Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 "

(น.90) วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544
อยู่ที่นี่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ของจำพวกครีม ยาสีฟัน จะพุ่งออกมาจากหลอดพลาสติก ออกมามากเกินไปต้องช่วยกันใช้ ยาสีฟันที่อยู่ในหลอดสังกะสีไม่เป็น ลงไปรับประทานอาหารตอนเช้า ตกลงเราไปวังปู้ต๋าลาให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมไม่ได้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเป็นเพราะต้องใช้เวลาตามปักกิ่ง ทั้งๆ ที่อยู่กันคนละเขตเวลา


(น.90) รูป 83 ลานหน้าวัดต้าเจาชื่อ (วัดโจคัง)
The plaza in front of Jokhang Temple.

(น.91) มาดามเซริง เดรอลการ์ (Madame Tsering Drolkar) พาไปวังปู้ต๋าลา แปลว่า สถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ ผ่านสภาประชาชน แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นทางดิน เป็นหลุมเป็นบ่อ ประมาณ ค.ศ. 1964 ปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น บรรดาผู้นำท้องถิ่นช่วยกันปลูกต้นไม้ 2 ข้างทาง อนุสาวรีย์รูปจามรีทอง 2 ตัว วังปู้ต๋าลานี้ ภาษาไทยใช้ว่า วังโปตาลา ตามเสียงอ่านในภาษาทิเบต ซึ่งมาจากชื่อภาษาสันสกฤตว่า “โปตลกะ” หมายถึง พระราชวังบนสรวงสวรรค์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

(น.92) เมื่อไปถึง (นั่งรถขึ้นไป) มองในเมืองเห็นบ้านเรือน วังโปตาลามีประวัติว่า เมื่อกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ หรือตามภาษาทิเบตว่า ซงซันกัมโป (Songtsen Gampo) จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง ได้สร้างวังนี้ใน ค.ศ. 641 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าหญิง ต่อมาวังถูกฟ้าผ่าและเกิดศึกสงคราม วังนี้จึงทรุดโทรมทิ้งร้างไป จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดาไลลามะองค์ที่ 5 สร้างวังโปตาลาขึ้นใหม่ สร้างส่วนที่เรียกว่าวังขาวใน ค.ศ. 1645 สามปีต่อมาสร้างอาคาร 9 ชั้น


(น.93) รูป 84 พระราชวังโปตาลา (ปู้ต๋าลา)
Potala Palace.


(น.94) รูป 85 วังแดง
The Red Palace.

(น.95) ใน ค.ศ. 1649 ดาไลลามะย้ายจากวัดเดรปุง (Drepung) จีนเรียกว่า วัดเจ๋อปั้ง มาประทับที่วังใหม่นี้ ส่วนที่เป็นวังแดงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 ทรงสร้างจริงหรือไม่ เนื่องจากนักประวัติศาสตร์คิดว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1682 แต่ว่าคนสมัยนั้นปิดข่าวการสิ้นพระชนม์เอาไว้ 12 ปี ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ จนวังแดงสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1694 บางคนว่าผู้สำเร็จราชการซังเจี๋ยเจียชู่ (ภาษาทิเบต ซังเก เกียทโซ) เป็นผู้วางแผนสร้างวังแดง พระราชวังโปตาลาที่สร้างขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้ ตัววังมีพื้นที่ 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว วังแดงทาสีแดง อยู่ตรงกลางพระราชวัง วังขาวทาสีขาวอยู่ด้านขาวและด้านซ้ายของวังแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สีขาวแสดงถึงสันติภาพ วังแดงใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาและเป็นที่ประดิษฐานสถูปวิญญาณของดาไลลามะ 8 องค์ตั้งแต่องค์ที่ 5 ส่วนวังขาวเป็นที่ทำการรัฐบาลและที่ประทับของดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 เป็นต้นมาเช่นกัน ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวังโปตาลานั้นได้ให้อาจารย์กฤษดาวรรณ ทำภาคผนวกไว้ในท้ายเล่มหนังสือนี้

(น.96) เริ่มต้นไปที่วังแดงก่อน อาคารที่เราเห็นในปัจจุบันสร้างสมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 เป็นสถานที่ใหญ่โอฬาร มีสิ่งที่น่าสนใจชมมาก ทางเดินชมวกวนเหมือนเข้าเขาวงกต ถ้าไปเองไม่มีคนนำคงจะหลงทาง จะเขียนตามที่เห็นก็ยังงงไม่ทราบว่าจะเล่าจะเขียนอย่างไรดี ห้องที่เข้าห้องแรก ฝาผนังทำเป็นช่องๆ เก็บคัมภีร์กันจูร์ของทิเบต อายุราว 300 กว่าปี น้ำหมึกที่เขียนเป็นทองคำ อยู่นานเท่าไรสีก็ไม่ลบเลือน หน้ารูปเคารพมีตะเกียงที่ใช้เนย เข้าใจว่าเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวร มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 พระประธานเป็นรูปพระศากยมุนี มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปพระอาจารย์ 8 องค์ หรือว่าเป็นพระไภษัชยคุรุ มีสถูปวิญญาณของพระดาไลลามะองค์ที่ 11 ขณะนี้เห็นตามที่ต่างๆ ในวัง มีบันไดพาด เจ้า หน้าที่กำลังไปบันทึกว่า ในวังมีอะไรบ้าง เช่น ใช้ทองเท่าไร ใช้อัญมณีเท่าไร


