Please wait...

<< Back

วัดถาเอ่อร์

จากหนังสือ

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 48-57

(น.48) วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2544
เปิดหน้าต่างห้องเขียนหนังสือ อากาศเย็นๆ เหมือนหน้าหนาว เสียงนกร้องจู๋จี๋ ออกไปเดินเล่น อากาศเย็นผิดกับเมื่อวานนี้ รับประทานอาหารเช้าแล้วออกไปวัดกุมบุม มีความหมายว่า พระพุทธรูปหนึ่งแสนองค์ ภาษาจีนเรียกวัดนี้ว่า วัดถาเอ่อร์ซื่อ เป็นวัดใหญ่หนึ่งในหกของวัดทิเบตนิกายเกลุกปะ และเป็นที่เกิดของพระอาจารย์จงคาปา ผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะ เมื่อไปถึงมีพระลามะมารับ ประพจน์เล่าว่าที่จริงพระทิเบตทั่วๆ ไป เรียกว่า พระภิกษุ ไม่ได้เป็นลามะทุกองค์ องค์ไหนที่ไม่มีความสามารถสูงนักก็เรียนเฉพาะการทำพิธี เพื่อช่วยชาวบ้านได้ องค์ไหนเมื่อบวชแล้ว มีความสามารถในด้านวิปัสสนา หรือด้านพระไตรปิฎกและหลักปรัชญาก็เรียนไปด้านนั้น และได้เป็นลามะ ยังมีอีกพวกคือ Húa Fó (หัวโฝ) หรือที่เขาแปลกันว่า Living Buddha คือพระพุทธเจ้าผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ที่จริงคือนิรมาณกายของผู้ที่ตั้งใจจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ จึงมาถือกำเนิดเป็นมนุษย์
(น.49) รูป 37 พระวัดกุมบุมนำชมวัด
(น.50) รูป 38 ธรรมบาล (พระโพธิสัตว์คุ้มครอง) ในวิหารฮู่ฝ่า
(น.50) รูป 39 พระพุทธรูปแบบทิเบต
(น.50) เข้าไปที่เสี่ยวจินหว่าซื่อ (วิหารกระเบื้องทองเล็ก) มีอีกชื่อเรียกว่า วิหารฮู่ฝ่า (ผู้พิทักษ์พุทธศาสนา) สร้างใน ค.ศ. 1692 หลังคาเป็นกระเบื้องสำริดทาทอง บนยอดหลังคามีรูปธรรมจักร และรูปฮู่ฝ่า มีม่านบังเอาไว้ ในอาคารประดับด้วยผ้าตาดแขวน และทังกาเป็นรูปเกี่ยวกับพุทธศาสนา ฝาผนังเป็นช่องๆ ใส่พระไตรปิฎกเยอะแยะไปหมด เครื่องบูชาพระใช้ตะเกียงเนย จุดแล้วไม่มีควัน ได้ดูคัมภีร์กันจูร์ (Kanjur) ใช้หมึกทองเขียนหนังสือ ออกมานอกวิหาร พระให้ผ้า ให้รูป และแสตมป์ที่ระลึกของวัดนี้
(น.51) รูป 40 พระพุทธรูปแบบจีน
(น.51) วิหารฉังโซ่ว หมายถึง วิหารอายุยืน จักรพรรดิคังซีสร้างถวายดาไลลามะองค์ที่ 7 ข้างในมีพระพุทธรูปพระศากยมุนี สองข้างเป็นรูปพระอานนท์ และพระมหากาศยปะ ข้างซ้ายมีรูปพระไมเตรยะ ข้างขวาเป็นพระสมันตภัทร ที่ลานหน้าวิหารมีต้นโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งงามมาก พอถึงฤดูร้อน ก็จะออกดอกเต็มต้น กลิ่นหอมกระจายไปทั่ว วัดถาเอ่อร์ซื่อ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เสี่ยวฮวาซื่อ แปลว่า วัดดอกไม้เล็ก ตรงกลางลานหน้าวิหารมี เสี่ยวฮวาถาน เป็นแท่น มีหินอยู่แท่งหนึ่ง หินนี้ทาเนยเปียกแฉะไปหมด มีเหรียญกษาปณ์เต็มบนแท่งหิน มีเรื่องเล่าว่า โยมแม่ของท่านจงคาปา เวลาไปหิ้วน้ำ เมื่อเหนื่อยก็จะนั่งพักบนหินนี้ จึงทำให้หินศักดิ์สิทธิ์ ต้นโพธิ์ใหญ่ที่ว่านี้ดูแล้วไม่เหมือนต้นโพธิ์บ้านเรา ในหนังสือ Le temple tibétain et son symbolisme ของ Tcheuky Sèriqué ฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1998 บอกว่า เป็นต้น Santal blanc (Syringa villosa) จันทร์ขาว (?) เดินผ่านตำหนักที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระปันฉานลามะ
(น.52) เข้าไปในวิหารอะไรจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือนจะเป็นหอพระไตรปิฎก แต่ก่อนเคยมีพระมาชุมนุมกัน 4,000-5,000 รูป มาจากซินเกียงและมองโกเลียก็มี ฝาผนังเขียนภาพตามเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา สีที่เขียนเป็นสีจากแร่ธาตุ ทุกเช้าทุกเย็นพระจะต้องมาทำวัตรเช้าวัตรเย็นที่นี่ ของบูชามีตะเกียงพันดวง รูปพระอาจารย์จงคาปากะไหล่ทอง 1,000 องค์ มีเครื่องบูชาเป็นภาชนะใส่ธัญพืช มีชิงเคอ (ข้าวบาร์เลย์ชนิดหนึ่ง ?) ท้อ สาลี่พันธุ์พิเศษที่ขึ้นในชิงไห่และทิเบต มีรูปพระจงคาปา บัลลังก์ของพระดาไลลามะ และพระปันฉานลามะเวลามาที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าอาวาส
(น.52) รูป 41 ท้าวธตรฐ ผู้พิทักษ์ทิศตะวันออก หนึ่งในจตุโลกบาล
(น.52) รูป 42 เครื่องบูชาประจำวัน น้ำในถ้วย (อาจมี 7, 14, 21 ฯลฯ ใบ) เติมใหม่ทุกเช้าและเทออกทุกเย็น
(น.53) รูป 43 คัมภีร์ตันจูร์
(น.53) ได้ดูคัมภีร์เขียนอักษรทอง อายุ 400 กว่าปีมาแล้ว ช่วงที่เขียนเป็นช่วงที่วัดเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นพระสูตรมหายาน เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์ เขียนตอนต้นเป็นภาษาสันสกฤต เขียนสีทำจากทองเงินและปะการัง ผ้าห่อก็สวยงามมาก มีป้ายบอกติดไว้ว่าเป็นคัมภีร์อะไร ในวัดนี้มีหม้อยักษ์ 3 หม้อ หุงข้าวเลี้ยงคนได้ 3,000-5,000 คน ในวัดนี้มีสถาบันการศึกษาอยู่ 5 สถาบัน
1. สถาบันศึกษายาสมุนไพรของทิเบต พระที่มาเรียนรวบรวมยาสมุนไพร ศึกษาวิชาเก็บยา และการรักษา
2. สถาบันมี่จง หรือตันตระ พระที่มาเรียนศึกษาคัมภีร์ ปฏิบัติโยคะ
3. สถาบันโยคาจาร
4. สถาบันศึกษาด้านการคำนวณเลข
5. สถาบันศึกษาศิลปะทางพุทธศาสนา
(น.54) รูป 44 พระอาจารย์จงคาปา
(น.54) อาคารที่สำคัญที่สุดคือ ต้าจินหว่าซื่อ (วิหารกระเบื้องทองใหญ่) อยู่ระหว่างหอพระสูตรและวิหารพระไมเตรยะ มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่จงคาปาเกิด แม่เอารกของจงคาปาไปฝังตรงกลางพื้นที่ที่เป็นวิหารต้าจินหว่าในปัจจุบัน ต่อมาที่ตรงนั้นมีต้นโพธิ์งอกขึ้นมา เมื่อสูงประมาณ 2 เมตร มีใบแสนใบ ในใบไม้ทุกใบมีรูปสิงโต บรรลือสีหนาท แม่ของท่านมีความเคารพศรัทธา จึงสร้างเจดีย์ตรงบริเวณที่ต้นโพธิ์ขึ้น เพื่อรักษาต้นโพธิ์ไว้ สร้างเจดีย์ใน ค.ศ. 1376
(น.55) ใน ค.ศ. 1560 พระรูปหนึ่งได้มาสร้างวัดในพื้นที่บริเวณนี้สำหรับทำสมาธิ ให้พระภิกษุใช้เป็นที่ศึกษาพุทธรรม เรียกชื่อวัดว่า ถาเอ่อร์ซื่อ นาม ถาเอ่อร์ มีที่มาจากคำว่า กุมบุม แปลว่า พระพุทธรูปหนึ่งแสนองค์ แล้วได้สร้างวิหารพระไมเตรยะ และอาคารอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนตรงที่แม่ของจงคาปาสร้างเจดีย์ไว้นั้นต่อมาคนรุ่นหลังได้ไปสร้างเป็นเจดีย์เงิน สูงใหญ่ถึง 11.8 เมตร เรื่องเล่านี้สะท้อนความเชื่อว่า พระจงคาปาเป็นอวตารของพระมัญชุศรี ซึ่งมีสิงโตเป็นพาหนะ ขณะนี้ (พ.ศ. 2544) กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะวิหารต้าจินหว่า ใช้งบประมาณ 14 ล้านหยวน ใช้ทองทำกระเบื้องชุบทอง 225 กิโลกรัม มีป้ายลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง
