Please wait...

<< Back

เขื่อนมี่หยุน

จากหนังสือ

"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 5,6,7

(น.5) รูป 3 เขื่อนที่อำเภอมี่หยุน

(น.5) อากาศช่วงนี้เป็นฤดูชิวเทียนหรือฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดสำหรับจีนภาคเหนือ ส่วนจีนภาคใต้นั้นฤดูชุนเทียนหรือฤดูใบไม้ผลิจึงจะดี เมื่อเข้าเขตอำเภอมี่หยุน ซึ่งอยู่ชานกรุงปักกิ่ง หยุดรถ มาดามเจิ้งยาจวน (เป็นรองนายอำเภอ) ข้าพเจ้าเรียกง่ายๆ ว่าปลัดอำเภอ มานั่งในรถแทนมาดามเซี่ย บอกว่าตอนนี้นายอำเภอไม่อยู่ ไปภาคใต้ ให้ปลัดเจิ้งมารับแทน ปลัดเจิ้งเล่าเรื่องของอำเภอนี้ว่าเป็นอำเภอขนาดกลาง มีเขื่อนกั้นน้ำซึ่งสร้างขึ้นแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปี 1959 (ช่วงที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดไกล) ระดมคนจากอำเภอใกล้เคียงมาหลายอำเภอ จึงสร้างสำเร็จภายในปีเดียว ท่านโจวเอินไหลมาตรวจงานถึง 6 ครั้งจึงตัดสินใจสร้าง ท่านประธานเหมาเซตุงเคยมา

(น.6) ดูงานและว่ายน้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ในเดือนกันยายน อากาศคงจะเย็นราวๆ ตอนนี้แน่ๆ ข้าพเจ้าเห็นจะไม่กล้าลงว่ายน้ำ กลัวเป็นปอดบวม ในน้ำเขายังกันที่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นรายได้ที่ดี ปลาที่เลี้ยงมีหลายชนิด เช่น ปลาหลีฮื้อ เฉาฮื้อ เป็นต้น ที่บริเวณนี้เป็นที่สูงมีภูเขา 85% เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วยิ่งทำให้มีพื้นที่ทำกินน้อยลง เนื่องจากเป็นที่อากาศดี สวยงาม ก็มีหน่วยราชการมาสร้างรีสอร์ตมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสวนสนุกขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานทำเบียร์ น้ำผลไม้ โรงงานแปรรูปอาหาร เช่น ถั่วลิสงกระป๋อง โรงงานทำวัสดุก่อสร้าง มีการลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ประชากร 2 ใน 3 ทำงานอยู่ภาคอุตสาหกรรม บนภูเขามีการปลูกต้นไม้หลายประเภท ที่ภูเขาสูงๆ ใช้วิธีหว่านเมล็ดพืชจากเครื่องบิน ต้นไม้ป่าที่ปลูก มีต้นสน ต้นหลิว ต้นหยาง ต้นไป๋ (คล้ายๆ สน) ต้นหวย ต้นเกาลัด ไม้ผลมีต้นแอปเปิ้ล (เขาปลูกพันธุ์ฟูจิมาจากญี่ปุ่น) สาลี่ ลูกหง (คล้ายๆ พุทรา) รวมปลูกต้นไม้ 52% ของเนื้อที่ ทำให้นายอำเภอได้เป็นนายอำเภอตัวอย่างเพราะปลูกต้นไม้ได้มาก รถไปหยุดบนสันเขื่อน ผู้อำนวยการปลูกป่าชื่อ โหเหวินกวง มาอธิบายเรื่องเขื่อน ชี้ให้ดูโรงกำเนิดไฟฟ้า เมื่อใช้ทำไฟฟ้าเสร็จแล้วก็ต่อน้ำไปที่ปักกิ่ง ทำน้ำประปา ฉะนั้นแหล่งน้ำแห่งนี้จึงเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวปักกิ่ง รวมทั้งสถานทูตไทยด้วย (หันมาทางพวกเรา) ดังนั้นเป็นหน้าที่ของชาวมี่หยุนที่จะดูแลให้น้ำสะอาด

(น.7) รูป 4 ลูกหงสดอยู่ในตะกร้า

(น.7) ฉะนั้นจึงต้องระวัง แม้แต่การปราบศัตรูพืชเขาไม่ใช้สารเคมี ใช้นกกับแมลงชนิดหนึ่ง สุดท้ายไปที่สำนักงานของกรมป่าไม้ ดื่มน้ำชา น้ำลูกหง รสชาติเหมือนพุทราแผ่นแดงๆ ที่ข้าพเจ้าชอบรับประทานตอนเด็กๆ กินแอปเปิ้ลกับสาลี่ มาดามเซี่ยบอกว่าเวลาไอ ต้องปอกคว้านแล้วต้มกับน้ำตาลกรวด ขากลับมาถึงเตี้ยวหยูวไถ คราวนี้อยู่ที่เรือนหลังที่ 16 ที่ย้ายมาอยู่หลังนี้ เพราะเรามากันมาก เรือนที่อยู่กันคราวก่อนมีห้องไม่พอ