Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2544 "

(น.161) วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2544
มาดาม 2 คนมารับประทานอาหารเช้าด้วย เวลาแปดโมงครึ่งออกเดินทาง ถนนสายนี้ตัดใหม่ยังตัดไม่เสร็จ คนขับรถบอกว่าตัวเขาเองยังไม่เคยมาทางนี้ ถนนเป็นโคลนเฉอะแฉะ สองข้างทางเป็นที่ปลูกป่า คนขับรถเปิดเพลง ก่อนจะมีเพลงมีคนพูด คนขับรถบอกว่าที่พูดอยู่นั้นเป็นภาษาทิเบตที่พูดในมณฑลชิงไห่ แกฟังไม่รู้เรื่องเลย ภูเขาแถวนี้เขียวถึงจะไม่มีต้นไม้ มีไม้พุ่ม สังเกตวิธีที่เขาทำถนนคือ ส่วนที่จะมีทรายไหลลงมา ต้องทำกำแพงหินกั้นเอาไว้ ไปถึงหมู่บ้าน คนดูฐานะดีกว่าที่อื่น บ้านดูเป็นหลักเป็นฐานดี พ้นหมู่บ้านก็ถึงวัดซังเย เข้าไปที่วัดบนดาดฟ้ามีพระเป่าแตรต้อนรับ ประธานกรรมการวัดอธิบายว่าแตรแบบนี้เรียกว่า ฝ่าเฮ่า มีขนาดยาวและขนาดสั้น ระหว่างเป่าคนเป่าไม่หายใจ ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าไม่หายใจก็แปลว่า ตาย เห็นจะแปลว่า คนเป่ารู้จักการระบายลมเหมือนนักเป่าปี่บ้านเราที่เป่าไม่หยุดหายใจ


(น.161) รูป 138 พระเป่าแตรต้อนรับบนดาดฟ้าของวัด
Welcome horn by the Lamas on the roof of the temple.

(น.162) วัดนี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 779 ก่อนหน้านี้ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะเข้ามาในทิเบตแล้ว แต่ยังไม่มีพระสงฆ์และการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้าน (ตรีซงเตเซน Trisong Detsen) ผู้สร้างวัดซังเยจึงตัดสินใจเชิญพระ 3 รูป คือ พระศานตรักษิตะ พระปัทมสัมภวะ แต่ต่อมาเชิญพระกมลศีละจากอินเดีย พระปัทมสัมภวะเป็นผู้เลือกสถานที่ก่อสร้าง และพระศานตรักษิตะเป็นผู้ออกแบบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำรัฐ ทางวัดเชิญพระผู้มีความรู้จากจงหยวนและอินเดียมาแปลพระสูตรเป็นภาษาทิเบต (คำว่า จงหยวน ภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ตงง้วน หรือ China Proper ในภาษาอังกฤษนั้น คือ พื้นที่ช่วงกลางและช่วงใต้ของลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ที่เป็นจุดกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเหอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจงหยวนอยู่ในมณฑลเหอหนาน บางส่วนอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง ทางใต้ของมณฑลเหอเป่ยกับมณฑลซานซี) กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านคัดเลือกขุนนาง 7 คนมาบวชเป็นลามะ 7 รูปแรก วัดซังเยจึงเป็นวัดแรกที่ถึงพร้อมด้วยพระรัตนตรัย คำว่า ซัมเย่ (หรือ ซังเย ตามเสียงภาษาจีน) เป็นภาษาทิเบต แปลว่า “คิดไม่ถึง” เมื่อกษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านกล่าวขึ้นว่าจะสร้างวัด พระปัทมสัมภวะใช้เวทมนตร์เสกภาพวัดขึ้นมาในอุ้งมือ เมื่อเข้าไปเป็นห้อง มีรูปปั้นนักแปลมีชื่อเสียง มีรูปผู้สร้าง 3 ท่านที่ได้กล่าวนามมาข้างต้น สถาปัตยกรรมของวัดนี้เลียนแบบเขาพระสุเมรุ สูง 3 ชั้น มี 3 แบบ คือ แบบทิเบต แบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น และแบบเนปาล

