Please wait...

<< Back

เหอหนาน

(น.121)

รูป 86 ห้องโถงที่เข้าไปตอนแรก มีรูปคนแทรกอยู่ระหว่างช้าง 2 ตัว
Statue of a man between two standing elephants in the main hall.

(น.121) เขาให้เจ้าหน้าที่มาบรรยายให้ฉันฟัง เขาเคยบรรยายให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาแล้ว ระหว่างเดินชมเปิดเพลงไทย เช่น เพลงลาวดำเนินทราย ประกอบด้วย รูปปั้นที่ห้องโถงกลางเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ของเหอหนาน มีรูปคนผลักช้างออกด้านข้าง ข้างละตัว แสดงว่าอารยธรรมผลักความป่าเถื่อนออกไปข้างๆ เป็นช้างสองตัว เขาบอกว่าเมื่อ 500,000-600,000 ปีมาแล้วแถวนี้เคยมีช้างแมมมอธ มีภูเขาซงซาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด หอดูดาวที่ไคเฟิง เจดีย์อายุ 1,500 ปีสมัยเป่ยเว่ย อยู่กลางหุบเขาซงซานใกล้วัดเซ่าหลิน เมืองไคเฟิงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พื้นปูกระเบื้องทำเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มณฑลซานตงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิขงจื่อ แต่ที่มณฑลเหอหนานนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิเต๋า

(น.122)

รูป 87 ภาพแสดงความมีอำนาจของแม่น้ำเหลือง
A carving depicting the powess of the Yellow River.

(น.122) นิทรรศการที่นี่แสดงความรุ่งโรจน์ของวัฒนธรรมเหอหนาน ภาพสลักเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำหวงเหอ แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมจีน ทางเข้ามี 3 ประตู ตรงกลางหมายถึง ที่ราบภาคกลางหรือจงหยวนมีบทบาทเป็นเสาหลักของกระแสประวัติศาสตร์ วัตถุโบราณสมัยดึกดำบรรพ์ ที่นี่ก็พบฟอสซิลของมนุษย์โบราณสมัยเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง ในตู้แสดงเครื่องมือการเกษตรสมัยหิน อายุ 8,000 ปี ใช้ในการกะเทาะเปลือกข้าว รูปจำลองคนสมัยนั้น ผู้หญิงเป็นช่างทำเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยนั้นผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย (ฉันไม่ทราบว่าเขาสันนิษฐานอย่างนั้นได้อย่างไร เห็นมีแต่สิ่งของต่างๆ ที่ไม่น่าจะบอกภาพสังคมได้ละเอียดเช่นนั้น) มีของที่ว่าเป็นชิ้นเอกของประเทศจีนคือ ปี่เล็กๆ ทำด้วยกระดูกปีกนกกระเรียน มี 7 รู สามารถเล่นเพลงปัจจุบันได้ นักวิชาการดนตรีทดลองบรรเลงและจดโน้ตไว้ เครื่องดนตรีชิ้นนี้พบใน ค.ศ. 1987 เครื่องดนตรีในยุคเดียวกันจะมีแต่เครื่องจังหวะ เช่น กลองเครื่องปั้นดินเผาที่แอฟริกา ลุ่มแม่น้ำไนล์ สมัยเมื่อ 6,000 ปีมาแล้วมีวัฒนธรรมขึ้นอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าวัฒนธรรมหยั่งเสา มีความเด่นในเรื่องการผลิตเครื่องปั้นดินเผา

