Please wait...

<< Back

ศาลเจ้าขงจื้อ

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 138,140


(น. 138) รูป 113 ศาลเจ้าขงจื๊อ
Confucius Shrine.

(น. 138) ศาลเจ้าขงจื๊อ ข้าพเจ้าสงสัยว่า ขงจื๊อกับขนมเกี่ยวพันกันอย่างไร ผู้ว่าราชการบอกว่า ที่นั่นเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมต่างๆ รับประทานเสร็จแล้วไปได้ ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายดูแลความปลอดภัยก็บอกว่าไปได้ พักสักครู่ไปที่ศาลเจ้าขงจื๊อ เข้าทางประตูหน้าไปเป็นสวน มีรูปสำริดขงจื๊อ ในอาคารมีภาพประดับเปลือกหอยเล่าประวัติขงจื๊อในช่วงอายุ ต่างๆ ศาลนี้สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1034 ซ่อมใหม่ ค.ศ. 1984 ตอนนี้คงมีงานเทศกาลของศาล มีโคมรูปต่างๆ เช่น ซิ่วกับนกกระเรียน (ภาษาจีนกลางใช้ว่า โซ่ว) ดอกบัวมีนางฟ้า โคมเล็กหลายรูปแบบ มีสีต่างๆ สวยงาม แถวๆ นั้นมีของขายแยะจริงๆ แต่เขาไม่ได้ให้ไปซื้ออะไร วันนี้มีคนมาก ไปศาลเจ้าขงจื๊อแป๊บเดียวแล้วกลับที่พัก


(น. 140) รูป 115 เดินดูในศาลเจ้าขงจื๊อ

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 94-99

(น.94)


รูป 68 ศาลเจ้าขงจื่อ
Confucius Shrine.

(น.94) นั่งรถไปเมืองชวีฝู่ ไปศาลเจ้าขงจื่อ ซุ้มประตูแรกคือ ประตูหยั่งเซิ่งเหมิน ป้ายบนประตูเขียนว่า ว่านเริ่นกงเฉียง แปลว่า กำแพงพระราชวังหมื่นเริ่น (เริ่นหนึ่งประมาณ 7-8 ฟุต) ประตูนี้สร้างใน ค.ศ. 1513 ในรัชศกเจิ้งเต๋อ ปีที่ 8 ราชวงศ์หมิง ที่รอบกำแพงมีบ้านคนอยู่ ประตูกลางจะเปิดเฉพาะเวลาจักรพรรดิเสด็จ ทางเมืองรับพระบรมราชโองการ หรือมีพิธีใหญ่ หน้าประตูเป็นทางเดินสู่สวรรค์ เรียกว่าเสินเต้า สองข้างทางมีต้นไม้เก่าแก่อยู่หลายต้น เข้าไปมีอาคารสร้างใน ค.ศ. 1538 สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง นอกจากจะมีหินสลัก ตุ้ยเหลียน 2 คู่บนเสาแล้ว บนฐานเสายังเป็นฐานบัวรองรับสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ตัวปี้ซี่ ซึ่งเป็นสัตว์สิริมงคลสามารถขจัดสิ่งเลวร้ายต่างๆ ได้ เขาว่าสัตว์นี้จะนำมาประดับได้เฉพาะบ้านเสนาบดีผู้ใหญ่เท่านั้น
(น.95)


รูป 69 ในศาลามีศิลาจารึก
An inscription in a pavilion.

(น.95) เข้าประตูใหญ่เรียกว่า ประตูหลิงซิง สร้าง ค.ศ. 1514 สมัยราชวงศ์หมิง เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1796) ซ่อมแซมสร้างเป็นหิน จากประตูนี้เดินไปเป็นร้านรวงต่างๆ และมีป้ายทางเข้าเขียนว่า ไท่เหอหยวนชี่ สร้างสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณศาลเจ้านี้เดิมเป็นที่อยู่ของท่านขงจื่อ แต่เมื่อท่านเสียชีวิตใน ค.ศ. 479 ก่อนคริสตกาลจึงปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานหรือศาลเจ้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงสำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รอบๆ มีอาคารต่างๆ 150 กว่าหลัง มีป้ายจารึกสองพันกว่าหลัก ค.ศ. 1994 ได้เป็นมรดกโลก เดินต่อถึงประตูหงเต้าเหมิน สร้างสมัยราชวงศ์หมิง แปลว่า ประตูเผยแพร่วัฒนธรรม แล้วเดินเข้าประตูต้าจงเหมิน อยู่หน้าอาคารแรกของศาล สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง เข้าอาคารขุยเหวินเก๋อ เป็นที่เก็บพระราชสาส์นและเอกสารต่างๆ ที่จักรพรรดิพระราชทานมา สร้างในสมัยจักรพรรดิซ่งเจินจง ปีที่ 2 รัชศกเทียนสี่ (ค.ศ. 1018) เดิมชื่อ ฉังซูโหลว แปลว่า หอหนังสือ ค.ศ. 1191 ซ่อมแซม ค.ศ. 1500 ต่อเติมเป็นสามชั้น สูง 23.35 เมตร ภาพเขียนในอาคารเป็นประวัติขงจื่อ เป็นภาพเขียนพิมพ์ไม้เมื่อ ค.ศ. 1592 รวม 120 ภาพ แต่ละภาพเป็นเรื่องหนึ่ง หน้าอาคารมีต้นไป๋อายุกว่า 500 ปี
(น.96)


รูป 70 บริเวณศาลเจ้าขงจื่อ
In the ground of the Shrine.

