Please wait...

<< Back

ฉงชิ่ง

จากหนังสือ

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 6,11,12,13,14,15

(น.6)งานนี้ (เรียกย่อๆ ว่า Kunming Fair) เป็นงานแสดงสินค้าท้องถิ่นซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง (ซึ่งเป็นนครอยู่ในมณฑลเสฉวน) กระทรวงการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางให้ความเห็นชอบ การจัดงานมีหลักการคือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นภาคหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 2,570,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 200 ล้านคน มีพรมแดนติดต่อกับเวียดนาม ลาว พม่า และสามารถต่อไปถึงประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูฏาน เนปาล และอินเดีย ฉะนั้นถือได้ว่าเป็นประตูสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


(น.11) รูป 5 ทิวทัศน์เมืองฉงชิ่งมองจากเครื่องบิน

(น.11) พอเครื่องบินขึ้น มองเห็นทะเลสาบเทียนฉือที่เราเคยล่องเรือเมื่อปีก่อน คุยกับมาดามจาง (อธิบดี) ท่านบอกว่าเคยอยู่เมืองไทยระหว่าง ค.ศ. 1990-1993 ตอนนี้อยู่กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานด้านบริหาร ในเครื่องบินได้ทักทายคุณหวังไห่เฟิง ซึ่งเคยไปกับขบวนของข้าพเจ้าตลอดทางเมื่อพ.ศ. 2524 หลังจากนั้นไม่เคยพบกับเขาเลย เขาไปประจำคณะอื่นและไปอยู่กรีซ 2 ปี ตอนเครื่องบินจะลงที่ฉงชิ่งเห็นภูเขาเต็มไปหมดและเห็นแม่น้ำ คำว่า ฉงชิ่ง หมายถึง การเฉลิมฉลองสิริมงคลสองครั้ง เรื่องมีอยู่ว่าพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ประสูติที่นี่ แล้วได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากงตี้ (ครองราชย์ ค.ศ. 1275 - 1276) ได้สืบราชสมบัติ ทรงถือว่าเป็นโชคสิริมงคลสองชั้น


(น.12) รูป 6 สนามบินฉงชิ่ง มาดามหลู่ซาน รองนายกรัฐมนตรีมารับ ที่ยืนต่อจากมาดามหลู่คือครูหวาง

(น.12) เครื่องบินลงที่สนามบินฉงชิ่ง มีนางหลู่ซ่านเจา รองนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่งมารับ ครูหวางซึ่งสอนภาษาจีนข้าพเจ้าก็มารับที่นี่ด้วย มาดามหลู่พาขึ้นรถไปโรงแรม ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองราวครึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าถามมาดามหลู่ว่าได้ยินว่าฉงชิ่งกำลังจะแยกออกจากมณฑลเสฉวนเป็นความจริงหรือไม่ เขาบอกว่ายังไม่ได้แยกเป็นทางการ ต้องรออนุมัติจากรัฐบาลกลางก่อน ที่จริงมณฑลเสฉวน

(น.13) ก็ใหญ่มาก มีประชากรถึง 130 ล้านคน นครฉงชิ่งก็เป็นเมืองสำคัญคือเป็นเสมือนเมืองหลวงระหว่าง ค.ศ. 1949 - 1953 การเดินทางจากนครเฉิงตูมาที่นี่ระยะทาง 336 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองภูเขาและแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญ 2 สายคือ ฉางเจียงและเจียหลิงเจียง ในนครฉงชิ่งมีประชากร 15 ล้านคน นับได้ว่ามากที่สุดในจีน แบ่งการปกครองเป็น 3 เมือง 11 เขต 7 อำเภอ เขาถือว่าฉงชิ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า ทั้งยังดีในทางการเกษตรด้วย มีเกษตรกรราว 10 ล้านคน อยู่ในเมือง 5 ล้านคน พืชหลักคือ ข้าวโพด อุตสาหกรรมของฉงชิ่งมีมาประมาณ 50 ปีตั้งแต่สมัยต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยปลดปล่อยรัฐบาลย้ายอุตสาหกรรมาฉงชิ่งอีกหลายอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมประเภทเครื่องยนต์มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศจีนรองจากเซี่ยงไฮ้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในจีน ผลิตได้สองล้านสองแสนกว่าคันต่อปี เป็น 1/3 ของจักรยานยนต์ทั้งหมด รัฐบาลกลางของจีนตั้งเป้าไว้ว่าใน ค.ศ. 2000 จะผลิตจักรยานยนต์ให้ได้ 26 ล้านคันต่อปี โรงงานในฉงชิ่งต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านคัน มีโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่นหลายบริษัท เช่น อีซูซุผลิตรถยนต์ ยามาฮ่าและซูซูกิผลิตจักรยานยนต์ ใช้ยี่ห้อจีน เช่น ยี่ห้อเจียหลิง อุตสาหกรรมเหล็กกล้าก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ นอกจากนั้นมีอุตสาหกรรมยา อาหาร สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านอาคารสูง มาดามหลู่อธิบายว่าเป็นหอพัก มีทั้งที่สิงคโปร์และฮ่องกงมาลงทุน มีอาคารส่งเสริมการค้าต่างประเทศ

