Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันพุธที่ 15 สิงหาคม 2544 "


(น.28) รูป 20 รองผู้ว่าราชการมณฑลเฉินจินหยูมอบตราสำหรับประทับหนังสือ
Chen Jinyu, Deputy Governor presenting a seal set.

(น.29) วันพุธที่ 15 สิงหาคม 2544
ตื่นขึ้นมาเขียนหนังสือแต่เช้า เวลาประมาณหกโมงเช้ามีโทรศัพท์มาปลุก รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว พบกับรองผู้ว่าราชการมณฑลเฉินจินหยู เพิ่งย้ายเข้ามาไม่นานนี้ เป็นลูกน้องเก่าของมาดามเฉียน ดูแลด้านป่าไม้ ชลประทาน การเกษตร การประมง เขาบอกว่าที่นี่อยู่ในเขตแห้งแล้ง แต่ว่าอุดมสมบูรณ์จนได้สมญานามว่าเป็น เจียงหนานแห่งเขตนอกด่าน (ไส้ซั่งเจียงหนาน) คำว่า ไส้ซั่ง ตามศัพท์คือ พื้นที่ชายแดน หมายถึง ดินแดนด้านเหนือนอกเขตปลายสุดของกำแพงเมืองจีน ทางตะวันตกเฉียงเหนือนี้ก็คือ ด่านเจียอวี้กวน ในมณฑลกานซู่ เนื่องจากมีการชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำหวงเหอมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถือได้ว่าหนิงเซี่ยเป็นพิพิธภัณฑ์การชลประทานและพิพิธภัณฑ์การเกษตร เขาให้ของที่ระลึกเป็นตราสำหรับประทับหนังสือและแท่นฝนหมึกแกะจากหินธรรมชาติ จากภูเขาเฮ่อหลาน เป็นหินแข็งมากฉะนั้นตรานี้จะใช้ได้นานไม่เสีย

(น.30) เดินทางไปซาปัวโถว (Shapotou) อำเภอจงเว่ย สองข้างทางเป็นไร่นาและแปลงผัก หยุดพักเข้าห้องน้ำที่ที่ทำการสภาตำบลสือตง แล้วเดินทางต่อ ถนนเลียบทางรถไฟสองข้างเป็นเนินทราย ภูเขาหิน


(น.30) รูป 21 โต๊ะทรายอธิบายกรรมวิธีต่อสู้ทะเลทราย
Model demonstrating sand fixation system.


รูป 22 แบบจำลองแสดงเส้นทางรถไฟสายแรกของจีนที่แล่นผ่านทะเลทราย
Model of the first railways through the desert in China.


(น.31) รูป 23 สภาพพุ่มไม้ในเขตทะเลทราย
Bushes in the desert.

(น.31) เมื่อถึงซาปัวโถว มีไกด์จากบริษัทท่องเที่ยวซาปัวโถวชื่อหวังอิง อธิบายว่าที่นี่เป็นศูนย์วิจัยทะเลทราย ปฏิบัติการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของทะเลทรายได้ผลดี จนรองเลขาธิการสหประชาชาติ (Elizabeth Dowdeswell, Under-Secretary-General) ประกาศยกย่องใน ค.ศ. 1994 ว่าเป็นโครงการดีเด่นหนึ่งในห้าร้อยของโลก ได้ช่วยพิทักษ์สภาพแวดล้อม มีสวนปลูกต้นไม้ที่ใช้ในการต่อสู้ทะเลทราย เช่น ต้นสน เริ่มปลูกตั้งแต่ ค.ศ. 1950 แต่ก่อนแถวนี้เป็นทะเลทรายทั้งหมด เรียกว่า ทะเลทรายเทิงเก๋อหลี่ เป็นทะเลทรายใหญ่ระดับที่ 4 ของประเทศจีน มีอาคารศูนย์เป็นห้องแสดงนิทรรศการ มีโต๊ะทรายอธิบายกรรมวิธีต่อสู้ทะเลทราย (sand fixation system) เป้าหมายคือป้องกันไม่ให้ทรายจากทะเลทรายปลิวไปทับทางรถไฟที่ไปมณฑลกานซู่ยาว 987 กิโลเมตร ช่วงผ่านทะเลทราย 55 กิโลเมตร ซึ่งผ่านซาปัวโถว 16 กิโลเมตร รถไฟสายนี้สร้างใน ค.ศ. 1958 ถือว่าเป็นรถไฟสายแรกของจีนที่แล่นผ่านทะเลทราย เคยถูกพายุทะเลทราย 11 ครั้ง วิธีป้องกันทางรถไฟ มีฉนวน 5 ชั้นนับจากทางรถไฟไป


(น.32) รูป 24 สัตว์ในเขตทะเลทรายของจีน
Desert Zone fauna.