(น.163) ชั้นล่างเป็นแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นที่ประกอบพิธีศาสนา มีลามะ 130 รูป บนภูเขายังมีที่บำเพ็ญภาวนาอยู่อีก 10 กว่ารูป ฝึกสมาธิ 250 รูป มีสถาบันศึกษาคัมภีร์ศาสนา มีนักเรียน 170 กว่ารูป อายุ 18 จึงมาเรียนได้ หลักสูตรที่เรียน 5-6 ปี เริ่มต้นต้องเรียนภาษาทิเบต พระอธิบายว่าหนังสือที่เรียนมี 13 เล่มที่สำคัญ ตอนต้นสอนเรื่องอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป (สอนศีลธรรม) เมื่อเข้าไปเห็นพระกำลังอ่านคัมภีร์ พระประธานห้องนี้เป็นรูปดั้งเดิมสร้างมาพร้อมกับวัด เป็นหินสลักเล่าว่าเป็นหินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบที่ภูเขาใกล้ๆ กับวัดชื่อเขา ฮาปู้ซื่อ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ สองข้างพระประธานทำเป็นรูป 8 ปางของพระพุทธเจ้า ฝาผนังมีภาพเขียนลวดลายประกอบสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายๆ สถาปัตยกรรมอินเดีย ภาพฝาผนังเป็นภาพเก่า เขาก็เลยไม่ให้ฉายไฟเกรงว่าภาพจะเสีย เพดานเป็นลายมัณฑละ ประตูทางเข้าทำเป็น 3 ชั้น คนอธิบายบอกว่าหมายถึงวิโมกขมุข 3 คือ สุญญต-ว่าง อนิมิตต-ไม่มีนิมิต อัปปณิหิต-ไม่ทำความปรารถนา ข้างฝามีรูปพระศากยมุนี 1,000 องค์ อายุประมาณ 800 กว่าปี ภาพฝาผนังที่นี่มีมากกว่าวัดทุกแห่งในทิเบต ยังไม่เคยบูรณะเลย ซ่อมเฉพาะรูปปั้น (เท่าที่มองดูเหมือนกับซ่อมบางส่วนแล้ว) อายุวัด 1,200 กว่าปี ภาพฝาผนังประมาณ 500 ปี มีธรรมาสน์ของพระดาไลลามะและพระปันฉานลามะ ความสูงต่างกัน ตรงเบาะที่รองพระดาไลลามะมี 6 ชั้น พระปันฉานลามะ 5 ชั้น


(น.164) รูป 139 พระพุทธรูปพระศากยมุนี พระประธานหินสลักของวัดซังเย
Stone-sculpted Sakyamuni Buddha, the principle image at Samye Monastery.

