Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 "

(น.58) วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540
เช้านี้ลงไปที่ห้องอาหารพบกับอาจารย์อำพล พรรณเชษฐ์เลยชวนอาจารย์รับประทานอาหารเช้าด้วย อาจารย์มาที่มหาวิทยาลัยจงซานเพื่อมาปาฐกถาเกี่ยวกับจีนโพ้นทะเล อาจารย์เคยบรรยายหัวข้อนี้ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งมาแล้ว จากนี้อาจารย์จะไปฮ่องกงเพื่อสังเกตการณ์การคืนสู่เหย้า เวลา 08.30 น. เดินทางไปพิพิธภัณฑ์สุสานกษัตริย์หนานเยว่ริมแม่น้ำจูเจียง มีคนมารำมวยจีน คนที่ขับรถให้เราก็เป็นคนเดียวกับที่ขับให้ที่ซัวเถา แต้จิ๋ว เขาขับรถมาจากซัวเถา 5 ชั่วโมง มาถึงเมื่อคืนนี้ คนที่มานั่งด้วยเป็นรองนายกเทศมนตรีหญิงหวังโช่วชู รองฯ หวังเคยพบกับข้าพเจ้าหลายครั้งแล้ว ทั้งที่เมืองไทย ซึ่งเขาไปในนามสภาสตรีและสโมสรไลอ้อน (เขาแปลของเขาว่า สโมสรสิงโต) และที่กวางโจวเมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับจากการเดินทางตามเส้นทางสายแพรไหมเมื่อ 7 ปีมาแล้ว เขาบอกว่าเมื่อไปส่งข้าพเจ้าที่พิพิธภัณฑ์แล้วก็ต้องขอตัวตามข้าพเจ้าไปตลอดไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นประธานเปิดรถไฟใต้ดิน คิดโครงการก็นานแล้ว สร้างก็อีกนาน เพิ่งใช้ได้เพียงส่วนเดียว ยังต้องสร้างต่อไป พิพิธภัณฑ์นี้สร้างครอบสุสานจริงๆ เอาไว้ สร้างด้วยปูนทาสีอิฐ ขุดพบสุสานนี้เมื่อ ค.ศ. 1983 เมื่อจะสร้างอาคารที่อยู่อาศัย นักโบราณคดีมาศึกษาดู พบข้าวของจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นที่ฝังพระศพพระเจ้าแผ่นดินแคว้นหนานเยว่


(น.59) รูป 51 พิพิธภัณฑ์สุสานหนานเยว่


รูป 52 ลวดลายเขียนสีที่ยังเหลืออยู่ในสุสาน

(น.60) คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้ 越 นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน พวกที่ 2 คือพวกหนานเยว่(南越) มีข้อน่าสังเกตว่าจีนเรียกประเทศเวียดนามว่า เยว่หนาน(越南) และใช้ตัวอักษรเดียวกันกับพวกหนานเยว่ในกวางโจว ข้าพเจ้าคิดว่าพวกหนานเยว่อาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนเวียดนามในปัจจุบัน น่าสังเกตว่ามีอีกคำที่อ่านว่า เยว่ เหมือนกันแต่ใช้อักษรคนละตัว 粤 หมายถึงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่าคนจีนเรียกชนเผ่าต่างๆที่อยู่ทางตอนใต้ว่า ไป่เยว่ แปลว่าเยว่ร้อยเผ่า ในร้อยเผ่านี้มีเผ่าไทอยู่ด้วย สุสานที่เราดูเป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของหนานเยว่ท่านสืบเชื้อสายมาจากทหารของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งกรีฑาทัพมาผนวกดินแดนที่หลิ่งหนาน (ปัจจุบันคือ มณฑลกวางตุ้งและกวางสี) ในปี 214 ก่อนคริสต์กาล ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อนค.ศ.) บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านนายพลเจ้าถัวถือโอกาสสถาปนาอาณาจักรหนานเยว่ สืบราชสมบัติกันมา 5 รัชกาลก็สิ้นวงศ์ รวมเวลา 93 ปี เป็นสมัยเดียวกับอาณาจักรฮั่นตะวันตก


(น.60) รูป 53 บริเวณสุสานที่ขุดค้นแล้ว


(น.61) รูป 54 ภายในสุสาน

(น.61)กษัตริย์ในราชวงศ์มีดังนี้
1. เจ้าถัว ขึ้นครองเป็นจักรพรรดิอู่ตี้ ครองอยู่ 67 ปี 203-137 ก่อนคริสต์กาล
2. เจ้าเม่ย เป็นหลานปู่ของจักรพรรดิองค์แรก ใช้ชื่อว่าจักรพรรดิเหวินตี้ ครองอยู่ 16 ปี 137-122 ก่อนคริสต์กาล
3. เจ้ายิงฉี ใช้ชื่อว่า หมิงหวัง เป็นลูกของจักรพรรดิองค์ที่ 2 ครองอยู่ 10 ปี 122-113 ก่อนคริสต์กาล
4. เจ้าซิ่งเป็นลูกชายคนที่ 2 ของจักรพรรดิองค์ที่ 3 ที่ได้ครองก่อนพี่เพราะมีแม่เป็นคนจีน ถูกจักรพรรดิองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพี่สังหาร ครองอยู่ไม่ถึงปีในปี 113 ก่อนคริสต์กาล

