Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2533 "


(น.164) รูป 108. ระหว่างพิธี
During the ceremony.

(น.165) ศุกร์ที่ 13 เมษายน 2533
รับประทานอาหารเช้ามีข้าวต้มใส่เครื่องยาจีนชนิดหนึ่ง เรียกว่าช่วยหม่าหรือเรินเชินกั่ว ข้าวต้มใส่ไข่มีรสหวานปะแล่ม ๆ เครื่องข้าวต้มอย่างหนึ่งเป็นปลาใส่ถั่วสีเขียวแต่ไม่ใช่ถั่วเขียว ไข่ดาว วันนี้คุณเฉิงชีหลิง (เลขาธิการมณฑล) มารับไปสวนสาธารณะอู่ฉวน อากาศเย็นแต่ไม่เยือกเหมือนเมื่อวานนี้ คุณเฉิงบอกว่าอากาศที่นี่ก็แบบนี้แหละจะเอาแน่อะไรไม่ได้ มีคำพังเพยว่า แต่เช้าใส่เสื้อโค้ตหนัง เที่ยงใส่ผ้ามุ้งกินแตงโม ค่ำผิงไฟ แล้วเล่าประวัติของอู่ฉวนว่าหัวชู่ปิ้งแม่ทัพเอกของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ยกกองทัพสองแสนคน มาถึงบริเวณอู่ฉวนก็สั่งทหารให้พักทัพตั้งค่าย หุงข้าวต้มแกงกัน ทหารกลับมารายงานว่าไม่มีน้ำจะหุงข้าว ท่านนายพลใจร้อนอารมณ์ไม่ค่อยดีเลยแทงดาบลงบนหิน ปรากฏว่าพอชักดาบขึ้นก็มีน้ำไหลออกมา อย่างไรก็ตาม น้ำพุเพียงแห่งเดียวไม่พอสำหรับทหารสองแสนคน ท่านนายพลหัวชู่ปิ้งเลยต้องทำหน้าที่เจาะหาน้ำพุอีก 4 ครั้ง การที่มีน้ำพุ 5 แห่ง สถานที่นี้จึงเรียกว่าอู่ฉวน คือน้ำพุทั้ง 5 ในปัจจุบันนี้มีแหล่งน้ำ 3 แห่ง คือ น้ำบาดาล น้ำจากภูเขาฉีเหลียน และน้ำจากแม่น้ำหวงเหอ


(น.166) รูป 109. เจ้าอาวาสสวดมนต์ให้พร
Blessing by the abbot.

(น.166) น้ำพุแห่งหนึ่งใน 5 มีชื่อว่าสะท้อนแสงจันทร์ อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือโม่จื่อ แปลว่าคลำลูก คนเขาไปขอลูกที่นั่น ถามเขาถึงเรื่องสถาบันวิจัยทะเลทรายว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง อธิบายว่าเป็นสถาบันที่ศึกษาวิจัยว่าจะใช้ทะเลทรายให้เป็นประโยชน์อย่างไร ให้ปลูกข้าวได้ พยายามสร้างพื้นที่สีเขียวโดยปลูกต้นไม้ หญ้า และไม้พุ่ม เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของดินไม่ให้ทรายพัดเข้ามาในเมือง จำกัดขนาดให้ทะเลทรายเล็กน้อย ไปถึงสวนสาธารณะอู่ฉวน เขาให้เข้าไปที่วัดก่อน วัดนี้มีชื่อว่าวัดจุนหยวน ผู้อำนวยการเริ่มอธิบายเรื่องน้ำพุว่า น้ำพุที่ชื่อว่าน้ำพุน้ำค้างหวาน หรือกานลู่ ยังไม่ทันจะบรรยายถึงน้ำพุต่อไป ก็มีเสียงจุดประทัดต้อนรับ




(น.167) รูป 110. ระหว่างพิธี
During the ceremony.

