<< Back
"คืนถิ่นจีนใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 "
(น.121) รูป 117 หุ่นแสดงการทำลายฝิ่น
(น.122) เมื่อทำลายฝิ่นแล้วนายพลหลินทราบว่าจะต้องรบกันแน่ๆ จึงหาวิธีป้องกันเมือง มีการตั้งด่านดักเรือ 3 ชั้น โดยใช้ซุงทำเป็นแพ และใช้โซ่กั้นแม่น้ำ มีป้อม 3 จุด แต่ละฝั่งของปากแม่น้ำจูเจียง มีรูปจำลองให้ดูว่าภูมิประเทศจริงเป็นอย่างไร
ตอนที่ 2 การบุกของอังกฤษและการตั้งรับของจีนในกวางตุ้ง
อังกฤษนำเรือรบเข้ามาเดือนเมษายน ค.ศ. 1840 มีเรือรบ 48 ลำ ปืนใหญ่ 500 กระบอก ทหาร 4,000 นาย มาถึงจีนในเดือนมิถุนายนถือเป็นการเริ่มสงคราม
แสดงแผนที่การเดินทัพของอังกฤษและสมรภูมิในสงครามฝิ่นครั้งแรก เดิมอังกฤษไปกวางโจว จะเข้าแม่น้ำจูเจียง แต่จีนป้องกันไว้อย่างดีจึงเปลี่ยนเส้นทางไปเอ้หมึง ก็เข้าไม่ได้อีก จึงไปทางติ้งไห่ใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ได้ชัยชนะแล้วขึ้นไปถึงเมืองเทียนสินซึ่งอยู่ใกล้กับปักกิ่งจักรพรรดิเกรงภัยจึงให้หย่าทัพ
รูปเขียนสีน้ำมันที่แสดงการรบที่ซาเจี่ยว อยู่ปากแม่น้ำจูเจียง ในภาพมีทหารแขกซีปอยร่วมรบด้วย
(น.122) รูป 118 ภาพแสดงการรบที่หู่เหมิน
(น.123) การรบที่ชวนปี่ หลังจากจีนแตกพ่ายที่ซาเจี่ยวแล้ว มีรูปป้ายศิลาที่ทำสรรเสริญม้าของแม่ทัพ แม่ทัพตาย ม้าถูกจับ
แต่ศัตรูก็ไม่สามารถบังคับม้าได้ ต้องเอาไปปล่อยบนภูเขา ม้าตายไปเองเพราะคิดถึงเจ้าของ ชาวจีนจึงเขียนป้ายสรรเสริญม้าตัวนั้น
รูปแม่ทัพเรือจีน และกล้องส่องทางไกลที่แม่ทัพผู้นี้ใช้ รูปป้อมที่เขาถูกฆ่าใน ค.ศ. 1841
การรบที่หู่เหมิน ของที่แสดงให้ดูเห็นได้ว่า ทหารจีนยังใช้เกราะแบบโบราณ อาวุธโบราณต่างๆ เช่น ดาบ หอก ง้าว โตมร ขณะที่อังกฤษใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า
เรื่องการต่อต้านของประชาชนในหมู่บ้านซานหยวนหลี่ อยู่ใกล้กวางโจว ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายจีนครั้งแรก เพราะฝ่ายอังกฤษชนะแล้วก็เข้าปล้นสะดม ประชาชนจึงร่วมกันต่อต้าน ล้อมทหารได้อาวุธไว้เป็นจำนวนมาก
ตอนที่ 3 สงครามฝิ่นสิ้นสุด
ในขณะรบมีแม่ทัพจีนถูกฆ่าตายที่ติ้งไห่ 3 คนคือ เกอหยวนฟา หวังซีเผิง และเจิ้งกั๋วหง ที่อู่ซงก็มีนายพลถูกฆ่า
อังกฤษให้ไปเจรจาและลงนามที่นานกิงในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 ผลของสัญญาทำให้จีนต้องเปิดเมืองท่า 5 เมือง
คือ กวางโจว เอ้หมึง ฝูโจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ ยกเลิกการค้าผูกขาดระบบหัง (行) ในมณฑลกวางตุ้ง และให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียเงินชดใช้ให้อังกฤษเป็นค่าฝิ่นที่ทำลายไป