(น.32) ชั้นแรกเป็นหินกรวดกันไฟป่า สมัยนั้นหัวจักรรถไฟขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ ลูกไฟกระเด็นเวลาผ่านป่าทำให้ไฟไหม้ง่าย ชั้นที่สอง มีพื้นที่ปลูกป่า คือ พื้นที่ป่าไม้ที่เราผ่านมา สูบน้ำจากแม่น้ำหวงเหอขึ้นมาสูง 145 เมตร รดน้ำต้นไม้พวกนี้ เลือกพืชที่ไม่ กลัวแล้ง ความกว้างของฉนวนที่สองนี้ 40 เมตร ชั้นที่สาม ใช้ฟางข้าวสาลีถักเป็นช่องๆ แล้วปลูกหญ้า เป็นวิธีของแถบจงเว่ยโดยเฉพาะ ไม่ได้เป็นผลวิจัยทางวิชาการ (เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน) เมื่อหญ้าตาย หรือฟางเน่าเปื่อยก็จะกลายเป็นดิน ปลูกพืชอย่างอื่นได้ ชั้นป้องกันพายุทรายทำรั้วสูง 12 เมตร เมื่อพายุทรายพัดมาปะทะรั้วนี้ก็จะกองสูงเป็นกำแพง ด้านหน้าสุดเป็นที่เพาะปลูกพันธุ์หญ้า สามารถหยุดยั้งเนินทรายไม่ให้เคลื่อนที่ได้ ค.ศ. 1987 โครงการนี้ได้รางวัลจากรัฐบาลจีนต่อจากโครงการสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีที่นครนานกิง ค.ศ. 1994 ได้รางวัลพิทักษ์สภาพแวดล้อมโลกจากสหประชาชาติ

(น.33) ในห้องนิทรรศการนี้มีภาพทะเลทรายเทิงเก๋อหลี่(騰格里) เนินทรายแบบนี้เหมือนคลื่นในน้ำ รูปถ่ายทางรถไฟเมื่อ ค.ศ. 1958-1959 เป็นช่วงที่พายุทรายหนักที่สุดก่อนที่จะคิดวิธีถักฟางเป็นรูปตาตาราง ได้ทดลองทำเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปวงกลม และทำเป็นแนว แต่ไม่ดีเท่าวิธีนี้ ภาพพืชที่นิยมปลูกในทะเลทราย เช่น ต้นไม้ชนิดหนึ่งมีดอกสีม่วงชื่อ ฮัวป้างป้าง หรือที่เรียกกันว่าสาวน้อยแห่งทะเลทราย มีต้นไม้ดอกไม้ทะเลทรายอัดแห้ง มีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับพืชเหล่านั้นติดเอาไว้ด้วย สัตว์ทะเลทรายสตัฟฟ์เอาไว้บางอย่าง เช่น งู นก หนูตัวใหญ่ ใช้วิธีดองแมลงต่างๆ นึกไม่ถึงว่าจะมีสัตว์มากมายแค่นี้กระทรวงรถไฟให้ความสำคัญกับโครงการนี้มาก


(น.33) รูป 25 พืชในเขตทะเลทรายที่อัดแห้งไว้
Specimens of Desert Zone flora.

(น.34) บริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับ 4 A คือ ระดับสูงสุด เพราะมีทิวทัศน์ครบทุกแบบคือ มีแม่น้ำหวงเหอ ภูเขา ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ทะเลทรายที่นี่มีเสียงร้องเลื่องชื่อเป็น 1 ใน 4 ของประเทศจีน และเป็นที่เล่นทรายใหญ่ที่สุด ถึงตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ซาปัวโถว ในอำเภอจงเว่ยที่มานี้มีเนินทรายซาปอติ่ง บริเวณเนินทรายสงบเงียบ พอปีนขึ้นไปบนซาปอติ่งสัก 100 เมตร แล้วลื่นลงมา ระหว่างที่กำลังลื่นนั้นจะได้ยินเสียงดั่งเสียงระฆัง จุดนี้จึงเรียกกันว่า จินซาหมิงจง แปลว่า เสียงระฆังบนทรายทอง (金沙鳴鍾) ในเวลาอากาศดีๆ ลื่นลงมาไม่กี่เมตรก็จะมีเสียงกังวานดั่งเสียงระฆัง หากยิ่งลื่นเร็ว เสียงระฆังก็ยิ่งดัง เหมือนระฆังในวัดเก่า ทิวทัศน์ทะเลทรายที่มีเสียงร้องเลื่องชื่ออีก 3 แห่งคือ เปาโถวเสี่ยงอวน ที่มองโกเลียใน ปาหลี่คุณ ที่ซินเกียง หมิงซาซาน ที่เมืองตุนหวง มณฑลกานซู่


(น.35) รูป 26 เตรียมไถลลงจากเนินทรายยักษ์ซาปอติ่ง
Preparing to slide down the giant sand dune Shaboding.

