Please wait...

<< Back

ฉงชิ่ง


(น.62) รูป 64 ศาลาประชาชน

(น.62) ไปศาลาประชาชน มาดามหลู่เล่าถึงสภาพของเมืองฉงชิ่งในสมัยก่อนว่าอากาศร้อนมาก สมัยก่อนไม่มีเครื่องปรับอากาศ ชาวบ้านชอบยกเตียงออกมานอนข้างถนน ตอนหัวค่ำราดน้ำเอาไว้ สองสามทุ่มก็นอนได้ ตอนนี้สถานที่ทำงานและบ้านเรือนราษฎรก็ติดเครื่องปรับอากาศแล้ว
(น.68) จุดประสงค์หลักของการก่อสร้างโครงการซานเสียซึ่งเป็นเขื่อนแรกบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำฉางเจียงมีอยู่ 3 ประการคือ
1. เพื่อควบคุมและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่สองฝั่งในช่วงกลางและช่วงล่างของลุ่มแม่น้ำฉางเจียง
2. เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีน รวมทั้งบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน
3. เพื่อปรับปรุงเส้นทางเดินเรือช่วงตั้งแต่ตัวเขื่อนขึ้นไปเหนือน้ำจนถึงนครฉงชิ่ง และลงมาทางด้านท้ายน้ำจนถึงปากแม่น้ำ โดยเฉพาะในหน้าแล้งให้ดีขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปของโครงการประกอบด้วยเขื่อนคอนกรีตสูง 175 เมตร ยาว 2,309 เมตรสันเขื่อนอยู่ที่ระดับ 185 เมตร และระดับเก็บกักปกติอยู่ที่ 175 เมตร เขื่อนนี้กักน้ำได้ 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.7 % ของปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งมีถึง 450,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีน้ำหลากหรือน้ำนองเกิดขึ้นในฤดูฝนก็สามารถเก็บกักน้ำสูงสุดได้ถึงระดับ 180.40 เมตร และจะต้องพร่องน้ำโดยระบายออกผ่านทางช่องระบายน้ำล้น พร้อมทั้งพยายามระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาหลังหน้าฝนและในหน้าแล้งจนลดลงไปอยู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 145 เมตร และรักษาระดับนี้ไว้จนถึงเดือนกันยายน ดังนั้นในปลายเดือนตุลาคมน้ำในอ่างก็เพิ่มขึ้นจนถึงระดับเก็บกักสูงสุดอีก ฉะนั้นอ่างเก็บน้ำนี้จึงมีความจุประสิทธิผล (effective storage) เพียง 22,100 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และอ่างยาวขึ้นไปตามร่องน้ำประมาณ 600 กิโลเมตร จนถึงนครฉงชิ่ง แต่มีความกว้างเฉลี่ยเพียง 1,100 เมตรเท่านั้น

(น.71) ช่องที่สองเป็นคลองเดินเรือ มีบานประตูทดน้ำบังคับขนาดถึง 5 ชั้นด้วยกัน สามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันผ่านได้ เมื่อเขื่อนซานเสียนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้การเดินเรือในแม่น้ำฉางเจียงขึ้นไปถึงนครฉงชิ่ง (เมืองจุงกิงในสมัยก่อน) ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางเรือได้ถึง 35 % ทั้งนี้เพราะอ่างเก็บน้ำนี้จะมีร่องน้ำลึกมากขึ้นและกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวก็จะลดลงด้วย

(น.73) เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,200 เม็กกะวัตต์ และให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีนจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน สามารถทดแทนการเผาเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินอันจะทำให้เกิดมลภาวะได้ปีละ 40-50 ล้านตันแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการเดินเรือเหนือเขื่อนขึ้นไปถึงนครฉงชิ่งซึ่งยาวถึง 600 กิโลเมตร และสามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันแล่นไปได้โดยสะดวก ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางน้ำได้ถึง 5 เท่า คือเพิ่มจากเดิมปีละ 10 ล้านตันเป็น 50 ล้านตันและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 35 % ส่วนทางด้านท้ายเขื่อนลงไปถึงปากน้ำก็จะเดินเรือได้ดีขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยได้