(น.124) ต่อมาประเทศอื่นๆ ก็ต่างเรียกร้องสิทธิตามแบบอังกฤษ จีนถือว่ากลายเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม และเป็นความอัปยศ (แต่ข้อสังเกตคือในช่วงนี้จีนยังไม่ถือว่าฮ่องกงเป็นของอังกฤษ)
มีภาพฮ่องกงก่อนเป็นของอังกฤษ ใน ค.ศ. 1816 รูปใน ค.ศ. 1846
หลังจากนั้นมีการตั้งสมาคมเพื่อการป้องกันตัว แต่ตั้งในรูปสมาคมหรือสถาบันการศึกษาค้นคว้า เช่น สมาคมตงผิง สถาบันเชิงผิง สถาบันซีหู เป็นต้น
ตอนที่ 4 สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เรียกกันว่า สงครามแอร์โรว์
อังกฤษหาเหตุขยายอิทธิพลทางการค้า ถือโอกาสประท้วงว่าข้าราชการจีนไปขึ้นเรืออังกฤษชื่อ แอร์โรว์ แล้วบังคับให้ลดธงชาติอังกฤษ
อังกฤษประกาศสงคราม ฝรั่งเศสเข้าด้วยบอกว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสถูกฆ่าตายในจีนเริ่มรบกันจริงๆ ค.ศ. 1857 ปีต่อมาอังกฤษบังคับจีนให้ลงนามในสนธิสัญญาเทียนสิน
(ค.ศ. 1858) ซึ่งมีสาระว่าให้มีคณะทูตในปักกิ่งได้ ให้เปิดเมืองท่าต่างๆ เพิ่ม อนุญาตให้พวกฝรั่งเดินทางได้ทั่วจีน เผยแพร่ศาสนาได้อย่างอิสระ และมีการตกลงเพิ่มเติมที่เซี่ยงไฮ้
ให้ฝิ่นเป็นของถูกกฎหมาย จีนไม่ยอมลงนามอังกฤษและฝรั่งเศสจึงส่งทหารเข้ายึดปักกิ่ง เผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน ถึง ค.ศ. 1860 จีนจึงยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาเทียนสินและลงนามในอนุสัญญาปักกิ่ง (ค.ศ. 1860) ยกเกาลูนให้อังกฤษ
(น.125) สิ้นสงครามคราวนี้อังกฤษได้แหลมเกาลูน ต่อมา ค.ศ. 1898 ขอเช่าที่เหนือแหลมขึ้นไปเรียกว่า New Territories เป็นเวลา 99 ปี
เนื้อที่ 980 ตารางกิโลเมตร (เมื่อหมดสัญญา จีนไม่ยอมให้เช่าต่อ อังกฤษจึงคืนเกาะฮ่องกงและเกาลูนให้ด้วย เพราะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีดินแดน New Territories ซึ่งเป็นเมืองเบื้องหลังเมืองท่า (Hinterland)
จากนั้นเราไปที่ป้อมปืนเวยหย่วน ซึ่งเป็นป้อมปืนป้อมหนึ่งในจำนวน 11 ป้อมในบริเวณหู่เหมิน จีนสร้างป้อมเหล่านี้ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1835 เพื่อป้องกันการโจมตีของอังกฤษ
จีนสร้างป้อมเป็นแนวป้องกัน 3 แนว คือแนวซาเจี่ยว แนวเวยหย่วน และแนวต้าเจี่ยว ในปัจจุบันนี้ป้อมปืนเวยหย่วนมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด มีปืนใหญ่ประจำ 16 กระบอก
ส่วนมากหายไปแล้ว ที่ใหญ่ที่สุดน้ำหนัก 4 ตัน รัศมีการยิง 2 กิโลเมตร สมัยสงครามฝิ่นทหารอังกฤษเข้าโจมตีจุดนี้เป็นแห่งแรก
