Please wait...

<< Back

จิ๋นซีฮ่องเต้

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 25 - 26, 88

(น.25) รูป 38 ชื่อรูป อาวุธโบราณ
(น.25) ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 4 สมัยฉินและสมัยฮั่นที่จริงเขามีคำอธิบายภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเวลาอ่าน ถึงปลายสมัย จ้านกว๋อ มีการปกครองเป็นมณฑลและเมือง สมัยฮั่นขยายอิทธิพลไปเกาหลี จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างกำแพงเมืองจีนกั้นพวกเผ่าอนารยชน รวมประเทศ สร้างมาตราชั่งตวงวัดเป็นระบบเดียวกัน ของที่มีในสมัยนั้นมีเครื่องถ่วงน้ำหนักสำ- หรับชั่ง หัวคันไถซึ่งใหญ่มาก เศษกระเบื้องเชิงชาย วังของจิ๋นซี แถวๆซานไห่กวานใกล้มณฑลเหลียวหนิงแต่อยู่ในเขตเหอเป่ย เป็นสถานที่เกิดเรื่องเล่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเมิ่งเจียงหนู่ซึ่งสามี ถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงเมืองจีนแล้วตายไปมาร้องไห้แล้วโดดทะเลกลายเป็นหิน แถบนี้กล่าวกันว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เคยเสด็จ พบหมู่บ้านสมัยจ้านกว๋อ พบสุสานสมัยฉิน อายุราว 2,000 ปี มีภาพการล่าสัตว์ เครื่องเซรามิกของพวกเหลียวเหนือ
(น.26) รูป 40 ชื่อรูป อาวุธโบราณ รูป 41 ชื่อรูป บ้านโบราณ
(น.26) และพวกเหลียวใต้ ตอนเหนือของมณฑลเหลียวหนิงมีพวกฉยุงหนู (ซึ่งเป็นผู้ร้ายใหญ่ในเรื่องเส้นทางสายไหม) ของสมัยฮั่นตะวันตก พบดาบชนิดต่างๆทำด้วยเหล็ก คันฉ่องโลหะซึ่งใช้เป็นเครื่องมือใส่ในหลุมศพ
(น.88) รูป ไม่มีเบอร์รูป ไม่มีชื่อรูป
(น.88) ซิ่วเหยียน เครื่องหยกสมัยราชวงศ์ชิงหลายชิ้นใช้หยกอำเภอนี้เป็นวัตถุดิบ ปีกลายได้หยกมาก้อนหนึ่งสูง 7 เมตร กว้าง 6 เมตร ยาว 5 เมตร หนัก 300 ตัน ได้ขนไปไว้เมืองอันซาน ห่างจากนครเสิ่นหยาง 90 กิโลเมตร บางคนก็เห็นว่าควรจะเก็บไว้ในสภาพเดิมสร้างหลังคาคุมไว้ นายกพุทธสมาคมว่าน่าจะสลักพระพุทธรูป อีกเรื่องทางวัฒนธรรมได้แก่ เรื่องแม่นางเมิ่งเจียงหนู่ที่เจี๋ยสือ เวลานี้สำรวจทราบแล้วว่าพระเจ้าจิ๋นซีเคยเสด็จจริงๆเป็นสถาน ที่สวยงามมาก อีกหน่อยจะปรับปรุง หวังว่าครั้งหน้าคงจะได้มาอีก เดือนพฤษภาคมหรือกันยายน ในเรื่องการกีฬา มณฑลนี้นักกีฬาเก่งมาก เมื่อมีการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 7 ได้เหรียญทองเป็นอันดับที่ 1 ได้มากกว่ากวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้รวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิ่งตระกูลหม่า

