Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2533 "


(น.202) รูป 131. ไปจิ่วฉวน
Going to Jiuquan.

(น.203) อาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2533
เมื่อคืนรู้สึกว่านอนไม่ค่อยจะหลับเลยลุกขึ้นเขียนเรื่องไปได้ยาว อาหารเช้าเป็นแบบจีน มีคนบอกว่าทางจีนเขาประกาศเปลี่ยนเวลา แต่คุณหลิวบอกว่าสำหรับวันนี้เรายังจะดำเนินรายการของเราไปอย่างเดิม เช้านี้เราจะไปเมืองจิ่วฉวน มีนิยายเกี่ยวกับนายพลหัวชู่ปิ้งที่เกี่ยวกับจิ่วฉวน คือตอนที่หัวชู่ปิ้งไปรบได้ชัยชนะมาอย่างงดงาม สร้างความพอพระทัยให้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้อย่างยิ่ง จึงพระราชทานสุราอย่างดีแก่นายพลไหหนึ่ง ธรรมดาในการทัพลำพังแต่แม่ทัพผู้สามารถไม่อาจเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ ถ้าขาดนายทหารและไพร่พลผู้มีจิตใจพร้อมสู้รบ เ มื่อได้รับความชอบแล้วแม่ทัพจะรับไว้แต่ผู้เดียวหาสมควรไม่ สุรามีเพียงไหเดียวจะเลี้ยงทั้งกองทัพอย่างไร แม่ทัพผู้มีปัญญาจึงเทสุราทั้งไหลงในบ่อน้ำจิ่วฉวน ทั้งกองทัพจึงได้ดื่มสุราพระราชทาน เมื่อแล่นรถออกจากเขตเจียยู่กวนเข้าเขตจิ่วฉวนก็ต้องเปลี่ยนรถตำรวจเป็นรถของเมืองจิ่วฉวน เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ทีเดียว มีความเจริญมาแต่โบราณ ต่างจากเมืองเจียยู่กวน ซึ่งเพิ่งเจริญเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรม 30 ปีมานี้เอง (สมัยก่อนเป็นแค่ด่าน) เมื่อไปถึงสวนสาธารณะจิ่วฉวน มีรองนายกเทศมนตรีเขต นายกเทศมนตรี และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์คอยรับ ที่หน้าประตูมีคำสรรเสริญนายพล


(น.204) รูป 132. บทกวีของหลี่ไป๋พูดถึงจิ่วฉวน
A poem by Li Pai alluding to Jiuquan.

(น.204) หัวชู่ปิ้งที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยในเส้นทางสายแพรไหม ทำให้บังเกิดความเจริญ ว่าความดีเป็นที่ประจักษ์ไป พระอาทิตย์และพระจันทร์ก็ได้เห็น เดินไปที่บ่อน้ำซึ่งหัวชู่ปิ้งเทสุราลงไป ข้างหน้ามีบทกวีของหลี่ไป๋
ถ้าท้องฟ้าไม่ชอบสุรา
ดาวสุราก็ไม่อยู่บนฟ้า
ถ้าแผ่นดินไม่ชอบสุรา
แผ่นดินก็ไม่ควรมีจิ่วฉวน
มีธรรมเนียมตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบที่จะต้องโยนเหรียญลงในบ่อ แต่ถ้าจะให้ดีต้องให้เหรียญตกช้า ๆ หรือให้ลอยอยู่ได้ยิ่งดี ภายหลังข้าพเจ้าจึงทราบเทคนิคว่าจะต้องเอาเหรียญไปคลุกกับทรายก่อน แล้วเอื้อมมือค่อย ๆ วางไปให้ถึงน้ำ เหรียญจึงจะไม่จม บริเวณสวนสาธารณะนี้มีทะเลสาบสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูชุนเทียน มีต้นหลิวมากมาย มีประวัติว่าในราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1867 นายพล


(น.205) รูป 133. บ่อน้ำที่มีประวัติว่าขุนพลหัวชู่ปิ้งเทสุราพระราชทานเพื่อจะได้แบ่งให้นายทหาร พลทหารในกองทัพได้ดื่มกันทั่วถึง
A pond in which, according to a legend, General Huaquping poured liquor bestowed upon him by the Emperor so that everyone in his army, offices and privates, could partake of the imperial gift equally.