(น.96) รูป 86 คัมภีร์กันจูร์
Tibetan Canons.


รูป 87 ภาพฝาผนังรูปบ้านและประวัติดาไลลามะองค์ที่ 5
Wall painting depicting the city of Lhasa and the story of the 5th Dalai Lama.


(น.97) รูป 88 รูปปักพระราชวังโปตาลา
Potala Palace, embroided.

(น.97) ภาพฝาผนังเป็นฝีมือสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นรูปบ้านเรือน ประวัติดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ยังมีสถูปอีกหลายองค์ มีรูปปัทมสัมภวะ นิกายหนิงม่าปะ (Nyingma pa) หรือนิกายแดง พบผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเขาบอกว่าเป็นคนอธิบายตอนที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จ เข้าไปในห้องโถงที่ใช้ประกอบพิธี มีป้ายลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลงว่า หย่งเหลียนซูตี้ เป็นคำแปลของ โอม มณี ปัทเม หูม แขวนรูปปักวังโปตาลา (สมัยใหม่) ผู้ปักใช้เวลาถึง 2 ปี จึงปักเสร็จ

(น.98) รูปพระอาจารย์จงคาปา (เป็นผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะหรือนิกายเหลือง) เป็นอาจารย์ของพระดาไลลามะและพระปันฉานลามะ เขาเล่าว่าแต่แรกผู้ที่จะได้เป็นดาไลลามะและปันฉานลามะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ มีลูกศิษย์ลูกหามาก ต่อมามีระบบการสรรหาทารกสืบทอดวิญญาณ รูปศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์จงคาปา ในตู้มีพระไตรปิฎกอยู่มากมาย ใส่ตู้ปิดกุญแจเอาไว้ ขอดูพระไตรปิฎก ต้องไปตามคนเก็บกุญแจมา หากุญแจอยู่พักใหญ่ เมื่อหากุญแจพบยังไขไม่ได้ เพราะรูกุญแจอยู่สูง พอดีมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งตัวสูงมาก จึงไขเปิดตู้และหยิบคัมภีร์ออกมาได้ ฉบับที่หยิบมานี้เป็นสมุดพับ กระดาษดำเขียนตัวอักษรด้วยหรดาล เขาบอกว่ากระดาษที่เขียนเป็นกระดาษพิเศษของทิเบต มีสรรพคุณสำคัญคือ แมลงไม่กิน คัมภีร์ฉบับนี้เป็นปรัชญาปารมิตาสูตร กระดาษบางหน้าติดกัน จะว่าเป็นเพราะความชื้นก็ไม่น่าจะใช่เพราะทิเบตอากาศแห้ง อีกอย่างหนึ่งคือเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่มีคนอ่าน เนื่องจากมีคัมภีร์มากอ่านไม่ทัน


(น.98) รูป 89 คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร กระดาษดำหมึกทอง
Prajnaparamitasutra, gold ink on black paper.

