<< Back
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เทียนสิน
จากหนังสือ
"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 24-28
(น.24) เล่ามาถึงตอนนี้พอดีกรมพิธีการทูตส่งสัญญาณว่าหมดเวลา ข้าพเจ้าจึงต้องอำลาท่านหยางช่างคุนเพื่อเดินทางต่อไปนครเทียนสิน มาดามเซี่ยนั่งในรถด้วย มาดามเล่าว่าในเมืองจีนมีนครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครเทียนสินเท่านั้นที่มีการปกครองเป็นเอกเทศไม่ต้องขึ้นกับมณฑลใด
เมื่อออกนอกเมืองเห็นทุ่งนา ขณะนี้ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว ตามทุ่งเขาปลูกต้นหยางไว้เป็นแนวป้องกันลม ไม่ให้พัดต้นข้าวโพดและข้าวฟ่างล้ม เห็นมีไร่ทานตะวันด้วย
รถตำรวจเมืองเทียนสินมารับช่วงนำทางจากตำรวจปักกิ่ง นำเข้าเมือง ข้ามแม่น้ำไห่เหอไปที่โรงแรมไฮแอต
นั่งรออยู่ที่ห้องก่อน จนอาหารพร้อมจึงลงไปรับประทานที่ห้องอาหาร
ตอนบ่ายหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของเมืองเทียนสินมานั่งรถด้วย เล่าถึงเมืองเทียนสินว่าเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของจีน เมืองเทียนสินเองเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา
ไปถึงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เทียนสิน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งขึ้นในปี 1952 เป็นที่เก็บโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น จารึกบนกระดูกที่ใช้ในการพยากรณ์ (Oracle Bone) เหรียญเงิน เครื่องถ้วย เครื่องลายคราม เครื่องสำริด เครื่องหยก ศิลาจารึก แสตมป์ ภาพเขียน ภาพคัดลายมือและสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ
นิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์คือนิทรรศการประวัติศาสตร์นครเทียนสิน นิทรรศการเรื่องประเพณีพื้นบ้านของเทียนสินในปัจจุบัน
(น.25) รูป 16 ในพิพิธภัณฑ์เทียนสินมีภาพถ่ายสมัยที่มีเขตยึดครองต่างประเทศ
(น.25) รูป 17 หุ่นจำลองเมืองโบราณ
(น.25) พิพิธภัณฑ์มักจัดนิทรรศการพิเศษ มีงานวิจัยหลายอย่างที่พิมพ์เผยแพร่
ส่วนที่เราดูคือกำเนิดเมืองเทียนสิน ช่วงที่พระจักรพรรดิหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิงเสด็จผ่านมา เห็นเมืองเทียนสินงดงาม จึงตั้งชื่อ “Tianjin” ซึ่งหมายถึงเมืองท่าของจักรพรรดิ
ส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทชาวต่างประเทศ มีภาพท่าเรือต้ากูโช่ว เริ่มมีปัญหาที่ชาวต่างประเทศนำฝิ่นมาขาย มาที่เทียนสินด้วย จนถึงตอนที่เมืองเทียนสินถูกกองกำลังต่างชาติ 8 ชาติยึดครอง หลังสงคราม
(น.26) รูป 18 ดูพิพิธภัณฑ์เทียนสิน
(น.26) ฝิ่น เขายังเก็บภาพถ่าย สิ่งของบางอย่างที่แสดงถึงการยึดครอง ยกตัวอย่างเช่น ป้ายหน้าสถานกงสุลของประเทศต่างๆ หนังสือสัญญาเช่า
เราไปดูในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน (Folk Custom) เขาจัดเก่ง ดูน่าสนใจ ทำเป็นประตูเข้าบ้านแบบจีน มีห้องต่างๆ เช่นห้องรับแขก (ใช้เครื่องเรือนสมัยราชวงศ์หมิง) ห้องนอน
ในตู้กระจกแสดงสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีแต่งงาน มีเสื้อผ้าของที่เป็นมงคล เช่น พุทราหมายถึงมีลูกเร็ว ถั่วลิสงหมายถึงมีลูกสาว ลูกชาย สลับกัน เกาลัดหมายถึงได้ลูกชาย สรุปรวมแปลว่ามีลูกชายลูกสาวเร็ว
มีหุ่นจำลองศาลเจ้าประจำตระกูลซึ่งทุกคนมี
(น.27) รูป 19 ส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงสมัยการปฏิวัติ
(น.27) รูป 20 ส่วนที่แสดงวัฒนธรรมจีนประเพณีพื้นบ้าน
(น.28) รูป 21 หุ่นหมอนวดจีนโบราณ
(น.28) รูป 22 ลงชื่อเป็นภาษาจีน
(น.28) ร้านขายกอเอี๊ยะสมัยโบราณ มีหม้อเคี่ยวตัวยา ซินแสหรือคนขายจะเป็นคนปิดให้ ปิดตั้งแต่ตัวยายังร้อนๆ จึงได้ผลดี
ดูได้นิดเดียวเขาว่าหมดเวลาเสียแล้ว ที่จริงห้องประวัติศาสตร์ ในส่วนที่ว่าด้วยการปฏิวัติก็น่าสนใจ แต่ไม่มีเวลาดู
ออกจากพิพิธภัณฑ์ รถแล่นผ่านเขตเช่าประเทศต่างๆ อาคารต่างๆ ยังอยู่ เป็นตึกฝรั่งสมัยศตวรรษที่ 19 ดูสวยดี ขณะนี้ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่นตึกใหญ่ในเขตเช่าฝรั่งเศส เป็นหอสมุด
รถผ่านสถานีรถไฟเทียนสิน สะพานเหล็ก ฝรั่งเศสสร้าง เขาว่าคนออกแบบเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบหอเอฟเฟลที่ปารีส
ไปที่ถนนสายหนึ่งซึ่งเป็นเขตที่ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีของขายมาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นเมือง ซื้อไปฝากพรรคพวกชาวกรุงเทพฯ