(น.126) ตู้เย็นโบราณ วิธีการใช้คือ ตอนหน้าหนาว ไปตัดน้ำแข็งมาไว้ห้องใต้ดินที่ความร้อนเข้าไม่ถึง เมื่อถึงหน้าร้อนเอาภาชนะสี่เหลี่ยม ในภาชนะนั้นวางแช่เหล้า กวีชวีหยวนแต่งไว้ว่าบดขนมไว้กินพร้อมเหล้าเย็น สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย (ก๊กของโจโฉ) จิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ มีรูปอาคารจำลองทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาสำหรับฝังลงไปในสุสาน หวังว่าบุคคลผู้ตายจะมีความเป็นอยู่ในปรโลกเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีนักดนตรี นักละคร พวกคนแคระ ซูโม่ อาวุธต่างๆ สันนิษฐานว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังนำการแสดงซูโม่ไปที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันคนญี่ปุ่นถือว่าซูโม่เป็นกีฬาสำคัญ มีภาพฝาผนังสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบใน ค.ศ. 1980 บริเวณมณฑลเหอหนานภาคตะวันออก สุสานนี้สวยมาก (เขาว่ากัน) ขึ้นไปชั้นสอง มีศิลาจารึกราชวงศ์จิ้น เป็นข้อมูลล้ำค่าที่สุด แสดงประวัติการตั้งโรงเรียนหลวง มีรายชื่อครูและนักเรียน นอกจากนั้นมีบันทึกว่าจักรพรรดิเคยเสด็จทอดพระเนตรที่นี่ 3 ครั้ง จารึกลายนก ลายเป็นภาพสุริยุปราคา สมัยราชวงศ์ฮั่น สมัยราชวงศ์ฮั่น มีรูปยุ้งข้าวสำหรับเอาไว้ในสุสาน พิมพ์ของลูกศร สมัยนั้นเริ่มเป็นสมัยเหล็ก มีการถลุงเหล็กหลายแห่ง สมัยราชวงศ์สุยและถัง ในเมืองลั่วหยัง สมัยราชวงศ์สุยเมื่อ 1,500 ปีมาแล้วเน้นความสมดุลมีอาคารที่พระนางบูเช็กเทียนเคยประทับและทรงงานว่าราชการ แต่ภายหลังถูกไฟไหม้ ใน ค.ศ. 1980 พบซากรากฐาน

(น.126)

รูป 92 ตุ๊กตานักดนตรี
Figurines of musicians.

(น.130)

รูป 97 งาช้างแกะเป็นรูปหัวผักกาดมีแมลงเกาะ สมัยราชวงศ์ชิง
Ivory lettuces and insects, Qing Dynasty.

(น.130) ติ่ง 7 ใบ มีกระดูกอยู่ข้างใน ลวดลายเป็นเฉินโซ่ว สัตว์ในนิยาย ฝังเพชรพลอย หนวดถอดออกมาได้ งาช้างแกะเป็นรูปหัวผักกาด แล้วระบายสีเหมือนของจริงมาก ผักมีจิ้งหรีด แมลงเต่าทองเกาะ ทางพิพิธภัณฑ์ซื้อมา พิพิธภัณฑ์นี้ของสวยงามจริงๆ การจัดแสดงก็ดี เพราะเป็นอาคารใหม่ คนอธิบายก็ดี กลับโรงแรมแล้วลงไปรับประทานอาหารค่ำ รองผู้ว่าราชการมณฑลเหอหนานกล่าวบรรยายสรุปเกี่ยวกับมณฑลดังนี้ มณฑลเหอหนานอยู่ช่วงปลายของแม่น้ำหวงเหอ มีลักษณะพิเศษหลายประการ
1. มีประชากร 98.37 ล้านคน ตามสถิติ ค.ศ. 1999 เป็นมณฑลที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ
2. ที่ตั้งของมณฑลเป็นศูนย์กลางของประเทศมาแต่ครั้งโบราณ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ได้เหอหนานเหมือนได้ทั้งประเทศ” ทุกวันนี้เหอหนานยังคงเป็นศูนย์กลางทางรถไฟและถนน

(น.131)

