Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 "


(น.84) รูป 84 รูปปั้นแสดงสถานที่สำคัญๆ รูปบ้านเรือนอยู่บนหลังคา

(น.84) เสาเป็นไม้หุ้มปูนทำด้วยหินตำ ทำเป็นรูปลำไม้ไผ่มีความหมายว่าให้เด็กในตระกูลเรียนหนังสือต่อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รูปสลักอื่นๆ เช่น เรื่อง ลำบากไปก่อนแล้วจึงจะสบาย งานใหญ่ต้องสำเร็จภายหลัง รูปไม้ไผ่ดัดเป็นรูปฮก (福) กลับข้าง หมายถึงนำความมั่งคั่งเข้าสู่บ้านเรือน อาคารประธานอยู่บนยกพื้นมีกำแพงแก้วล้อมลายในช่องกำแพงเป็นเหล็กดัด หัวเสาทำเป็นถาดใส่ผลไม้ที่มีในมณฑล ถือว่าเป็นการไหว้เจ้าทุกวัน ส่วนประกอบหลังคา และขื่อประดับด้วยเครื่องปั้นดินเผา และรูปสลักหินตำ มีรูปอาคารบ้านเรือน มีปลามังกร (อ๋าวหยู)ประดับ หมายถึงให้เรียนหนังสือได้ดี อักษรจีนคำว่า เรียนหนังสือดี มีเสียงเหมือนกับชื่อปลานี้ และตัวอักษรก็มีส่วนเหมือนกัน บนขื่อมีรูปปั้นนูนสูง แสดงสถานที่สำคัญ 8 แห่งของกวางโจว หนึ่งในแปดนั้นคือพิพิธภัณฑ์กวางโจว อาคารอื่นๆ เป็นที่แสดงศิลปหัตถกรรมที่สำคัญของเมืองกวางโจว


(น.84) รูป 85 รูปปั้นเคลือบแสดงสถานที่สำคัญ 8 แห่งของกวางโจว


(น.85) รูป 86 ประตูไม้สลัก

(น.85) อาคารที่แสดงเครื่องปั้นดินเผา มีประตูสลักไม้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญบ้าง สลักเรื่องตามภาษิตจีนบ้าง เช่น ประวัติศาสตร์เยว่เฟย(งักฮุย) เสวียเริ่นกุ้ย (ซิยิ่นกุ้ย) หวงเฟยหง หานซิ่น การกลับบ้านเดิมอย่างมีเกียรติ รูปสลักตามกวีนิพนธ์ของหลี่ไป๋ เครื่องปั้นดินเผาที่แสดงในอาคารที่มีชื่อเสียงมากคือเครื่องปั้นแบบเฟิงซี ปั้นขึ้นรูปแล้วฉลุ ประดับลายอย่างละเอียด มีตู้แสดงขั้นตอนการทำ ตั้งแต่ขึ้นรูป วาดลายละเอียด ฉลุ เขียนสี เผา มีเครื่องมือที่ใช้วางไว้ให้ดูด้วย


(น.85) รูป 87 ประตูไม้สลัก


(น.86) รูป 88 ภาพแสดงเครื่องปั้นดินเผา

(น.86)แจกันลายน้ำทองแบบกวางโจว อาคารชั้นใน มีที่บูชา มีรูปปั้น อาคารข้างๆ แสดงศิลปหัถกรรมหลายอย่าง แสดงการปักไหม ผ้าลูกไม้ทำมากสมัยราชวงศ์ชิง มักจะทำประสมกับการปักผ้า ผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ ในไหหลำ มีพวกม้ง พวกเย้า ตามลานเก็บกระถางไม้ดัดโบราณ ก่อนจะกลับคุณหลี่ ผู้นำชม แสดงการเขียนตัวอักษร


