Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 "


(น.96) รูป 102 ศูนย์ศิลปะหัตถกรรมเมืองโฝซาน มีโคมจีนหลายแบบ

(น.96) ที่หมายที่ 2 คือ ศูนย์ศิลปะหัตถกรรมพื้นเมืองโฝซาน ผู้จัดการศูนย์มาต้อนรับศูนย์นี้เทศบาลเมืองโฝซานตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1956 โดยที่กั๋วโมโร่เป็นผู้สนับสนุนและเขียนป้ายชื่อให้ มีความประสงค์ที่จะวิจัยและรักษางานฝีมือพื้นเมือง ในการดูแลได้รับงบประมาณท้องถิ่นของโฝซาน มีชาวต่างประเทศมาเข้าชมมาก และรับสั่งของด้วยเป็นที่แสดงและผลิตศิลปหัตถกรรม เราไม่มีเวลามากก็เลยเข้าชมแต่ละแผนกอย่างเร็วๆ ผ่านๆ ไป โคมจีนแบบที่ตอนเด็กๆ เราซื้อมาเล่นอันเล็กๆ เดิมใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เอาไม้เป็นโครง และติดกระดาษ ประดับเปลือกไข่ หญ้า แต่ปัจจุบันนี้ใช้พลาสติก ที่นี่มีแบบต่างๆ กว่า 100 แบบเขาส่งออกไปขายหลายแห่ง เช่น ที่สิงคโปร์ มาเลเซีย มาเก๊า โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ บางทีก็ไม่ได้ส่งออก แต่ไปแสดงนิทรรศการเฉยๆ เช่น ไต้หวัน เครื่องปั้นดินเผาเขียนสี มีรูปกวนอิม ม้า ตุ๊กตาเด็กเล่นเล็กๆ ผลไม้ซึ่งทำเหมือนจริงมาก เช่น แห้ว แอปเปิ้ล ท้อ ส้ม ยังมีอาหารผัดในจาน เช่น ถั่วลันเตาผัดปลาหมึก

(น.97)กระดาษปั้นเป็นรูป ที่เรียกว่า papier mache ทำเป็นหัวสิงโตขนาดต่างๆ วางของสำเร็จรูปไว้ในห้องเดียวกัน มีคนกำลังขึ้นโครงโคมไฟ และรูปต่างๆ โครงทำด้วยไม้ไผ่สานบ้างหรือเป็นลวดพันหุ้มผ้าขาว เห็นจะกันสนิม เขาบอกว่างานฉลองฮ่องกงกลับคืนสู่จีนครั้งนี้จะมีการเชิดสิงโต และต้องใช้โคมไฟเป็นจำนวนมาก สิงโตและโคมไฟที่ใช้ในงานส่วนใหญ่มาจากศูนย์นี้ เขาว่าจะทำมังกรยาวสามกิโลเมตรครึ่ง การตัดกระดาษเป็นลายแบบจีนเป็นศิลปะโบราณ ใช้เครื่องมือต่างๆ กัน เช่น ใช้กรรไกรตัด ใช้มีดตัด (คล้ายๆ กับคัตเตอร์) และใช้เครื่องมือสลักที่เราเรียกว่าตุ๊ดตู่ เราใช้แกะหนังใหญ่ หนังตะลุงไม่ทราบว่าจีนเรียกว่าอะไร ถ้าใช้มีดตัดหรือใช้ตุ๊ดตู่ต้องมีแผ่นรองตัดทำด้วยขี้ผึ้งหรือชัน มีทั้งที่ทำอย่างละเอียดและใหญ่ๆ หยาบๆ ส่วนมากทำเป็นรูปสัตว์ รูปนางฟ้า รูปวิว ที่เห็นใหญ่ที่สุดเป็นรูปจากวรรณคดีจีนเรื่อง หงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) ฉลุแล้วทาทองใส่กรอบมองเหมือนลายรดน้ำ


(น.97) รูป 103 ช่างตัดกระดาษ


รูป 104 รูปกระดาษตัดเป็นเรื่องความฝันในหอแดง

(น.98) แผนกเขียนภาพแบบจีน มีการเขียนภาพบนไหม และกระดาษปนกับการปัก การเขียนอักษรจีน ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง มีเทคนิควิธีการหลายแบบ ตัวอักษรก็มีหลายแบบ กระดาษ พู่กัน หมึก อุปกรณ์ประกอบ อื่นๆ ท่าทางของผู้เขียน รวมทั้งการเข้ากรอบอักษรที่เขียนแล้ว ล้วนเป็นศิลปะที่ข้าพเจ้าจะขอไม่กล่าวถึงมากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องยาวมาก ถ้าจะกล่าวถึงเห็นจะต้องใช้เนื้อที่มาก ห้องแสดงไม้และหินธรรมชาติรูปร่างต่างๆ ดูเหมือนจะเก็บของธรรมชาติมาและมาตกแต่งบ้างเล็กน้อย มีหินแปลกๆ ติดราคาไว้ขายแพงมาก เขามีร้านขายสินค้า อยากจะซื้องานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ เป็นของฝากและเป็นตัวอย่าง แต่เขาบอกว่าต้องไปแล้ว ไม่มีเวลาซื้อ


