Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2540 "

(น.36) วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2540
ซุปจดชื่อขนมที่รับประทานแล้วมาให้ ได้แก่ ไช่ก๊วย หรือกูไช่ก๊วย ท้อก๊วย กอก๊วย ไช่เท้าก๊วย ชือคักก๊วย จุ้ยก๊วย เตียมก๊วย หรือตีก๊วย เฉาก๊วย อิ๊วก๊วย หนึงก๊วย ฮวกก๊วย (คล้ายขนมถ้วยฟู) 08.30 น. นั่งรถไปยังเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง ไปหยุดพักที่โรงแรมจินม่าน (King Man) แล้วไปที่วัดไคหยวนไทย เป็นวัดที่คุณปรีชา พิสิษฐ์เกษมสร้างใน ค.ศ. 1992 ตามอนุมัติของรัฐบาลกลาง (ปักกิ่ง) สร้างตามแบบไทย ดูเหมือนว่าช่างจีนจะพยายามสร้างเลียนแบบวัดเบญจมบพิตรภายในพระอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลองเป็นประธาน มีพระพุทธรูปอื่นๆ สมัยสุโขทัย อู่ทอง เชียงแสน มีภาพพุทธประวัติใส่กรอบประดับฝาผนัง เมื่อตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ คุณปรีชาเคยเอาภาพวัดนี้มาให้ข้าพเจ้าดู ข้าพเจ้ายังนึกอยู่ว่าเขาจะทำเป็นวัดไทย ทำนองเดียวกับวัดไทยในต่างประเทศทั้งหลาย หรือวัดจีนแบบวัดจีนนิกายในเมืองไทย นึกภาพไม่ออกเพราะไม่เคยไปแถวนั้น ที่สิบสองปันนานั้นมีวัดแบบไทยลื้อ มาดูที่นี้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยปนจีน ไม่มีพระสงคฆ์อยู่ประจำ กรมการศาสนาจีน (ซัวเถา) มอบหมายให้พระหลวงจีนจากวัดไคหยวน (จีน) มาดูแล 2 รูป หลวงจีนจากวัดไคหยวนนี่เองเป็นผู้อธิบายนำชม


(น.37) รูป 25 ไปที่วัดไคหยวนไทย


รูป 26 ภายในวัดไคหยวนไทย


(น.38) รูป 27 บนเนินเขามีรูปพระสังกระจายกับรูปช้าง ข้างในเป็นถังเก็บน้ำ

(น.38) บริเวณข้างนอกมีห้องรับแขก ศาลพระพรหม (ซึ่งคนไทยชอบไปสร้างตามวัดจีน) หอระฆัง หอกลอง หอชมวิว บ่อปล่อยปลา เจดีย์ที่ระลึกคุณปรีชา ทิวทัศน์ภูเขาสวยงามดี บนเนินเขามีรูปปั้นพระสังกระจายกับช้างตัวโต ได้ความว่าข้างในเป็นถังเก็บน้ำ ดูเข้าที ไม่เคยเห็นใครทำถังเก็บน้ำแบบนี้ กล่าวโดยสรุปได้ว่าวัดนี้อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ทางศาสนาเต็มที่ แต่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองแต้จิ๋ว ที่หมายที่ 2 คือ ศาลเจ้าหันเหวินคง อยู่บนเนินเขา ข้างๆ วิทยาลัยครูหันซาน หันเหวินคง คือ หันหยู (ค.ศ. 768-824) นักประพันธ์และกวีสมัยราชวงศ์ถัง เกิดที่เมืองเมิ่งเซี่ยน มณฑลเหอหนาน เป็นนักประพันธ์ร้อยแก้วคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากสมัย

(น.39) ซือหม่าเชียน เขาได้พัฒนาท่วงทีการเขียนร้อยแก้วเรียกว่า กู่เหวิน หรือร้อยแก้วแบบเก่า ใช้ภาษาเรียบง่าย แต่มีน้ำหนัก เนื้อหาที่เขาเขียนเพื่อพิทักษ์ลัทธิขงจื๊อ เช่น การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ตามแบบขงจื๊อ เนื่องจากขณะนั้นพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองปรัชญาของเขาเป็นพื้นฐานของการปรับปรุงลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo Confucianism) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง อันเป็นการประสานความเชื่อระหว่างลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา และลัทธิเต๋า ในด้านการเขียนร้อยกรอง เขาใช้เทคนิคที่แตกต่างจากแนวการเขียนของหลี่ไป๋ หรือ ตู้ฝู่ คือเขียนบทกวีคล้ายกับเขียนร้อยแก้ว บทกวีของเขามักจะยาว ใช้คำเปรียบเทียบ มักจะจับเอาเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวมาสร้างให้เกิดความไพเราะได้ เช่น เรื่องการประหาร คนป่วยอาเจียน หรือเพื่อนกรน บทกวีที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ เรื่องหนานซาน หรือ ภูเขาใต้


(น.39) รูป 28 ศาลเจ้าหันเหวินคง


(น.40) รูป 29 รูปหันเหวินคง หรือหันหยู กวีสมัยราชวงศ์ถัง

(น.40) เขารับราชการในรัชสมัยของจักรพรรดิถังเซี่ยนจง (ค.ศ. 806-820) จนมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีฝ่ายการศึกษา แต่ประสบปัญหาทางการเมืองจึงต้องย้ายออกจากนครฉางอานหรือซีอาน เมืองหลวงสมัยนั้น เมื่อกลับฉางอานได้ร่วมปราบกบฏที่ฮ่วยซี เขาเขียนจารึก (ผิงฮ่วยซี) ใน ค.ศ. 817 เล่าเหตุการณ์ จารึกนี้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างแนวทางด้านวรรณศิลป์ ปรัชญา กับแนวคิดทางการเมืองของเขา เห็นจะเป็นด้วยความภูมิใจในความสำเร็จในการปราบกบฏและความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ใน ค.ศ. 819 เขาจึงกล้าเขียน หลุนโฝกู่เพี่ยว คือ บันทึกเรื่องพระบรมธาตุ กล่าวตำหนิการที่จักรพรรดิทรงบูชาพระบรมธาตุว่าเป็นอันตรายต่อพระชนม์ชีพ ทั้งยังเตือนจักรพรรดิว่าศาสนาในแผ่นดินถังไม่ได้มีเฉพาะพุทธศาสนา จักรพรรดิควรพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ศาสนาต่างๆ ให้เสมอกัน การเขียนเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างร้ายแรง ถ้าไม่มีคนช่วย เห็นจะต้องถูกประหารชีวิตแน่ๆ เขาถูกเนรเทศให้ไปเป็นเจ้าเมืองที่แต้จิ๋ว ขณะนั้นแต้จิ๋วเป็นเมืองทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคม ประชาชนยากจน การไปรับราชการอยู่ในที่เช่นนั้น ถือเป็นการลงโทษ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าการส่งคนไปรับราชการอยู่ที่ห่างไกลทุรกันดารควรเป็นคนอย่างไร ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เสมอว่าคนที่กระทำความผิดมักจะถูกย้ายไปอยู่ที่ไกลและทุรกันดาร ส่วนคนดีมีความชอบก็อยู่ในพระนคร ถึงงานในพระนครเป็นงานที่มีความรับผิดชอบสูง แต่งานในเขตห่างไกลก็สำคัญไม่น้อย ถ้าคนไม่ดีไปอาจจะไปกดขี่ประชาชนโดยส่วนกลางไม่รับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่เส้นทางการคมนาคมและโทรคมนาคมยังไม่สะดวก เมื่อหันหยูไปถึง ได้ไปพัฒนาบ้านเมือง จนเป็นเรื่องที่คนเล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้คือ
1. การศึกษา แต่ก่อนประชาชนไม่มีความรู้ ขาดการศึกษา จึงใช้เงินตนเองสร้างสถานศึกษาให้ผู้มีอาวุโสในท้องถิ่นช่วยกันดูแลรับผิดชอบ เนื่องจากเจ้าเมืองเป็นข้าราชการ ย่อมโยกย้ายเปลี่ยนไปตามแต่ทางราชการเห็นสมควร แต่ผู้อาวุโสท้องถิ่นเป็นผู้อยู่ประจำ ตั้งแต่นั้นสภาพของท้องถิ่นก็เปลี่ยนไป กลายเป็นแหล่งนักปราชญ์ สมัยราชวงศ์ถัง มีผู้สอบราชการระดับจิ้นซื่อได้ 3 คน พอถึงราชวงศ์ซ่ง มีถึง 142 คน
2. ปราบจระเข้ในแม่น้ำหัน แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ประชาชนต้องใช้เรือสัญจรไปมา จระเข้มักมาคว่ำเรือ ลากคนไปกินจนชาวบ้านเรียกว่า แม่น้ำดุ (ภาษาจีนว่า เอ้อร์) มีเรื่องเล่าว่าเมื่อหันหยูมาถึงเขาเขียนหนังสือทิ้งลงไปในน้ำบอกจระเข้ไม่ให้มารบกวนผู้คน แต่ก็ไม่เป็นผล เลยใช้ธนูอาบยาพิษยิงจระเข้ทีละตัวจนหมด ตั้งแต่นั้นจึงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำหัน ตามชื่อของหันหยู และเรียกภูเขาว่าหันซานด้วย