(น.55) รูป 45 พระอาจารย์จงคาปาขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนอิม) 11 เศียร (เอกทศมุข)
(น.56) รูป 46 รูปพระอาจารย์ปันฉานลามะ (ปัญเชนลามะ) องค์ที่ 10 ตั้งบูชาบนแท่นพระพุทธรูปศากยมุนี
(น.56) วิหารพระไมเตรยะ เมื่อเราเข้าไปเห็นพระกำลังสวดมนต์ วิหารหลังนี้สร้างใน ค.ศ. 1577 เดิมสร้างเป็นเจดีย์ ข้างในมีรูปพระอวโลกิเตศวร (พระกวนอิม) พระมัญชุศรี (พระเหวินซู) และพระวัชรปาณี (จินกัง) มีเสาไม้เก่าแก่เคยเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตรงนี้มาก่อน ถือว่าเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ มีรูปพระไมเตรยะ ซึ่งบรรจุเกศาของพระอาจารย์จงคาปา ขอเขาเข้าไปดูโรงพิมพ์โบราณของวัดที่พิมพ์พระไตรปิฎก และคัมภีร์ทิเบตต่างๆ แม่พิมพ์ไม้เก็บไว้อย่างดีในชั้น เป็นของโบราณ (ราชวงศ์หมิง ?) แต่ถ้าแผ่นไหนชำรุดก็ซ่อมแซม ตัวอาคารสร้าง ค.ศ. 1827 ซ่อมแซมใน ค.ศ. 1997 มีห้องแกะสลักแม่พิมพ์ ห้องพิมพ์ เก็บกระดาษที่ล้างแม่พิมพ์ ห้องเย็บเล่ม และเก็บไว้ งานพิมพ์หนังสือเป็นงานละเอียด ต้องตรวจทานอย่างดี งานที่พิมพ์ไม่ได้มีเฉพาะข้อเขียนทางศาสนา ยังมีงานด้านการแพทย์ วรรณคดี ดนตรี ดาราศาสตร์ มีผู้ใช้หนังสือเหล่านี้มากไม่เฉพาะแต่ในมณฑลชิงไห่ พระในทิเบต กานซู่ เสฉวน มองโกเลีย ก็ได้ศึกษาด้วย นับเป็นคุณูปการต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โรงพิมพ์นี้ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ถ้าใครสนใจขอเขาดู เขาก็เปิดให้
(น.56) รูป 47 แม่พิมพ์คัมภีร์ทำด้วยไม้
(น.57) จุดสุดท้ายก่อนจะเดินทางออกจากวัด คือ อาคารปั้นเนย ศิลปะการปั้นเนยถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางศิลปะอย่างหนึ่งของวัดนี้ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ อาคารนี้สร้างใน ค.ศ. 1988 และต้องติดแอร์เพื่อรักษารูปทรงของเนยเอาไว้ พระในวัดนี้เป็นผู้ปั้นเนย และปั้นใหม่ทุกปี จะปั้นเป็นรูปอะไรนั้นพระที่เป็นผู้นำชมบอกว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้กำหนด เมื่อปั้นเสร็จจะเอาไปแสดงกลางแจ้งให้คนดูวันหนึ่ง แล้วเอาไปเก็บในอาคารแทนรูปเก่าของปีก่อน ตามประวัติเล่ากันมาว่า พระอาจารย์จงคาปาสร้างวัดนี้แล้วไปทิเบต เพื่อไปชุมนุมสาวก 100,000 รูป ที่วัดต้าเจ้าในเมืองลาซา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ นอนหลับได้บังเกิดนิมิตฝันว่า ในท่ามกลางฤดูหนาว ดอกไม้กลับบานสะพรั่ง พระโพธิสัตว์เสด็จมา เมื่อตื่นขึ้นเล่าฝันให้สาวกทั้งหลาย มีผู้คิดขึ้นมาว่าจะต้องใช้เนยปั้นรูปความฝันของพระอาจารย์เอาไว้ จึงเป็นธรรมเนียมมากระทั่งทุกวันนี้
(น.57) รูป 48-50 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