(น.35) ข้าพเจ้าเคยไปเล่นไถลลงมาจากเนินทรายที่หมิงซาซาน แต่ที่ซาปอติ่งใหญ่กว่าและชันกว่า ไม่เคยเห็นเนินทรายใหญ่อย่างนี้เลย เลยไม่กล้าลองเพราะเดี๋ยวไม่สบายจะอดเดินทางต่อ ทิวทัศน์ก็สวยงาม มองเห็นภูเขาเซียงซานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาฉีเหลียนซาน โค้งแม่น้ำหวงเหอตรงนี้ก็เป็นโค้งใหญ่ มองไปไกลลิบๆ อีกฟากของแม่น้ำมีศาลาเล็กๆ เรียกว่า ศาลาชมแม่น้ำ ตรงกลางมีแนวกั้นน้ำ ไกด์บอกว่าเสมือนดั่ง “ตูเจียงเอี้ยน” ของหนิงเซี่ย (ตูเจียงเอี้ยน เป็นโครงการชลประทานโบราณอยู่ที่เสฉวน) โครงการที่เห็นนี้ผันน้ำจากแม่น้ำหวงเหอ ไปใช้ในอำเภอจงเว่ยและอำเภอจงหนิง ทำให้อำเภอจงเว่ยเป็นอำเภอหนึ่งที่ดีที่สุดในหนิงเซี่ย


(น.36) รูป 27 ขึ้นรถกระเช้าลงไปในสวน
On the way down to the garden.

(น.36) อีกฝั่งแม่น้ำมีศูนย์เยาวชนใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 แห่งของจีน แต่เป็นที่นิยมมากเพราะว่าเป็นแห่งเดียวที่อยู่กลางทะเลทราย นอกจากนี้ยังมีคนแก่ๆ มารักษาโรคกระดูกโดยใช้ทราย ขึ้นรถกระเช้าแบบนั่งคนเดียวลงไปในสวน มีต้นแพร์ต้นใหญ่ ไกด์บอกว่าอายุ 200 กว่าปีแล้วยังมีผล สมัยก่อนผลแพร์ที่นี่ต้องส่งเข้าไปถวายในวัง บริเวณนี้เดิมเป็นที่ล่าสัตว์ของเจ้านายในสมัยราชวงศ์หมิง มีหินปักอยู่มีลักษณะเหมือนสุสาน ถามไกด์ว่านี่คืออะไร ไกด์บอกว่าเรียกกันว่า สุสานกุ้ยหวัง มีเรื่องเล่ายืดยาวว่า ชื่อกุ้ยหวังเป็นชื่อเมือง บนกำแพงทางทิศใต้ของเมืองแขวนระฆังวิเศษ ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นระฆังนี้จะดังเองโดยอัตโนมัติ เหนือทะเลทรายมี

(น.37) อาณาจักรแห่งหนึ่งเรียกว่า อาณาจักรเป่ยซา 2 ก๊ก คือ ก๊กกุ้ยหวัง และก๊กเป่ยซา ไม่ถูกกัน มักสู้รบกันอยู่เป็นประจำ ทางก๊กกุ้ยหวังส่งเจ้าชายนำทัพไปปราบก๊กเป่ยซา แต่แพ้กลับมา พ่อโกรธมาก แล้วทำอะไรฟังไม่ออก (จับลูกขัง?) เจ้าเมืองเป่ยซาเกิดถูกชะตาอยากได้เจ้าชายมาเป็นลูกเขย จะได้สร้างความสามัคคีกัน เล่าไปได้แค่นี้ ยังไม่ทันรู้ว่าเจ้า 2 ก๊กจะเป็นทองแผ่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เดินไปถึงศาลาที่มีระฆังก็เลยเปลี่ยนเรื่องพูดมาเป็นเรื่องระฆัง ระฆังใบนี้ดูเก่า ต้องตีระฆัง 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีความหมายไม่เหมือนกัน ครั้งแรกทำให้หายห่วง ครั้งที่ 2 หายโรค ครั้งที่ 3 มีสิริมงคลสมหวัง แต่ตีครั้งที่ 4 แปลว่า ปลงตก จะต้องบวชอยู่ที่นี่เลย

Next >>