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 96,97,98


(น.96) รูป 86 สะพานโค้งที่กำลังสร้าง


(น.97) รูป 87 เสาสะพาน

(น.97) นั่งรถไปดูสะพานที่กำลังสร้าง ในรถนายกเทศมนตรีเล่าว่า เมืองนี้ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส หนาวที่สุด 5 องศาเซลเซียส จึงได้เปรียบในด้านการเพาะปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง ด้านอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเคมี อาหาร ทอผ้า เครื่องกล ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ดินเผา พลาสติก เครื่องตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยว่านเซี่ยนเพิ่มการพัฒนาอบรมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดโครงการซานเสีย สะพานขนส่งทางบกนี้เป็นส่วนของถนน 318 ที่จะเชื่อมนครต่าง ๆ คือ ลาซา เฉิงตู ฉงชิ่ง ว่านเซี่ยน อู่ฮั่น หนานจิง (นานกิง) เซี่ยงไฮ้ เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม สะพานนี้ยาว 856 เมตร กว้าง 24 เมตร สูง 250 เมตร การสร้างใช้คอนกรีตเหล็กกล้า ข้ามแม่น้ำโดยใช้โครงสร้างโค้งเดี่ยว ยาว 420 เมตร โครงสร้างลักษณะนี้ในประเทศจีนที่นี่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ท่านนายกเทศมนตรีทราบ ยูโกสลาเวียก็มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ยาวเพียง 390 เมตร เขตสะพานนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหม่ เริ่มย้ายโรงงานเกลือมาทางนี้แล้ว กำลังสร้างโรงงานดินเผา ศูนย์พาณิชย์ และธนาคารประชาชน


(น.98) รูป 88 ติดป้ายให้ระวังอันตราย

(น.98) นอกจากนั้นยังมีแหล่งหินแร่เกลือ การทำเหมืองเกลือใช้วิธีการฉีดน้ำลงไป ล้างให้เกลือละลาย แล้วสูบขึ้นมา ชั้นหินเกลือหนา 158 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร แก๊สธรรมชาติอยู่บริเวณที่เรียกว่า เกาเฟิงฉ่าง ห่างจากที่นี่ราว 18 กิโลเมตร อุดมมากมี 40 กว่าบ่อ ส่งทางท่อไปเฉิงตู ฉงชิ่ง นอกจากนั้นมีถ่านหินอุตสาหกรรมเคมีมีทำสีน้ำมันทาบ้าน การเพาะปลูกส้มเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีส้มธรรมดา ส้มโอ ผ้าไหมของเมืองนี้มีคุณภาพเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยว 127 แห่ง เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้แล้ว 50 กว่าแห่ง มีศาลเจ้าเล่าปี่มอบบุตรให้ขงเบ้งที่ไป๋ตี้เฉิง เป็นต้น

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 149

(น.149) ไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้จากเขื่อนซานเสียสามารถทดแทนการผลิตโดยการเผ่าถ่านหินได้เฉลี่ยมากกว่า 50 ล้านตันต่อปี การขนส่งระหว่างฉงชิ่งถึงอี๋ชางก็จะทำได้โดยสะดวก เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมมณฑลทางตะวันออกและมณฑลในตอนกลางของประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาฉบับที่ 9 ของประเทศ

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 207

(น.207)ท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงที่วิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน พวกแรกเรียกร้องให้สร้าง จะได้พลังงานจากแม่น้ำฉางเจียงได้เต็มที่ ป้องกันน้ำท่วม ใช้ทำไฟฟ้า ใช้น้ำชลประทาน การขนส่งทางน้ำจะดีขึ้น เรือลำใหญ่ ๆ แล่นได้ถึงฉงชิ่ง พวกที่สองไม่เห็นด้วย เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมาก ต้องย้ายคนมาก อาจกระทบสิ่งแวดล้อม ปลา สัตว์ต่าง ๆ

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 315,316,317

แม่น้ำแยงซี
แม่น้ำสายนี้เรียกชื่อภาษาจีนว่า ฉางเจียง (Chang Jiang) แปลว่า แม่น้ำยาว คำว่า แยงซี (Yangtze, Yangze Kiang) ได้ชื่อมาจากรัฐโบราณชื่อ Yang (เข้าใจว่าอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ) การนำมาใช้เป็นชื่อของแม่น้ำตลอดสาย ชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน เดิมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Blue River แต่ที่จริงไม่ค่อยตรง เพราะโดยมากสีเป็นสีกาแฟใส่นม ตอนต้น ๆ เท่านั้นที่ใสเรียกเป็นแม่น้ำเขียวหรือฟ้าได้ แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีนและของทวีปเอเชีย ยาวเป็นที่สี่ของโลก
- ความยาวตลอดสาย 3,434 ไมล์ (5,525 กิโลเมตร)
- เขตลุ่มน้ำ ยาว 2,000 ไมล์ จากตะวันตกไปตะวันออกกว้างมากกว่า 600 ไมล์
- ไหลผ่านมณฑลต่าง ๆ ตลอดมณฑลหรือบางส่วน รวม 12 มณฑล
- มีแควใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหมด 8 แคว ลุ่มน้ำแยงซีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองจีน ผลผลิตทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของจีน ได้จากลุ่มน้ำแยงซี เฉพาะข้าวนับเป็น 70