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 73 - 74

(น. 73) รูป 53 เครื่องสำริด รูป 54 กระเบื้องเชิงชาย (ขวา) คันฉ่อง, หัวหอก (ซ้าย)
(น. 73) 5. วัฒนธรรมเอ้อร์หลิงโถวและก่อนราชวงศ์ซาง (Erlingtou and Proto Shang) เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีดำ เครื่องสำริดขนาดกลางและเล็ก 6. เครื่องปั้นดินเผาสมัยจั้นกั๋ว (เลียดก๊ก) สิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงมีอาทิ เงินตราโบราณสมัยชุนชิวและจั้นกั๋วเป็นสมัยที่จีนแบ่งเป็นก๊กหรือแคว้นต่างๆ แต่ละก๊กมีเงินตราของตนเอง มีลักษณะต่างๆ เงินตราของบางก๊กมีลักษณะคล้ายดาบ บางก๊กมีลักษณะคล้ายจอบ บางก๊กเป็นรูปกลม ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 206) เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศได้แล้ว ให้ใช้รูปกลมอย่างเดียว ของสมัยนี้มีกระเบื้องเชิงชาย คันฉ่อง หัวหอกซึ่งผ่านมา 2,000 ปีก็ยังคม เครื่องสำริดที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ
(น. 74) รูป 55 เครื่องปั้นดินเผารูปตุ๊กตาพาหนะที่ใส่ในหลุมศพ
(น. 74) 7. การขุดค้นสุสานที่เทียนหม่าชวน (Tian Ma Chuan 771 B.C. – 11 B.C.) ในแคว้นฉินหรือจิ๋น พบสุสานโบราณ 10 กว่าแห่ง มีข้าวของฝังไว้มาก ทั้งเครื่องประดับหยก เกราะหยกสำหรับคนตาย เครื่องสำริดเป็นภาชนะใส่เหล้า 8. เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8) มีเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปเครื่องใช้ประจำวันของคนตาย แต่ก่อนเคยมีธรรมเนียมพิธีศพของผู้มีอำนาจจะต้องฝังข้าทาสบริวารลงไปด้วย เป็นการฝังทั้งเป็น แต่ในสมัยราชวงศ์ฉินมีการเปลี่ยนประเพณีเป็นการใช้ตุ๊กตาฝังลงไปแทน และได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยหลัง มีอาคารบ้านเรือนจำลองของผู้คน ทำเป็นเรือน มีเล้าหมู (มีห้องสุขาอยู่มุมเล้าหมู) คอกแพะ ยุ้งข้าว บ่อน้ำ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ครกกระเดื่อง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 271 - 272, 275

(น. 271) รูป 194 การตกแต่งดอกไม้
(น. 271) หู่ชิว (หู่ = เสือ ชิว = เนินเขา) หรือเนินเสือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของซูโจว ในบริเวณนี้มีบ่อน้ำ สระกระบี่ ลานหินพันคนหรือลานพันคนนั่ง เจดีย์ และสิ่งน่าสนใจอื่นๆ รวมทั้งมีเรื่องเล่าอยู่มากเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ บนเนินเขานี้ เริ่มจากตัวสถานที่เล่ากันว่า เนินเสือเป็นสุสานฝังศพของพระเจ้าเหอหลีว์ (ก่อน ค.ศ. 514 – ก่อน ค.ศ. 496) แห่งแคว้นอู๋ ในสมัยชุนชิว พระเจ้าเหอหลีว์เป็นบิดาของพระเจ้าฟูชา (ก่อน ค.ศ. 496 – ก่อน ค.ศ. 473) ที่มีพระสนมชื่อ นางไซซี เป็นสาวงามเลอลบที่พระเจ้าโกวเจี้ยนแห่งแคว้นเย่ว์ ส่งมาถวายพระเจ้าฟูชา ตามแผนการใช้สาวงามมาล่มเมือง เล่าขานกันว่า หลังจากฝังพระศพพระเจ้าเหอหลีว์ที่เนินนี้ได้ 3 วัน ก็มีเสือไปหมอบบนสุสานที่สร้างเป็นเนิน เลยเรียกที่ตรงนี้ว่า หู่ชิว หรือ เนินเสือ ส่วนบ่อน้ำก็มีเรื่องเล่ากันว่า น้ำในบ่อนี้คนตาบอดดื่มแล้วตาสว่าง แต่ว่าจะกลายเป็นคนโง่ สระกระบี่ ก็มีเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นว่า พระเจ้าเหอหลีว์ชมชอบกระบี่ ได้ให้ช่างตีกระบี่ไว้มากหลายพันด้าม เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน และเก็บสะสมไว้ที่เนินเสือ
(น. 272) รูป 195 เขาเนินเสือ สระกระบี่
(น. 272)ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้ ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 210) ได้ยินเรื่องเล่าขานนี้ จึงมาสืบเสาะหากระบี่ของพระเจ้าเหอหลีว์ด้วยพระองค์เอง เมื่อมาถึงเนินเสือ พบเสือโคร่งหมอบบนสุสานจึงกระชากกระบี่ออกแทงเสือ แต่แทงไม่ถูก เสือเลยวิ่งหนีหายสาบสูญไปตั้งแต่นั้น ฉินสื่อหวงตี้ค้นหากระบี่ไม่พบ แต่สถานที่ที่ฝังกระบี่นั้นดินได้ถล่มลงมากลายเป็นสระน้ำ จึงได้ชื่อว่า สระกระบี่ น้ำในสระนี้ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ ใครใช้ล้างหน้าจะสวยไม่สร่าง หนุ่มสาวขึ้น 18 ปี
(น. 275) นอกจากหินพยักหน้าแล้ว ที่เนินเสือยังมีหินที่ชื่อว่า หินทดสอบกระบี่ หรือ ซื่อเจี้ยนสือ (ซื่อ = ทดสอบ เจี้ยน = กระบี่ สือ = หิน) ใช้ชื่อนี้เพราะเล่ากันว่า ฉินสื่อหวงตี้เคยใช้กระบี่ของพระองค์ฟันหินก้อนนี้ เพื่อทดสอบว่ากระบี่จะกล้าแข็งกว่าก้อนหินหรือไม่