(น.42) รูป 30 เหนือรูปปั้นของหันหยูมีป้ายสรรเสริญ ข้างบนหมายถึง (ยอดเยี่ยม) เหมือนภูเขาไท่ซาน และดาวเหนือ ข้างล่างเขียนว่าเป็นปรมาจารย์มานานหลายชั่วคน


รูป 31 ลายมือของหันหยู


รูป 32 ลายมือของหันหยู

(น.43)
3. ปล่อยทาสกว่าพันคนเป็นอิสระ เป็นการช่วยให้เกษตรกรรมขยายตัวขึ้น ข้อนี้คล้ายคลึงกับการเลิกไพร่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น เพราะว่าประชาชนมีโอกาสออกไปทำมาหากิน ที่จริงเขาไปอยู่แต้จิ๋วเพียง 8 เดือน (แล้วกลับไปเป็นใหญ่ในเมืองหลวง และเสียชีวิต 4 ปีต่อมา) แต่ได้ทำประโยชน์แก่แต้จิ๋วนานัปการ ประชาชนพากันยกย่อง สร้างศาลเจ้าหันเหวิน (หมายถึงหันเหวินผู้เป็นนักประพันธ์) ศาลเจ้าหันเหวินมีทั่วประเทศ แต่ว่าที่แต้จิ๋วใหญ่ที่สุดและมีอายุเก่าแก่ที่สุดคือราว 808 ปี ลักษณะเหมือนศาลเจ้าจีนทั่วๆ ไปแต่มีขนาดใหญ่ ตามขื่อและเสามีคำขวัญเป็นลายมือของบุคคลมีชื่อเสียงทางอักษรศาสตร์ เช่น ลายมือหลิวไห่ซู เขียนว่า เป็นอาจารย์ร้อยชั่วคน ลายมือโจวเผยหยวน เขียนว่าเป็นนักปราชญ์ร้อยชั่ว กลางศาลตั้งรูปหันหยูนั่งอยู่ ซ้ายขวามีคำประกาศเกียรติคุณในศาลมีแผ่นจารึก 2 แผ่นซึ่งไกด์ว่าเป็นลายมือหันหยู ลานด้านหน้าเห็นทิวทัศน์แม่น้ำหัน มีสะพานข้ามชื่อ สะพานหันเฉียว สะพานนี้สร้างมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ บางคนบอกว่ามีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง บางคนก็ว่าสมัยจักรพรรดิหงอู่ ต้นราชวงศ์หมิง สมัยนั้นใช้เรือ 18 ลำ ผูกทุ่น 24 ทุ่น น้ำขึ้นน้ำลงเรือก็ลอยตาม สะพานนี้ใช้การได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ สะพานแบบนี้เขาว่ามีที่เหอเป่ย ปักกิ่ง ลั่วหยาง และที่เมืองแต้จิ๋ว

Next >>