(น.125) รูป 119 ป้อมปืนเวยหย่วน
(น.126) วันนี้คนมากจริงๆ เพราะเป็นวันอาทิตย์ จนกระทั่งรถยนต์ของคนอื่นในขบวนติดฝูงผู้คนตามมาไม่ทัน ข้ามสะพานเวยหย่วนเข้าไปเป็นเกาะ ชาวบ้านปลูกข้าวและปลูกผักหลายอย่าง ผลไม้ที่นี่ก็มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นจี่ เขาว่าลิ้นจี่ที่มีในตำนานว่าเป็นที่ชื่นชอบของพระชายาหยังกุ้ยเฟย ในสมัยราชวงศ์ถังก็มาจากที่นี่
ข้ามสะพานใหญ่เรียกว่า สะพานหู่เหมิน เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนนี่เอง เป็นฝีมือช่างจีนเอง สร้างเชื่อมระหว่างทางด่วนกวางโจวไปเสิ่นเจิ้น กับอีกสายจากกวางโจวไปจูไห่ สะพานนี้ยาว 15.76 กิโลเมตร ข้ามทะเล 4.8 กิโลเมตร สูง 60 เมตร เรือระวางแสนตันรอดได้
ภาพยนต์เรื่องสงครามฝิ่นก็ถ่ายบริเวณใกล้นี้ๆ
ไปถึงป้อม มีคนอธิบายแต่ว่าจดไม่ค่อยได้ เพราะเขาพูดไปพลางเดินไปพลางกลัวหกล้ม สรุปได้ว่า สรุปว่าสถานที่นี้จักรพรรดิคังซีเคยทรงสร้างป้อมไว้เมื่อ ค.ศ. 1718 ป้อมใหม่สร้างทับของเดิม ปืนใหญ่ที่นี่ยิงได้ชั่วโมง 4 ลูก มากกว่านั้นไม่ได้เพราะจะร้อนเกินไปป้อมนี้มีทหารประจำการ 60 คน
ออกไปข้างนอกชมวิวทะเล ไปยืนตรงที่เป็นป้อมปืนเก่า คนที่อธิบายพูดถึงแนวตั้งรับแบบยุทธศาสตร์ว่าเหมือนกับขากรรไกรเสือมีแนวตั้งรับ 3 แนว แนวที่ 2 อยู่ตรงที่สร้างสะพาน ข้าพเจ้าดูไม่ออกป้อมนี้ก็อยู่ในภาพยนต์สงครามฝิ่น
จากนั้นนั่งรถไปเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง เส้นทางผ่านภูเขาไปจนเข้าเขต ก่อนเข้ามาดามเซี่ยบอกว่าคอยดูนะ อยู่นอกเมืองท้องฟ้าใส อากาศบริสุทธิ์ แต่พอเข้าใน
(น.127) เมืองท้องฟ้าเป็นสีดำ ถ้าจะว่าตามหาความเป็นจริงที่ท้องฟ้าสีดำนั้นคงไม่ใช่มลภาวะ แต่เป็นเพราะฟ้าครึ้มฝน
บริเวณเสิ่นเจิ้นเห็นโรงงาน อาคารที่อยู่อาศัย ตึกสูงๆ มีลักษณะเหมือนกับฮ่องกง แต่ข้าพเจ้าว่าเป็นเพราะว่าเขาสร้างขึ้นภายหลังและวางแผนไว้อย่างดี ตึกที่เก่าที่สุดสร้างในทศวรรษ 1980
จึงเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อาจจะไม่ค่อยมีชีวิตชีวา หงเอี้ยนยังอุทานว่าเมืองนี้สวยจังเลย ขณะนี้เป็นบรรยากาศการฉลองการต้อนรับฮ่องกง ตามถนนหนทางตกแต่งด้วยโคมไฟ และประดับธงปลูกต้นไม้ ไม้ดอกงามมาก
เข้าไปที่โรงแรมแชงกริลา ผู้ที่มาต้อนรับมีนางสาวหลิวชิวหรงรองประธานสภาผู้แทนประชาชนเมืองเสิ่นเจิ้น กับนายหลานย่วยชุนรองผู้อำนายการสำนักงานการต่างประเทศเมืองเสิ่นเจิ้น ต้อนรับ