(น.167) พระเจ้าอาวาส พระลามะ นายกพุทธสมาคมที่เป็นฆราวาส ทั้งพระ อุบาสก อุบาสิกาต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มีเณรแบกโต๊ะวางกระถางธูปเดินนำ มีปี่ไฉน 1 เลา สังข์ กลอง ไปหยุดหน้าพระพุทธรูป ให้ข้าพเจ้าจุดธูป 3 ดอก เสร็จแล้วเดินต่อไปหน้าพระพุทธรูปอีกองค์ มีเครื่องบูชา ขนม และผลไม้ ติ้ว ท่านเจ้าอาวาสให้จุดธูป เจ้าอาวาสนำสวดมนต์ พวกพระอื่น ๆ และ

(น.168) อุบาสกอุบาสิกาอวยพร ระหว่างสวดมีการตีมู่หยูว (ปลาไม้) ล่อโก๊ะ กลอง เป็นจังหวะ สวดจบหนึ่งก็ให้ไปจุดธูป ท่านเจ้าอาวาสก็ลงนั่งกราบแล้วลุกยืน แล้วกราบใหม่ 3 หน สวด 3 จบ เสร็จพิธีท่านพามานั่งสนทนาในห้องรับแขก (ระหว่างนี้พวกลูกคู่ยังสวดต่อไปเรื่อย ๆ) บนโต๊ะมีขนม และผลไม้ให้รับประทาน นายกพุทธสมาคม (กลุ่มศาสนามณฑลกานซู) กล่าวนำว่าการที่ข้าพเจ้าเดินทางตามเส้นทางแพรไหมนี้ก็มีส่วนเกื้อกูลความเข้าใจระหว่างพุทธศาสนิกชนไทย – จีน และขอให้ท่านเจ้าอาวาสเล่าประวัติของวัด ท่านเจ้าอาวาสกล่าวต้อนรับและอวยพร แล้วเล่าว่าการก่อสร้างวัดนี้อยู่ในระหว่างราชวงศ์หมิงและชิง ถ้าจะสอบประวัติก็ยากเพราะวัดถูกทำลายหลายครั้ง ไม่มีตำราเขียนเอาไว้เพิ่งบูรณะเมื่อ ค.ศ. 1988 เปิดให้พุทธศาสนิกชนมาบูชา เคยได้ต้อนรับพุทธศาสนิกชนจากญี่ปุ่น ได้รับพระพุทธรูปเป็นของขวัญจากพุทธศาสนิกชนชาวจีนโพ้นทะเลในพม่า ช่วงเวลานี้กำลังบูรณะห้องโถงใหญ่ ฉะนั้นการรับรองอาจจะดีไม่พอ พุทธศาสนิกชนที่นี่เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าจะมาก็สวดมนต์อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ จีนกับไทยติดต่อไปมาหาสู่กันมาแต่โบราณ การเดินทางครั้งนี้มีความหมาย เพราะเราเป็นชาวตะวันออกด้วยกันควรจะเกื้อกูลกัน แล้วท่านก็มอบของขวัญให้ข้าพเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ที่พระถังซำจั๋งแปล ภาพพิมพ์ความฝันจากถ้ำตุนหวง เจ้าแม่กวนอิม พระลามะก็ให้ผ้าสีเหลืองคล้องคอตามธรรมเนียม วัดนี้มีทั้งพุทธมหายาน ลัทธิลามะ และลัทธิเต๋า รวม ๆ กัน ข้าพเจ้าถามท่านว่าก่อนจะมาอยู่วัดนี้จำพรรษาอยู่วัดไหน ท่านว่าอยู่ที่เหอซี ท่านบวชมาตั้งแต่เด็ก ช่วงการปลดปล่อยไปเรียนคัมภีร์อยู่ที่


(น.169) รูป 111. เจ้าอาวาสให้ของที่ระลึกและชวนดื่มน้ำชารับประทานผลไม้
The abbot gave me some souvenirs and invited me to tea.

