Please wait...

<< Back

สะพานมาร์โคโปโล

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 39,41,43,51-53

(น. 39) ตอนเช้านี้ไปที่พิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น อยู่ที่หว่านผิง ชานเมืองปักกิ่ง เข้าไปที่ห้องโถง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวต้อนรับและแนะนำผู้อำนวยการเขตจงไถของปักกิ่ง แล้วเล่าประวัติของพิพิธภัณฑ์ว่าสร้างขึ้นเพื่อเล่าประวัติสงครามต่อต้านญี่ปุ่นของประชาชนจีน ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 ถึงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1945 อันเป็นวันที่ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อจีน สร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1987 ครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่สะพานหลูโกวเฉียว (สะพานมาร์โคโปโล) ในค.ศ. 1995 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ได้อนุมัติให้ขยายพิพิธภัณฑ์ การดำเนินการแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1997 ทันงานที่ระลึกครบรอบ 60 ปี ที่ห้องโถงกลางมีตัวเขียนลายมือประธานาธิบดีเจียง ผนังซ้ายขวามีโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้อง ด้านหนึ่งเป็นเพลงชาติจีน อีกด้านดูเหมือนจะเป็นเพลงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์นี้มีผู้เข้าชมประมาณปีละล้านกว่าคน และมีวัตถุประสงค์ต้องการให้การศึกษาแก่เยาวชน เป็นบทเรียนว่าถ้าเราไม่เตรียมพร้อมมัวล้าหลังจะถูกรังแก จึงจำเป็นต้องสร้างประเทศของเราให้รุ่งเรือง รวมทั้งสอนให้รู้ว่าต้องร่วมมือสามัคคีกับประชาชนทั่วโลกเพื่อต่อต้านสงครามรักษาสันติภาพ
(น. 43) ส่วนเหตุการณ์สะพานหลูโกวเฉียวนั้นมีสาเหตุจากวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นซ้อมรับอยู่รอบๆ สะพานหลูโกวเฉียว แล้วอ้างว่ามีพลทหารคนหนึ่งหายไป ขอเข้าค้นหาในเมืองหว่านผิง ซึ่งอยู่ใกล้ปักกิ่ง แต่กองทัพจีนไม่ยอม ญี่ปุ่นจึงบุกหว่านผิง เป็นจุดเริ่มต้นสงครามจีน-ญี่ปุ่น และการต่อต้านญี่ปุ่นของชาวบ้านจีนทั่วประเทศ รวมทั้งชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามจีน-ญี่ปุ่นได้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกด้วยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


(น. 43) รูป 30 เหตุการณ์รบที่สะพานหลูโกวเฉียว
The Battle of Lugouqiao.


(น. 51) รูป 38 ห้องฉายหนังจอผ่าโลก แสดงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว
Film show on panoramic screen about the day when Lugouqiao Bridge was occupied by Japanese soldiers.

(น. 51) ห้องที่ 6 เป็นห้องฉายหนังแบบจอผ่าโลก แสดงแสงเสียงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว และยึดเมืองหว่านผิง เริ่มภาพสะพานหลูโกวเฉียวใต้แสงจันทร์ ร่ายบทกวีชมสะพาน เล่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุก สร้างภาพยนตร์ได้สมจริงดี ป้าจันบอกว่าทำเสียงระเบิดได้เหมือนมาก เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าเพราะเกิดไม่ทัน


(น. 52) รูป 39 สะพานหลูโกวเฉียว หัวเสาสะพานสลักรูปสิงโต
Lugouqiao Bridge with lion-shaped posts.

(น. 52) จากพิพิธภัณฑ์นั่งรถไปดูสะพานหลูโกวเฉียว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า สะพานมาร์โคโปโล ที่จริงสะพานนี้สร้างก่อนมาร์โคโปโลมาเมืองจีน คือ สร้างตั้งแต่ราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) เมื่อประมาณ ค.ศ. 1189-ค.ศ. 1192 แต่มาร์โคโปโลเป็นผู้เขียนชมเชยไว้ว่า สะพานนี้สวยงามแปลกกว่าสะพานอื่นๆ ชื่อของมาร์โคโปโลก็เลยมาติดอยู่กับสะพานนี้
(น. 53) รูป 39 สะพานหลูโกวเฉียว หัวเสาสะพานสลักรูปสิงโต
Lugouqiao Bridge with lion-shaped posts.

(น. 53) สะพานหลูโกวเฉียวเป็นสะพานหิน เสารูปโค้งรับสะพานเป็นช่วงๆ ราวสะพานเป็นเสามีพนัก บนหัวเสาสลักรูปสิงโตทำท่าทางต่างๆ ไม่ซ้ำกัน พูดกันว่ามีถึง 485 ตัว สะพานยาว 266.5 เมตร กว้าง 9.3 เมตร เขาบูรณะซ่อมแซมพื้นสะพานเสียใหม่ให้เรียบ เดินง่าย แต่ว่าตรงกลางทิ้งหินเดิมเอาไว้ให้ดู ตอนนี้แม่น้ำไม่มีน้ำเลยเพราะอยู่ในระหว่างซ่อมแซมสะพาน ขุดลอกแม่น้ำ เดือนกรกฎาคมจึงจะปล่อยน้ำเพื่อตกแต่งให้ทันงานวันฉลอง บริเวณนี้ต่อไปจะทำเป็นสวนสาธารณะ

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 14

(น.14) ยุคที่ 5 สมัยสหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ (National Southwest Association University) ค.ศ. 1937-1946
เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน เมื่อเกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (เริ่ม 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937) เริ่มที่สะพานมาร์โคโปโล รวมมหาวิทยาลัยหนานไค (ที่เทียนสิน) มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวอพยพไปที่นครฉางซา มณฑลหูหนาน ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉพาะกาล ในที่สุดอพยพไปอยู่ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงได้ชื่อว่า สหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ ยุคนี้เป็นยุคที่น่าศึกษา เพราะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จมาก ถึงจะยากลำบากเพราะการย้ายสถานที่ ขาดแคลนอุปกรณ์ เขาแสดงรูปห้องสมุดสมัยนั้น เอาหนังสือใส่หีบตั้งซ้อนๆ กัน สมัยนั้นมีศาสตราจารย์ที่มีชื่อหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์เหวินยี่ตัว นอกจากสอนมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องไปสอนโรงเรียนมัธยม และหารายได้เพิ่มเติมด้วยการแกะตรา มหาวิทยาลัยมีผลงานมากมาย เช่น สร้างบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ 163 คน นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ หลี่เจิ้งเต้า และหยังเจิ้นหนิง ได้รับรางวัลโนเบล
ยุคที่ 6 มหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับคืนสู่ปักกิ่ง (ค.ศ. 1946-1949) อธิการบดีชื่อ หูซื่อ ขยายสาขาวิชาจากที่มีอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย เพิ่มสาขาวิชาแพทย์ และเกษตร
ยุคที่ 7 สมัย 17 ปีแรกของสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949-1966) ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นลายมือประธานเหมา ใน ค.ศ. 1952 ปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มภาควิชาต่างๆ เนินวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน รวมกับมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของอเมริกัน ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาการ รวมทั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์