<< Back
สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จากหนังสือ
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 14,15,16,17
(น.14) รูป 7 หมู่บ้านพระเจ้าตาก
(น.14) ไปถึงหน้าหมู่บ้านมีผู้อำนวยการสำนักงานชาวจีนโพ้นทะเลของเฉิงไห่เป็นผู้หญิงชื่อคุณไฉเผยหลงมาต้อนรับ ต้องเดินเข้าไปจากถนนใหญ่ประมาณครึ่งกิโลเมตรจึงเข้าไปถึงบริเวณที่เรียกกันว่าเป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดูลักษณะโดยทั่วๆไปที่ตั้งของสุสานนี้เป็นคุ้งน้ำ มีน้ำ (แม่น้ำและคลอง) ล้อมรอบ ด้านหลังสุสานมีเขื่อนและหมู่บ้านอยู่ด้านหลัง หนองน้ำใกล้สุสานนี้มีกาลงมาจับมีคนอธิบายว่าถูกต้องตามตำรา ฮวงจุ้ยถือเป็นภูมิสถานที่เป็นมงคล
สุสานเหมือนกับหลุมฝังศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆแบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีนแปลความว่า สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง (ค.ศ. 1784) บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1985
(น.15) คุณไฉอธิบายว่า หลังจากพระเจ้าตากสินสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย อีกชุดหนึ่งเป็นชุดจีน กลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่นี้ พวกพระญาติสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมสุสานนี้ถูกทำลายไป ตอนที่จะสร้างใหม่นี้เล่ากันว่าเห็นกล่องที่บรรจุฉลองพระองค์และพระมาลา แต่ไม่มีใครกล้าเปิดดูเพราะความเคารพ ขณะนี้อำเภอเท่งไฮ้กำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้าน จะรวบรวมเรื่องราวสำคัญของอำเภอ เช่นเอกสารท้องถิ่น บันทึก และข้าวของต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ คุญไฉไลอธิบายต่อไปว่าพระญาติ (ดูเหมือนจะเป็นอา) ของพระเจ้าตาก เคยไปเฝ้าพระเจ้าตากที่กรุงธนบุรีและเขียนบันทึกไว้ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อจะทูลลากลับพระเจ้าตากพระราชทานโอ่งมา 18 ใบ ขณะอยู่ในเรือเปิดโอ่งดูเห็นมีผักดองก็นึกโกรธว่าพระเจ้าตากไปมีอำนาจวาสนาอยู่เมืองไทย จะให้ของญาติ ก็ให้แค่ผักดอง เมืองจีนก็มี จึงนำทิ้งน้ำไปหมดเหลือเอาไว้เป็นที่ระลึกใบหนึ่ง กลับถึงเมืองจีนจึงมีโอกาสดูละเอียดเพิ่งทราบว่าข้างใต้ผักดองนั้นเป็นทองทั้งนั้น เขาว่ายังเก็บโอ่งใบนั้นเอาไว้ จะใส่พิพิธภัณฑ์เมื่อสร้างเสร็จ
(น.15) รูป 8 ป้ายที่สร้างถวายพระเจ้าตากมื่อค.ศ. 1985
(น.16) เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อว่าจริง สมัยกรุงธนบุรีบ้านเมืองยากจน จะเอาทองที่ไหนส่งไปเมืองจีนถึง 18 โอ่ง พระเจ้าตากเองยังทรงปรารภเรื่องบ้านเมืองยากจน ข้าวปลาอาหารขาดแคลนดังความในพระราชพงศาวดารว่า...ออกพระโอษฐ์ว่า บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดาบุคคลผู้มีฤทธิ์ มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้...
ในตอนนั้นมีผู้กล่าวว่าพระบิดาพระเจ้าตากอาจจะไม่ใช่คนเท่งไฮ้เพราะในพงศาวดารกล่าวว่าทรงเป็นบุตรจีนไหฮอง ซึ่งภาษาจีนกลางอ่านว่าไห่เฟิง เป็นอำเภออยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางจากเท่งไฮ้ไปเสิ่นเจิ้น ที่เริ่มกล่าวว่าพระเจ้าตากเป็นคนเท่งไฮ้นั้น มาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York: Cornell University Press, 1957) หนังสือเล่มนี้กล่าวว่าชื่อไหฮองนั้นอาจจะเป็นชื่อเฉพาะของพระราชบิดา ไม่ใช่ชื่ออำเภอ ข้าพเจ้าลองคิดดูเล่นๆ ว่า สกินเนอร์อาจจะถูกที่ว่าพระบิดาเป็นคนเท่งไฮ้ แต่บรรพบุรุษหลายชั่วคนก่อนมาจากไหฮอง มีคนเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าในสมัยก่อนไหฮองเป็นเขตที่ค่อนข้างทุรกันดาร คนจึงโยกย้ายหาที่ทำกินในที่อื่นของประเทศ จึงมาตั้งรกรากที่เท่งไฮ้ หนังสืออีกเล่มที่วิเคราะห์เรื่องของพระเจ้าตากไว้อย่างน่าสนใจคือเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของศาสตรจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
(น.17) รูป 9 ทิวทัศน์หมู่บ้านพระเจ้าตาก
(น.17) ปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีคนแซ่แต้ บางทีใช้ว่าตัน (ภาษากลางว่าเจิ้ง) ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับพระเจ้าตากอยู่สักสามสิบครัวเรือน เขาเล่าว่าคนที่เชื่อกันว่าสืบเชื้อสายจากพระญาติพระเจ้าตากก็ยังอยู่ แต่เข้าไปทำงานในเมืองเฉิงไห่หมดแล้ว นอกจากแซ่แต้แล้วตระกูลที่มีมากคือแซ่ตั๊ง หรือที่ไทยเรียกว่า แซ่ตั้ง (หรือตัน ภาษาไหหลำว่า ด่าน ภาษากลางว่า เฉิน)