วัดถาเอ่อร์ซื่อ

วัดกุมบุม มีความหมายว่า พระพุทธรูปหนึ่งแสนองค์ ภาษาจีนเรียกวัดนี้ว่า วัดถาเอ่อร์ซื่อ เป็นวัดใหญ่หนึ่งในหกของวัดทิเบตนิกายเกลุกปะ และเป็นที่เกิดของพระอาจารย์จงคาปา ผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะ เมื่อไปถึงมีพระลามะมารับ ประพจน์เล่าว่าที่จริงพระทิเบตทั่วๆ ไป เรียกว่า พระภิกษุ ไม่ได้เป็นลามะทุกองค์ องค์ไหนที่ไม่มีความสามารถสูงนักก็เรียนเฉพาะการทำพิธี เพื่อช่วยชาวบ้านได้ องค์ไหนเมื่อบวชแล้ว มีความสามารถในด้านวิปัสสนา หรือด้านพระไตรปิฎกและหลักปรัชญาก็เรียนไปด้านนั้น และได้เป็นลามะ ยังมีอีกพวกคือ Húa Fó (หัวโฝ) หรือที่เขาแปลกันว่า Living Buddha คือพระพุทธเจ้าผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ที่จริงคือนิรมาณกายของผู้ที่ตั้งใจจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ จึงมาถือกำเนิดเป็นมนุษย์[1] ใน ค.ศ. 1560 พระรูปหนึ่งได้มาสร้างวัดในพื้นที่บริเวณนี้สำหรับทำสมาธิ ให้พระภิกษุใช้เป็นที่ศึกษาพุทธรรม เรียกชื่อวัดว่า ถาเอ่อร์ซื่อ นาม ถาเอ่อร์ มีที่มาจากคำว่า กุมบุม แปลว่า พระพุทธรูปหนึ่งแสนองค์ แล้วได้สร้างวิหารพระไมเตรยะ และอาคารอื่นๆ อีกมากมาย[2]

สถานศึกษาภายในวัด

ในวัดนี้มีสถาบันการศึกษาอยู่ 5 สถาบัน
1. สถาบันศึกษายาสมุนไพรของทิเบต พระที่มาเรียนรวบรวมยาสมุนไพร ศึกษาวิชาเก็บยา และการรักษา
2. สถาบันมี่จง หรือตันตระ พระที่มาเรียนศึกษาคัมภีร์ ปฏิบัติโยคะ
3. สถาบันโยคาจาร
4. สถาบันศึกษาด้านการคำนวณเลข
5. สถาบันศึกษาศิลปะทางพุทธศาสนา[3]


ศาสนสถานต่างๆภายในวัด


เสี่ยวจินหว่าซื่อ

เข้าไปที่เสี่ยวจินหว่าซื่อ (วิหารกระเบื้องทองเล็ก) มีอีกชื่อเรียกว่า วิหารฮู่ฝ่า (ผู้พิทักษ์พุทธศาสนา) สร้างใน ค.ศ. 1692 หลังคาเป็นกระเบื้องสำริดทาทอง บนยอดหลังคามีรูปธรรมจักร และรูปฮู่ฝ่า มีม่านบังเอาไว้ ในอาคารประดับด้วยผ้าตาดแขวน และทังกาเป็นรูปเกี่ยวกับพุทธศาสนา ฝาผนังเป็นช่องๆ ใส่พระไตรปิฎกเยอะแยะไปหมด เครื่องบูชาพระใช้ตะเกียงเนย จุดแล้วไม่มีควัน ได้ดูคัมภีร์กันจูร์ (Kanjur) ใช้หมึกทองเขียนหนังสือ[4]