เมื่อขึ้นไปพักผ่อนในห้องพักหนึ่งแล้วลงมาข้างล่าง รองสภาหลิวกล่าวต้นรับ บอกว่ายินดีต้อนรับ มาคราวนี้ได้เห็นบรรยากาศการรับเมืองฮ่องกงกลับ เมืองนี้นับเป็นเมืองที่ยังเด็กมีอายุเพียง 17 ปี
แต่ก็งามขึ้นทุกวัน เดิมปริมาณการผลิตทางอุตสาหกรรมและการเกษตรรวมกันไม่ถึงร้อยล้านหยวน แต่ว่าปัจจุบันนี้เพิ่มเป็นแสนล้านหยวน แต่ก่อนมีคนเพียง 35,000 คน แต่ในปัจจุบันนี้มีถึง 3,500,000 คน
เมืองนี้มีการวางผังเมืองอย่างดี ตัวเมืองมีพื้นที่ 82 ตารางกิโลเมตร มีตึกสูงกว่า 18 ชั้นกว่า 600 แห่ง เป็นจุดแรกที่รัฐบาลเริ่มทำตามแผนปฏิรูปเปิดประเทศ ปัจจุบันเป็นไปตามที่เติ้งเสี่ยวผิงหวังไว้ เขากล่าวว่าตามเป้าหมายไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จที่นี่เท่านั้น จะต้องดำเนินงานไปให้ทั่วประเทศ
(น.128) ชาวเสิ่นเจิ้นรักเมืองของตนและรักพรรคมาก ภูมิสถานเมืองนี้ได้เปรียบเพราะว่าคล้ายกับฮ่องกง และติดต่ออยู่กับฮ่องกงและมาเก๊านอกจากนั้นยังได้ทรัพยากรมนุษย์มาจากทั่วประเทศ
ขณะนี้กำลังเตรียมการเรื่องการรับฮ่องกงคืน และการเตรียมพัฒนาประเทศในขั้นที่ 2 จึงมีภาระหนักอยู่เบื้องหน้า ภารกิจในขั้นต่อไปจะมีรายละเอียดอย่างไรต้องรอฟังการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 15 ที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้
ข้าพเจ้าถามว่าการปรับปรุงเมืองขั้นที่สองเป็นอย่างไร เขาว่าขั้นแรกเป็นการปูพื้นฐาน ก่อสร้าง ขั้นที่สองเป็นการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต มีการวางระบบบริหารบริษัท โรงงานต่างๆ ใช้เทคโนโลยีและวิทยการขั้นสูง
รับประทานอาหารกลางวัน รองประธานสภาหลิวเป็นเจ้าภาพเขาเล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเสิ่นเจิ้นที่อยากพาไปดูแต่ไม่มีเวลาได้แก่ หมู่บ้านชนเผ่ากลุ่มน้อย หน้าต่างโลก
และสวนซาฟารี เป็นต้น เขาเล่าว่าเวลานี้มีงานมากเพราะจะต้องทำหน้าที่ในสมาคมสตรีเป็นรองประธานสหบาลกรรมกร สหพันธ์เยาวชน ที่จริง เขาเป็นคนหูหนาน
แต่เพิ่งมาอยู่ที่นี่เมื่อ ค.ศ. 1989 ที่นี่มีอุตสาหกรรมส่งออกที่น่าสนใจ เช่น เครื่องไฟฟ้า นาฬิกา รถจักรยานยนต์ คอมพิวเตอร์ มีท่าเรือคอนเทนเนอร์ใหญ่ระดับโลก
ผลิตตู้คอนเทนเนอร์ขายส่งออก มีชื่อเสียง รายได้การคลังก็สูง พูดถึงเมืองเสิ่นเจิ้นนี้เขาบอกว่ามี กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คนที่จะมาทำงานได้จะต้องตรวจสอบว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถพอสมควร
แม้แต่คนงานก็ต้องมีความรู้ถึงชั้นมัธยมศึกษา มาอยู่ที่นี่ก็เป็นโอกาสให้
(น.129) ก้าวหน้า เช่น คนมาจาก เสฉวน มาเป็นคนงานกลับเสฉวนไปเป็นนายห้างได้ คนต่างประเทศมาลงทุนก็มาก แต่ที่จริงแล้ว 60% เป็นคนฮ่องกง