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209 - 210

(น.209)1.1 เสี้ยน (ตัวอักษรจีน) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”
(น.210)ได้พัฒนาต่อมาจนลงตัวดีในสมัยการปฏิรูปของซางหยางแห่งแคว้นฉินระหว่าง 359-350 ปีก่อน ค.ศ. เขตการปกครอง “เสี้ยน” จะประกอบด้วยเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบกับบริเวณรอบนอกตัวเมือง “เสี้ยน” ในความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “เมือง” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Perfecture” ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) “เสี้ยน” ถูกลดระดับให้เล็กลงจากเดิม ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Subprefecture” ถึงสมัยราชวงศ์ถัง “เสี้ยน” หมายถึง เขตการปกครองระดับ “อำเภอ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” บ้าง หรือ “District” บ้าง คำว่า “เสี้ยน” ที่หมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน 1.2 จวิ้น (ตัวอักษรจีน) ในสมัยการปฏิรูปของซางหยางได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “จวิ้น” ตามอาณาบริเวณพรมแดนของแคว้น เป็นเขตการปกครองที่เน้นเรื่องการทหาร มีฐานะต่ำกว่า “เสี้ยน” เมื่อพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ทรงรวมประเทศจีนได้แล้ว ได้ขยายและปรับเขตการปกครอง “จวิ้น” ให้ใหญ่ขึ้น แบ่งการปกครองประเทศจีนออกเป็น 36 จวิ้น ต่อมาเพิ่มเป็น 42 จวิ้น จวิ้นในสมัยนี้จึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “แคว้น” และปกครองดูแล “เสี้ยน” “จวิ้น” ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์สุย



จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

จิ๋นซีฮ่องเต้

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้

สำหรับฉินซื่อหวงตี้นั้น อาจารย์หวางบอกว่าน่าจะเป็นคนอยู่ในตระกูลเลี้ยงม้า อยู่แถบมองโกเลียใน แล้วจึงมาภาคกลาง เป็นไปได้ที่จะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ก็ไม่ยืนยัน [1]
พระราชกรณียกิจ

การสร้างกำแพงเมืองจีน

พระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ (ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล) ได้รวมจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระองค์ได้เชื่อมกำแพงของแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน การสร้างกำแพงนี่ถือว่าเป็น “งานช้าง” ประจำรัชกาลทีเดียว โดยกล่าวว่าเพื่อป้องกันชนเผ่าศัตรูที่จะเข้ามารุกราน บางคนเขาก็นินทาว่าท่านทำการครั้งนี้เพื่อล้างสมองคนไม่ให้คิดต่อต้านท่าน ให้เสียเวลาสาละวนอยู่กับการสร้างกำแพงเมืองจีน จะได้ไม่มีปัญญาคิดเรื่องอื่น อีกประการหนึ่งการถูกส่งไปทำกำแพงเมืองจีนนั้น เหมือนเป็นการถูกกำจัดไปเลยเพราะเป็นงานที่ยากลำบาก อยู่บนยอดเขาสูง ราชวงศ์ที่ต่อจากราชวงศ์ ฉิน ก็ได้ซ่อมแซมกำแพงนี้ จนถึงราชวงศ์เหม็ง (คริสต์ศตวรรษที่ 14) กำแพงเมืองจีนสำเร็จบริบูรณ์ เท่ากันที่เราเห็นทุกวันนี้[2]

การเมืองการปกครอง

ในสมัยการปฏิรูปของซางหยางได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “จวิ้น” ตามอาณาบริเวณพรมแดนของแคว้น เป็นเขตการปกครองที่เน้นเรื่องการทหาร มีฐานะต่ำกว่า “เสี้ยน” เมื่อพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ทรงรวมประเทศจีนได้แล้ว ได้ขยายและปรับเขตการปกครอง “จวิ้น” ให้ใหญ่ขึ้น แบ่งการปกครองประเทศจีนออกเป็น 36 จวิ้น ต่อมาเพิ่มเป็น 42 จวิ้น จวิ้นในสมัยนี้จึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “แคว้น” และปกครองดูแล “เสี้ยน” “จวิ้น” ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์สุย[3]

