Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 "


(น.102) รูป 90 รูปพระกวนอิม 1,000 มือ 11 หน้า
Eleven-headed, thousand-hands Avalokitesvara.

(น.102) ตั้งแต่ปีนี้ไปอีก 5 ปี จะบูรณะเป็นครั้งที่ 2 ตั้งงบประมาณไว้ 170 ล้านหยวน เมื่อปีที่แล้วรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงแนะนำให้สร้างห้องมหัคฆภัณฑ์รวบรวมเพชรนิลจินดาต่างๆ เอาของจากอาคารต่างๆ มารวมไว้ที่เดียว รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มลงมือตั้งกรรมการบูรณะ แต่ค่อยๆ ทำไป เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการท่องเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการบันทึกทำบัญชีโบราณวัตถุ เขียนลงสมุด 10 ปี ที่ผ่านมาทำการบันทึกของต่างๆ เครื่องเงินทอง อัญมณีไปได้ 70,000 กว่าชิ้น ประมาณ 70-80% เท่านั้น งานนี้เป็นงานละเอียดต้องถ่ายรูป บันทึกลักษณะ วัดขนาด ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่นและประเทศต่างๆ นั่งพักสักครู่ ซื้อหนังสือแล้วไปดูวิหารกวนอิมผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตำหนักหลังที่สองของกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ มีรูปพระกวนอิม ดาไลลามะองค์ที่ 7 พระอาจารย์จงคาปา ไปวิหารที่สูงที่สุดในบริเวณวัง อยู่ที่วังแดง มีรูปกวนอิม 1,000 มือ 11 หน้า มีป้ายเขียน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน แมนจู ทิเบต มองโกล

(น.103) ขึ้นไปชั้นสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นดาดฟ้า หลังคาทำด้วยทองแดงชุบทอง ส่วนนี้เป็นดาดฟ้าของวังขาว มีห้องของพระดาไลลามะ มีรูปเขียนดาไลลามะองค์ที่ 13 มีห้องออกว่าราชการ ห้องหนังสือ ห้องแต่งพระองค์ ห้องรับแขก ออกนอกห้องเป็นลานสี่เหลี่ยมสำหรับดูการแสดงต่างๆ มีภาพผนังเล่าเรื่อง ดูวันเดียวไม่จบ ห้องรับแขกของดาไลลามะนั้น ใน ค.ศ. 1956 หัวหน้าคณะทางการจีนมาหาลือกับดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) ในห้องนี้ นอกจากนั้นยังมีห้องบรรทม ห้องสำหรับปลีกตัวหลีกเร้นทำสมาธิ


(น.103) รูป 91 ดาดฟ้าของวังขาวซึ่งเป็นที่ประทับของดาไลลามะ
Roof-top of the White Palace, Dalai Lama's private residence.

(น.104) บริเวณนี้มีหน้าต่างตรงกลางที่มองลงไปเห็นเมืองลาซา (ห้องนี้เป็นห้องบรรทมฤดูร้อน) ห้องบรรทมฤดูหนาวมีที่ประทับของดาไลลามะและของพระอาจารย์ นอกห้องเป็นที่สำหรับข้าราชการทั้งหลายนั่งรอก่อนเฝ้า ที่นั่งสูงๆ ต่ำๆ แสดงว่าข้าราชการเหล่านี้มีฐานะไม่เหมือนกัน ผู้มีตำแหน่งสูงก็นั่งที่สูง ผู้มีตำแหน่งต่ำก็นั่งที่ต่ำ เมื่อดูวังโปตาลาเสร็จแล้ว ใครๆ โหวตกันว่าน่าจะกลับเข้าห้องน้ำที่โรงแรม แล้วจึงจะไปวัดต้าเจาซื่อ หรือ วัดโจคัง เมื่อเข้าห้องน้ำกันเรียบร้อยแล้ว ออกไปยืนที่ลานของวังโปตาลาด้านหน้า วันนี้เราขึ้นไปที่วังเข้าด้านหน้าไม่ได้ เพราะฝนตกทางชำรุด พอถ่ายรูปกันจนพอใจแล้วไปที่วัดต้าเจาซื่อ หรือวัดโจคัง เมื่อไปถึงมีนายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการคณะกรรมการของวัด และเจ้าอาวาส มาต้อนรับ วัดนี้มีพุทธบริษัทศรัทธามาไหว้พระกันมาก พระอธิบายว่าจะไหว้มากไหว้น้อยขึ้นกับสุขภาพของผู้ไหว้ ถ้ามีแรงมากก็ไหว้ได้มากครั้ง

