปุ่น จัดตั้งเป็นกองทัพพันธมิตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อต้านญี่ปุ่น ค.ศ. 1935 นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในกรุงปักกิ่งได้รวมพลังกันเดินขบวนให้โค่นล้มลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และคัดค้านพวกขุนศึกในภาคเหนือที่ตั้งตนขึ้นมามีอำนาจปกครองตนเอง ในช่วงนั้น พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนสู้รบกัน ปลาย ค.ศ. 1936 เจียงไคเช็กไปบัญชาการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ที่เมืองซีอาน วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1936 นายพลจังเสวียเหลียงและนายพลหยังหู่เฉิง ขุนศึกภาคเหนือจับเจียงไคเช็กไปขังไว้ ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งสามารถเจรจารอมชอมกันได้ เหตุการณ์เมืองซีอานจึงยุติลงอย่างสันติ
(น. 43) ส่วนเหตุการณ์สะพานหลูโกวเฉียวนั้นมีสาเหตุจากวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นซ้อมรับอยู่รอบๆ สะพานหลูโกวเฉียว แล้วอ้างว่ามีพลทหารคนหนึ่งหายไป ขอเข้าค้นหาในเมืองหว่านผิง ซึ่งอยู่ใกล้ปักกิ่ง แต่กองทัพจีนไม่ยอม ญี่ปุ่นจึงบุกหว่านผิง เป็นจุดเริ่มต้นสงครามจีน-ญี่ปุ่น และการต่อต้านญี่ปุ่นของชาวบ้านจีนทั่วประเทศ รวมทั้งชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามจีน-ญี่ปุ่นได้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกด้วยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


(น. 43) รูป 30 เหตุการณ์รบที่สะพานหลูโกวเฉียว
The Battle of Lugouqiao.

(น. 44) สิงหาคม ค.ศ. 1937 พรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมมือกันเป็นหนที่ 2 ปรับกองทัพเป็นกองทัพต้านญี่ปุ่น แบ่งเป็นสองกองทัพใหญ่ คือกองทัพลู่ที่ 8 ดูแลการรบที่มณฑลส่านซี กานซู และหนิงเซี่ย มีนายพลจูเต๋อเป็นผู้บัญชาการ ท่านเผิงเต๋อไหวเป็นรองผู้บัญชาการ และปรับกลยุทธ์แถวลุ่มแม่น้ำฉังเจียง ให้กองทัพลู่ที่ 4 คุม การโจมตีทัพญี่ปุ่นของกองพลที่ 115 แห่งกองทัพลู่ที่ 8 ได้รับชัยชนะงดงาม ทหารญี่ปุ่นตายหมื่นกว่าคน เป็นการลบความเชื่อที่ว่าญี่ปุ่นไม่มีวันแพ้ มีภาพประธานเหมากำลังเขียนบทความแสดงทัศนะเรื่องสงครามจีน-ญี่ปุ่นไว้ว่าสงครามนี้จะยาวนาน ทัศนะที่ว่าจีนจะสูญชาติ และความคิดที่ว่าจีนจะได้ชัยชนะรวดเร็วนั้น ผิดทั้งคู่ สงครามนี้จะยืดเยื้อกว่าจะสิ้นสุด


(น. 44) รูป 31 ภาพประธานเหมาเขียนบทความแสดงความเห็นเรื่องสงครามจีน-ญี่ปุ่น
Photograph of President Mao writing an article on the war between China and Japan.


(น. 45) รูป 32 ภาพระหว่างสงคราม
Wartime pictures.

(น. 45) ห้องที่ 2 มีภาพแสดงการสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเล มีลูกโลกแสดงจุดที่มีคนจีนอยู่ แจ้งจำนวนชาวจีนโพ้นทะเลที่สนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1939 มีภาพและวีดีโอแสดงด้วยว่า ประชาชนทั่วโลกก็ได้สนับสนุนให้กำลังใจชาวจีน ภาพเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 คอมมิวนิสต์ประชุมกันที่เมืองเหยียนอาน ในปลายปีนั้นรองประธานพรรคก๊กมินตั๋งยอมทำสัญญากับญี่ปุ่น และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นที่เมืองหนานจิง หรือนานกิง
(น. 46) ค.ศ. 1941 สงครามแปซิฟิกเริ่มต้นด้วยการที่ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกาที่หมู่เกาะฮาวายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ขณะนั้นทหารญี่ปุ่นประจำการในญี่ปุ่น 350,000 คน แต่อยู่ในจีนถึง 1,400,000 คน แสดงว่าจีนมีบทบาทสำคัญในการรบที่ภูมิภาคนี้ ในระหว่างนั้นพรรคคอมมิวนิสต์พยายามพึ่งตนเอง เช่น ปั่นด้ายทอผ้าเอง ผลิตของใช้ต่างๆ เช่น แปรงสีฟัน ไม้ขีดไฟ ปลายปีกองทัพลู่ที่ 8 เริ่มตีโต้กลับได้
ค.ศ. 1943 (22-25 พฤศจิกายน) ผู้นำจีน สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ประชุมกันที่เมืองไคโร ได้ประกาศว่าจะร่วมกันรบให้ชนะญี่ปุ่น และจะคืนดินแดนต่างๆ ที่ญี่ปุ่นยึดไว้อย่างไม่เป็นธรรมคืนให้ประเทศเจ้าของทั้งหมด หลังจากนั้นผู้นำทั้งสามได้ประชุมต่อที่กรุงเตหะราน ครั้งนี้ผู้นำรัสเซียได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้ประกาศร่วมกันเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมว่า จะร่วมกันจัดตั้งองค์การนานาชาติ เพื่อขจัดภัยที่น่ากลัวของสงคราม รักษาสันติภาพของประชาคมโลก
ค.ศ. 1945 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 ที่เมืองเหยียนอาน วางแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วประเทศหลังจากเสร็จสิ้นการต่อต้านญี่ปุ่น

Next >>