นักธุรกิจใช้เมืองเสิ่นเจิ้นนี้เป็นสะพานที่จะไปลงทุนในแผ่นดินใหญ่ คนไต้หวันชอบลงทุนในแผ่นดินใหญ่เพราะว่าสภาพการลงทุนดี ใช้ภาษาเดียวกัน และนับว่ามีเสถียรภาพดี คนที่มามีทั้งวิศวกร นักกฎหมาย
สุดท้ายคุยกันเรื่องงานอดิเรก เลยได้ทราบว่าท่านรองประธานสภาหลิวนี้เป็นคนชื่นชอบเรื่องแสตมป์มาก เก็บสะสมแสตมป์มา 7-8 ปีแล้ว เก็บลายเซ็นของผู้ใหญ่ด้วย เขาบอกว่ามีเงินท่าไหร่ก็ซื้อกับข้าวกับซื้อแสตมป์สองอย่างนี้ สามีชอบสะสมภาพวาด
รับประทานอาหารเสร็จแล้วไปที่ศูนย์แสดงสินค้าอุตสาหกรรมเมืองเสิ่นเจิ้น ศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่แสดงสินค้า 4,000 ตารางเมตร ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1984
เพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของเมือง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจและประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าที่มาจากประเทศต่างๆทั่วโลก
เมื่อไปถึงหัวหน้าศูนย์แสดงสินค้าอุตสาหกรรมต้อนรับและให้ชมวิดีโอเทปเกี่ยวกับศูนย์เป็นเวลาประมาณ 15 นาที
วิดีโอกล่าวถึงเมืองนี้ว่าเป็นเขตเศรฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) แห่งแรกของจีน ห่างจากฮ่องกงเพียงแม่น้ำกั้น พื้นที่ทั้งหมด 2,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าฮ่องกง
ภายใน 10 ปี (ค.ศ. 1986-1996) การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 56% ส่วนมากเป็นการลงทุนเรื่องคอมพิวเตอร์ สิ่งทอ เวชภัณฑ์ สิ้นค้าออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ค.ศ. 1996 ส่งออกได้ 621,590 ล้านหยวน การลงทุนทำได้สะดวก มี
(น.130) รูป 120 หุ่นจำลองเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น
(น.130) โครงสร้างพื้นฐานดี ค่าแรงถูก การขนส่งสะดวกรวดเร็ว มีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ สนามบินขนาดใหญ่พร้อม มีตลาดหุ้น ระบบกฎหมายที่สร้างควมมั่นใจให้ผู้ลงทุน เฉลี่ยอายุของคนที่อยู่ที่เสิ่นเจิ้นประมาณ 28 ปี
วิดีโอจบแล้วไปที่หุ่นจำลองเขตเศรษฐกิจพิเศษ เห็นว่าฮ่องกงอยู่ทางใต้ มีลำน้ำเสิ่นเจิ้นกั้น ซ้ายขวาเป็นทะเล มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองด้าน เดินทางไปเกาลูนใช้เวลาเพียง 35 นาทีเท่านั้น ทางด้านตะวันตกมีศูนย์
การคมนาคม มีท่าอากาสยานนานาชาติห่างตัวเมือง 30 กิโลเมตร ท่าเรือมี 8 แห่ง และมีท่าเรือคอนเทนเนอร์ด้วย มีอ่างเก็บน้ำซึ่งส่งน้ำให้ฮ่องกง เป็น 70% ของน้ำที่ใช้ในฮ่องกง มีโรงไฟฟ้าพลังปรมาณู 2โรง และกำลังจะสร้างอีกโรงหนึ่ง มีโรงไฟฟ้า