(น.165) ชั้นล่างมีรูปลามะนิกายต่างๆ เช่น นิกายหนิงม่าปะ (Nyingma pa) หรือนิกายแดง นิกายเกลุกปะ (Gelugpa) หรือนิกายเหลือง นิกายสาเกียปะ (Sakya pa) อนิกายเสื้อลาย คำว่า สาเกีย ภาษาจีนแปลว่า ดินแดนสีขาว-เทา ที่ดินที่เป็นสีขาว-เทา ส่วนคำว่านิกายเสื้อลาย ภาษาจีนว่า ฮัวเจี้ยว นิกายกากยูปะ (Kagyurpa) หรือนิกายขาว และนิกายกาตัมปะ (Kadampa) ของศาสดาอาตีศะจากเบงกอล ศาสนาที่วัดซังเยนี้แปลกกว่าที่อื่นคือ มีหลายนิกายอยู่ในวัดเดียวกัน ตอนสร้างเป็นหนิงม่าปะ ตามปัทมสัมภวะหรือคุรุรินโปเช (Guru Rinpoche) จากอินเดียที่มาเผยแพร่ศาสนาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือ 9 ต่อมารัฐบาลท้องถิ่นนำนิกายสาเกียปะมาเผยแพร่ในหมู่ผู้นำท้องถิ่น ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 หรือ 12 มีการศึกษาคัมภีร์และแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย บัณฑิตสาเกีย ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาเชื่อว่าตนแบ่งภาคจากพระมัญชุศรี พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระอาจารย์จงคาปาซึ่งสนใจศึกษาหลายๆ นิกาย ทั้งสาเกียปะ กาตัมปะ และนิกายอื่นๆ แล้ว ตั้งนิกายเกลุกปะ หรือนิกายเหลือง นิกายนี้เจริญรุ่งเรืองมากตอนสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ที่อื่นๆ เมื่อนิกายหนึ่งรุ่งเรืองก็จะทำลายนิกายอื่นไปหมดเหลือนิกายเดียว แต่ที่นี่สอนศาสนานิกายเกลุกปะ หนิงม่าปะและสาเกียปะ ส่วนกาตัมปะไม่มีการสอนมีแต่รูปเคารพ


(น.166) รูป 140 ธรรมบาล (บางทีเรียกว่า “ปางดุ” หรือ “ปางโกรธ”)
Dharmapala, horrifying form.

(น.167) ตารางสอนนักเรียนช่วงเช้าเรียนนิกายหนึ่งช่วงบ่ายเรียนอีกนิกาย มีอาจารย์จากทุกนิกายมาสอน เวลาเรียนต้องเรียนทั้งหมด จบแล้วนับถือนิกายอะไรก็ได้ ลืมถามว่านักเรียนส่วนใหญ่เลือกนับถือนิกายอะไร เพราะอะไร วัตรปฏิบัติและวิธีการบวชต่างกันหรือไม่ อย่างไร เวลาลามะนั่งอยู่ด้วยกันดูไม่ออกว่าเป็นนิกายอะไร แต่งตัวเหมือนกันหมด ที่นี่ยังคงมีพิธีบวช มีภาพฝาผนังแสดงการบวชครั้งแรก ไปที่วิหารธรรมบาล องค์ไหนน่ากลัวมากๆ เช่น เทวีปางดุร้าย ก็ต้องปิดหน้าเอาไว้ และมีชื่อภาษาทิเบตติดเอาไว้ ของบูชาเป็นเหล้าต่างๆ จะเป็นเหล้าชนิดใดก็ได้ทั้งเหล้าขาวเหล้าแดง มีรูปท้าวกุเวร (หนึ่งในสี่ท้าวจตุโลกบาล) เทพองค์หนึ่งชื่อ นอร์ลา (Norlha หรือ Srināthabrāhmana) ถูกปิดหน้าเอาไว้เหมือนกัน มองดูใต้ผ้าเห็นแต่ที่เศียรมีหัวกะโหลก มีหนวด เทพองค์นี้ให้ทรัพย์สินแก่ผู้มากราบไหว้ ทำให้ธุรกิจดี มีเทพหญิงองค์หนึ่งซึ่งสำคัญเนื่องจากเวลาทำพิธีต้องมีลามะแต่งตัวเป็นเทพองค์นี้ คงจะน่ากลัวเพราะปิดหน้าเหมือนกัน มีผู้มาถวายกำไล กิ๊บ สายสร้อย เพื่อขอพร เทพหญิงอีกองค์ขี่ลา บนหัวลามีหัวกะโหลก


(น.168) รูป 141 กงล้อมนต์รายรอบวัด ใช้มือหมุนประกอบการสวดมนต์และเดินประทักษิณ
Praying-wheels arounds the sanctuary.

