Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 "


(น.22) รูป 14 บริเวณท่าเรือโบราณจางหลิน

(น.22) เข้าไปถึงเห็นเสาทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู เขียนว่าท่าเรือโบราณจางหลิน (คนแต้จิ๋วอ่านว่า จึงลิ้ม) มีจารึกประวัติท่าเรือ ท่าเรือนี้ถือว่าเป็นท่าเรือที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มีความสำคัญทางการทหารและพาณิชย์เจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1736-1796) ต่อมาถึงจักรพรรดิเจียชิ่งหรือเกียเข่ง (ค.ศ. 1796-1821) หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมไปเมื่อฝรั่งบังคับให้เปิดซัวเถา ความเจริญก็ย้ายไปทางนั้น ท่าเรือจางหลินนี้เดิมเป็นศูนย์กลางของเรือหัวแดงหรืออั้งเท้าจุ๊น ซึ่งเป็นเรือของมณฑลกวางตุ้ง (เรือของมณฑฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน จะทาสีเขียว) เส้นทางเดินเรือทางเหนือไปถึงต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงโป ส่วนทางใต้ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เชื่อกันว่าพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินก็ใช้ท่าเรือนี้เดินทางมาประเทศไทย สมัยก่อนเขาว่ากันว่าใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่ง

(น.23) ผู้ที่จะเดินทางจะต้องกราบไหว้หมาจู่ เทพธิดาแห่งท้องทะเล ท่าเรือทุกแห่งจะมีศาลเจ้าหมาจู่ให้ผู้โดยสารกราบไหว้เพื่อขอพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ในนิราศกวางตุ้งของนายมหานุภาพซึ่งเขียนในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2324) เรียกว่า พระหมาจอ คนเดินทางมักจะนำของกินเรียกว่า เตียมก๊วย เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเหนียวคลุกน้ำตาลไปด้วย เก็บไว้ได้นานประมาณเดือนหนึ่ง เตียมก๊วยนี้คนไทยรู้จักกันดี เรียกกันว่า ขนมเข่ง เพราะสมัยก่อนใส่ในเข่งเล็กๆ เดิมท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือชายทะเล แต่ดินงอกเร็วและไม่มีการขุดลอก ปัจจุบันจึงกลายเป็นพื้นดินอยู่ห่างทะเลประมาณ 10 กิโลเมตร เหลือแต่คลองเล็กๆ ที่ยังเป็นน้ำ ดูไม่ออกว่าเป็นท่าเรือ เขาวางหุ่นจำลองว่าต่อไปจะปรับปรุงสถานที่นี้เป็นอย่างไร ดูคล้ายจะเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีรูปเก่าหรือหุ่นจำลองว่า


(น.23) รูป 15 หุ่นจำลองที่จะปรับปรุงสถานที่


(น.24) รูป 16 นั่งพักคุยกันใต้ต้นลำไย

(น.24) เมื่อดูหุ่นจำลองแล้วก็ไม่มีอะไรดูอีก คุณไฉก็เลยพาไปนั่งพักที่ใต้ต้นลำไยกำลังมีลูกอ่อนๆ ชวนกันดูต้นไม้ บรรยายเรื่องต้นทับทิมว่าเป็นไม้มงคล เวลาจะไปไหนให้หักกิ่งติดไปด้วย เคยได้ยินว่าดีเพราะเมล็ดมาก เป็นเครื่องหมายของการมีลูกมาก อุดมสมบูรณ์ดี คนจีนบางคนเวลาไปเผาศพกลับมาต้องล้างหน้าด้วยน้ำแช่ใบทับทิม


(น.24) รูป 17 ดอกเทียน

(น.25) นอกจากนั้นมีต้นโหระพา ใบงามดี สีค่อนข้างอ่อน ต้นเทียนซึ่งไม่ทราบว่าไปเอามาจากเมืองไทยหรือเปล่า เขาบอกว่าภาษาจีนเรียกว่า ต้นเล็บมือนาง แล้วก็คุยกันเรื่องใช้แป้งมาทำขนม คนแต้จิ๋วเรียกว่าก้วย (แต่คนที่ไม่รู้ภาษาแต้จิ๋วอย่างข้าพเจ้าเรียกว่าก๊วย เพราะฉะนั้นจะเขียนผิดตลอดเวลา ประเดี๋ยวเรียกก้วย ประเดี๋ยวเรียกก๊วย ขอให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นของอย่างเดียวกัน) มีมากมายหลายอย่าง ที่นั่งนึกกันตอนนั้นก็เป็นสิบอย่าง นอกจากนั้นก็ชี้ชวนกันดูผีเสื้อ ดูนก ฟังเสียงจักจั่น อากาศค่อนข้างร้อน ข้าพเจ้าเกิดอยากเจี๊ยะเฉาก๊วย มีคนเดินออกไปไหนไม่ทราบครู่เดียวกลับมาบอกว่ากลางวันนี้ได้เจี๊ยะ ที่หมายที่ 4 คือ ศาลเจ้าของตระกูลเฉิน เล่ากันว่าศาลนี้เริ่มสร้างกันในปีที่ 49 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเฉียน หลง แต่มาซ่อมครั้งสุดท้ายเมื่อสองปีมานี่เอง พวกคนตระกูลเฉินมักจะมาพบปะกัน ดูเหมือนจะมีสมาคมตระกูลเหมือนที่เมืองไทย เมื่อข้าพเจ้าไปถึงพวกเขาก็มารับ


