<< Back
ศาลเจ้าจู่เมี่ยว
จากหนังสือ
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 89,90,91,92,93,94,95
(น.89) เราไปที่ศาลเจ้าจู่เมี่ยว มีรองนายกเทศมนตรีเมืองโฝซาน รองเลขาธิการเทศบาลเมืองโฝซาน ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศเมืองโฝซาน และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองโฝซานต้อนรับ
ศาลเจ้าจู่เมี่ยว เป็นวัดลัทธิเต๋า สร้างเมื่อ ค.ศ. 1078-1085 ต่อมาในช่วงปลายราชวงศ์หยวนถูกทำลายเสียหายมาก จึงบูรณะใหม่ใน ค.ศ. 1372 สมัยราชวงศ์หมิง หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปกครองประเทศแล้ว ได้บูรณะกันอีกหลายครั้ง
เหตุที่เรียกว่าจู่เมี่ยวเพราะเป็นศาลที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้คำว่า จู่ หมายถึง บรรรพบุรุษ ศาลตั้งอยู่ในสวน มีประตูชั้นนอกภายในเป็นลานกว้างใหญ่มีหินสลักเป็นรูปงานที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ คือ การทอผ้า การถลุงเหล็กเครื่องปั้นดินเผา เป็นการสลักอย่างสมัยใหม่ ถ้าไม่มีคนอธิบายก็คงเดาได้ยากว่าเขาหมายถึงอะไร
เขาอธิบายด้วยว่าเหตุที่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า โฝซาน แปลว่า ภูเขาพระพุทธเจ้า เพราะว่าเมื่อ ค.ศ. 624 ขุดพบพระพุทธรูป 3 องค์
(น.89) รูป 93 คำอธิบายว่ารูปภาพต่างๆที่เราเห็นในวัดนี้เป็นวัสดุผสมหลายๆอย่าง
(น.90) รูป 94 รูปปั้นต่างๆประดับในวัด
รูป 95 รูปปั้นต่างๆประดับในวัด
(น.90) ประตูทางเข้าเป็นซุ้มหินอัดแกะสลักเป็นลวดลายภาพนูนสูง เล่าเรื่องสามก๊ก ตอนเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยสาบานเป็นพี่น้องกัน ทั้งประตูด้านตะวันตกและด้านตะวันออกมีซุ้มประตูที่มีลวดลายสลักเช่นนี้ หินอัดที่ว่านี้เขาเรียกว่าเป็นหินขี้เถ้า ไม่ใช่หินแท้ๆ แต่เป็นวัสดุผสมทำจากปูนผสมขี้เถ้าจากการเผาหอย กระดาษ ฟางข้าว และทราย มีคนบอกว่าตุ๊กตาอับเฉาที่เรานำจากเมืองจีนมาประดับสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ใช่หินจริง เป็นวัสดุผสมประเภทนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าตุ๊กตาทุกตัวเป็นวัสดุประเภทนี้ การหาหินมาสลักน่าจะทำได้ง่ายกว่า
หลังคาศาลเจ้ามีเครื่องประดับสันหลังคามาก จนนกเกาะได้ยาก เครื่องประดับหลังคาแบบนี้คงจะเหมือนกับบราลีสถาปัตยกรรมไทย เครื่องประดับสันหลังคานี้ทำด้วยเครื่องเคลือบดินเผาทั้งสิ้น ฝีมือละเอียด สสวยงามมาก รอด ขื่อ ตงเป็นไม้แกะสลัก เป็นลวดลายและเรื่องราวส่วนมากเป็นเรื่องตำนานโบราณหรือเรื่องงิ้ว
(น.91) รูป 96 รูปปั้นต่างๆ ประดับในวัด
(น.91) หน้าประตูใหญ่มีกระถางธูปใบใหญ่ ทำด้วยสำริด อายุ 500 กว่าปี ถือว่าเป็นสิ่งสิริมงคลนำความอุดมสมบูรณ์มาให้ มีตัวหนังสือเขียนว่า ไท่หมินอัน
ประตูด้านข้างลานชั้นใน 2 ด้าน สร้างในปีที่ 25 ของจักรพรรดิกวางสู ซุ้มประตูแกะสลักเรื่องของกัวจืออี้ ขุนนางคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถัง งิ้วนิยมแสดง
(น.91) รูป 97 กระถางธูปใหญ่หล่อด้วยสำริด
(น.92) ข้างในมีสิ่งของต่างๆ ตั้งเป็นระยะ เช่น มีไม้แผ่นใหญ่แกะสลักปิดทองเล่าเรื่องหลี่หยวนปาปราบม้าพยศ สมัยที่แกะไม้นี้เป็นสมัยที่มีอิทธิพลตะวันตกเข้ามาแล้ว มีภาพฝรั่งหกล้มบนถนนระเนระนาด เขาว่าแสดงความเกลียดฝรั่งสมัยนั้น
กระจกทองแดงบานใหญ่ (เป็นรูปกลม) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.3 เมตร สร้างใน ค.ศ. 1540 สมัยก่อนยังไม่มีกระจกเงาทำด้วยแก้วทาปรอทข้างหลังจึงต้องใช้โลหะขัดมัน เวลาความมันหายไปคนทั่วไปจะไม่ทราบว่าเป็นกระจก มีผู้ใหญ่บอกข้าพเจ้าว่ากังสดาลที่วัดที่ลำปางที่จริงเดิมเป็นกระจก