(น.86) รูป 89 ทางเดินระหว่างอาคาร

(น.87) ระหว่างนั่งรถกลับไปโรงแรม ท่านรองนายกเทศมนตรีเล่าว่าได้มีการเลือกจุดท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในเมืองกวางโจวเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่แรกจะเลือกสุสาน เพราะเป็นที่สำคัญมากทางประวัติศาสตร์และมีนักท่องเที่ยวสนใจมาก แต่คณะกรรมการส่วนมากคัดค้านว่าเรื่องสุสานเป็นเรื่องที่อัปมงคล ไม่น่าจะอยู่ใน 10 ที่น่าเที่ยว ที่ประชุมจึงเลือกถนนที่ให้นักท่องเที่ยวเดินชมตลาดแทน ท่านรองนายกเทศมนตรีมีหน้าที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องเด็ก เยาวชน และสตรี บอกว่าคราวหน้ามีเวลาอยากพาไปคุยกับกลุ่มสตรีที่เขารับผิดชอบ กลับโรงแรมรับประทานอาหารกลางวันแล้วไปดูสถานกงสุลซึ่งอยู่ในโรงแรมนี้เอง


(น.87) รูป 90 ผู้นำชมแสดงการเขียนตัวอักษร


(น.88) รูป 91 ที่วัดจู่เมี่ยว มีหินสลักแสดงงานมีชื่อเสียงของเมืองนี้


รูป 92 ที่วัดจู่เมี่ยว มีหินสลักแสดงงานมีชื่อเสียงของเมืองนี้

(น.88) ภาคบ่ายเดินทางไปโฝซานใช้เวลาเกือบชั่วโมง คุณเฉาเจินเหวยซึ่งเป็นรองเลขาธิการมณฑลกวางตุ้งนั่งไปด้วยท่านผู้นี้เป็นวิศวกรไฟฟ้า เป็นคนซาโจวอยู่ใกล้ๆ หนานจิง แต่ไปเติบโตที่เซี่ยงไฮ้ตอนที่ทำงานโรงงานเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ได้แปลหนังสือตำราอิเล็กทรอนิกส์จากภาษารัสเซียมาเป็นภาษาจีนเล่มหนึ่ง จึงนำมาให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึก เส้นทางเดินทางผ่านเมืองกวางโจวเก่า แต่ก็มีอาคารใหม่ๆ เช่น หอแสดงสินค้าจีน มีงานแสดงสินค้าปีละสองครั้ง สถานีรถไฟ บริเวณข้างทางด่วนมีอาคารที่อยู่อาศัยที่ให้คนซื้อได้ เมืองโฝซาน เป็นเมืองใหญ่ถนนหนทางกว้างขวางและสะอาดเคยได้รางวัลเมืองสะอาด คนมีฐานะดีกว่าคนกวางโจวเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่สมัยโบราณก็ถือว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีชื่อเสียงด้านการประมง การทำเครื่องเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา ใน ค.ศ. 1951 จัดตั้งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดกลางมีชื่อเสียงในด้านเซรามิก การทอผ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตอาหาร ยา เครื่องจักร ศิลปะ เช่น การวาดภาพ นอกจากนั้นยังมีความพร้อมในด้านการคมนาคมขนส่ง มีท่าเรือถึง 24 ท่า มีสนามบินรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง

(น.89) เราไปที่ศาลเจ้าจู่เมี่ยว มีรองนายกเทศมนตรีเมืองโฝซาน รองเลขาธิการเทศบาลเมืองโฝซาน ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศเมืองโฝซาน และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองโฝซานต้อนรับ ศาลเจ้าจู่เมี่ยว เป็นวัดลัทธิเต๋า สร้างเมื่อ ค.ศ. 1078-1085 ต่อมาในช่วงปลายราชวงศ์หยวนถูกทำลายเสียหายมาก จึงบูรณะใหม่ใน ค.ศ. 1372 สมัยราชวงศ์หมิง หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปกครองประเทศแล้ว ได้บูรณะกันอีกหลายครั้ง เหตุที่เรียกว่าจู่เมี่ยวเพราะเป็นศาลที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้คำว่า จู่ หมายถึง บรรรพบุรุษ ศาลตั้งอยู่ในสวน มีประตูชั้นนอกภายในเป็นลานกว้างใหญ่มีหินสลักเป็นรูปงานที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ คือ การทอผ้า การถลุงเหล็กเครื่องปั้นดินเผา เป็นการสลักอย่างสมัยใหม่ ถ้าไม่มีคนอธิบายก็คงเดาได้ยากว่าเขาหมายถึงอะไร เขาอธิบายด้วยว่าเหตุที่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า โฝซาน แปลว่า ภูเขาพระพุทธเจ้า เพราะว่าเมื่อ ค.ศ. 624 ขุดพบพระพุทธรูป 3 องค์

Next >>