เศรษฐกิจ

6 เงินตราโบราณสมัยชุนชิวและจั้นกั๋วเป็นสมัยที่จีนแบ่งเป็นก๊กหรือแคว้นต่างๆ แต่ละก๊กมีเงินตราของตนเอง มีลักษณะต่างๆ เงินตราของบางก๊กมีลักษณะคล้ายดาบ บางก๊กมีลักษณะคล้ายจอบ บางก๊กเป็นรูปกลม ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉิน (ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 206) เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศได้แล้ว ให้ใช้รูปกลมอย่างเดียว[4]

การเผาหนังสือ

ผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม[5]

ตำนานจิ๋นซีฮ่องเต้

หู่ชิว (หู่ = เสือ ชิว = เนินเขา) หรือเนินเสือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของซูโจว ในบริเวณนี้มีบ่อน้ำ สระกระบี่ ลานหินพันคนหรือลานพันคนนั่ง เจดีย์ และสิ่งน่าสนใจอื่นๆ รวมทั้งมีเรื่องเล่าอยู่มากเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ บนเนินเขานี้ เริ่มจากตัวสถานที่เล่ากันว่า เนินเสือเป็นสุสานฝังศพของพระเจ้าเหอหลีว์ (ก่อน ค.ศ. 514 – ก่อน ค.ศ. 496) แห่งแคว้นอู๋ ในสมัยชุนชิว พระเจ้าเหอหลีว์เป็นบิดาของพระเจ้าฟูชา (ก่อน ค.ศ. 496 – ก่อน ค.ศ. 473) ที่มีพระสนมชื่อ นางไซซี เป็นสาวงามเลอลบที่พระเจ้าโกวเจี้ยนแห่งแคว้นเย่ว์ ส่งมาถวายพระเจ้าฟูชา ตามแผนการใช้สาวงามมาล่มเมือง เล่าขานกันว่า หลังจากฝังพระศพพระเจ้าเหอหลีว์ที่เนินนี้ได้ 3 วัน ก็มีเสือไปหมอบบนสุสานที่สร้างเป็นเนิน เลยเรียกที่ตรงนี้ว่า หู่ชิว หรือ เนินเสือ[6] ส่วนบ่อน้ำก็มีเรื่องเล่ากันว่า น้ำในบ่อนี้คนตาบอดดื่มแล้วตาสว่าง แต่ว่าจะกลายเป็นคนโง่ สระกระบี่ ก็มีเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นว่า พระเจ้าเหอหลีว์ชมชอบกระบี่ ได้ให้ช่างตีกระบี่ไว้มากหลายพันด้าม เป็นกระบี่ไร้เทียมทาน และเก็บสะสมไว้ที่เนินเสือ ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้ ก่อน ค.ศ. 221 – ก่อน ค.ศ. 210) ได้ยินเรื่องเล่าขานนี้ จึงมาสืบเสาะหากระบี่ของพระเจ้าเหอหลีว์ด้วยพระองค์เอง เมื่อมาถึงเนินเสือ พบเสือโคร่งหมอบบนสุสานจึงกระชากกระบี่ออกแทงเสือ แต่แทงไม่ถูก เสือเลยวิ่งหนีหายสาบสูญไปตั้งแต่นั้น ฉินสื่อหวงตี้ค้นหากระบี่ไม่พบ แต่สถานที่ที่ฝังกระบี่นั้นดินได้ถล่มลงมากลายเป็นสระน้ำ จึงได้ชื่อว่า สระกระบี่ น้ำในสระนี้ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ ใครใช้ล้างหน้าจะสวยไม่สร่าง หนุ่มสาวขึ้น 18 ปี นอกจากหินพยักหน้าแล้ว ที่เนินเสือยังมีหินที่ชื่อว่า หินทดสอบกระบี่ หรือ ซื่อเจี้ยนสือ (ซื่อ = ทดสอบ เจี้ยน = กระบี่ สือ = หิน) ใช้ชื่อนี้เพราะเล่ากันว่า ฉินสื่อหวงตี้เคยใช้กระบี่ของพระองค์ฟันหินก้อนนี้ เพื่อทดสอบว่ากระบี่จะกล้าแข็งกว่าก้อนหินหรือไม่[7]


อ้างอิง

1. มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 114
2. ย่ำแดนมังกร หน้า 54
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 210
4. เจียงหนานแสนงาม หน้า 73
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 99
6. เจียงหนานแสนงาม หน้า 271
7. เจียงหนานแสนงาม หน้า 272-275