(น.131) รูป 121 หุ่นจำลองเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น
(น.131) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงด้วย ส่วนที่สำหรับสร้างโรงงานมีส่วนที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก ตามฝั่งทะเลส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นแหล่งพลังงาน
(นิวเคลียร์) มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง มหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้นตั้งใน ค.ศ. 1983 ขณะนี้มีนักศึกษา 4,000 คน (แต่แรกข้าพเจ้าคิดอยากไปมหาวิทยาลัยนี้เนื่องจากมีกล่าวถึงในหนังสือ
เมฆเหินน้ำไหล ที่ข้าพเจ้าแปล แต่ไม่มีเวลา) โรงเรียนโพลิเทคนิค 8 แห่ง โรงเรียนฝึกอาชีพ 71 แห่ง มีโรงเรียนช่างกล โรงเรียนมัธยม ประถม 274 แห่ง โรงเรียนอนุบาล 380 แห่ง
(น.132) เขาตั้งสินค้าแสดงไว้เป็นส่วนๆ แยกประเภทสินค้า
เครื่องอิเล็กโทรนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องมือแพทย์ Assembly line
คอนเทนเนอร์ อุปกรณ์สนามบิน วัสดุก่อสร้าง เช่น พวกกระจก ก๊อกน้ำ หินอ่อน หินแกรนิต เคมีภัณฑ์ เช่น สี น้ำยาซักผ้า สบู่ น้ำหอม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ที่ร่วมกันลงทุนกับแคนาดา สินค้าปิโตรเคมี สินค้าที่เกี่ยวกับการพิมพ์ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าเดิมมาก แสดงกล่อง ซอง แฟ้ม หนังสือที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์ในเสิ่นเจิ้น
นอกจากนั้นแสดงสินค้าพวกรองเท้า รถจักรยาน (มี 42 บริษัท) กระเป๋า เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องเรือน เครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องฟอกอากาศ เครื่องชั่ง
เครื่องโทรศัพท์ซึ่งเขาบอกว่าผลิตถึง 40 ล้านเครื่องต่อปี จานดาวเทียม นาฬิกา เครื่องเล่นเกมส์ ผ้าต่างๆ เครื่องสุขภัณฑ์ ยารักษาโรค ทั้งแผนปัจจุบันและยาจีน ยาบำรุง เครื่องดื่ม เครื่องกระป๋อง
เขาจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าแต่ละชิ้น มีคู่มือในการทำธุรกิจและนโยบาย วิธีการในการลงทุนตามมาตรฐานสากล
จากเมืองเสิ่นเจิ้น เดินทางต่อไปถึงด่านหวงกัง ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีเท่านั้น เขาให้เปลี่ยนรถ ลาคนจีนฝ่ายท้องถิ่นเสิ่นเจิ้น ฝ่ายจีนทางการ (ปักกิ่ง) และกงสุล เขาจะไปรอพบตอนที่ข้าพเจ้าไปจูไห่อีกครั้งหนึ่ง