(น.168) มีพระลามะองค์หนึ่งนั่งสวดมนต์และทำมือประกอบด้วย บางตอนก็สั่นระฆัง บางทีหยิบวัชระแกว่งเป็นระยะ ในคัมภีร์จะบอกว่าตอนไหนควรจะทำท่าอะไร ใช้เครื่องมืออะไร บางครั้งเห็นตบมือ มีกลองวางไว้ข้างหน้า แต่ตอนที่ยืนดูอยู่ยังไม่เห็นตีกลอง ชาวบ้านอยากฟังบทไหนขอได้แล้วถวายเงิน ส่วนมากจะฟังบทที่ทำให้อายุยืน

(น.169) ในหอประชุมมีรูปอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของนิกายกากยูปะคือ มิลารัสปา (Milaraspa) เขียนมิลาเรปา (Milarepa) ก็มี นิกายนี้สืบทอดมาจากอินเดีย ผู้ก่อตั้งคือ อาจารย์มาปา หรือหมาเอ่อปา ในภาษาจีน (ค.ศ. 1012-1097) ได้แปลคัมภีร์และมีฤทธิ์ตามแบบนิกายตันตระ มาปามีลูกศิษย์คือ มิลาเรปา (ค.ศ. 1038?-1122) ซึ่งมีอำนาจมากเช่นกัน ชอบไปนั่งสมาธิในถ้ำบนภูเขาสูง แต่งเพลง ถือว่าการศึกษาคัมภีร์สำคัญน้อยกว่าการทำสมาธิตามแบบตันตระ เข้าใจว่านิกายนี้เป็นต้นตำรับของความเชื่อเรื่องลามะกลับชาติมาเกิด ยังมีวัดที่เป็นนิกายนี้โดยเฉพาะ

(น.170) อาจารย์มิลาเรปา หรือ มิเล่อรื่อปาในภาษาจีนเป็นพระที่เป็นกวีซึ่งมีความสามารถยิ่งด้วย ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 จาริกไปในทิเบต ทำให้คนเร่ร่อนในพื้นที่แถบนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่งเพลงไว้ประมาณ 100,000 เพลง มีคนแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้ว ในภาษาฝรั่งเศสมักเรียกท่านว่า Milarepa มีรูปยมานตกะ (Yamāntaka) เป็นเทพเล็กๆ เป็นบริวารของพระอักโษภยะ ในวัดมีหีบใหญ่สำหรับใส่ซัมปา เป็นอาหารเช้าของลามะ ในห้องนี้ลามะกำลังทบทวนคัมภีร์ ลามะที่นั่งติดกันไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องเดียวกัน มีหัวหน้าลามะถือกระบองเหล็กคอยดู ไม่ให้พระนั่งหลับหรือคุยกัน ขอให้พระสวดพร้อมๆ กันให้ฟังด้วย ขึ้นไปอีกชั้นเป็นลานคล้ายๆ ดาดฟ้า มีชาวบ้านนั่งเย็บม่าน (เย็บจักร) ม่านพวกนี้เปลี่ยนปีละครั้ง มีคนซ่อมม่านขนจามรี ซ่อมพรมที่ปูให้พระนั่ง เป็นพวกผู้หญิงชาวบ้านไม่ได้อยู่ในวัด ภาพฝาผนังมีรูปการเล่นกีฬาและร้องรำทำเพลงแบบที่ชาวบ้านแถบนี้ชอบเล่น เช่น มวยปล้ำ ยกน้ำหนัก อีกด้านมีรูปเครื่องบริขารต่างๆ ของพระ เช่น รองเท้า ไม้เท้า สิ่งที่ต้องห้ามตามวินัย เช่น ห้ามสวมรองเท้าลาย ห้ามติดตาปูเกือกม้าที่รองเท้า กุฏิต้องเป็นแบบใด ธุดงควัตร การสวดมนต์ต้องเรียบร้อย ห้ามเอาจีวรแขวนไว้บนต้นไม้ รูปเหล่านี้เขียนสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5


(น.170) รูป 142 ชาวบ้านนั่งเย็บผ้าม่านขนจามรีบนลานดาดฟ้าของวัด
Local people making yak's wool drape on the roof of the monastery.