(น.96) อาคารด้านซ้ายของขุยเหวินเก๋อเป็นอาคารไม้สำหรับเป็นที่ประทับของเหล่าพระประยูรญาติที่เสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ขวามือเป็นศาลาจารึก มีจารึกอยู่สามหลัก จารึกในสมัยราชวงศ์ จิ้น ซ่ง และหมิง มีฐานตั้งป้ายเป็นรูปเต่าและสัตว์อื่นๆ บ้าง มีจารึกหลักหนึ่งที่จักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662-1722) ทรงย้ายจากปักกิ่งโดยลำเลียงทางคลองขุดใหญ่ เหลือระยะทางอีก 45 กิโลเมตร ใช้วิธีรอให้ถึงหน้าหนาวเอาน้ำราดถนน น้ำกลายเป็นน้ำแข็งแล้วใช้วัวลากมา ใช้เวลาครึ่งเดือน ศิลาจารึกนี้หนักถึง 65 ตัน ต้องใช้วัวลาก 465 ตัว มีต้นไม้ต้นหนึ่งอ้างกันว่าขงจื่อเป็นผู้ปลูก สองข้างต้นไม้มีป้ายสรรเสริญคุณงามความดีและการเผยแพร่ความคิดของขงจื่อ
(น.97)


รูป 71 บริเวณศาลเจ้าขงจื่อ
In the ground of the Shrine.

(น.98)


รูป 72 เสาหินลายมังกร
Dragon stone pillar.

(น.98) ศาลาซิ่งถัน เป็นที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนลูกศิษย์ ปัจจุบันเห็นแต่ต้นไป๋ ต้นซิ่ง (อัลมอนด์) ตายไปหมดแล้ว ต้นซิ่งไม่ใช่ต้นไม้อายุยืน แค่ 40-50 ปีก็ตายแล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาเคารพขงจื่อที่นี่ถึง 8 ครั้ง ทรงจารึกคำสรรเสริญขงจื่อไว้เรียกว่า ซิ่งถานจั้น (การแสดงเคารพต้องคุกเข่า 3 ครั้ง กราบไหว้ 9 ครั้ง จึงถือเป็นการเคารพสูงสุด) มีเสาหินลายมังกร สูง 6 เมตร สลักใน ค.ศ. 1742 เมื่อจักรพรรดิเสด็จมาครั้งใดต้องเอาผ้าคลุม เพราะสวยงามเกินกว่าเสาในพระราชวังหลวง เสาหินงดงามแบบนี้มีแต่ที่ชวีฝู่เท่านั้น รูปเคารพในอาคารมีรูปขงจื่อยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นรูปลูกศิษย์ดีเด่น รวม 13 คน อยู่สมัยเดียวกับขงจื่อ อีก 3 คน เป็นลูกศิษย์ดีเด่นของลูกศิษย์ มีป้ายเขียนว่า ว่านซื่อซือเปี่ยว เป็นลายพระหัตถ์ของจักรพรรดิคังซี ส่วนป้ายที่เขียนว่า ซือเหวินไจ้ซื่อ แปลว่า ปัญญาชนคนเก่งเกิดใหม่ เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิกวงซวี่ มีตุ้ยเหลียนของจักรพรรดิเฉียนหลง
(น.99) ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อผลัดแผ่นดิน จักรพรรดิองค์ใหม่จะต้องเสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีจักรพรรดิเสด็จมาที่นี่ 12 องค์ ในห้องมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงระหว่างพิธี ด้านนอกอาคารเป็นลานกว้างสำหรับฟ้อนรำในพิธีเซ่นไหว้ ตรงข้ามเป็นที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษขงจื่อ ด้านนอกมีจารึกชื่อลูกหลานขงจื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) มี 85 ลำดับชั้น ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ผู้ที่มาบรรยาย (ศาสตราจารย์ข่งเซียงหลิน) ให้ฉันวันนี้เป็นลำดับชั้นที่ 75 ฉะนั้นไม่สามารถจารึกชื่อทั้งหมดได้ กำลังทำรายชื่อใส่ซีดีรอม คนแซ่ข่งไม่ใช่มีแต่ในจีน ได้แยกย้ายกันไปอยู่ในต่างประเทศ 10 กว่าประเทศ ไปดูหลู่ปี้ เขาว่ากันว่าเคยเป็นที่อยู่เดิมของขงจื่อ มีฝาผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม ศาลาซือหลี่ถัง เป็นศาลาที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนบุตรหลาน มีต้นไม้ที่อ้างว่าอายุพันกว่าปี