3. เหอหนานตั้งอยู่ภาคกลางของประทศ มีประชากรมากที่สุดจึงเป็นตลาดใหญ่ของจีน หลังจากที่ชูนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเปิดกว้างแล้ว เหอหนานเป็นที่ที่ต่างประเทศมาลงทุนกันมาก
4. มณฑลเหอหนานมีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปี เป็นแหล่งกำเนิดชนชาติจีน มีสถานที่และวัตถุโบราณมากมาย ในบรรดาเมืองหลวงโบราณ 7 แห่งของจีน อยู่ในเหอหนานถึง 3 แห่ง คือ ลั่วหยัง ไคเฟิง และอานหยัง นอกจากนั้นมีวัดเซ่าหลิน ถ้ำหลงเหมิน และวัดม้าขาวที่มีชื่อเสียงทั้ง โลก
5. อุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ คือ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ มีแร่ทองคำเป็นที่สองของประเทศ เหมืองแร่ธรรมชาติ เช่น ปูนขาว แหล่งปูนซีเมนต์ และแร่อื่นๆ 76 ชนิด
6. เป็นแหล่งใหญ่ของผลิตผลทางการเกษตร ด้วยลุ่มน้ำหวงเหออุดมสมบูรณ์ นอกจากปลูกธัญพืชแล้ว ยังมีฝ้าย น้ำมันพืช และการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมณฑลเหอหนานมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีเงื่อนไขทางธรรมชาติที่ดี หลังนโยบายเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมรุดหน้าไปมาก เป้าหมายที่รัฐบาลมณฑลวางไว้มีคำขวัญว่า “หนึ่งสูงหนึ่งต่ำ” สูงคือต้องเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้ตัวเลขสูงกว่ามณฑลอื่น ต่ำคืออัตราเพิ่มประชากรต้องต่ำ สิบกว่าปีมานี้ได้บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1999) ตัวเลขรายได้ประชาชาติติดอันดับชาติ แต่ด้วยมีประชากรมากเกินไป เฉลี่ยต่อหัวจึงเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาไปค่อนข้างเร็วคือ การเปิดประตูสู่ต่างประเทศ แม้จะเปิดช้ากว่ามณฑลอื่นไปบ้าง แต่ปัจจุบันมีทุนต่างประเทศเข้ามามาก มีบริษัทร่วมทุนกว่า 6,000 บริษัท มณฑลเหอหนาน

(น.132)

รูป 98 พ่อครัวแสดงการทำเส้นหมี่เส้นละเอียดๆ ให้ดู
Chefs demonstrating how to make fine vermicelli.

(น.132) ติดต่อกับประเทศไทยมาหลายปีแล้ว มีบริษัทร่วมทุนกับไทย บริษัทนี้ทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกับไทย เร็วๆ นี้ลั่วหยังจะร่วมทุนกับไทยผลิตแทรกเตอร์ อย่างไรก็ตามเขาขอให้ฉันแนะนำมณฑลเหอหนานให้คนไทยรู้จักมากขึ้นเพื่อจะได้มาลงทุน ที่จริงจดเอาไว้อีกแยะ แต่สมุดหาย จำได้แต่ว่าเหล้าขาวที่นี่เรียกว่า เหล้าตู้คัง ค่อนข้างแรง พ่อครัวแสดงการ “ลาเมี่ยน” คือ การดึงแป้งเป็นเส้นหมี่ละเอียดๆ ให้ดู กุ๊กเคยมาทำงานเมืองไทยจึงพูดไทยได้

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 150

(น.150) โรงแรมโซฟิเตล นครเจิ้งโจว
มณฑลเหอหนาน
วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2543
ประพจน์เพื่อนรัก
วันนี้ไปลั่วหยัง (ลกเอี๋ยง) เดินทาง 2 ชั่วโมงเหมือนเมื่อวานนี้ ลั่วหยังอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆ รวม 9 ราชวงศ์ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก มีแหล่งศิลปะโบราณคดีจำนวนมาก ถ้ำหลงเหมินถือว่าเป็นแหล่งหนึ่งใน 3 แห่งที่เป็นคลังเก็บศิลาจารึก วัดม้าขาวเป็นวัดแรกในจีนที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 68 สมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังจากการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในจีนแล้ว (จริงหรือเปล่าประพจน์) เขาถือกันว่าดอกโบตั๋นของลั่วหยังสวยที่สุดในโลก ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 นครลั่วหยังจัดงานแฟร์โบตั๋นทุกปี ลั่วหยังมีแร่ธาตุสำคัญหลายอย่าง ส่วนที่เป็นภูเขาก็เป็นแหล่งสัตว์และพืชพรรณนานา และยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว มีโครงการสำคัญๆ มาตั้งที่นี่ เช่น โรงงานทำรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรต่างๆ โรงงานเหล่านี้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โครงการชลประทานที่สำคัญที่สุดคือ โครงการเสี่ยวลั่งตี่ มีเงื่อนไขที่ดีในการลงทุน การคมนาคมสะดวก มีโรงแรมทันสมัย รวมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์กับเมืองอื่นหลายเมือง เมื่อไปถึงก็รู้สึกว่าเมืองใหญ่โตสวยงาม

