Please wait...

<< Back

ท่าเรือโบราณจางหลิน

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 21,22,23,24,25

(น.21)ที่หมายที่สามคือ ท่าเรือโบราณจางหลิน ในสมัยก่อนขึ้นกับเมืองแต้จิ๋ว (ภาษาจีนกลางว่า เฉาโจว)


(น.22) รูป 14 บริเวณท่าเรือโบราณจางหลิน

(น.22) เข้าไปถึงเห็นเสาทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู เขียนว่าท่าเรือโบราณจางหลิน (คนแต้จิ๋วอ่านว่า จึงลิ้ม) มีจารึกประวัติท่าเรือ ท่าเรือนี้ถือว่าเป็นท่าเรือที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มีความสำคัญทางการทหารและพาณิชย์เจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1736-1796) ต่อมาถึงจักรพรรดิเจียชิ่งหรือเกียเข่ง (ค.ศ. 1796-1821) หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมไปเมื่อฝรั่งบังคับให้เปิดซัวเถา ความเจริญก็ย้ายไปทางนั้น ท่าเรือจางหลินนี้เดิมเป็นศูนย์กลางของเรือหัวแดงหรืออั้งเท้าจุ๊น ซึ่งเป็นเรือของมณฑลกวางตุ้ง (เรือของมณฑฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน จะทาสีเขียว) เส้นทางเดินเรือทางเหนือไปถึงต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงโป ส่วนทางใต้ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เชื่อกันว่าพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินก็ใช้ท่าเรือนี้เดินทางมาประเทศไทย สมัยก่อนเขาว่ากันว่าใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่ง
(น.23) ผู้ที่จะเดินทางจะต้องกราบไหว้หมาจู่ เทพธิดาแห่งท้องทะเล ท่าเรือทุกแห่งจะมีศาลเจ้าหมาจู่ให้ผู้โดยสารกราบไหว้เพื่อขอพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ในนิราศกวางตุ้งของนายมหานุภาพซึ่งเขียนในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2324) เรียกว่า พระหมาจอ คนเดินทางมักจะนำของกินเรียกว่า เตียมก๊วย เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเหนียวคลุกน้ำตาลไปด้วย เก็บไว้ได้นานประมาณเดือนหนึ่ง เตียมก๊วยนี้คนไทยรู้จักกันดี เรียกกันว่า ขนมเข่ง เพราะสมัยก่อนใส่ในเข่งเล็กๆ เดิมท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือชายทะเล แต่ดินงอกเร็วและไม่มีการขุดลอก ปัจจุบันจึงกลายเป็นพื้นดินอยู่ห่างทะเลประมาณ 10 กิโลเมตร เหลือแต่คลองเล็กๆ ที่ยังเป็นน้ำ ดูไม่ออกว่าเป็นท่าเรือ เขาวางหุ่นจำลองว่าต่อไปจะปรับปรุงสถานที่นี้เป็นอย่างไร ดูคล้ายจะเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีรูปเก่าหรือหุ่นจำลองว่าของเก่าเป็นอย่างไร


(น.23) รูป 15 หุ่นจำลองที่จะปรับปรุงสถานที่


(น.24) รูป 16 นั่งพักคุยกันใต้ต้นลำไย

(น.24) เมื่อดูหุ่นจำลองแล้วก็ไม่มีอะไรดูอีก คุณไฉก็เลยพาไปนั่งพักที่ใต้ต้นลำไยกำลังมีลูกอ่อนๆ ชวนกันดูต้นไม้ บรรยายเรื่องต้นทับทิมว่าเป็นไม้มงคล เวลาจะไปไหนให้หักกิ่งติดไปด้วย เคยได้ยินว่าดีเพราะเมล็ดมาก เป็นเครื่องหมายของการมีลูกมาก อุดมสมบูรณ์ดี คนจีนบางคนเวลาไปเผาศพกลับมาต้องล้างหน้าด้วยน้ำแช่ใบทับทิม


(น.24) รูป 17 ดอกเทียน

(น.25) นอกจากนั้นมีต้นโหระพา ใบงามดี สีค่อนข้างอ่อน ต้นเทียนซึ่งไม่ทราบว่าไปเอามาจากเมืองไทยหรือเปล่า เขาบอกว่าภาษาจีนเรียกว่า ต้นเล็บมือนาง แล้วก็คุยกันเรื่องใช้แป้งมาทำขนม คนแต้จิ๋วเรียกว่าก้วย (แต่คนที่ไม่รู้ภาษาแต้จิ๋วอย่างข้าพเจ้าเรียกว่าก๊วย เพราะฉะนั้นจะเขียนผิดตลอดเวลา ประเดี๋ยวเรียกก้วย ประเดี๋ยวเรียกก๊วย ขอให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นของอย่างเดียวกัน) มีมากมายหลายอย่าง ที่นั่งนึกกันตอนนั้นก็เป็นสิบอย่าง นอกจากนั้นก็ชี้ชวนกันดูผีเสื้อ ดูนก ฟังเสียงจักจั่น อากาศค่อนข้างร้อน ข้าพเจ้าเกิดอยากเจี๊ยะเฉาก๊วย มีคนเดินออกไปไหนไม่ทราบครู่เดียวกลับมาบอกว่ากลางวันนี้ได้เจี๊ยะ