<< Back
" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 "
(น.12) วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540
เช้าขึ้นมองออกนอกหน้าต่างชมทิวทัศน์เห็นทะเล บ้านเรือนก็ไม่ผิดจากกรุงเทพฯ นัก รับประทานอาหารเช้าที่ห้องชุนเหยว่ ตั้งแต่ 7.30 น. มีปาท่องโก๋
เวลา 8.30 น. ท่านรองนายกเทศมนตรีกั๋วซื่อคุน มานั่งรถด้วยแทนนายกเทศมนตรี (ซึ่งต้องไปประชุมนายกเทศมนตรีเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่นครกวางโจว)
คุยกันถึงเรื่องเมืองซัวเถา ข้าพเจ้าถามว่าทำไมคำว่าซัวหรือ ซานจึงเขียนว่า 汕 มีสัญลักษณ์ 氵 (น้ำ) อยู่ข้างหน้า รองนายกฯ อธิบายว่าบริเวณนี้เหมือนกับเป็นเกาะ เพราะว่าติดทะเลและมีแม่น้ำไหลผ่านและมารวมกันสามสายคือ
แม่น้ำหันเจียง หวงเจียง และเหลียนเจียง ถือว่าเป็นประตูเปิดสู่โลกภายนอก เนื่องด้วยเป็นบ้านเดิมของชาวจีนโพ้นทะเล เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังมีการลงทุนน้อยกว่าที่เสิ่นเจิ้นและจูไห่ แต่ก็น่าสังเกตว่าเศรษฐกิจขยายตัวสูงมากในทศวรรษ 1990
มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน รายได้สำคัญของซัวเถาคือ การค้า สินค้าขาออกได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักรกล เวชภัณฑ์ การฝีมือ (เย็บปักถักร้อย เครื่องเซรามิก แกะสลักหิน แกะสลักไม้) อุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากนั้นยังเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว
(น.13) พื้นที่นครซัวเถาในเขตเมือง (เขตเทศบาล) ครอบคลุมอำเภอ 5 อำเภอ ได้แก่ หลงหู จินหยวน เซิงผิง ต๋าเฮ่า และเหอผู่ ยังควบคุมอำเภอหนานเอา ซึ่งอยู่นอกออกไป เมืองเฉาหยางและเมืองเฉิงไห่ซึ่งเป็นอำเภอที่เจริญ มีเทศบาลของตนเอง
เมืองซัวเถายังมีความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียงมากคือ งิ้วแต้จิ๋ว วัฒนธรรมด้านอาหารก็ถือว่ายอดเยี่ยม อร่อยที่สุดในเมืองจีนแห่งหนึ่ง เฉพาะขนมกล่าวกันว่ามีถึง 300 อย่าง ข้าพเจ้าจะพยายามรับประทานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เราเดินทางไปที่อำเภอ (เซี่ยน) เฉิงไห่ หรือที่ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่าเท่งไฮ้ อยู่ทางเหนือของซัวเถา ทางหลวงกำลังขยาย สองข้างทางเมื่อออกนอกเมืองปลูกผักต่างๆมีน้ำอุดมสมบูรณ์จนไม่เข้าใจว่าทำไมคนแถวนี้จึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น
เขาบอกว่าถึงจะอุดมสมบูรณ์แต่ประชากรหนาแน่น จึงไม่พอกิน ไปที่หมู่บ้านหัวฝู่ อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำซินจินซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำหันเจียง ประชาชนในหมู่บ้านยังยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาข้าวและเลี้ยงห่านเป็นหลัก
(น.14) รูป 7 หมู่บ้านพระเจ้าตาก