ภาพสลักไม้รูปกลม เป็นรูปสิงโตล่อแก้ว สลักเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แสดงว่าต้องใช้ไม้หนามาก
กระถางธูปสร้างในปีที่ 25 ในสมัยรัชกาลกวางสู (ค.ศ. 1899) ขนาดใหญ่สูงท่วมหัวคน ฝีมือหล่อสำริดดีมาก
ชั้นในมีลักษณะเดียวกับข้างนอก สันหลังคามีตุ๊กตาดินเผาเคลือบประดับมาก มีรูปปลาอ๋าวหรือปลามังกรด้วย ส่วนนี้ของศาลสร้างในปีที่ 5 ของรัชสมัยจักรพรรดิหงอู่ (ค.ศ. 1372) รัชกาลแรกของราชวงศ์หมิงเมื่อ 625 ปีมาแล้ว โครงสร้างเขาว่าเป็นของเดิมทั้งหมด รวมทั้งลวดลายเครื่องตกแต่ง นอกจากที่นี่ศาลแบบนี้มีที่ชิงฮุ่ย อีกแห่งเดียวที่รอดพ้น
(น.92) รูป 98 ป้ายสำหรับแห่แหน
(น.93) รูป 99 ระฆังสมัยจักรพรรดิว่านลี่ ราชวงศ์หมิง
(น.93) ภัยธรรมชาติคือแผ่นดินไหว พายุ และภัยจากมนุษย์ คือ สงคราม การปฏิวัติมาได้ ในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม ชาวบ้านเคารพนับถือศาลแห่งนี้มากจึงช่วยกันป้องกันรักษาศาลแห่งนี้เอาไว้ได้
ทางเดินด้านข้างมีอาวุธ 18 ประเภท สร้างสมัยราชวงศ์ชิง ประมาณ 300 ปีมาแล้ว เป็นอาวุธสำหรับเข้าขบวนแห่ไม่ใช่อาวุธสำหรับรบ
รูปเคารพที่เป็นประธานของศาลนี้คือ รูปเป่ยตี้ หรือจักรพรรดิเหนือ สร้างสมัยจักรพรรดิจิ่งไท่ (ค.ศ. 1450-1457) รูปนี้มีน้ำหนักมากกว่า 2,500 กิโลกรัม เป่ยตี้นี้เป็นเทวดาประจำทิศเหนือ มีหน้าที่ควบคุมน้ำ
ลานชั้นในด้านข้างมีป้ายสำหรับใช้แห่แหน มีตัวหนังสือเขียนข้อความต่างๆ เช่น เงียบๆ หลีกไป มีป้ายบอกยศหรือสรรเสริญคุณงามความดี
ระฆังสมัยจักรพรรดิว่านลี่ (ค.ศ. 1573-1620) ราชวงศ์หมิงประมาณ 400 กว่าปีมาแล้ว หล่อที่เมืองโฝซาน
(น.94) รูป 100 รูปงูอยู่บนหลังเต่า อยู่ในสระ
(น.94) ออกมาด้านนอกของศาล มีป้ายสลักชื่อทายกทายิกาผู้บริจาคเงิน มีหลายปี ปีละแผ่น ที่เห็นเป็น ค.ศ. 1989-1991
สระสำหรับปล่อยสัตว์ ขุดสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง มีรูปเต่ากับงูพันกันตามคติจีน เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และถือว่าเป็นผู้อารักขาเป่ยตี้ ที่เห็นแปลกคือที่นี่มีธรรมเนียมอย่างหนึ่งคือคนที่มาเที่ยวจะโยนเหรียญเงินลงไปในบ่อ นอกจากโยนลงไปในบ่อแล้ว ตามที่ต่างๆ เช่น ตามรูปสลัก โต๊ะ สิ่งของก็มีคนเอาเงินวางไว้เต็มไปหมด
โรงงิ้ว สลักไม้งามมาก รูปสลักมีหลายอย่าง เช่น รูปโป๊ยเซียน โรงงิ้วนี้สร้างในสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อ (ค.ศ. 1644-1662) เขาว่าโรงงิ้วที่ปักกิ่งยังงามไม่เท่า (ที่ปักกิ่งสมัยจักรพรรดิคังซี ค.ศ. 1662-1723) ว่ากันว่าที่โฝซานนี้เป็นต้นกำเนิดของงิ้วกวางตุ้ง
สองข้างลานโรงงิ้ว เป็นร้านขายของ เดิมเป็นตลาด เหมือนกับเวลาบ้านเรามีงานวัด เราก็ไหว้พระไหว้เจ้าไปพลาง ซื้อของ ดูงิ้วไปพลาง
(น.95) เดินกลับออกไปที่ลานใหญ่ชั้นนอก เห็นมีส่วนของสันหลังคาประดับเครื่องปั้นดินเผาตั้งอยู่ มีขนาดยาว 12.8 เมตร สูง 1.1 เมตรสร้างในสมัยจักรพรรดิกวางสูปีที่ 17 (ค.ศ. 1891) ส่วนนี้เขาถอดออกไปแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ เพิ่งคืนกลับมา เรื่องที่เล่าเป็นเรื่องอะไร นักประติมาณวิทยาของจีนยังตีความไม่ออก แต่ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าแปลกคือ ทำไมมีการถอดสันหลังคาไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ได้
ก่อนกลับผู้บริการเมืองโฝซานให้หนังสือเกี่ยวกับศาลเจ้าจู่เมี่ยวนี้ มีคำอธิบายทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เขาแนะนำให้ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกหน้าประตู เล่าด้วยว่าหนุ่มสาวที่จะแต่งงานกันนิยมจะมาถ่ายรูปคู่ที่นี่
(น.95) รูป 101 โรงงิ้วอยู่ในวัด