(น.14) สะพานข้ามแม่น้ำเจียหลิงเจียงสร้างใน ค.ศ. 1960 มองไปบนเขาเห็นศาลาเรียกว่า เหลี่ยงเจียงถิง แปลว่า ศาลาแม่น้ำสองสาย ถนนต่อจากนี้ค่อนข้างแคบ ข้ามภูเขาเลี้ยวไปเลี้ยวมาเรียกว่า ผานซานต้า ไม่เหมือนที่เฉิงตูซึ่งมีถนนค่อนข้างกว้างและตรง ที่ฉงชิ่งมีคนขี่จักรยานน้อยกว่าที่อื่น เพราะพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ขี่ไม่ไหว สะพานข้ามแม่น้ำฉางเจียง เมื่ออยู่กลางสะพานนี้มองเห็น 3 เขตคือ กลางนคร เขตเหนือแม่น้ำ เขตใต้แม่น้ำ เข้าในเมือง ผู้คนคับคั่ง มาดามหลู่บอกว่า ที่นี่แก้ปัญหาโดยออกกฎไม่ให้รถวิ่งกลางเมืองในวันเสาร์วันอาทิตย์ให้คนเดินอย่างเดียว นอกจากชาวเมือง ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งคนจีนและชาวต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มโครงการซานเสียนักท่องเที่ยวมากันมากขึ้น มาดามหลู่ได้ทราบว่าข้าพเจ้าเขียนเรื่องทุกครั้งที่เดินทางมาประเทศจีน จึงอยากให้เขียนเรื่องซานเสียด้วย มาถึงโรงแรมรื้อของ กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำก็คือ เขียนโพสต์การ์ด ที่ยูนนานมัวแต่ยุ่งก็เลยลืมเรื่องนี้ไปสนิท คิดว่าจะเขียนที่นี่แล้วฝากใครไปส่งที่คุนหมิง โพสต์การ์ดไปเมืองไทยติดแสตมป์ 2.6 หยวน อีกอย่างหนึ่งที่พยายามทำคือ ทดลองต่อคอมพิวเตอร์แต่ไม่สำเร็จ เวลาทุ่มกว่าลงไปชั้นล่าง รับประทานเลี้ยงอาหาร มีคนไทยที่มาจากบริษัทต่าง ๆ ที่มาทำธุรกิจที่นี่ ในด้านธนาคาร อาหารสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร การผสมพันธุ์ข้าวโพด (นำพันธุ์ผสมพื้นเมืองของที่นี่มาผสมกับพันธุ์ผสมของเรา)