(น.315) เปอร์เซ็นต์ของที่จีนผลิตได้ พืชผลอื่น ๆ คือฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว เฮมป์ เมืองใหญ่ตามลุ่มน้ำคือ เซี่ยงไฮ้, นานกิง, อู่ฮั่น, ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้มีประชากรเกินล้านคน

(น.316) แม่น้ำช่วงนี้ไหลผ่านมณฑลเสฉวน เขตภูเขาของมณฑลนี้เป็นแดนต่อระหว่างเขตที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงใต้กับเขตเขาสูงทาง

(น.317) ตะวันตกของหิมาลัย และทางใต้ของซีอาน แม่น้ำตอนนี้กว้างประมาณ 1,000 – 1,600 ฟุต ลึกประมาณ 30 ฟุต ไหลเร็วและแรง ตลิ่งมักสูงชัน ทางน้ำลาดลงประมาณ 820 ฟุตในมณฑลนี้ คนเสฉวนเรียกเขตลุ่มน้ำแยงซีว่า ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดินดีมาก ภูมิอากาศก็เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะภูเขาสูงกั้นอากาศเย็นที่มาจากทางตะวันตกและทางเหนือ ภูมิอากาศที่ค่อนข้างดีนี้ทำให้เลี้ยงไหมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ เช่น ถ่านหิน ทองแดง ฟอสฟอรัส ทอง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ประชากรหนาแน่นในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่า (river port)

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 8,9

มีผู้ถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่แยกฉงชิ่งออกเป็นมณฑลอีกมณฑลเพราะมีประชากรมาก อธิบายว่าขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาภาคตะวันตก ต้องการให้ฉงชิ่งเป็นผู้นำการพัฒนา การเป็นมหานครขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางดูแลง่ายกว่า ฉงชิ่งจะต้องดูแลโครงการเขื่อนซานเสีย ดูแลการอพยพประชาชนให้สำเร็จเรียบร้อยก่อน ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นปีที่กำหนดให้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชุดแรก ใน ค.ศ. 2009 โครงการซานเสียจะสำเร็จบริบูรณ์ บริเวณที่เป็นผืนน้ำจะกว้างถึง 600 ตารางกิโลเมตร การกั้นน้ำทำให้น้ำไหลช้าลง


(น.9) รูป 9 สนทนากับหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหานครฉงชิ่ง
Conversation with the Chief of Foreign Relations Division of Chongqing.

(น.9) อาจเกิดมลภาวะได้ง่าย นครฉงชิ่งต้องดูแลเรื่องนี้ นอกจากนั้นจะต้องดูแลการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไม่ให้แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมมากนัก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ที่จริงเขาเล่าอะไรให้ฟังมากกว่านี้ แต่ว่าง่วงนอนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 10,11,12,13,14,15,16,17,18

(น.10) วันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2544
ตอนเช้ารับประทานอาหารที่ห้องอาหารแล้วไปที่ลานหน้าศาลาประชาชนเมืองฉงชิ่งเพื่อรำมวยจีน มีผู้คนมากมายมารำมวยจีนธรรมดา มวยจีนชนิดถือดาบ รำพัดและเต้นรำอะไรก็ไม่รู้ เขาบอกว่าตอนเย็นๆ หรือค่ำๆ ยิ่งมีคนมามาก เขามาเต้นรำกัน ท่านเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้สร้างลานนี้ ปีหน้าจะขยายให้กว้างกว่านี้ (น.11) ครูหลี่ที่สอนมวยจีนอายุ 78 แล้วยังแข็งแรง สายตาดี อ่านหนังสือพิมพ์ไม่ต้องใส่แว่น ท่านว่าอะไรๆ ก็เคยเป็นมาแล้วทั้งเป็นทหาร เป็นครู ครูมวยจีน ผู้ตัดสิน ฯลฯ รำไปเที่ยวเดียว เหงื่อออกมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่ารำจบเร็วเกินไปขออีกเที่ยวหนึ่ง 2 เที่ยวกำลังดี ครูบอกว่าคนที่เคยรำอยู่เป็นประจำควรรำ 2 เที่ยว แต่ถ้าเพิ่งเริ่มหัดเที่ยวเดียวก็พอ ข้าพเจ้ารำประจำตอนอยู่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ว่ากลับเมืองไทยก็เลิก ถามว่าทำไมไม่เปิดเพลง ครูหลี่บอกว่าที่ถูกต้องไม่ควรเปิดเพลง เพราะจะเป็นการกวนสมาธิ ครูให้บทประพันธ์เกี่ยวกับมวยไทเก็กมาด้วย


