Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์เฉียนหลิง

จากหนังสือ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 78-88

(น.78) รูปที่61 พอถึงพิพิธภัณฑ์ฟังบรรยายสรุป : At the tomb: listening to the briefing เมื่อไปถึงสุสานผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฉียนหลิงมาต้อนรับ พาไปนั่งที่ห้องรับรอง และลุกขึ้นอธิบายคล้าย ๆ ที่คุณหันอธิบายในรถ แต่ได้เพิ่มเติมตัวเลขมากมาย บรรยายลักษณะผังของสุสานตามแบบนักโบราณคดี ครูใหญ่อาจารย์กู้เดินเข้ามาหาข้าพเจ้า บอกว่าหาคนอธิบายใหม่จะดีไหม ที่นี่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้ ให้เขาพูดภาษาอังกฤษเสียเลย ผู้อำนวยการคนนี้พูดภาษาพื้นเมือง คุณหลิว (ล่าม) ก็ฟังไม่ออก ข้าพเจ้าลำบากใจมากเขาอธิบายไม่ค่อยรู้เรื่องจริง ๆ (ฟังจากล่าม) แต่ข้าพเจ้าก็เกรงใจเขา เพราะว่าเขามีท่าทางกระตือรือร้นที่จะอธิบายจริง ๆ ถ้าให้คนอื่นพูดเขาคงจะเสียใจ ข้าพเจ้าเลยบอกว่าวันนี้เรามาช้า

(น.79) รูป62. บริเวณสุสานของเจ้าหญิงหย่งไท่ กว่ากำหนดไป 45 นาทีเพราะมัวไปหยุดที่ประตูเริ่มต้นเส้นทางค้าแพรไหม ฉะนั้นทางที่ดีไปดูที่สถานที่และอธิบายไปเลยจะดีกว่า ทุกคนก็เห็นด้วย ครูกู้บ่นให้ฟังว่า “ฉันเป็นคนจีนยังฟังไม่รู้เรื่อง” เปียนเหมย (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) ก็บอกว่าไม่เข้าใจเช่นเดียวกัน เราไปที่สุสานของเจ้าหญิงหย่งไท่ ระหว่างดูมีใครต่อใครอธิบายกันหลายคน ทั้งพวกพิพิธภัณฑ์เฉียนหลิง และอาจารย์หวางจากพิพิธภัณฑ์ส่านซี เจ้าหญิงหย่งไท่มีพระนามเดิมว่าหลี่เสี่ยนหุ้ย (ค.ศ. 684-701) เป็นหลานของพระเจ้าถังเกาจง พระธิดาพระเจ้าถังจงจง (หลี่เสี่ยน) สิ้นพระชนม์ที่ลั่วหยาง และภายหลังย้ายมาฝังที่นี่

(น.80) รูป63. สมัยราชวงศ์ถัง สุสานจะทำเป็นอุโมงค์ลงไปใต้ดิน ภายในอาคารค่อนข้างเย็นเยือก
รูป64. มีป้ายติดไว้ว่าตรงนี้ขโมยแอบขุดเข้ามา ลักษณะสุสาน (ในสายตาข้าพเจ้า) เป็นอุโมงค์ลงไปใต้ดิน มีอะไรก็ไม่ทราบทำให้นึกถึงวัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่ ทางเข้ามีจารึก 2 แผ่นเล่าประวัติเจ้าหญิง ตามผนังและเพดานอุโมงค์เขียนลวดลาย เขาบอกว่ามีลายแบบจีน ลายดอกทับทิมเป็นลายตามแบบตะวันตก ทับทิมนี้จีนถือว่าเป็นผลไม้มงคล มีเม็ดมากแปลว่ามีลูกหลานมาก (ปัจจุบันสังคมเข้าสู่ยุคลูกมากยากจน ไม่ทราบว่ามงคลแบบนี้จะเปลี่ยนไปหรือเปล่า) มีป้ายปิดกำแพงไว้ว่า ตรงนี้ขโมยแอบขุดเข้ามา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาสนใจอยู่กับว่าขโมยขุดหรือไม่ขุดอย่างมาก เข้าใจว่าคงเป็นปัญหาของเขา