(น.62)
5. เจ้าเจี้ยนเต๋อ ลูกของจักรพรรดิองค์ที่ 3 ครองอยู่ประมาณ 2 ปี ระหว่าง 112-111 ก่อนคริสต์กาล
หลังจากนั้นไม่มีข้อมูลเมื่อเข้าในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะพาชม เขาให้ดูวิดีโอ ให้เห็นตั้งแต่การขุดค้น เห็นกองหินปิดหน้าประตูไม้ซึ่งผุพัง มีเครื่องปั้นดินเผาตามทางเดินบรรจุเครื่องใช้ในงานศพ มีประตูชั้นที่ 2 เป็นประตูหิน ผนังและเพดานทาสีแดง เขียนลายก้านขดแบบจีน ปีกด้านตะวันออกแยกจากทางเดินกลางมีเครื่องสำริด เครื่องดนตรี กังสดาล ระฆังชุด ฝังนักดนตรีเอาไว้ด้วย ในห้องมีไม้ปูพื้น ปีกตะวันตก เป็นห้องเก็บเครื่องใช้ในงานศพ เครื่องแต่งตัว เข็มขัดทำด้วยกระดูกสัตว์ กล่องใส่เครื่องมือเหล็ก กระจกสำริด ประตูชั้นสาม เป็นประตูหิน เปิดสู่ห้องประธาน เป็นที่ไว้หีบพระศพ มีหินหล่นทับลงมาบ้าง มีประตูเชื่อมออกไปทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก ห้องประธานมีสิ่งของหลายอย่าง มีตราประจำพระองค์ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นพระนามจักรพรรดิเหวินตี้ พระศพแต่งชุดหยก มีพระแสงเหล็ก ฉากลับแลไม้ลงรักสีแดงเขียนลายยาว 3 เมตร ผุหมดแล้วเหลือแต่บานพับสำริด ห้องเล็กด้านหลังเป็นที่เก็บเครื่องครัว เสบียงอาหาร เช่น ปลา ข้าว ผลไม้ ห้องด้านตะวันออกของห้องประธาน มีพระศพสนม 4 นาง พบตราของพระมเหสีฝ่ายขวา


(น.63) รูป 55 ตราของจักรพรรดิ

(น.63)ห้องด้านตะวันออกมีศพ 7 ศพ เข้าใจว่าเป็นศพคนรับใช้ มีศพเด็กอายุราว 8 ปีด้วย ศพหมู ศพวัว เขาว่าไม่ใช่ฝังทั้งเป็น ตายแล้วจึงฝัง (ไม่ทราบรู้ได้อย่างไร) ห้องโถงหน้าห้องประธานก็มีศพ นักวิจัยว่าเป็นศพของผู้จัดการสุสาน รวม 16 ศพ (จักรพรรดิ 1 สนม 4 คนใช้ 7 ผู้ดูแล 1 นักดนตรี 1 คนเฝ้าประตู 1 สารถี 1) วัตถุที่พบที่สำคัญที่สุดมีพระราชลัญจกรทองของจักรพรรดิ ตราหยกของมเหสี เครื่องถ้วย เครื่องหยก เครื่องไม้ต่างๆ เมื่อดูวิดีโอจบแล้วเดินดูของจริง เข้าไปในสุสาน ข้างในตั้งรับกล่องบริจาคเงิน สุสานนี้แปลกที่มีทางเข้าได้ 2 ทาง เนินที่เป็นสุสานนี้สูงถึง 18 เมตร เท่ากับตึกสูง 6 ชั้น ขุดยากเพราะว่าเป็นหิน เป็นสุสานหินที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ขุดลึก 13 เมตรจึงพบสุสาน ปีที่แล้วฉลองกวางโจวอายุครบ 2,200 ปี กล่าวว่าเป็นเมืองที่จักรพรรดิองค์นี้สร้าง มีตู้แสดงพระราชลัญจกร ซึ่งมีรูปมังกรอยู่ด้านบน กว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร หนา 1.8 เซนติเมตร หนัก 148.5 กรัม มีตัวอักษรจารึกว่า เหวินตี้ นับว่าเป็นพระราชลัญจกรที่ใหญ่ที่สุด เดิมไม่ชอบทำใหญ่เพราะต้องพกติดตัวไปไหนๆ สมัยถังและซ้องก็ยังทำเล็กๆ ส่วนสมัยหยวนทำขนาดใหญ่


(น.64) รูป 56 ป้ายแสดงสายสกุลกษัตริย์เยว่


รูป 57 แผนที่อาณาจักรเยว่

(น.64 )มีตารางแสดงการสืบวงศ์ แผนที่แสดงเขตแคว้น การแบ่งส่วนการปกครองแบบโบราณ แสดงว่าอาณาเขตครอบคลุมที่ปัจจุบันเป็นมณฑลกวางตุ้ง กวางสี บางส่วนของยูนนาน ผ่านช่องเขาเมฆลงมาตอนเหนือของเวียดนาม


(น.65) รูป 58 ฉลองพระองค์สำหรับใส่ศพ เป็นของทำจำลอง

(น.65) ฉลองพระองค์หยกทำด้วยหยกแผ่นเล็กๆ สี่เหลี่ยม แบบที่เคยเห็นที่อิ่น เชื่อว่าหยกช่วยรักษาศพไม่ให้เน่า ที่เห็นวางไว้ให้ดูเป็นของจำลอง (ของจริงเก็บในคลัง) เส้นไหมที่ร้อยไว้เดิมก็ขาดหายไปหมดแล้ว บนพระศพตอนที่ค้นพบยังมีแผ่นหยกเจาะรูวางตามส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนพระอัฐิ มีเหลืออยู่ไม่มาก เขาถ่ายของเดิมที่วางเป็นรูปร่างคน อัฐินี้ทำให้วิเคราะห์อายุของจักรพรรดิได้ว่าประมาณ 34-40 ปี

Next >>