วิหารฉังโซ่ว

วิหารฉังโซ่ว หมายถึง วิหารอายุยืน จักรพรรดิคังซีสร้างถวายดาไลลามะองค์ที่ 7 ข้างในมีพระพุทธรูปพระศากยมุนี สองข้างเป็นรูปพระอานนท์ และพระมหากาศยปะ ข้างซ้ายมีรูปพระไมเตรยะ ข้างขวาเป็นพระสมันตภัทร ที่ลานหน้าวิหารมีต้นโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งงามมาก พอถึงฤดูร้อน ก็จะออกดอกเต็มต้น กลิ่นหอมกระจายไปทั่ว วัดถาเอ่อร์ซื่อ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เสี่ยวฮวาซื่อ แปลว่า วัดดอกไม้เล็ก ตรงกลางลานหน้าวิหารมี เสี่ยวฮวาถาน เป็นแท่น มีหินอยู่แท่งหนึ่ง หินนี้ทาเนยเปียกแฉะไปหมด มีเหรียญกษาปณ์เต็มบนแท่งหิน มีเรื่องเล่าว่า โยมแม่ของท่านจงคาปา เวลาไปหิ้วน้ำ เมื่อเหนื่อยก็จะนั่งพักบนหินนี้ จึงทำให้หินศักดิ์สิทธิ์[5]

หอพระไตรปิฎก

เข้าไปในวิหารอะไรจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือนจะเป็นหอพระไตรปิฎก แต่ก่อนเคยมีพระมาชุมนุมกัน 4,000-5,000 รูป มาจากซินเกียงและมองโกเลียก็มี ฝาผนังเขียนภาพตามเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา สีที่เขียนเป็นสีจากแร่ธาตุ ทุกเช้าทุกเย็นพระจะต้องมาทำวัตรเช้าวัตรเย็นที่นี่ ของบูชามีตะเกียงพันดวง รูปพระอาจารย์จงคาปากะไหล่ทอง 1,000 องค์ มีเครื่องบูชาเป็นภาชนะใส่ธัญพืช มีชิงเคอ (ข้าวบาร์เลย์ชนิดหนึ่ง ?) ท้อ สาลี่พันธุ์พิเศษที่ขึ้นในชิงไห่และทิเบต มีรูปพระจงคาปา บัลลังก์ของพระดาไลลามะ และพระปันฉานลามะเวลามาที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าอาวาส ได้ดูคัมภีร์เขียนอักษรทอง อายุ 400 กว่าปีมาแล้ว ช่วงที่เขียนเป็นช่วงที่วัดเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นพระสูตรมหายาน เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์ เขียนตอนต้นเป็นภาษาสันสกฤต เขียนสีทำจากทองเงินและปะการัง ผ้าห่อก็สวยงามมาก มีป้ายบอกติดไว้ว่าเป็นคัมภีร์อะไร[6]

ต้าจินหว่าซื่อ

อาคารที่สำคัญที่สุดคือ ต้าจินหว่าซื่อ (วิหารกระเบื้องทองใหญ่) อยู่ระหว่างหอพระสูตรและวิหารพระไมเตรยะ ขณะนี้ (พ.ศ. 2544) กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะวิหารต้าจินหว่า ใช้งบประมาณ 14 ล้านหยวน ใช้ทองทำกระเบื้องชุบทอง 225 กิโลกรัม มีป้ายลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง[7]

ความเป็นมาของต้าจินหว่าซื่อ

มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่จงคาปาเกิด แม่เอารกของจงคาปาไปฝังตรงกลางพื้นที่ที่เป็นวิหารต้าจินหว่าในปัจจุบัน ต่อมาที่ตรงนั้นมีต้นโพธิ์งอกขึ้นมา เมื่อสูงประมาณ 2 เมตร มีใบแสนใบ ในใบไม้ทุกใบมีรูปสิงโต บรรลือสีหนาท แม่ของท่านมีความเคารพศรัทธา จึงสร้างเจดีย์ตรงบริเวณที่ต้นโพธิ์ขึ้น เพื่อรักษาต้นโพธิ์ไว้ สร้างเจดีย์ใน ค.ศ. 1376 ส่วนตรงที่แม่ของจงคาปาสร้างเจดีย์ไว้นั้นต่อมาคนรุ่นหลังได้ไปสร้างเป็นเจดีย์เงิน สูงใหญ่ถึง 11.8 เมตร เรื่องเล่านี้สะท้อนความเชื่อว่า พระจงคาปาเป็นอวตารของพระมัญชุศรี ซึ่งมีสิงโตเป็นพาหนะ[8]