(น.25) รูป 18 ศาลเจ้าตระกูลเฉิน


(น.26) รูป 19 ภายในศาลเจ้า

(น.26) ลักษณะก็เหมือนศาลเจ้าทั่วๆไป ป้ายชื่อศาลมี 2 ชื่อ ดูเหมือนว่าเดิมจะเป็น 2 ศาลแล้วมารวมกันมีป้ายชื่อบรรพบุรุษวางบนแท่นบูชามีชื่อต้นตระกูล รุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ยังไม่มีรุ่นที่ 4 สมาชิกตระกูลประกอบพิธีไหว้ประจำปีในวัน 12 ค่ำ เดือน 8 ต้องตั้งเครื่องเซ่น หมูและแพะทั้งตัว เมื่อเซ่นแล้ว คนอายุ 80 ปีขึ้นไปสังสรรค์กัน นอกจากนั้นยังบูชาเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว พวกคนตระกูลนี้ในประเทศจีนบริจาคปีละ 350,000 หยวน ส่วนคนในต่างประเทศส่งมาบริจาคปีละ 340,000 หยวน จากนั้นไปที่โรงแรม Shantou International นายเฉินชิวเฉานายกเทศมนตรีเมืองเท่งไฮ้มาต้อนรับ เขากล่าวว่าเท่งไฮ้กับไทย มีความสัมพันธ์กันมาช้านาน สถานที่ที่ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมชมในวันนี้ก็ล้วนแต่เกี่ยวกับไทยทั้งสิ้น ร้อยกว่าปีมานี้มีคนจีนล่องเรือหัวแดงไปเมืองไทยมาก ปัจจุบันคนเมืองเท่งไฮ้ไปเป็นจีนโพ้นทะเลถึง 680,000 คน ที่เมืองไทยมีมากที่สุด ลูกหลานจีนได้อยู่เย็นเป็นสุขในเมืองไทย ที่ข้าพเจ้ามานี้ก็เหมือนญาติพี่น้องมาเยี่ยมกัน ขอเชิญให้มาเยี่ยมบ่อยๆ แล้วเชิญรับประทานอาหาร

(น.27) ระหว่างรับประทานอาหารเขาเล่าว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปีนี้ ได้ไปเมืองไทยเพื่อประชุมสมาคมชาวเท่งไฮ้ครบ 50 ปีและได้ถือโอกาศติดต่อธุรกิจเพื่อให้มีการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ขั้นตอนการส่งเสริมของเขาคือ ก่อนที่จะไปก็จะลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า จะไปประชุมที่ไทยและเวียดนาม เชิญนักข่าวมาให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของจีนและของเมืองเท่งไฮ้ เชิญชวนบุคลในสังคมมาร่วมช่วยกัน เมื่อไปแล้วก็เจรจาลงนามในสัญญาความร่วมมือต่างๆ ชี้แจงลู่ทางลงทุน ทางการจีนส่งเสริมการลงทุนโดยให้มีระยะปลอดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร ขณะนี้มีโครงการผลิตจักรยานยนต์ พลาสติก อาหารสัตว์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น เร็วๆ นี้จะมีการประชุมอีกอย่างหนึ่งคือ การประชุมชาวแต้จิ๋วทั่วโลก จำนวนคนแต้จิ๋วมีมาก แต่ละประเทศต้องส่งตัวแทนมา ก็มีจำนวนมากแล้ว พูดถึงคนจีนเท่งไฮ้ที่ไปอยู่เมืองไทยก็พูดภาษาไทยกันหมดแล้ว ในมณฑลกวางตุ้งนี้มีภาษาแต้จิ๋ว กวางตุ้ง และแคะ ส่วนมากก็จะพอฟังภาษากันออก วันนี้เขาเลี้ยงน้ำชาทิกวนอิมหรือเถี่ยกวนยิน (ชงแบบชากงฟู หรือที่แต้จิ๋วเรียกว่ากังฮูเต๊ นำมาให้จิบเป็นถ้วยตะไลเล็กๆตามเคย) อาหารมีหลายอย่าง เช่น ปลา หมู กุ้ง ปู เป๋าฮื้อขนาดเล็กหน่อย ผักปวยเล้ง ลูกหนำเลี้ยบ บวบ สมุนไพรหลายอย่าง เต้าหู้ปรุงพิเศษแบบแต้จิ๋ว ขนมก็มีหลายอย่าง ทั้งขนมผักกาด ขนมกุยช่าย มีเฉาก๊วยโรยน้ำตาลทรายแดงตามคำขอ ผลไม้ต่างๆ