(น.105) วัดต้าเจาซื่อมีประวัติยาวนานถึงกว่า 1,300 ปี สมัยราชวงศ์ถัง สร้างเมื่อ ค.ศ. 647 สมัยกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เล่ากันว่าเจ้าหญิงเหวินเฉิงพระมเหสีสร้างวัดนี้เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศากยมุนีที่นำมาจากจีน (เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้หล่อจากพระพักต์ของพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ใช้โลหะหลายชนิดผสมกัน หล่อที่แคว้นมคธ) มีอีกวัดคือ วัดเสี่ยวต้าเจา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของพระมเหสีที่เป็นเจ้าหญิงเนปาล เนื่องจากเล่ากันว่าวัดนี้ตะเกียงเนยสว่างตลอดเวลา เพราะชาวบ้านเอาเนยมาถวายเป็นเชื้อไฟตลอด บริเวณที่ตั้งวัดต้าเจาซื่อ เดิมเป็นทะเลสาบ เล่าเรื่องกันว่า เจ้าหญิงเหวินเฉิงศึกษาภูมิประเทศของทิเบต มองเห็นเป็นรูปนางยักษ์ วิธีปราบก็คือ สร้างวัดตามบริเวณสำคัญของนางยักษ์ เพื่อต่อต้านอำนาจของนาง ทะเลสาบนี้อยู่ตรงกลางหัวใจของนางยักษ์พอดี จึงควรสร้างวัดเพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายบริเวณนั้น (เข้าใจว่าใช้วิธีการดูฮวงจุ้ยตามแบบจีน)


(น.105) รูป 92 พระพุทธรูปพระศากยมุนีแบบโจโว (พระพักต์ 12 พรรษา)
Sakayamuni at twelve, Jokhang Monastery.


รูป 93 ปัทมสัมภวะ
Padmasambhava.


(น.106) รูป 94 เสาไม้จันทน์
Sandalwood Post.

(น.106) เมื่อมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีวัด คนเริ่มหลั่งไหลมานมัสการ รอบๆ วัดจึงเติบโตขึ้นมาเป็นเมืองลาซา ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชนเผ่าทิเบตจะอยู่กันมากบริเวณซานหนาน พอสร้างวัดต้าเจาซื่อ ศูนย์กลางทางศาสนาย้ายมาอยู่ที่นี่ วัดมีอาคารสูง 4 ชั้น สร้างสมัยหลัง เดิมวัดนี้เล็กมาก ภายหลังขยายออกไปอีก มีรูปกวนอิม 1,000 มือ เสาไม้เป็นไม้จันทร์ดั้งเดิม ศิลปะการสร้างปนกันทั้งแบบทิเบต เนปาลและจีน เป็น 3 แบบ ข้างหลังดูเหมือนจะเป็นแบบเนปาลหรืออินเดีย กรอบประตูก็ดูเป็นของอินเดีย เข้าไปในวิหารที่สำคัญ คือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงนำมาประดิษฐาน เล่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้สร้าง โดยดูจากพระองค์จริง (คล้ายๆ ตำนานพระแก่นจันทน์) ประมาณ 600-700 ปีมาแล้วมีผู้นำมาประเทศจีน มีผู้ศรัทธาบางคนเดินทางมาไกล 1,000 กิโลเมตรเดิน 1 ก้าวก็ลงไหว้แล้วลุกเดินต่อ 1 ก้าว ยังมาถึงได้ แต่ก่อนนี้ใช้น้ำมันเนยทั้งหมด แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าเนยแบบนี้คุณภาพไม่ดี ใช้น้ำมันพืชสะอาดกว่า นำเข้าจากเนปาล ขึ้นบันไดไปที่ดาดฟ้าวัด เห็นหลังคาทองคำ 3 ยอด และมีธรรมจักรกับกวางหมอบ 2 ข้าง ด้านที่ประทับของดาไลลามะ มีเครื่องตกแต่งเป็นรูปมังกรน้ำ มีงวงเหมือนคชสีห์


(น.107) รูป 95 ธรรมจักรกับกวางหมอบ 2 ข้าง
Dharmacakra with deers.


รูป 96 เครื่องประดับบนหลังคาวัดมีลักษณะคล้ายหอระฆัง
Roof decoration looks like a bell.