(น.133) ข้าพเจ้าขึ้นรถฝ่ายจีนนั่งคนเดียว อีกประมาณ 5 นาทีไปถึงกลางสะพานที่ข้ามแม่น้ำเสิ่นเจิ้นหรือซัมจั่นในภาษากวางตุ้ง กั้นเขตแดนระหว่างฮ่องกงและเสิ่นเจิ้น
รถแล่นเลยที่ฝ่ายไทยและฮ่องกงตั้งแถวคอยรับต้องวิ่งกันมา มีคุณประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยา คุณพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยา คุณสาโรจน์ ชวนะวิรัช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุณรัฐกิจ มานะทัต กงสุลใหญ่ และภริยา (ธนพร)
คนที่วิ่งมาถึงก่อนเพื่อนคือ Miss Louise Tam Hay-wan รองผู้อำนวยการฝ่ายพิธีการทูตของฮ่องกง ถามเขาว่าหลังจากที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้วเขาจะทำอย่างไร
เขาบอกว่าก็จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ เขาเป็นคนจีนไม่มีปัญหาอะไร แต่ตามข้อตกลงการต่างประเทศเป็นการตัดสินใจของแผ่นดินใหญ่ พิธีการทูตเป็นส่วนหนึ่งของการต่างประเทศ
จีนอาจจะหาคนอื่นมาปฏิบัติงานก็ได้ ส่วนตำรวจที่ประจำคราวนี้คือ Iris คนเก่าที่เคยมาประจำเมื่อ ค.ศ. 1994
ขึ้นรถฝ่ายฮ่องกง รถแล่นไปที่กองบัญชาการฝึกยุทธวิธีตำรวจที่ Fanling ข้าพเจ้าคิดว่าเคยไปแถวๆ นั้นแล้วตอนไปหา Lord Wilson ผู้ว่าราชการฮ่องกงคนเก่า แถวนั้นยังเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่
ทัวร์ฮ่องกงทางเฮลิคอปเตอร์ ทางฮ่องกงจัดเฮลิคอปเตอร์ของ Government Flying Service (GFS) ให้ นั่งได้สิบกว่าคน และมีไกด์เป็นฝรั่งชื่อ
Mr. David John Climas เป็นวิศวกรโยธา (สร้างถนนและสะพาน) คอยพากย์ ตามที่นั่งมีหูฟัง แต่อากาศไม่ค่อยดีเลยไป
(น.134) รูป 122 นั่งเฮลิคอปเตอร์ชมวิวฮ่องกง
(น.134) ไม่ได้ทั่วฮ่องกง และง่วงนอนมากฟังอะไรก็ได้เรื่องกระท่อนกระแท่นว่า ฮ่องกงนี้ประชากรมากทั้งที่มาจากที่อื่นและเกิดใหม่
เขตที่จอดเฮลิคอปเตอร์นี้เป็นเขตใหม่ หรือซินเจี้ย (New Territories) สร้างตึกสูงๆ ให้คนอยู่เพราะมีคนจีนมาจากแผ่นดินใหญ่มากขึ้น
รัฐบาลเป็นคนสร้างช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนบ้านที่สร้างดีๆ เป็นของเอกชนสร้างเอง แถวนี้ยังมีฟาร์ม แต่อีกไม่นานนักคงจะขายหมดเพราะว่าที่ดินแพง ยังมีความต้องการสำหรับปลูกตึกอีกมาก
บริเวณรอบๆ ยังเป็นป่าสงวนถึง 40 % มองไปเห็นเสิ่นเจิ้น ไกด์ชี้ให้เราดูท่าเรือคอนเทนเนอร์ บอกว่าเป็นท่าเรือที่จีนพยายามสร้างขึ้นมาแข่งกับท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ฮ่องกงแต่ไม่มีทางชนะได้ คิดดูก็น่าสนใจดี อีก 2 วันฮ่องกงก็เป็นของจีนแล้ว ไม่ทราบว่าเขา
Next >>