(น.99) ในห้องมีภาพดาไลลามะองค์ที่ 5 เฝ้าจักรพรรดิซุ่นจื้อ ใน ค.ศ. 1652 จักรพรรดิสถาปนาดาไลลามะ ตามประวัติว่ามีผู้ติดตามจากทิเบตไปปักกิ่ง 3,000 กว่าคน ขึ้นบันไดไปสองชั้น มีที่เก็บพระกริ่ง ทำด้วยโลหะผสม 2,600 องค์ การหล่อพระแบบนี้ใช้แร่ธาตุหายาก 10 ชนิดขึ้นไป วิธีหล่อแบบนี้ทำในทิเบต เนปาล และอินเดีย ข้าพเจ้าสงสัยว่าธรรมเนียมพระกริ่งทิเบตเป็นอย่างไร ลืมถาม อาจฟังผิด ในห้องมีตะเกียงเนย ชาวบ้านนำเนยมาจากบ้าน มาเติมอยู่ตลอดเวลา ไฟจึงไม่ดับเลย อีกห้อง มีโบราณวัตถุที่พ่อค้าชาวทิเบตผู้หนึ่งซื้อจากที่ต่างๆ นำมาถวายพระ ประมาณ 200 กว่าชิ้น ถวายใน ค.ศ. 1995 เข้าไปในถ้ำธรรมราชา (ฝ่าหวังต้ง) เป็นห้องที่เก่าแก่ที่สุดในวังโปตาลา มีอายุราว 1,360 ปี เป็นห้องที่กษัตริย์ซงจ้านกานปู้มาพักปฏิบัติธรรม มีรูปกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาลซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง (เป็นผู้นำพุทธศาสนามาทิเบต เช่นเดียวกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง) เจ้าหญิงเหวินเฉิง เสนาบดีทิเบตผู้ที่เป็นตัวแทนกษัตริย์ไปกรุงฉังอานเพื่อสู่ขอเจ้าหญิงเหวินเฉิง (มีเรื่องว่าเสนาบดีผู้นี้จะต้องผ่านการทดสอบสติปัญญาหลายอย่าง เช่น ต้องเอาเชือกร้อยไข่มุกซึ่งมีรูเลี้ยวไปเลี้ยวมา 9 ครั้ง ต้องคัดเลือกจับคู่แม่ม้าลูกม้า ต้องดูออกว่าคนไหนเป็นเจ้าหญิงตัวจริง) เสนาบดีผู้ประดิษฐ์อักษรทิเบตและเขียนไวยากรณ์ทิเบต

(น.100) มีรูปสนมชาวทิเบตซึ่งมีลูกกับกษัตริย์ มีเตาไฟและหม้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของดั้งเดิมที่กษัตริย์และเจ้าหญิงใช้ อีกห้องจัดเป็นห้องนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุด้านศาสนาและสังคมของทิเบต เช่น เครื่องแต่งกายของข้าราชการตำแหน่งต่างๆ รูปเทวดาของอินเดียหรือเนปาล อายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 ตะเกียงเนยทอง เป็นของที่เจียงไคเช็กถวายดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) กาน้ำชา และถ้วยชาแบบต่างๆ ในสมัยต่างๆ ประกาศนียบัตรที่ UNESCO มอบให้ ยกย่องให้วังโปตาลาเป็นมรดกโลก รูปพระอาจารย์มิลาเรปา หรือมิลารัสปา (คริสต์ศตวรรษที่ 11) เป็นศิษย์เอกของผู้ก่อตั้งนิกายก๋าจี่ปา หรือ กากยูปะ (Kagyur pa) หรือนิกายขาว ซึ่งมีนับถือมากทางภาคตะวันออก เครื่องประกอบพิธีของทิเบตเป็นเงินลงยา (cloisonné) และประดับอัญมณี ข้าพเจ้าสงสัยว่าปะการังมาอยู่ในทิเบตได้อย่างไร เขาอธิบายว่าสมัยก่อนทิเบตอยู่ในทะเล เมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้น ปะการังจึงมาอยู่ในดินและขุดได้ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่า น่าสงสัยว่าสมัยที่ทิเบตอยู่ใต้น้ำมีปะการังแบบนี้หรือยัง สังข์ (ใหญ่มาก) ใช้เป่าในพิธีที่ดาไลลามะออกว่าราชการ ตาราเขียวทพด้วยแก้วคริสตัล วัชรปาณีอยู่บนดอกบัว 8 กลีบ

(น.101) เหวัชระและศักติ เขาแพะใหญ่มาก อธิบายว่าแพะตัวนี้เขาใหญ่ยาวมาก ทำให้เกะกะก้มลงกินหญ้าไม่ได้ จึงอดตาย ข้าพเจ้าว่าคนน่าไปช่วยป้อนอาหารให้มัน เขาบอกว่ามีแพะหลายตัวป้อนไม่ทัน ภาพทังกาต่างๆ มีรูปพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น รองเท้าขององครักษ์ดาไลลามะ มีมัณฑละประดับด้วยไข่มุก 200,000 เม็ด และหินโมรา ทำสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง ในตู้มีคัมภีร์ใบลาน เขียนภาษาสันสกฤต มาจากอินเดีย กุญแจดอกโต (มาก) เกราะสมัยถู่โป๋ เครื่องแต่งกายทำด้วยงาช้าง ในตู้มีพระไตรปิฎก มหาปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษาทิเบต เขียนด้วยทองคำ เขาเชิญไปนั่งพักในห้องรับแขก ในห้องนั้นมีลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินที่เขียนใน ค.ศ. 1990 มีคนอธิบายว่า วังโปตาลานี้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 ที่จริงก่อนหน้านั้นรัฐบาลกลางยกย่องเป็นแหล่งโบราณสถานระดับชาติตั้งแต่ ค.ศ. 1960 และช่วยในการบูรณะมาตลอด ระหว่าง ค.ศ. 1989-1994 ใช้เงินซ่อมแซมไป 53 ล้านหยวน

Next >>