(น.81) รูป65. ภาพเขียนสมัยราชวงศ์ถังฝีมือประณีต อยู่เหมือนกัน ที่ร้ายไปกว่านั้นยังมีคนอธิบายต่อไปอีกว่าพบกระดูกขโมย ข้าพเจ้าน่ะสงสัยเต็มที่ว่าขโมยอะไรถึงได้ทิ้งกระดูกไว้ให้นักโบราณคดีพบได้ แต่คุณเสริมผู้เป็นตำรวจหัวเราะชอบใจ ภาพวาดในสุสานนี้ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่เขาวาดขึ้นใหม่ แทนของเดิมที่ลอกไปไว้พิพิธภัณฑ์ เป็นภาพแสดงชีวิตประจำวัน เป็นแฟชั่นที่ผู้หญิงจะแต่งตัวแบบผู้ชาย คือส่วนใหญ่จะแต่งตัวทำผมแบบสตรีชั้นสูงสมัยถัง ของใช้ต่าง ๆ มีหีบ พัด ไม้เกาหลัง กาน้ำแบบราชวงศ์ถัง ซึ่งได้ทราบว่ามาจากทิศตะวันตก องุ่นเป็นพันธุ์มาจากอิหร่าน ตามเส้นทางค้าแพรไหม

(น82.) ลายแกะสลักหินเขาก็ทำได้สวยและละเอียดดี เมื่อเข้าไปลึกที่สุดเป็นโลงศพทำด้วยหินจำพวกหินอ่อน สีเขียวแก่ (จนเป็นสีดำ) ฝาถูกขโมยไปแล้ว! ลวดลายเครือเถาบางส่วนเหมือนลายของฝรั่ง ลวดลายบางอย่างอาจารย์หวางอธิบายว่าเป็นลายแบบกรีก ห้องที่ไว้โลงนี้ทำเลียนแบบห้องบรรทมเมื่อยังมีพระชนม์อยู่ เพดานเป็นรูปโค้งเปรียบเสมือนเป็นท้องฟ้า มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว และทางช้างเผือก ห้องข้างในนี้อากาศเย็นมาก ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องมังกรหยกตอนที่เอี้ยก้วย กับนางเสี่ยวเล่งนึ้งไปฝึกวิชาอยู่ในกู่มู่ นอนบนแท่นหยกซึ่งเย็นเยือกที่เขาบรรยายไว้ มีผู้อธิบายว่าได้พบกระดูกเจ้าหญิงด้วย และเอาไปวิจัยที่สถาบันค้นคว้าโบราณวัตถุในซีอานถึงสาเหตุการตาย บอกว่าออกลูกตายเพราะเชิงกรานแคบ ข้อนี้ทำให้งงนิดหน่อย เพราะข้าพเจ้าได้อ่านในเอกสารที่เขาแจกมาบอกว่าเจ้าหญิงไปวิจารณ์จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนว่ามีแฟนแยะ ย่าก็เลยจับประหาร เมื่อพระราชบิดาได้บัลลังก์ก็ได้เฉลิมพระนามเจ้าหญิงเป็นหย่งไท่และนำพระศพมาฝังที่นี่ เอกสารนี้แจกทั่วไป พิมพ์เป็นครั้งที่สองแล้ว น่าจะเชื่อถือได้มากกว่า อย่างไรก็ตามต้องค้นคว้าต่อไป ข้าพเจ้ายกเรื่องนี้มาพูดเพื่อให้เห็นความลำบากในเรื่องหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นคว้าของคนที่มาเที่ยวเพียงชั่วครู่ชั่วยามอย่างข้าพเจ้า ขาออกจากสุสานก็ชมภาพผนังไปเรื่อย ๆ มีภาพขันที กองเกียรติยศติดอาวุธมีหัว 2 แฉก ซึ่งเป็นเครื่องบอกฐานะ ถ้าเป็นของจักรพรรดิจะมี 8 ด้าม ของเจ้าหญิงมีแค่ 6 สีของเสื้อก็แสดงฐานะของบุคคล สีแดงเข้มเท่ากับรัฐมนตรีในปัจจุบัน สีเขียวเป็นอธิบดี ลวดลายก็เป็นเครื่องแสดงฐานะ เชื้อพระวงศ์จึงใช้ลายมังกร ลายหงส์ได้ ลายมังกรสีเขียวเสื้อสีขาวเป็นสัตว์ที่เป็นสิริมงคล ในสุสานได้พบตุ๊กตาจำลองที่แสดงชีวิตประจำวันทำด้วยดินเผา
(น.83) รูป66. เครื่องเคลือบเซรามิกที่พบในสุสาน แสดงชีวิตประจำวันในสมัยราชวงศ์ถัง มีรูปคนขี่ม้าเป็นจำนวนมาก แสดงว่าในสมัยนั้นม้าเป็นพาหนะสำคัญ คงมีการติดต่อกับต่างประเทศมาก เพราะมีตุ๊กตาชาวต่างชาติอยู่หลายตัว ออกจากสุสานเข้าในพิพิธภัณฑ์ เขามีภาพแสดงสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์ถังที่อยู่ที่ซีอาน 18 แห่ง ในราชวงศ์ถังมีกษัตริย์ 21 พระองค์ สุสานมีอยู่ที่ซีอาน 18 ที่ขาดไปอยู่ที่ซานตงกับลั่วหยาง นักโบราณคดียังไม่ได้ขุดค้นสุสานมากนัก แต่ก็มีคนลักลอบขุด ในสมัยก่อนมีขุนศึกเจิ้นเถาซึ่งเที่ยวไปขุดค้นสุสานต่าง ๆ แต่ไม่ได้ขุดเฉียนหลิง เพราะเมื่อจะขุดเกิดฝนตก ลมพัดแรงขุดไม่ได้ (ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบุญญาบารมีของจักรพรรดิหรือเปล่า) ตามหลักฐานโบราณคดีก็เห็นว่าคงไม่มีการทำลาย ประตูทางเข้าก็ยังอยู่ดี รูปนกกระจอกเทศ เป็นสัตว์มาจากแอฟริกา ผ่านอาหรับ ผ่านเส้นทางแพรไหมลงซีอาน ภาพที่จินตนาการว่าสุสานนี้ก่อนถูกทำลายตามกาลเวลาเป็นอย่างไร ตามหลักฐานเอกสารว่ามีถึง 378 อาคาร สุสานสร้างบนเขายอดสูงสุด