(น.98) รูป 105 ห้องแสดงไม้รูปร่างต่างๆ

(น.99) ที่หมายสุดท้ายของวันนี้คือ สำนักงานชลประทานจูเจียง ก่อนไปถึงต้องหยุดรถเพราะว่ามีรถชนอยู่ข้างหน้าทำให้รถติดมาก (แต่เราไม่เห็น) ในที่สุดต้องอ้อมไปอีกทาง เมื่อเกือบ 11 ปีมาแล้ว (Nov. 23-29, 1998) ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุม Asian Conference on Remote Sensing ครั้งที่ 9 จัดที่ประเทศไทย และได้เสนอการวิจัยซึ่งทำร่วมกับศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ และกรพินธุ์ ศรีสุขสวัสดิ์ เรื่อง Land use /Land cover Map Accuracy Assessment of Landsat Themetic Mapper Data using The DIMAPS Image Processing System for Narathiwat Province. ได้พบกับนักวิชาการจีนหลายคน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุกนี้ นักวิชาการจีนให้นามบัตรเอาไว้ ข้าพเจ้าก็เอาไปเขียนไว้ในสมุดจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์เล่มเก่าซึ่งปัจจุบันเขียนเต็มเล่มและไม่ได้ใช้แล้ว (แต่แปลกที่ไม่หาย) นามบัตรเหล่านั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าก็ไม่เคยติดต่อพวกเขาเลย เมื่อจะเตรียมการเดินทางมามณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าเกิดความคิดว่านอกจากมาดูเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว น่าจะมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีบ้าง แม่น้ำจูเจียงนั้นเป็นแม่น้ำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้จีนตอนใต้ จึงอยากไปศึกษาดู เกิดคิดออกว่าเคยมีที่อยู่ใครที่เคยทำงานโครงการนี้ จึงไปเปิดสมุดเก่าดู พบชื่อคุณหวังลี่หยู ที่ทำงานอยู่ที่โครงการแม่น้ำจูเจียง จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไป

(น.101)
5. รับผิดชอบงานก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับการชลประทานในแถบลุ่มแม่น้ำจูเจียง
คณะกรรมการมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 1,200 คน มีวิศวกรระดับศาสตราจารย์ 15 คน วิศวกรชั้นสูง 119 คน และวิศวกรทั่วไป 307 คน มีอุกรณ์ที่ทันสมัย สามารถวางแผนผังจากการใช้ประโยชน์จากที่ราบลุ่มแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล นอกจากนั้นยังสร้างระบบการจ่ายน้ำระหว่างเมืองจูไห่และมาเก๊าตามโครงการพัฒนาเมือง และความร่วมมือเกี่ยวกับการก่อสร้างงานด้านการชลประทานกับหน่วยงานในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และประเทศไทย เมื่อไปถึงสำนักงาน นายเสวียเจี้ยนเฟิง ประธานคณะกรรมการโครงการชลประทานจูเจียงต้อนรับ พร้อมกับนายหวังลี่หยู วิศวกร (ที่ข้าพเจ้าลองให้หาตัว) นายหลูหุ้ยจาง หัวหน้าสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ของโครงการลุ่มแม่น้ำจูเจียง ไปที่ห้องประชุมมีโต๊ะสี่เหลี่ยม ไทยนั่งฟากหนึ่ง จีนนั่งฟากหนึ่ง คุณเสวียกล่าวต้อนรับ มีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ กล่าวเท้าความถึงการที่คุณหวังลี่หยูได้ไปทำงานวิจัยในประเทศไทยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ไทยในด้านรีโมตเซนซิ่งเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว จีนเริ่มงานด้านรีโมตเซนซิ่งนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ตัวเขาเองได้ไปดูงานนี้ที่เมืองไทยประมาณ ค.ศ. 1993-1994 มีผู้แทนจากจีนไปดูงานด้านนี้ 2 คณะ และร่วมกันทำงานวิจัยในด้านการตกตะกอนและการที่ดินถูกกัดเซาะ ( Sedimentation and Soil Erosion) การทำงานได้รับความร่วมมือจากสภาวิจัยแห่งชาติ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้

(น.102) โครงการชลประทานแบ่งงานวิจัย ดังนี้
งานวิจัยทางด้านอุทกศาสตร์ (Hydraulic Research)
การวิจัยโดยใช้ รีโมตเซนซิ่ง (Research on the Application of Remote Sensing Technology)
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Instrumentation and Automation Research)
งานที่ศึกษามีหลายอย่าง เช่น การศึกษาเรื่องปากน้ำ (estuary) แม่น้ำจูเจียงในด้านการตกตะกอนที่ทำให้ทางเดินเรือตื้นเขิน การศึกษาเรื่องตะกอนนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างสะพานด้วย ศึกษาในเรื่องตะกอนทางเมืองมาเก๊า ดินแดนที่ได้จากการถมทะเล ท่าเรือใหม่ของมาเก๊า ข้อมูลที่ใช้ในโครงการเหล่านี้ส่วนมากเป็น Landsat MSS และ TM ระหว่าง ค.ศ. 1973-1995 ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ ขึ้นไปชั้นบน ดูเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่อง scan และ printer สีที่ใช้สำหรับข้อมูลรีโมตเซนซิ่ง digitizer นำข้อมูลภาพดาวเทียวจาก CCT (ใช้ทั้งข้อมูลจาก Landsat และ SPOT) มา load ในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลนี้เก็บมาประมาณ 20 ปี ใช้ซอฟต์แวร์หลายอย่าง ที่แสดงให้ดู มีหลายเรื่อง เช่น Dynamic Monitoring of Pearl River Estuary ศึกษาเรื่องการไหลของกระแสน้ำ ปรับปรุงปากอ่าว

Next >>