(น.11) รูป 10 รำมวยจีนที่ลานหน้าศาลาประชาชนเมืองฉงชิ่ง
Tai qi exercise in front of the City Hall in Chongqing.

(น.12) กลับโรงแรมอาบน้ำอาบท่า แล้วไปที่จัตุรัสเฉาเทียนเหมิน (ประตูหันสู่ฟ้า) อยู่ริมฝั่งที่แม่น้ำเจียหลิงและแม่น้ำแยงซีเกียงไหลมาบรรจบกัน เป็นเขตเมืองเก่า รองผู้ว่าราชการมณฑลแซ่เฉินมานั่งด้วย รองผู้ว่าฯ หญิงท่านนี้รู้จักกับรองผู้ว่าฯ ที่ยูนนาน เพราะไปทำงานที่จิ่งหงหรือเชียงรุ่งด้วยกันช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เล่าว่าช่วงนั้นไปปลูกพืชต่างๆ ตัดต้นไม้ธรรมชาติไปแยะ เพาะกล้าต้นยาง ปลูกมากมาย (ข้าพเจ้าเพิ่งทราบว่าต้นยางพาราต้นโตๆ ที่เห็นอยู่เวลานี้คือต้นที่ปลูกในช่วงนั้น) บริเวณจัตุรัสที่ไปเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าลงเรือล่องแม่น้ำแยงซี ตามที่เขียนไว้ในเรื่องเย็นสบายชายน้ำ ขณะนี้จำสภาพเดิมไม่ได้เลย เมื่อ ค.ศ. 1998 รัฐบาลมหานครฉงชิ่งให้สถาปนิกออกแบบอาคารที่จัตุรัสเป็นรูปคล้ายเรือ หันไปทางแม่น้ำ มี 4 ชั้น มีอยู่ชั้นหนึ่งเป็นที่จอดรถได้ 400 คัน อีก 3 ชั้นว่าจะเป็นร้านรวง หรือที่สำหรับเล่นเกมต่างๆ ข้างบนเป็นลานเอนกประสงค์สำหรับคนมาเดินเล่นรำมวยจีนก็ได้ หนุ่มสาวชอบมาพลอดรักกัน ทางลงทำเป็นรูปพีระมิดแก้ว 3-4 อัน คล้ายกับที่ Louvre แต่ว่ามีขนาดเล็กกว่า (ไม่ทราบจะใช้ลักษณนามอย่างไรจึงจะถูกต้อง) ที่นี่จัดพิธีใหญ่ๆ ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999

(น.13) คนมาถึง 3 แสนคนมาฉลองการก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ โรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ นั้นกิจการดีมาก ที่ว่าจำสถานที่เดิมไม่ได้เลยเป็นเพราะเขารื้อบ้านเรือนเก่าๆ ไปถึง 280 กว่าหลังคาเรือน ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 300 วันเท่านั้น ลงทุนประมาณ 30 ล้านหยวน ด้านหน้าจัตุรัสมีลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินว่า ฉงชิ่งเฉาเทียนเหมินก่วงฉัง (重慶朝天門廣場) แปลว่า จัตุรัสเฉาเทียนเหมินแห่งฉงชิ่ง ส่วนด้านหลังเป็นบทประพันธ์สดุดีเฉาเทียนเหมิน ของศาสตราจารย์วิชาภาษาจีนท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครู และมีแผนที่สมัยโบราณของบริเวณนี้ มีชื่อประตูต่างๆ รวมทั้งประตูเฉาเทียนเหมินรวม 27 ประตู มองลงไปเห็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำเจียหลิงและแม่น้ำแยงซีเกียงบรรจบกัน มองเห็นได้ชัดว่าแม่น้ำเจียหลิงน้ำใสกว่าแม่น้ำแยงซีเกียง เทศบาลกำลังปรับปรุงถนนเลียบแม่น้ำและเขื่อนทำนบให้สวยงามและมีประโยชน์

Next >>