(น.84) รูป67. ในพิพิธภัณฑ์มีตุ๊กตาเซรามิกรูปอูฐ

รูป68. ม้าสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวกันว่าม้าที่มีคุณสมบัติที่ดีจะเป็นมามาจากดินแดนทางตะวันตก ผู้ใดมีม้าพันธุ์ดีไว้ใช้ก็จะได้เปรียบในการสงคราม ก็เหมือนกับสมัยนี้ที่พาหนะ (รถ เรือ เครื่องบิน) ที่ดีก็ได้เปรียบในการรบ

(น.85) รอบ ๆ มีสุสานบริวาร เป็นของเจ้าหญิง 4 เจ้าชาย 2 เจ้าเมือง 3 เสนาบดี 8 ของที่ได้จากสุสาน ที่เอามาจัดแสดงมีของจำลองเล็ก ๆ เป็นดินเผาเคลือบ 3 สี (น้ำตาล เขียว ขาว) มีที่ตั้งอาวุธ บ่อน้ำโบราณ ครก กระเดื่องตำข้าว หม้อเล็ก ๆ โต๊ะ ตุ๊กตาดินเผาทาสี คนขี่ม้าเป่าขลุ่ย ขี่ม้าล่าสัตว์ ยิงธนู มีเสือดาวนั่งอยู่หลังม้า อีกตัวมีหมานั่งหลังม้า ม้าตัวใหญ่ ทองคำประดับม้า (ม้าทำด้วยไม้ผุไปแล้ว) สัตว์พิทักษ์สุสาน (คล้าย ๆ กิเลน) ที่นี่ม้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อคืนนี้รองผู้ว่าราชการพูดถึงม้าหลายชนิด ข้าพเจ้าฟังแล้วงง ข้าพเจ้าขอให้อาจารย์สารสินช่วยสืบว่าตกลงมีชนิดไหนบ้าง ได้ความว่ามี 4 ชนิด ดังนี้ ม้าต้าหวัน ต้าหวันหรือเฟอร์กานา (Ferghana) เป็นชื่อแคว้นของชนเผ่าหนึ่ง มีการติดต่อกับจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ปัจจุบันอยู่ในเขตอูซเบกิสลานในรัสเซีย รูปปั้นของม้าต้าหวันมีอยู่ที่สุสานเม่าหลิง ม้าจากรูปปั้นม้าเยียบนกบิน คือม้าอูซุนจากแถบลุ่มแม่น้ำอีลี่ มณฑลซินเกียง ม้าของฉินซื่อหวงตี้ คือม้าเหอชูวจากมณฑลกานซู ม้าบิน (มีปีก) เดิมตั้งอยู่หน้าสุสานเจ้าหลิง เป็นมาเปอร์เซียหรืออิหร่าน