(น.15) รับประทานอาหาร เป็นอาหารจีนอย่างธรรมดา ท่านกงสุลบอกว่าที่จริงเตรียมอาหารพื้นเมืองอย่างพิเศษเอาไว้เหมือนกัน แต่ทางเมืองนี้เขาขอเก็บไว้ให้เขาเป็นฝ่ายเลี้ยงให้อร่อยพิเศษสุดจริง ๆ อาหารพิเศษที่นี่อย่างหนึ่งเรียกว่า หมาล่าทั่ง มีผู้อธิบายว่ามันเป็นอาหาร 3 รส หมา หมายถึงรับประทานไปแล้วรู้สึกชาลิ้น ล่าคือ รสเผ็ด ทั่งคือ ร้อน สำหรับหมานั้นคล้ายยี่หร่า กินไปแล้วชาลิ้นจริง ได้ความว่าจะช่วยไล่ความชื้น (ไล่ทำไม ลืมถาม) ที่นี่เสิร์ฟไวน์ Dynasty ฝรั่งเศสมาลงทุนในจีน กับเหล้าขาวอู่เลี่ยงเย่ เขาว่าดีกรีพอ ๆ กับเหมาไถ แต่รสจะนิ่มกว่า ดื่มคำนับอวยพรกันไปมาได้ 3 จอก ก็ชักจะต้องเลิกรา เกรงคืนนี้จะทำงานไม่ได้เหมือนดื่มวอดก้าที่มองโกเลียแล้วเขียนหนังสือได้ตัวเดียว ที่มณฑลเสฉวนนี้ทุกปีจะมีนิทรรศการเหล้าทั่วจีน ใครไปเที่ยวงานนี้คงเมากันพิลึก พวกที่มาลงทุนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ตอนนี้นับว่าเป็นรุ่นบุกเบิก เพราะว่าประชาชนแถบนี้ไม่คุ้นเคยกับระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขันเท่ากับคนตามฝั่งทะเล ต้องค่อย ๆ ฝึกงานกันไป ฉะนั้นเรื่องที่ว่าค่าแรงต่ำ เมื่อคำนวณชั่วโมงทำงานจริง ๆ แล้วก็นับว่าไม่ต่ำ บางแห่งยังมีระบบ “ชามข้าวเหล็ก” หลงเหลืออยู่ การทำงานยังไม่ค่อยประสานกัน มีการแบ่งหน้าที่แยกกันชัดเจนเกินไป ต่างคนต่างทำโดยไม่ปรึกษาหรือช่วยเหลือกัน ข้าพเจ้าสงสัยว่าการมาทำธุรกิจบางอย่างที่ต้องใช้ที่ดินมาก ๆ นั้นจะซื้อที่อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่าในเสฉวนนี้ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยซื้อ (เหมือนเช่า) ได้ 75 ปี อาคารพาณิชย์ได้ 60 ปี โรงงานได้ 50 ปี การซื้อที่เก็งกำไรทำไม่ได้

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 17,18,19,35,36,45,46,47

(น.17) วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2539
ตื่นขึ้นมาแต่ตีห้าแล้วเขียนต่อ พี่หวานเขียนข้อมูลเพิ่มมาให้
06.30 น. ลงไปรับประทานอาหารเช้าที่ห้อง Sunset Grill พูดกันถึงเรื่องนครฉงชิ่งว่า เคยเป็นเมืองหลวงสำรอง เราเคยตั้งสถานทูตที่นานกิง ท่านทูตเคยไปสืบหาสถานทูตที่นานกิง ยังไม่พบ
07.30 น. ออกเดินทางไปเป๋าติ่งซาน อำเภอต้าจู๋ เพื่อไปดูภาพหินสลัก ภาพหินสลักถ้ำของจีนนั้นมีสกุลช่างสองสกุล คือ สกุลช่างทางเหนือและสกุลช่างทางใต้ หินสลักทางเหนือฝีมือละเอียด เส้นคมชัดเจน หากเป็นภาพบุคคลจะค่อนข้างท้วม ภาพสลักทางใต้นั้นเส้นไม่คมชัดนัก ฝีมือหยาบกว่า หินสลักบุคคลจะค่อนข้างผอม ที่ต้าจู๋เป็นสกุลช่างทางใต้ คณะนักธุรกิจที่มางานเลี้ยงเมื่อคืนมาส่งข้าพเจ้าไปต้าจู๋ พวกเขาก็ต้องเดินทางกลับเฉิงตู ข้าพเจ้านั่งรถคนเดียวก็ดีเหมือนกันได้เขียนหนังสือ แต่ก็เขียนลำบากเพราะทางไม่ดี เดินทางรถทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าฉงชิ่งเป็นเมืองภูเขา สองข้างทางเป็นเนินเขา ต้องเข้าอุโมงค์บ่อย แต่ละอุโมงค์ยาวเป็นกิโล ๆ