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 174,186

(น.174) วันนี้ไปเมืองไคเฟิง เดินทางชั่วโมงเดียวก็ถึง เมืองไคเฟิงตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทางตะวันออกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่ถึงประมาณ 2,700 ปี และเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหญ่-เล็กถึง 7 ราชวงศ์ เช่น ราชวงศ์ซ่งเหนือ แคว้นเว่ยสมัยจั้นกว๋อ สมัยห้าราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์เหลียงยุคหลัง ราชวงศ์ถังยุคหลัง ราชวงศ์จิ้นยุคหลัง ราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง และราชวงศ์โจวยุคหลัง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือไคเฟิงมีชื่อว่า ตงจิง (แปลว่า เมืองหลวงทางตะวันออก เขียนและมีความหมายเหมือนคำว่า โตเกียว) เป็นนครที่โอ่อ่าและมั่งคั่ง ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพเขียนที่มีชื่อว่า “ภาพริมแม่น้ำในเทศกาลเช็งเม้ง” หรือที่ภาษาจีนว่า “ชิงหมิงซั่งเหอถู” ของจิตรกรจังเจ๋อตวน สมัยราชวงศ์ซ่ง ปัจจุบันตั้งแต่ประเทศมีนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก ไคเฟิงพัฒนาไปในด้านอุตสาหกรรม การพาณิชย์ วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม การท่องเที่ยว ไคเฟิงเป็นเขตผลิตธัญพืชและฝ้าย นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงสัตว์ การประมง การปลูกผักและผลไม้ เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการเกษตร และยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

(น.186) รับประทานเสร็จเจ้าภาพบอกว่ามีเวลาเยอะแยะ ฉันว่าถ้าอย่างนั้นพาไปดูอะไรๆ หน่อย เขาบอกว่าไม่มีเวลาสำหรับดูเพิ่มแล้ว ต้องรีบกลับไปเจิ้งโจว เพราะจะต้องขึ้นเครื่องบิน พอไปถึงสนามบินจริงๆ บอกว่าเครื่องบินยังไม่มา ต้องนั่งคุยกันเรื่องต่างๆ ฝ่ายจีนบอกว่าถ้าทราบว่าเครื่องบินจะดีเลย์ก็จะพาไปดูที่อื่นได้ เช่น วัดเต๋าที่ชิวชู่จี (ภาษาแต้จิ๋ว คิวชูกี) เคยอยู่ต้นราชวงศ์หยวน ตอนนี้ไม่ทันแล้ว (ประพจน์ นักพรตคิวชูกีนี้จินหยงเอามาเป็นตัวละครในมังกรหยก เป็นอาจารย์ของเอี้ยคัง มีฉายาว่า เชียงชุนจื้อ หรือ ฉังชุนจื่อ ในภาษาจีนกลาง) เหอหนานเป็นมณฑลใหญ่ เป็นที่กำเนิดของแซ่ต่างๆ 72 แซ่ ถ้ามีเวลาควรไปโบราณสถานที่ไคเฟิงอีก 6-7 แห่ง พูดถึงปากั้ว ที่บ้านของฝูซี คนคิดปากั้ว มีทะเลสาบใหญ่ซึ่งมีเต่ามาก ฝูซีได้แรงบัลดาลใจจากเต่าเหล่านี้ เมื่อ 10 ปีก่อนมีเด็กไปตกปลาได้เต่าขาวมา ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เต่าตัวนี้อายุ 100 ปี เมื่อศึกษา 2 ปี ก็ปล่อยเต่ากลับลงทะเลสาบ ทางใต้ของสนามบินนี้มีเมืองสวี่ชังที่โจโฉเคยอยู่ กวนอูกับภรรยา


