Please wait...

<< Back

ป้อมกีอา

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 262,263,264,265

สถานที่แรกที่ไปดูเรียกว่า ป้อมกีอา (Guia Fort) เรียกชื่อเต็มว่า The Fortress of Our Lady of Guia นายทหารโปรตุเกสเป็นผู้สร้างเมื่อ ค.ศ. 1637-1638 บนจุดที่สูงที่สุดของมาเก๊า เป็นหอรูป 5 เหลี่ยม กำแพงป้อมทำด้วยอิฐและปูน สูง 10 ฟุต ป้อมนี้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันชายแดนด้านที่ติดจีน ขึ้นไปข้างบนแล้วสามารถมองเห็นมาเก๊าทั้งเมือง ป้อมประกอบด้วยค่ายทหารและอาคารต่างๆ ที่สำคัญคือประภาคาร สร้างใน ค.ศ.1865 เป็นประภาคารที่เก่าแก่ที่สุดบนชายฝั่งจีน สูง 52.5 ฟุต รัศมีแสงไฟไกล 20 ไมล์ (เวลาทัศนวิสัยดี) อีกประการหนึ่งคือ มีเสาติดสัญญาณเตือนพายุ มีโบสถ์เล็กๆ ในโบสถ์มีภาพโบราณ ทางเข้าโบสถ์มีหลุมศพของคริสโตเฟอร์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร (น.263) เมื่อไปถึงมีรองผู้อำนวยการการท่องเที่ยว กับนายทหารเรือต้อนรับ เพราะประภาคารนี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ โบสถ์อยู่ในความดูแลของการท่องเที่ยว และบริเวณโดยรอบอยู่ในการดูแลของเทศบาล เข้าไปดูในโบสถ์ สร้างตามแบบศิลปะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 แบบเรียบๆ มีรูปแม่พระเป็นประธานที่แท่นบูชา เป็นแม่พระที่คอยพิทักษ์ชาวเรือ เหมือนกันกับที่เราเห็นทั่วไปบริเวณชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งคติความเชื่อไปเหมือนชาวเรือจีนตอนใต้ที่เชื่อและเคารพเจ้าแม่หมาจู่ เพื่อความมีสวัสดิมงคลในการเดินเรือ คำว่า กีอา ภาษาโปรตุเกส แปลว่าการนำ หรือการเดินเรือ เพดานโค้งยังเห็นร่องรอยของภาพเขียนสี กำแพงเป็นหินโบราณ


(น.263) รูป 198 ป้อมกีอาและโบสถ์


(น.264) รูป 199 เข้าในโบสถ์

(น.264) ปกติเขาไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นบนประภาคาร แต่วันนี้ให้ขึ้นเป็นพิเศษ แต่ก่อนนี้ใช้ไฟน้ำมันก๊าด เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ ค.ศ. 1905 เริ่มเปิดไฟหลังพระอาทิตย์ตกดิน แผ่นเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นก็ติดบนประภาคารนี้เช่นกัน มองจากประภาคารเห็นวิวรอบๆ มาเก๊าได้เสียดายที่วันนี้ทัศนวิสัยไม่ดีจึงเห็นเฉพาะในเกาะ มีท่าเรือ สุสานคาทอลิก คาสิโน ธนาคาร Bank of China โรงพยาบาล โรงเรียนมัธยม (หลังจาก ค.ศ. 1999 ยังคงมีโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาโปรตุเกสตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม)


(น.264) รูป 200 ไฟที่ประภาคาร


(น.265) รูป 201 Chart แสดงความเร็วของพายุ


รูป 202 สัญลักษณ์แสดงความเร็วลม

(น.265) ไปดูห้องที่เก็บแผ่นสัญลักษณ์บอกเตือนภัยพายุไต้ฝุ่น บอกเป็นเบอร์ตั้งแต่เบอร์ 1 ถึงเบอร์ 10 ติดแผนที่ทะเลจีนใต้เอาไว้ บริเวณนี้มีหอระฆังสร้าง ค.ศ. 1907