(น.86) รูป69. ในสุสานมีภาพเขียนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ถัง เช่น ภาพทูตจากประเทศต่าง ๆ ที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน

(น.87) รูป70. สุสานเจ้าหญิงหย่งไท่จำลอง นอกจากม้ามีสัตว์ต่าง ๆ เช่น สัตว์ประหลาดรวมลักษณะพิเศษของสัตว์ต่าง ๆ รวมกันให้ดูน่ากลัว เพื่อกันผีเข้าไป รูปกองเกียรติยศม้าหน้าม้าเป็นทอง ผ้าคลุมม้าเป็นเงิน ภาพคนหู (ชาวต่างชาติ เป็นคนฝรั่ง) รูปนายทหาร เสนาบดี เคยเอาไปแสดงต่างประเทศ 3 ครั้งแล้ว รูปอูฐบรรทุกผ้าแพรไหม มีถุงน้ำแขวนข้าง ๆ สมัยฮั่นนั้นคนมั่งมีจะต้องมีข้าวแยะ ส่วนคนมั่งมีสมัยราชวงศ์ถังคนมีผ้าไหมแยะแปลว่ารวย กระจกทองแดง

(น.88) ภาพฝาผนังต่าง ๆ ที่คัดลอกมาจากสุสานเป็นเรื่องการรับทูต มีเจ้าหน้าที่กรมพิธี และทูตจากโรมัน เกาหลี ชนกลุ่มน้อย ในสมัยราชวงศ์ถังมีหลักฐานว่าจีนมีความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ 300 กว่าประเทศ สุสานจำลองจากสุสานเจ้าหญิงหย่งไท่ (ทำด้วยไม้อัดปะกระดาษ) ภาพตีคลี เกมนี้เป็นเกมจากอิหร่าน แต่เป็นที่นิยมมากในสมัยราชวงศ์ถัง สถานที่ราชการหรือตามหมู่บ้านมักจะมีสนามตีคลี ในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าครั้งหนึ่งมีทีมตีคลีจากทิเบตมาแข่งขันกับทีมชาติของราชวงศ์ถัง ปรากฏว่าทีมชาติแพ้ จักรพรรดิองค์ที่ 7 (ถังเสวียนจง-หมิงหวง) ซึ่งยังไม่ขึ้นครองราชย์จึงจัดนักกีฬาไปแข่งอีกครั้งและเอาชนะทิเบตได้ สมัยราชวงศ์ถังพวกเจ้านาย ขุนนางตีคลีกันเป็นส่วนมาก นับว่าเป็นกีฬาใหม่ที่มาตามเส้นทางค้าแพรไหม ปัจจุบันเข้าใจว่ายังมีเหลืออยู่แต่ที่มองโกเลีย ออกจากพิพิธภัณฑ์ไปดูสุสานเฉียนหลิง ทางขึ้นสุสานมีหินสลักเป็นรูปสัตว์เฝ้าอยู่ 2 ด้าน เรานั่งรถขึ้นไปตรงบันไดทางขึ้นซึ่งมี 500 กว่าขั้น ข้าพเจ้ายังนึกว่าถ้าเรามีเวลาควรจะเดิน เพราะว่ามาที่นี่เรารับประทานอาหารกันมากมาย ไม่ได้มีเวลาวิ่งเลย ถนนอยู่ทางทิศใต้ สองข้างมีเขาข้างละลูก มีประตู เสาชัย 2 ด้าน เสาแบบนี้จะมีเฉพาะที่วังกับที่สุสาน ที่อื่นไม่มี อาจารย์หวางแนะนำให้ไปถ่ายรูปกับม้าบิน ลายที่ปีกเป็นลายจากประเทศกรีซ เรานั่งรถต่อไปใกล้สุสาน มีรูปนกกระจอกเทศซึ่งเป็นสัตว์มาจากแอฟริกา รูปขุนนาง ที่สุสานมีป้ายบอกไว้ ป้ายนี้สร้างสมัยพระเจ้าเฉียนหลง อาจารย์หวางอธิบายว่าสุสานนี้คงจะมี 3 ห้อง เพราะเป็นของจักรพรรดิ