(น.169) สถาบันพุทธศาสนาที่ปักกิ่ง อยู่วัดที่ปักกิ่ง ในชีวิตมีความผันแปรมามาก แต่ต่อมาก็ดีขึ้น ท่านบอกว่าพระลามะที่นี่เป็นคนจีน (ฮั่น) ไม่ใช่คนทิเบต ลามะทิเบตอยู่ที่วัดลาปูเลิง (Labuleng) มีประมาณ 1,000 กว่ารูป วัดลาปูเลิงสร้างสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อ ค.ศ. 1709 ข้าพเจ้าพยายามถามว่าวัดจุนหยวนนี้นับถือคัมภีร์อะไร ดูท่านจะไม่ค่อยเข้าใจคำถามนัก เลยไม่ได้คำตอบ ภายหลังศุภรัตน์มาบอกว่าเหลือบ

(น.170) เห็นคำว่าจินกังจิง จึงไปเปิดพจนานุกรมดูว่าเป็นวัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตรของท่านนาคารชุน พระกุมารชีพแปลเป็นจีน ท่านกุมารชีพ (344 – 413) มีโยมบิดาเป็นขุนนางชาวอินเดีย โยมมารดาเป็นเจ้าหญิงคูเซอ เมืองคูเซอนี้เป็นเขตที่นับถือพุทธศาสนาหินยาน นิกายสรรวาสติวาทิน ฉะนั้นท่านกุมารชีพจึงเติบโตขึ้นในแวดวงเถรวาท (ในขณะนั้นศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานของจีนอยู่ที่เมืองเหอเถียน) แต่มาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พุทธศาสนามหายาน ได้แปลคัมภีร์มากมาย สำหรับคัมภีร์จินกังจิง (กิมกังเก็ง) นี้ นิกายฉาน (ธฺยาน – ฌาน) หรือเซ็น (ซึ่งแต้จิ๋วเรียกเสี่ยมจง) นับถือมาก ฉะนั้นข้าพเจ้าเลยคิดไปเอง (ต้องขีดเส้นใต้เพราะเป็นการสรุปโดยหลักฐานไม่พอ) ว่าคงเป็นวัดนิกายเสี่ยมจง ข้างนอกที่ลานวัดมีรูปปั้นซุนยัดเซ็น เขียนพินัยกรรมของซุนยัดเซ็นไว้ที่ฐานของรูปปั้น จากนั้นเราก็ออกนอกเขตวัด หัวหน้าอุทยานกลับมาอธิบายเรื่องน้ำพุต่อว่า น้ำพุที่ 2 ชื่อน้ำพุเจ้วเยว่ หมายความว่าใช้มือกอบแสงจันทร์
3. น้ำพุโม่จื่อ แปลว่า คลำลูก ถ้าคลำลูกกระเบื้องจะได้ลูกสาว ถ้าคลำลูกก้อนหินจะได้ลูกชาย
4. หุ้ยฉวน หมายถึงบุญคุณ
5. เหมิงฉวน หมายความถึงได้รับการศึกษา เราเดินขึ้นบันไดชื่อบันไดชิงหยุน แปลว่าบันไดเมฆเขียว ข้าพเจ้าถามเขาว่าทำไมเมฆจึงเขียว เขาอธิบายว่ายิ่งสูงขึ้นไปเมฆยิ่งเป็นสีเขียว เราไปดูน้ำพุที่สอง ผู้อำนวยการอุทยานอธิบายว่า ในฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูชิวเทียน คนที่มาดูพระจันทร์จะเห็นพระจันทร์ส่งแสดงเหมือนอยู่


(น.171) รูป 112. เดินขึ้นไปดูน้ำพุ
On the way up to the fountains.

(น.171) ในบ่อ ถ้าเอามือจับน้ำดูจะรู้สึกว่าพระจันทร์อยู่ในอุ้งมือ ช่วงนี้จะมีวันไหว้พระจันทร์ เราอยู่ในเมืองไทย พระจันทร์ก็คือพระจันทร์ ดูจะเหมือนกันทุก ๆ เดือน แต่ประเทศที่มีฤดูกาลต่าง ๆ ได้ยินว่าเขาถือกันว่า พระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงหรือชิวเทียนในภาษาจีน ทางอินเดียว่าเป็นฤดูศารทหรือสารทจะงดงามที่สุด ฝรั่งว่าอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบธรรมเนียม ใครมีโอกาสและสนใจพระจันทร์ก็เชิญสังเกตเอง


(น.172) รูป 113. บริเวณบ่อน้ำพุทั้ง 5
In the vicinity of the Five Fountains.