(น.28) รูป 20 ท่าเรือซัวเถา ที่เห็นด้านซ้ายเป็นเรือที่จอดอยู่

(น.28) ตอนบ่ายที่หมายแรกเราไปท่าเรือซัวเถา ท่าเรือนี้นับว่าเป็นท่าเรือที่สำคัญด้านชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) อยู่บริเวณปากแม่น้ำสามสายที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นศูนย์กลางด้านส่งออกและสั่งเข้า (export, import) เป็นหน้าต่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา ท่าเรือแห่งนี้เริ่มขนส่งสินค้าตั้งแต่ ค.ศ. 1861 ในปัจจุบันมีท่าเทียบเรือขนาด 5,000 ตัน 15,000 ตัน 20,000 ตัน และ 35,000 ตัน สำหรับขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และมีท่าเรือเฉพาะสำหรับขนส่งถ่านหิน รวม 24 ท่า ถ่านหินนี้สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าหัวหนาน (ขนาด 6 เมกกะวัตต์ มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง) ที่อยู่ตรงอ่าวนี้ จุดจอดเรือนอกท่าอีก 17 จุด ขณะนี้มีความสามารถในการขนส่งสินค้าปีละ 8.6 ล้านเมตริกตัน (ปีที่แล้วรับได้ 8.3 ล้านเมตริกตัน) ผู้โดยสารปีละ 400,000 คน ถือเป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 11 ของจีน (ข้อมูล ค.ศ. 1994) ติดต่อกับท่าเรือทั่วโลก 210 ท่าใน 47 ประเทศ ท่าเรือนี้มีโครงการขยายการก่อสร้างในระยะที่ 2 ให้เสร็จสิ้นใน ค.ศ. 2000

(น.29) ท่าเรือที่เราเข้าไปดูเป็นท่าเรือกลางที่จอดเรือขนาด 15,000 ตันได้ มีเรือรัสเซียชื่อ Stepan Kreshennikov จอดอยู่ มีปั้นจั่นยกของหนักได้ 40 ตัน นอกจากสร้างท่าเรือแล้วเขายังขยายแม่น้ำเข้าท่าเรือ เมื่อก่อนเรือเกิน 5,000 ตันเข้าไม่ได้ ปัจจุบันรับได้หลายหมื่นตัน เขาเตรียมสร้างทางรถไฟและถนนสายใหม่ หน้าอ่าวมีสะพานแขวนใหญ่ ยาว 2.5 กิโลเมตร กว้าง 460 เมตร เริ่มสร้าง ค.ศ. 1991 สร้างเสร็จ ค.ศ. 1995 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาเปิดและเขียนลายมือเอาไว้ สะพานนี้เชื่อมแผ่นดินใหญ่กับเกาะหมาหยู่ ซึ่งเป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของซัวเถา ตรงลานมีลวด เหล็กเส้น ตะกั่วแผ่น กองอยู่มาก ไม่ทราบว่าเป็นของเอาขึ้นจากเรือหรือกำลังจะลงเรือ ออกจากท่าเรือขึ้นสะพานวนมาเห็นรูปหมาจู่ขนาดใหญ่ 2 รอบ ตอนแรกรู้สึกมืดครึ้มเฉยๆ ต่อมาฝนตกฟ้าร้องประเดี๋ยวเดียวน้ำท่วมถนนตำรวจจราจรยังต้องถอดรองเท้า


(น.29) รูป 21 รูปหมาจู่บนเกาะ

(น.30) เราไปที่มหาวิทยาลัยซัวเถา อธิการบดีคือ ศาสตราจารย์จางเซียงหยู มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือว่าค่อนข้างจะใหม่ ได้รับอนุมัติให้ก่อตั้งใน ค.ศ. 1981 เปิดสอนใน ค.ศ. 1983 มีอาณาเขตประมาณตารางกิโลเมตรหนึ่ง เป้าหมายของการเปิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ การผลิตบุคคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าและการขยายตัวของซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ในด้านเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายสี่ทันสมัย เงินทุนในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากนายลีกาซิง นักธุรกิจชาวฮ่องกง เป็นเงิน 1,100 ล้านเหรียญฮ่องกง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนในระดับปริญญาตรี 18 สาขา ประกาศนียบัตร 17 สาขา แบ่งเป็น 6 คณะวิชาคือ
1.คณะศิลปศาสตร์ แบ่งเป็นภาคภาษาและวรรณคดีจีน และภาควิชาภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ

Next >>