(น.14) ไปถึงหน้าหมู่บ้านมีผู้อำนวยการสำนักงานชาวจีนโพ้นทะเลของเฉิงไห่เป็นผู้หญิงชื่อคุณไฉเผยหลงมาต้อนรับ
ต้องเดินเข้าไปจากถนนใหญ่ประมาณครึ่งกิโลเมตรจึงเข้าไปถึงบริเวณที่เรียกกันว่าเป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ดูลักษณะโดยทั่วๆไปที่ตั้งของสุสานนี้เป็นคุ้งน้ำ มีน้ำ (แม่น้ำและคลอง) ล้อมรอบ ด้านหลังสุสานมีเขื่อนและหมู่บ้านอยู่ด้านหลัง
หนองน้ำใกล้สุสานนี้มีกาลงมาจับมีคนอธิบายว่าถูกต้องตามตำรา ฮวงจุ้ยถือเป็นภูมิสถานที่เป็นมงคล
สุสานเหมือนกับหลุมฝังศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆแบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีนแปลความว่า
สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง (ค.ศ. 1784) บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1985
(น.15) คุณไฉอธิบายว่า หลังจากพระเจ้าตากสินสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย
อีกชุดหนึ่งเป็นชุดจีน กลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่นี้ พวกพระญาติสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมสุสานนี้ถูกทำลายไป
ตอนที่จะสร้างใหม่นี้เล่ากันว่าเห็นกล่องที่บรรจุฉลองพระองค์และพระมาลา แต่ไม่มีใครกล้าเปิดดูเพราะความเคารพ ขณะนี้อำเภอเท่งไฮ้กำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน
จะรวบรวมเรื่องราวสำคัญของอำเภอ เช่นเอกสารท้องถิ่น บันทึก และข้าวของต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ คุญไฉไลอธิบายต่อไปว่าพระญาติ (ดูเหมือนจะเป็นอา) ของพระเจ้าตาก
เคยไปเฝ้าพระเจ้าตากที่กรุงธนบุรีและเขียนบันทึกไว้ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อจะทูลลากลับพระเจ้าตากพระราชทานโอ่งมา 18 ใบ ขณะอยู่ในเรือเปิดโอ่งดูเห็นมีผักดองก็นึกโกรธว่าพระเจ้าตากไปมีอำนาจวาสนาอยู่เมืองไทย
จะให้ของญาติ ก็ให้แค่ผักดอง เมืองจีนก็มี จึงนำทิ้งน้ำไปหมดเหลือเอาไว้เป็นที่ระลึกใบหนึ่ง กลับถึงเมืองจีนจึงมีโอกาสดูละเอียดเพิ่งทราบว่าข้างใต้ผักดองนั้นเป็นทองทั้งนั้น เขาว่ายังเก็บโอ่งใบนั้นเอาไว้ จะใส่พิพิธภัณฑ์เมื่อสร้างเสร็จ
(น.15) รูป 8 ป้ายที่สร้างถวายพระเจ้าตากมื่อค.ศ. 1985
(น.16) เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อว่าจริง สมัยกรุงธนบุรีบ้านเมืองยากจน จะเอาทองที่ไหนส่งไปเมืองจีนถึง 18 โอ่ง พระเจ้าตากเองยังทรงปรารภเรื่องบ้านเมืองยากจน
ข้าวปลาอาหารขาดแคลนดังความในพระราชพงศาวดารว่า...ออกพระโอษฐ์ว่า บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดาบุคคลผู้มีฤทธิ์ มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น
ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้...
ในตอนนั้นมีผู้กล่าวว่าพระบิดาพระเจ้าตากอาจจะไม่ใช่คนเท่งไฮ้เพราะในพงศาวดารกล่าวว่าทรงเป็นบุตรจีนไหฮอง