(น.172) น้ำพุอีกแห่งที่เราได้ดูคือกานลู่ฉวน เขาอธิบายว่า น้ำพุบ่อนี้มีรสหวานเล็กน้อย ชงน้ำชาได้ดี น้ำจะอยู่ระดับนี้ตลอดปี ไม่แห้ง บริเวณน้ำพุเห็นครูนำเด็กอนุบาลมาทัศนศึกษา ยังรู้สึกว่าดีเหมือนกันทำให้เด็กเปิดหูเปิดตาตังแต่เล็ก ๆ เมื่อดูน้ำพุ 2 แห่งเสร็จแล้ว เข้าไปนั่งดื่มน้ำชาในห้องพักรับรอง น้ำชาที่ดื่มเป็นชาใส่ลำไยแห้งและน้ำตาลกรวดอย่างที่ดื่มเมื่อคืน เขาอธิบายว่าหุ้ยฉวนเป็นน้ำพุที่มีน้ำมากที่สุด สามารถต่อให้ประชาชนปลูกข้าวได้ เป็นบุญคุณ เลยตั้งชื่อว่าหุ้ย

(น.173) ของโบราณที่มีอยู่คือพระพุทธรูปเจี่ยหยิงฝอ หมายความว่านำผู้อื่นขึ้นสวรรค์ และระฆังเหล็กสร้างสมัยราชวงศ์หมิง ข้างบนแกะสลักคัมภีร์ในระฆังมีบทกวีว่า
เซียนได้ยินแล้วดีใจ ผีได้ยินหยุดทำชั่ว
ตีทะลุนรก ช่วยพวกเขาจากความยากลำบาก
การก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ยืนอยู่ข้างบนชมวิวเมืองหลานโจว ก่อนกลับมีอุบาสิกาเอาลูกประคำมาให้ คุยให้ฟังว่าเขาได้ไปไหว้พระตามวัดสำคัญของเมืองต่าง ๆ มาหลายแห่งแล้ว ผู้อำนวยการให้หนังสือเกี่ยวกับอู่ฉวน ดีเหมือนกัน เปิดดูคร่าว ๆ เห็นมีบทกวีหลายบท ขึ้นบนรถคุณเฉิงอธิบายว่าที่หลานโจวนี้ฤดูใบ้ไม้ผลิจะมาถึงช้ากว่าที่ปักกิ่ง มีดอกไม้สีเหลือง ๆ ที่จะออกดอกมาก่อนดอกไม้อื่น จึงเรียกว่าอิ๋งชุนฮวา แปลว่าดอกไม้ต้อนรับฤดูชุนเทียน ขากลับนี้คุยกันเรื่อง แก้วจอมแก่น ภาษาจีน คุณเฉิงเล่าว่าอ่านให้หลานฟัง และคุยกันเรื่องวันสงกรานต์ กลับมารับประทานอาหารกลางวัน บ่ายสองโมงเดินทางไปสนามบิน รองผู้ว่าราชการมณฑลมาส่งด้วย แต่ไม่มีใครขึ้นมานั่งรถด้วย เพราะเขาบอกว่าระยะทางไกล ข้าพเจ้าจะได้พักผ่อน ก่อนออกจากเมืองรถไปหยุดที่รูปหินสลักซึ่งเขาให้ชื่อว่าแม่หวงเหอ เป็นรูปแม่และลูก ทำด้วยหินแกรนิตจากมณฑลซานตง ผู้ออกแบบรูปหินสลักนี้เป็นผู้หญิง ที่เขาเห็นความสำคัญของแม่น้ำหวงเหอเพราะเขาถือว่าเป็นอู่อารยธรรมจีน

Next >>