(น.18) รูป 7 ประตูทางเข้าภูเขาเป๋าติ่ง


รูป 8 ซุ้มประตูชั้นใน

(น.19) ถึงเวลา 09.45 น. ถึงโรงแรมต้าจู๋ เขาให้พักผ่อน 30 นาที โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 3 ดาว มีห้อง 136 ห้อง เทศบาลเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง บริษัทของฮ่องกงรับเหมาตกแต่งภายใน พักผ่อนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเดินทางต่อ ดูสองข้างทางรู้สึกว่าชนบทที่นี่จะอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ปลูกข้าว ปลูกแตง ข้าวฟ่าง (?) ตากพริกใส่กระด้งเอาไว้ เมื่อไปถึงเป๋าติ่งซาน รองศาสตราจารย์กัวเซียงหยิ่งมาต้อนรับ อาจารย์ท่านนี้เป็นประธานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะถ้ำ แห่งอำเภอต้าจู๋ นครฉงชิ่ง เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยถ้ำต้าจู๋ แห่งสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์เสฉวน แล้วยังเป็นสมาชิกสภานครฉงชิ่ง กรรมาธิการศิลปะและอะไร ๆ อีกหลายอย่าง ซุ้มหน้าประตูเขียนชื่อภูเขาเป๋าติ่ง เป็นลายมือของท่านเจ้าผู่ชู นายกพุทธสมาคมจีน การแกะสลักภูเขานี้ราว ค.ศ. 1179 - 1249 (ราชวงศ์ซ่ง) ในช่วงเวลาเพียง 70 ปีนี้ แกะรูปพระและรูปอื่น ๆ ได้ถึง 10,000 รูป ศิลาจารึกในบริเวณนี้มีทั้งสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงกล่าวถึงรายชื่อผู้ที่บริจาคเงินบำรุงหรือซ่อมสร้างรูปสลักต่าง ๆ

(น.35) นายอำเภอเล่าถึงอำเภอนี้ว่า มีประชากรราว 9 แสนคน มีเนื้อที่ 1,400 ตารางกิโลเมตร นายอำเภอเคยไปดูงานเมืองไทยเป็นเวลา 4 วัน แต่เคยไปเจรจาธุรกิจที่สิงคโปร์ถึง 3 ครั้ง ที่อำเภอนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี มีคณะทูตานุทูต เช่น Kissinger พระเจ้าสีหนุ นายกรัฐมนตรีโกจ๊กตงก็เคยมา อำเภอนี้มีความดีเด่นคือ มีหินแกะสลักพระพุทธรูปตามถ้ำและหน้าผา มีร้อยกว่าแห่ง มีพระพุทธรูปกว่า 6 หมื่นรูป ที่สำคัญคือที่เป๋าติ่งซานและเป่ยซาน เขตภูเขาเป๋าติ่งซานการคมนาคมสะดวกกว่าที่อื่น จึงมีผู้มาเยี่ยมชมมาก

(น.36) อำเภอนี้อุดมสมบูรณ์ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ผลิตผลการเกษตรที่สำคัญมี ข้าว ข้าวโพด พริก ผักต่าง ๆ น้ำมีปลาชนิดต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ มีเครื่องโลหะที่มีชื่อเสียง ทำตะปู ทำมีดชนิดต่าง ๆ อะไหล่รถยนต์ (ส่งออกได้) เรียกได้ว่าดีทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว ชื่อเมืองต้าจู๋ แปลว่า ความอุดมสมบูรณ์ไม่ได้แปลว่าเท้าใหญ่อย่างที่ข้าพเจ้าเข้าใจ นอกจากหินแกะสลักที่คนชอบไปดูแล้ว เมืองนี้ยังมีทิวทัศน์สวยงาม เช่น ทะเลสาบซีหูหรือหลงสุ่ย มีเกาะ 108 เกาะ ทางอำเภอกำลังตัดถนนมาตรฐานจากฉงชิ่งถึงต้าจู๋ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง มีต่างประเทศมาลงทุน เช่น สิงคโปร์มาลงทุนอุตสาหกรรมเคมี และจะลงทุนด้านการท่องเที่ยว ออสเตรเลียลงทุนผลิตรถขนส่ง สิงคโปร์กับมาเลเซียร่วมกันจะสร้างอุทยานพระหมื่นองค์ อำเภอนี้เป็นอำเภอหนึ่งใน 500 อำเภอของจีนที่มีถ่านหิน เป็นหนึ่งใน 500 อำเภอที่ปลูกข้าวได้ ปลูกไม้ผล เช่น สาลี องุ่น แอปเปิ้ล ฤดูใบไม้ผลิปลูกสตรอเบอรี่ได้ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5-6 องศาเซลเซียส ไม่มีหิมะ อาหารที่รับประทานวันนี้ค่อนข้างเผ็ด อะไร ๆ ก็แช่พริก มีปลาต่าง ๆ หลายชนิด ขนมงา ผักดองเค็ม เขาอธิบายว่า จะต้องดองฤดูหนาว เก็บไว้อย่างน้อย 3 ปี ถ้าได้ถึง 5 ปี ก็จะดีมาก เมื่อขึ้นไปบนห้องพักมีสมุดให้เขียนหนังสือ จึงเขียนว่า ต้าจู๋ลี่สื่อฉาง แปลว่า ต้าจู๋ประวัติศาสตร์ยาวนาน ออกเดินทางไปอนุสรณ์สถานมีความรู้สึกว่าถนนขรุขระเสียยิ่งกว่าขามา เท่าไร ๆ ก็ไม่ถึงเสียที แต่ก็ถึงอย่างไม่รู้ตัว