ซึ่งภาษาจีนกลางอ่านว่าไห่เฟิง เป็นอำเภออยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางจากเท่งไฮ้ไปเสิ่นเจิ้น ที่เริ่มกล่าวว่าพระเจ้าตากเป็นคนเท่งไฮ้นั้น
มาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York: Cornell University Press, 1957)
หนังสือเล่มนี้กล่าวว่าชื่อไหฮองนั้นอาจจะเป็นชื่อเฉพาะของพระราชบิดา ไม่ใช่ชื่ออำเภอ ข้าพเจ้าลองคิดดูเล่นๆ ว่า สกินเนอร์อาจจะถูกที่ว่าพระบิดาเป็นคนเท่งไฮ้ แต่บรรพบุรุษหลายชั่วคนก่อนมาจากไหฮอง
มีคนเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าในสมัยก่อนไหฮองเป็นเขตที่ค่อนข้างทุรกันดาร คนจึงโยกย้ายหาที่ทำกินในที่อื่นของประเทศ จึงมาตั้งรกรากที่เท่งไฮ้ หนังสืออีกเล่มที่วิเคราะห์เรื่องของพระเจ้าตากไว้อย่างน่าสนใจคือเรื่อง
การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของศาสตรจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
(น.17) รูป 9 ทิวทัศน์หมู่บ้านพระเจ้าตาก
(น.17) ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีคนแซ่แต้ บางทีใช้ว่าตัน (ภาษากลางว่าเจิ้ง) ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับพระเจ้าตากอยู่สักสามสิบครัวเรือน
เขาเล่าว่าคนที่เชื่อกันว่าสืบเชื้อสายจากพระญาติพระเจ้าตากก็ยังอยู่ แต่เข้าไปทำงานในเมืองเฉิงไห่หมดแล้ว นอกจากแซ่แต้แล้วตระกูลที่มีมากคือแซ่ตั๊ง หรือที่ไทยเรียกว่า แซ่ตั้ง (หรือตัน ภาษาไหหลำว่า ด่าน ภาษากลางว่า เฉิน)
(น.18) ที่หมายที่สองคือ บ้านหวั่งหลี อยู่ที่หมู่บ้านเฉียนเหม่ย ตำบลหลงตู อำเภอเฉิงไห่ เดินทางข้ามแม่น้ำหัน ทางเข้ามีซุ้มประตู เมื่อเข้าไปเป็นนาข้าว สวนลิ้นจี่ สวนลำไย มีลิ้นจี่มากกว่าอย่างอื่น ผ่านหมู่บ้านซึ่งมีทั้งบ้านแบบสมัยใหม่และอาคารแบบเก่าเหมือนศาลเจ้า
บ้านที่ไปดูมองดูเป็นแบบจีนปนฝรั่ง สร้างด้วยหินประดับกระจกและกระเบื้องโมเสก คานขื่อเป็นไม้สลักลายจีน เขาแจกเอกสารอธิบายยาวเหยียดเป็นภาษาจีนพอจะสรุปเนื้อความได้ว่า
บ้านหลังนี้ผู้สร้างเป็นพ่อค้าตระกูลเฉิน (ตั๊ง หรือตั้ง) ชื่อเฉินเหวินหรง เริ่มร่ำรวยขึ้นสมัยสงครามฝิ่น จากการทำธุรกิจค้าข้าวระหว่างเซี่ยงไฮ้ ซัวเถา สิงคโปร์ มาเลเซีย
กรุงเทพฯ ฮ่องกง ไซ่ง่อน แต่แรกตั้งบริษัทอยู่ที่ฮ่องกง ต่อมามีปัญหาทางสุขภาพก็เลยยกทรัพย์สมบัติและธุรกิจให้ลูกชื่อ เฉินสื่อหวาง
(น.18) รูป 10 บ้านตระกูลหวั่งหลี
(น.19) รูป 11 ลวดลายไม้แกะสลัก
(น.19) เฉินสื่อหวางไปเปิดบริษัทหวั่งหลีที่กรุงเทพฯ ถือเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทจากนั้นก็สร้างโรงสีทำโพยก๊วนโกดังเก็บสินค้าประกันภัย ทั้งที่ฮ่องกง ซัวเถา และที่กรุงเทพฯ
ค.ศ. 1903 เฉินสื่อหวางกลับมาอยู่ที่เมืองจีนและสร้างบ้านหลังนี้ ลูกๆทำธุรกิจต่อทั้งในด้านการธนาคาร โรงสี กิจการสั่งเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ
ปรัชญาการค้าของตระกูลใช้หลักการของขงจื๊อผสมกับหลักทางการค้า คือจะต้องสะสมทรัพย์ บริหารจัดการทรัพย์เพื่อส่วนรวม บริโภคทรัพย์
และแบ่งปันทรัพย์เพื่อช่วยเหลือคนอื่น บุคคลในตระกูลได้ทำสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโรงงเรียนประถมศึกษาโพ้นทะเลแห่งแรกเมื่อ ค.ศ.1912
ต่อจากนั้นก็สร้างอีกหลายโรงเรียนทั้งโรงเรียนประถมและมัธยม ช่วยบริจาคเงิน ส่งข้าวมาบรรเทาสาธารณภัย เช่น เมื่อเกิดอุทกภัยในซัวเถาเมื่อ ค.ศ.1922 เมื่อเกิดอัคคีภัย
เกิดแผ่นดินไหวสมัยปลายราชวงศ์ชิง ยังช่วยสนับสนุนบ้านเมืองสมัยต่อต้านญี่ปุ่น สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ช่วยเรื่องอาวุธแก่องค์กรใต้ดินของคอมมิวนิสต์ก่อนปฏิวัติสำเร็จ
สร้างหมู่บ้านสร้างบ้านตนเอง 3 แห่ง สร้างบ้านให้ผู้อื่น 246 แห่ง
(น.20) อาคารหลังที่เราดูมีส่วนที่เป็นจีนเรียกว่า ซื่อหม่าทัวเซอ หรือ ม้าสี่ 4 ตัว ลากรถ คือมีอาคารวางตามขวาง เป็นอาคารหลัก 4 หลัง มีอาคารเชื่อม มีประตูเข้า
ไปนั่งที่รับรอง หลังคาไม่มีฝ้าเพดานปูพื้นด้วยโมเสกฝรั่งตั้งแต่ ค.ศ. 1930 กำนันมาต้อนรับ เลี้ยงลิ้นจี่แล้วอธิบายว่าธุรกิจของบริษัทที่นี่คือ ธุรกิจประกันภัย
และมีธุรกิจที่ถือว่าสำคัญมากคือการเดินเรือหัวแดง พวกที่มาทำงานเมืองไทยส่วนใหญ่จะโดยสารเรือชนิดนี้มา เขาว่าคนไหนขัดสนมากๆถึงกับไม่มีค่าโดยสารเรือ เจ้าของเรือก็จะให้โดยสารฟรี
เขาไม่ได้พาชมทุกหลัง แต่พาขึ้นไปดาดฟ้าเพื่อชมวิว มีช่างภาพจีนยืนถ่ายรูปอยู่บนสันหลังคา น่าหวาดเสียวมาก
มองจากดาดฟ้าเห็นเล้าห่านของชาวบ้าน เห็นจะเป็นห่านแบบนี้เองที่เรากินตีนมันเมื่อคืน ตัวมันโตจริงๆ เลี้ยงไว้เฝ้าบ้านท่าจะดี มองเห็นตึกแบบฝรั่งอยู่ข้างๆ
ตึกทั้งหมดดูโทรมๆ เมื่อปฏิวัติเสร็จใหม่ๆ เห็นจะเป็นค่ายทหาร ที่กรอบประตูมีรูปท่านประธานเหมา ขณะนี้ไม่ทราบว่าใช้ทำอะไร ส่วนหนึ่งมีป้ายเขียนไว้ว่าเป็นที่ทำการกลุ่มสตรี
ได้ทราบภายหลังว่ารัฐบาลคืนให้ทายาทเจ้าของเดิม แต่เจ้าของมอบไว้ให้ทางการจีนใช้ประโยชน์ต่อไป
(น.20) รูป 12 ช่างภาพจีนยืนถ่ายภาพอยู่บนหลังคา เห็นน่าหวาดเสียวดี จึงถ่ายไว้ดูเป็นที่ระลึก
(น.21) รูป 13 มองจากหลังคาบ้านหวั่งหลี เห็นฟาร์มห่านแบบที่เรารับประทานเมื่อคืนนี้
(น.21) ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนละเอียดตามเอกสารที่เขาแจกทั้งหมด เกรงจะยาวยืดยาดเกินไป ผู้ที่สนใจหนังสือที่น่าอ่านมากชื่อเรื่อง ดุจนาวากลางสมุทร เรื่องของเวลาที่ผ่านไป
ผู้เขียนคือ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณสุวิทย์ หวั่งหลี เป็นเรื่องประวัติของตระกูล เกี่ยวกับบ้านหลังนี้ และมีเรื่องเกี่ยวกับท่าเรือจางหลินด้วย
ที่หมายที่สามคือ ท่าเรือโบราณจางหลิน ในสมัยก่อนขึ้นกับเมืองแต้จิ๋ว (ภาษาจีนกลางว่า เฉาโจว) ของเก่าเป็นอย่างไร
Next >>