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

มณฑลเหอหนาน

มณฑลเหอหนานอยู่ช่วงปลายของแม่น้ำหวงเหอ มีลักษณะพิเศษหลายประการ
1. มีประชากร 98.37 ล้านคน ตามสถิติ ค.ศ. 1999 เป็นมณฑลที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ
2. ที่ตั้งของมณฑลเป็นศูนย์กลางของประเทศมาแต่ครั้งโบราณ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ได้เหอหนานเหมือนได้ทั้งประเทศ” ทุกวันนี้เหอหนานยังคงเป็นศูนย์กลางทางรถไฟและถนน
3. เหอหนานตั้งอยู่ภาคกลางของประทศ มีประชากรมากที่สุดจึงเป็นตลาดใหญ่ของจีน หลังจากที่ชูนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเปิดกว้างแล้ว เหอหนานเป็นที่ที่ต่างประเทศมาลงทุนกันมาก
4. มณฑลเหอหนานมีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปี เป็นแหล่งกำเนิดชนชาติจีน มีสถานที่และวัตถุโบราณมากมาย ในบรรดาเมืองหลวงโบราณ 7 แห่งของจีน อยู่ในเหอหนานถึง 3 แห่ง คือ ลั่วหยัง ไคเฟิง และอานหยัง นอกจากนั้นมีวัดเซ่าหลิน ถ้ำหลงเหมิน และวัดม้าขาวที่มีชื่อเสียงทั้ง โลก
5. อุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ คือ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ มีแร่ทองคำเป็นที่สองของประเทศ เหมืองแร่ธรรมชาติ เช่น ปูนขาว แหล่งปูนซีเมนต์ และแร่อื่นๆ 76 ชนิด
6. เป็นแหล่งใหญ่ของผลิตผลทางการเกษตร ด้วยลุ่มน้ำหวงเหออุดมสมบูรณ์ นอกจากปลูกธัญพืชแล้ว ยังมีฝ้าย น้ำมันพืช และการเลี้ยงสัตว์ [1]

เศรษฐกิจ

เนื่องจากมณฑลเหอหนานมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีเงื่อนไขทางธรรมชาติที่ดี หลังนโยบายเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมรุดหน้าไปมาก เป้าหมายที่รัฐบาลมณฑลวางไว้มีคำขวัญว่า “หนึ่งสูงหนึ่งต่ำ” สูงคือต้องเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้ตัวเลขสูงกว่ามณฑลอื่น ต่ำคืออัตราเพิ่มประชากรต้องต่ำ สิบกว่าปีมานี้ได้บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1999) ตัวเลขรายได้ประชาชาติติดอันดับชาติ แต่ด้วยมีประชากรมากเกินไป เฉลี่ยต่อหัวจึงเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาไปค่อนข้างเร็วคือ การเปิดประตูสู่ต่างประเทศ แม้จะเปิดช้ากว่ามณฑลอื่นไปบ้าง แต่ปัจจุบันมีทุนต่างประเทศเข้ามามาก มีบริษัทร่วมทุนกว่า 6,000 บริษัท มณฑลเหอหนานติดต่อกับประเทศไทยมาหลายปีแล้ว มีบริษัทร่วมทุนกับไทย บริษัทนี้ทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกับไทย เร็วๆ นี้ลั่วหยังจะร่วมทุนกับไทยผลิตแทรกเตอร์ อย่างไรก็ตามเขาขอให้ฉันแนะนำมณฑลเหอหนานให้คนไทยรู้จักมากขึ้นเพื่อจะได้มาลงทุน [2]

สถานที่สำคัญ/แหล่งท่องเที่ยว

เมืองเจิ้งโจว

พิพิธภัณฑ์ Yellow River Exhibition Hall

พิพิธภัณฑ์ Yellow River Exhibition Hall ซึ่งทำมาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ขึ้นตรงกับสำนักงานชลประทานแม่น้ำหวงเหอ เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับรวบรวม สะสม และวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหอ เช่น ลักษณะพิเศษทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ ประวัติศาสตร์ อารยธรรมของชาวลุ่มแม่น้ำ มีนิทรรศการชลประทานสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์ชิง ฟอสซิลและวัตถุโบราณที่ขุดพบในลุ่มน้ำ เช่น อักษรโบราณบนกระดองเต่าที่หมู่บ้านเสี่ยวถุนชุน เมืองอานหยัง มนุษย์หลานเถียนซึ่งอยู่ยุคเดียวกับมนุษย์ปักกิ่ง รูปภาพ ข้อมูล และผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับแม่น้ำหวงเหออีกร่วมหมื่นชิ้น ลักษณะพิเศษของแม่น้ำนี้คือ จะมีน้ำท่วมเล็กประจำปี ท่วมขนาดกลางทุก 3 ปี แต่ท่วมขนาดใหญ่ทุก 10 ปี แม่น้ำหวงเหอให้คุณอนันต์ แต่ก็สร้างภัยมหันต์แก่ประชาชน แม่น้ำนี้ชาวจีนทั้งรักทั้งกลัว จนมีคำกล่าวว่า “หวงเหอสงบ โลกสันติ” โลกในที่นี้หมายถึง จีน [3]

Next >>