(น.45) นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับว่าถึงข้าพเจ้าจะมาที่ประเทศจีนเป็นครั้งที่ 7 แต่มาฉงชิ่งเป็นครั้งแรก ประเทศจีนและไทยมีความสัมพันธ์กันดี เขาดีใจที่ข้าพเจ้ามาศึกษาค้นคว้าเรื่องจีนและเขียนหนังสือ กล่าวต่อไปถึงนครฉงชิ่งว่า เมืองนี้สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเมืองสำคัญในการขนส่งในแม่น้ำแยงซี ปัจจุบันมีเนื้อที่ 2,300 ตารางกิโลเมตร ประชากร 15.3 ล้านคน นครฉงชิ่งมีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี ที่ตั้งของนครทำให้เมืองนี้สำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศจีน ตอนที่เปิดประเทศเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ ฉงชิ่งก็มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 เศรษฐกิจเติบโต 8.5 % อุตสาหกรรมในฉงชิ่งมีอุตสาหกรรมเคมี เครื่องกล อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเบาอื่น ๆ หลายปีมานี้เทศบาลปรับปรุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันเทศบาลก็ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน เรื่องการคมนาคมยังมีปัญหา เพราะเมืองนี้เป็นเมืองภูเขา จะต้องตัดถนนใหม่ไปต้าจู๋ ปัจจุบันได้ลงทุนตัดทางด่วนจากฉงชิ่งไปอู่ฮั่น เลียบไปตามแม่น้ำแยงซี อีกสายจากฉงชิ่งไปจ้านเจียงจะสร้างปีหน้า ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จในการเปิดให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง มีผู้มาลงทุนจากต่างประเทศถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

(น.46) การค้ากับไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี การพัฒนาการค้าขายมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ปัจจุบันโครงการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 จะสร้างฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าตามแม่น้ำ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีหลี่เผิง และประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน คิดว่าจะกระชับความสำคัญกับไทยมากขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเป็นประโยชน์ในการสร้างมิตรภาพ วันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะลงเรือไปดูโครงการซานเสีย อันเป็นโครงการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนมาก ท่านนายกเทศมนตรีเองเพิ่งกลับมาจากการตรวจโครงการเมื่อเดือนก่อน รู้สึกว่าการดำเนินโครงการราบรื่นดี อาจจะเสร็จก่อนกำหนดเวลา ทางมณฑลต้องพยายามปรับปรุงเตรียมแผนรองรับ ข้าพเจ้าถามว่าเมื่อมีโครงการซานเสียแล้วจะเปลี่ยนแปลงสภาพของฉงชิ่ง อย่างไร นายกเทศมนตรีกล่าวว่า การสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดของโลกสำเร็จได้จะมีประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วม เพิ่มความสามารถในการขนส่งทางเรือและการท่องเที่ยว ฉงชิ่งต้องปรับปรุงให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น ในแม่น้ำแยงซีนี้ เรือขนส่ง 1,000 ตัน ในหน้าน้ำน้ำมากจะขนส่งได้ 3,000 ตัน หลังการสร้างเขื่อนจะเพิ่มเป็น 10,000 ตัน เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วท่าเรือปัจจุบันจะท่วมไป ต้องสร้างใหม่ที่ถนนปิงเจียง เรือที่ใช้ในแม่น้ำเป็นพวกเรือพ่วงเป็นแถว ๆ ประมาณ 2,000 - 3,000 ตัน ต้องเตรียมเรื่องการขนถ่ายสินค้า ข้าพเจ้าถามเรื่องการใช้น้ำชลประทาน ท่านนายกเทศมนตรีว่า ตอนต้นของแม่น้ำไม่ได้มีประโยชน์มากเท่าไรในเรื่องการ