(น.171) รูป 143 ภาพฝาผนังสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ที่บางส่วนเลือนหายไป
Mural painting dated from the reign of the 5th Dalai Lama, deteriorated in places.

(น.171) ขึ้นชั้นบน ฝาผนังมีรูปดาไลลามะองค์ที่ 5 (ค.ศ. 1617-1682) รูปผู้สำเร็จราชการซึ่งมี 5 คน ดังนี้
คนแรกชื่อ ซั่วหนานฉินเผย เป็นชาวทิเบต เป็นผู้สำเร็จราชการช่วง ค.ศ. 1642-1658
คนที่สองชื่อ เช่อเลี่ยเจียชู่ เป็นชาวทิเบต ระหว่าง ค.ศ. 1660-1668
คนที่สามชื่อ ลั่วซังถูเต้า เป็นชาวทิเบต ระหว่าง ค.ศ. 1669-1675
คนที่สี่ชื่อ ลั่วซังจินเปา เป็นชาวทิเบต ระหว่าง ค.ศ. 1676-1678
คนที่ห้าเก่งมากชื่อ ซังเจี๋ยเจียชู่ เป็นชาวทิเบต ระหว่าง ค.ศ. 1679-1703
ดาไลลามะองค์ที่ 5 มีความสามารถมาก ท่านมรณภาพใน ค.ศ. 1682 ปิดบังข่าวมรณภาพถึง 12 ปี จึงให้ผู้คนได้ทราบ
รูปคนมองโกล เครื่องทำพิธีต่างๆ ทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ

(น.172) ชั้น 2 นี้สถาปัตยกรรมเป็นแบบทิเบต ผนังมีรูปพระพุทธเจ้า 8 ปาง ตรงช่องหน้าต่างมองเห็นได้ว่ากำแพงอาคารนี้หนามาก มีรูปพระปัทมสัมภวะ พระอมิตาภะ ทำด้วยโลหะ 5 ชนิดผสมกัน มีเจดีย์วิญญาณของพระนิกายหนิงม่าปะในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กำแพงอีกชั้นมีภาพฝาผนังอยู่ในสภาพดี เข้าใจว่าเขียนในราชวงศ์หยวนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 รัฐบาลท้องถิ่นที่นับถือนิกายสาเกียปะก็บูรณะไว้อย่างดี ส่วนที่มีแสงเข้าภาพเลือนไปบ้าง ภาพผนังเหล่านี้มีคำอธิบายประกอบด้วย มีรูปจักรวาล ภาพพุทธประวัติ ชั้นที่ 3 เป็นแบบเนปาล อินเดีย หลังคาเป็นแบบโคทาน ข้างในไม่มีเสา ข้างนอกไม่มีกำแพง มีพระตามทิศต่างๆ พระอาทิพุทธไม่สวมเสื้อผ้ากอดกับศักติ (แต่มีคนเอาเสื้อผ้ามาใส่ให้) คือ นางปรัชญาปารมิตา พยายามดูว่าทิศไหนประดิษฐานพระธยานิพุทธองค์ไหน ดูแล้วงงเลยเลิกดู ชั้น 4 เห็นสิ่งก่อสร้างในวัดนี้ได้หมด วัดนี้วางรูปเหมือนจักรวาล มีวิหารหลังนี้เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง มีพระเจดีย์สีต่างๆ แดง เหลือง ดำ เขียว 4 องค์ วิหารทวีป 4 ทวีปตามระบบจักรวาลโบราณเหมือนที่พรรณนาไว้ในไตรภูมิพระร่วงของเรา
ทิศเหนือ เป็นทวีปอุตตรกุรุ
ทิศตะวันออก เป็นทวีปบุพพวิเทหะ
ทิศใต้ เป็นทวีปชมพูทวีป
ทิศตะวันตก เป็นทวีปอปรโคยานี

Next >>