(น.108) ตำหนักปันฉานลามะองค์เก่าที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไป เลี้ยงชาเนย ชาวทิเบตเกือบทุกคนทำเอง ใส่กระติกรับประทานทั้งวัน ที่นี่สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ พระพุทธรูป ถึงเราจะไม่ยอมเชื่อตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้สร้าง ก็ยังรู้สึกถึงความสงบและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ ก่อนกลับ ไปที่หนึ่งเรียกกันว่า ตำหนักสุริยประภา เป็นที่ประทับของดาไลลามะ นั่งรับประทานชาเนยและขนมต่างๆ รองนายกเทศมนตรีบรรยายว่า ลาซาเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของทิเบต มี 7 อำเภอ 1 เขต ใน 7 อำเภอนั้นมีอยู่อำเภอหนึ่งที่เลี้ยงปศุสัตว์ นอกนั้นทำการเกษตร ประชากร 475,000 คน 87.5% เป็นชาวทิเบต จีนเปิดประเทศประมาณ 20 กว่าปี เมืองลาซาก็พยายามเปิดกว้างเช่นกัน เนื้อที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ตารางกิโลเมตรมาเป็น 52 ตารางกิโลเมตร รายได้ต่อหัวในเขตเกษตรและปศุสัตว์มีรายได้ 1,760 หยวนต่อปี ลาซามี GDP สูงที่สุดในทิเบต ปัจจุบันลาซามีระบบสาธารณสุขดี มีโรงพยาบาลใหญ่ตามอำเภอ ส่วนตำบลมีสถานีอนามัย ไปดูที่ประทับดาไลลามะ มีห้องโถงใหญ่ ใช้ประกอบพิธีศาสนา ของที่ตั้งบูชาอยู่เป็นของดั้งเดิม เสาใช้พรมหุ้มตามธรรมเนียมทิเบต ทุกวัดจะมีที่ประทับดาไลลามะและพระปันฉานลามะ เพราะเมื่อมีงานสำคัญ 2 องค์นี้ต้องเด็จร่วมงาน แต่ละปีมีงานทางศาสนา 8 วัน ลามะจากทุกทิศจะมาร่วมประกอบศาสนพิธี

(น.109) มีห้องพระอาจารย์ของดาไลลามะ ที่ตู้เขียนรูปกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ มีฉากหลังเป็นรูปสถานที่สำคัญในเมืองลาซาโบราณ เตียงมี 2 แบบ เตียงสำหรับนั่งกับเตียงสำหรับนอน ห้องบรรทมดาไลลามะ ของใช้ที่วางอยู่เป็นของดั้งเดิม มีของที่อินเดียและอังกฤษถวาย เครื่องใช้ของลามะมี 2 สีคือ สีแดงกับสีเหลือง วัดนี้มีพระลามะอยู่ไม่มาก มีเพียง 110 รูป (อาจจะเป็นวัดประเภทที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญเฉยๆ ไม่ได้เป็นพระอาราม เวลามีศาสนกิจพระจึงมา)


(น.109) รูป 97 ตู้เก็บพระรูปพระโพธิสัตว์และรูปหล่อพระอาจารย์ของดาไลลามะ
Shrines for bodhisattvas and the Dalai Lama's teachers.

(น.110) ลานหน้าวัดมีตลาด เขาว่าคนจากเนปาลมาขายของมาก หลายคนมามีครอบครัวตั้งถิ่นฐานอยู่ทิเบตเลย กลับมารับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม แล้วออกไปพิพิธภัณฑ์ทิเบต เวลา 15.20 น. พิพิธภัณฑ์นี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1999 เปิดในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ตรงห้องโถงมีรูปถ่ายทิวทัศน์ทิเบต รูปแม่น้ำยาร์ลุง ตรงโค้งใหญ่ที่สุด รูปทุ่งหญ้าภาคเหนือของทิเบต รูปโบราณสถานที่อาหลี่ (Ngari) หรืองารีในภาษาทิเบต ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรกู่เก๋อ และรูปภูเขาหิมาลัย มีป้ายลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินลงวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 การจัดแสดงแบ่งเป็นส่วนดังนี้ ส่วนที่ 1 วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของทิเบต จัดแสดงเครื่องมือหินต่างๆ แบ่งเป็นสามสมัยคือ สมัยหินเก่า (Paleolithic) สมัยหินใหม่ (Neolithic) และสมัยโลหะ เริ่มยุค Pleistocene ก็มีมนุษย์แล้ว นอกจากมีเครื่องมือหินแล้ว มีเครื่องปั้นดินเผาด้วย เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมชูกง (Chugong) ทำละเอียดกว่าของวัฒนธรรมคาโร (Karo) การเปรียบเทียบเครื่องมือหินกับเครื่องมือยุคปัจจุบัน แสดงฟอสซิลพืชพันธุ์ต่างๆ บางคนเชื่อว่าชิงเคอเป็นพืชที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงนำเข้ามาสมัยซงจ้านกานปู้ แต่การพบฟอสซิลแสดงว่าเป็นพืชในพื้นที่ เครื่องมือที่ทำด้วยเขาและกระดูกสัตว์ ภาพเขียนบนหินตามถ้ำ มีรูปถ่ายและแผนที่ที่ตั้งถ้ำ ภาพที่เขียนส่วนใหญ่เป็นภาพล่าสัตว์และการทำพิธี (หมอผีเต้นรำ)

Next >>