(น.47) ชลประทาน ถ้าเอาน้ำในแม่น้ำแยงซีมาทำต้นทุนจะสูงเกินไป จึงใช้น้ำในแม่น้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำแยงซี

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 58,59,61,62,68,71,73

(น.58) จากหมู่บ้านจิตรกรเดินทางต่อไปที่ สวนเอ๋อหลิ่งหยวน (สวนภูเขาห่าน) ที่เรียกอย่างนั้น เนื่องจากภูเขาบริเวณนั้นมีลักษณะเหมือนหัวห่าน ในรถข้าพเจ้าถามมาดามหลู่ว่าการดูแลฉงชิ่งที่เป็นเมืองขนาดใหญ่เช่นนี้ มีปัญหาเรื่องทิ้งขยะและเก็บขยะบ้างไหม มาดามบอกว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ ผู้บริหารเมืองพยายามหาวิธีแก้ไขหลาย ๆ วิธี เช่น แจกถุงพลาสติกดำให้ทุกครอบครัวทิ้งขยะ แล้วให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยเก็บรวมเอาไปฝังใต้ดิน แต่ไม่ได้ผลเต็มที่เพราะว่ายังไม่สามารถแจกถุงดำไปได้ทั่วถึง จะต้องหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเวลานี้เปิดฉงชิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ รถขึ้นเขาเอ๋อหลิ่ง สองข้างทางเป็นบ้านเรือน เรือนหลังหนึ่งเจียงไคเช็กเคยมาอยู่ ไปถึงเดินไปที่ศาลาเหลี่ยงเจียง คือ ศาลาแม่น้ำสองสาย ที่จริงมันไม่ใช่ศาลาเลย มันเป็นหอสูง ที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาเดินออกกำลังกายขึ้นไป ผู้ดูแลสวนที่นี่คือ กองสวนสาธารณะของเทศบาล เมื่อขึ้นไปถึงยอดศาลาที่ควรจะเรียกว่ายอดหอ มองเห็นชัดว่าเมืองฉงชิ่งเป็นแหลมยื่นไประหว่างแม่น้ำสองสายคือ เจียหลิงเจียงและฉางเจียง แบ่งเป็นเขตเจียงเป่ย (เหนือแม่น้ำ) ซื่อจง (ใจกลางเมือง) และเจียงหนาน (ใต้แม่น้ำ)


(น.59) รูป 60 ทิวทัศน์บนยอดหอคอย


รูป 61 เมืองฉงชิ่งเป็นแหลมที่ยื่นในแม่น้ำสองสาย มองจากหอคอย

(น. 61) ทางตะวันตก บริเวณที่เรียกว่า เกาะจงเป่า เป็นเกาะกลางแม่น้ำ ตรงนี้จะเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนซานเสีย ขณะที่สร้างเขื่อนมีทางชั่วคราวให้น้ำในแม่น้ำไหล ก่อนอื่นจะมีขั้นตอนขุดลอกทางน้ำให้ลึกเข้าไป ขุดดินออกให้หมดจนถึงหินลึกราว 20-30 เมตร (แต่ละที่ลึกไม่เท่ากัน) เครื่องจักรที่ใช้มาจากต่างประเทศก็มี ผลิตในประเทศก็มี ใช้เรือขุดตักครั้งหนึ่งได้ดินประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร วัดหวงหลิงเป็นวัดในลัทธิเต๋า มีประวัติเกี่ยวข้องกับเรื่องสามก๊ก หนานจิงกวนมีถ้ำมากมาย มีรูปเตียวหุยตีกลอง โครงการไปถึงจุดนี้ต่อจากนั้นมีเขื่อนเก่อโจวป้า อยู่ที่อี๋ชาง ถึงเมืองนี้ถือว่าหมดเขตแม่น้ำฉางเจียงตอนบน สรุปแล้วเขื่อนซานเสียที่จะสร้างจะสามารถเก็บกักน้ำได้ราว 10 % ของแม่น้ำแยงซีเกียง ขากลับเดินผ่านต้นหวงเจี่ยวต้นใหญ่ อายุ 250 ปี ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำเมืองฉงชิ่ง เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี

Next >>