วิหารพระไมเตรยะ

วิหารหลังนี้สร้างใน ค.ศ. 1577 เดิมสร้างเป็นเจดีย์ ข้างในมีรูปพระอวโลกิเตศวร (พระกวนอิม) พระมัญชุศรี (พระเหวินซู) และพระวัชรปาณี (จินกัง) มีเสาไม้เก่าแก่เคยเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตรงนี้มาก่อน ถือว่าเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ มีรูปพระไมเตรยะ ซึ่งบรรจุเกศาของพระอาจารย์จงคาปา[9]

โรงพิมพ์โบราณ

ขอเขาเข้าไปดูโรงพิมพ์โบราณของวัดที่พิมพ์พระไตรปิฎก และคัมภีร์ทิเบตต่างๆ แม่พิมพ์ไม้เก็บไว้อย่างดีในชั้น เป็นของโบราณ (ราชวงศ์หมิง ?) แต่ถ้าแผ่นไหนชำรุดก็ซ่อมแซม ตัวอาคารสร้าง ค.ศ. 1827 ซ่อมแซมใน ค.ศ. 1997 มีห้องแกะสลักแม่พิมพ์ ห้องพิมพ์ เก็บกระดาษที่ล้างแม่พิมพ์ ห้องเย็บเล่ม และเก็บไว้ งานพิมพ์หนังสือเป็นงานละเอียด ต้องตรวจทานอย่างดี งานที่พิมพ์ไม่ได้มีเฉพาะข้อเขียนทางศาสนา ยังมีงานด้านการแพทย์ วรรณคดี ดนตรี ดาราศาสตร์ มีผู้ใช้หนังสือเหล่านี้มากไม่เฉพาะแต่ในมณฑลชิงไห่ พระในทิเบต กานซู่ เสฉวน มองโกเลีย ก็ได้ศึกษาด้วย นับเป็นคุณูปการต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โรงพิมพ์นี้ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ถ้าใครสนใจขอเขาดู เขาก็เปิดให้[10]

อาคารจัดแสดงผลงานศิลปะการปั้นเนย

จุดสุดท้ายก่อนจะเดินทางออกจากวัด คือ อาคารปั้นเนย ศิลปะการปั้นเนยถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางศิลปะอย่างหนึ่งของวัดนี้ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ อาคารนี้สร้างใน ค.ศ. 1988 และต้องติดแอร์เพื่อรักษารูปทรงของเนยเอาไว้ พระในวัดนี้เป็นผู้ปั้นเนย และปั้นใหม่ทุกปี จะปั้นเป็นรูปอะไรนั้นพระที่เป็นผู้นำชมบอกว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้กำหนด เมื่อปั้นเสร็จจะเอาไปแสดงกลางแจ้งให้คนดูวันหนึ่ง แล้วเอาไปเก็บในอาคารแทนรูปเก่าของปีก่อน[11]

กำเนิดศิลปะการปั้นเนย

ตามประวัติเล่ากันมาว่า พระอาจารย์จงคาปาสร้างวัดนี้แล้วไปทิเบต เพื่อไปชุมนุมสาวก 100,000 รูป ที่วัดต้าเจ้าในเมืองลาซา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ นอนหลับได้บังเกิดนิมิตฝันว่า ในท่ามกลางฤดูหนาว ดอกไม้กลับบานสะพรั่ง พระโพธิสัตว์เสด็จมา เมื่อตื่นขึ้นเล่าฝันให้สาวกทั้งหลาย มีผู้คิดขึ้นมาว่าจะต้องใช้เนยปั้นรูปความฝันของพระอาจารย์เอาไว้ จึงเป็นธรรมเนียมมากระทั่งทุกวันนี้[12]


อ้างอิง

1. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 48
2. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 55
3. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 53
4. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 50
5. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 51
6. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 52-53
7. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 54,55
8. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 54,55
9. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 56
10. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 56
11. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 57
12. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 57