รูป 134. ทดลองลอยเหรียญในบ่อ
The floating coin.

(น.206)จว่อจงถังมาเป็นแม่ทัพภาคและข้าหลวงใหญ่ที่นี่ ได้ทำความเจริญให้มณฑลส่านซีและกานซูอย่างมาก สรุปแล้วบริเวณนี้มีความสำคัญในหลายราชวงศ์ เช่น ฮั่น ถัง ทางสายแพรไหมก็ผ่านมาที่นี่ จักรพรรดิเฉียนหลงในราชวงศ์ชิงเคยเสด็จมาแถวนี้ ในบริเวณนี้มีวัดซึ่งกำลังบูรณะอยู่ ปิดทองพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการได้ เราเดินทางต่อไปที่โรงงานผลิตแก้วเรืองแสงยามราตรี ไม่ทราบจะเรียกอย่างไรให้เพราะ ๆ ภาษาจีนเขาเรียกว่า เย่กวงเป้ย เมื่อไปถึงผู้จัดการคอยรับ พาไปห้องแสดงผลผลิตเลยทีเดียว แล้วเริ่มต้นอธิบายว่า ถ้วยแบบนี้มีมาแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก มีประวัติว่าเป็นของถวายโจวมู่หวังจากประเทศทางตะวันตก ถ้วยนี้เมื่อรินเหล้าแล้วส่องกับแสงพระจันทร์จะมองเห็นเป็นสีขาว เหล้าจะมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น กล่าวกันว่าผลิตขึ้นที่เมืองจิ่วฉวนนี้เอง ถ้วยทำด้วยหินอย่างพิเศษ มีขั้นตอนในการผลิต 20 กว่าขั้นตอน มีความสวยงามทั้งในด้านรูปร่าง และลวดลายภายในถ้วย ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไม่แตกง่าย ถ้าไม่ขว้างก็ไม่แตก เขามีตัวอย่างให้ดูทั้งแบบโบราณและแบบสมัยใหม่ แบบโบราณมีทั้งแบบของผู้ชายเป็นรูปมังกร แสดงถึงความมีอำนาจ แสดงวิธีดื่มที่สุภาพอย่างโบราณ คือต้องเอาแขนเสื้อบังเอาไว้ ของผู้หญิงเป็นรูปนกฟ่ง อีกแบบหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปค้างคาวอันเป็นสัญลักษณ์แสดงความยั่งยืน ถ้วยอีกชนิดเรียกว่ากง ไม่ทราบว่าเป็นศัพท์เดียวกับคำว่าก๊งเหล้าหรือเปล่า ถ้วยแบบนี้ใช้สำหรับการเล่นพนัน ถ้าใครแพ้พนันจะถูกปรับให้ดื่มเหล้า การผลิตถ้วยอย่างโบราณของโรงงานนี้ทำให้โรงงานได้รับรางวัลเหรียญเงินในการประกวดสินค้าทั่วประเทศ และเหรียญทองในการผลิตสินค้าท่องเที่ยว ปริมาณการผลิตสี่หมื่นกว่าชิ้นต่อปี มีคุณภาพดีเหมาะสำหรับ


(น.207) รูป 135. ทางโรงงานแสดงการกลึงหินเป็นรูปร่างด้วยวิธีโบราณ
Ancient technique of stone carving.


รูป 136. ช่างแต่ละคนจะทำงานคนเดียวจนสำเร็จเป็นชิ้น
Each artist takes care of one piece of work until he finishes it.

(น.207) เป็นที่ระลึกในการท่องเที่ยวเส้นทางสายแพรไหม ขณะนี้ส่งไปขายในประเทศเอเชียและยุโรปกว่า 40 ประเทศ นอกจากการผลิตถ้วยเรืองแสงยามราตรีแล้ว ยังมีการแกะสลักหยกเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น เตาเผากำยานใส่ในห้องเพื่ออบเสื้อผ้าและอบห้อง กระถางธูป ตอนนี้เปิดโอกาสให้ซื้อของกัน เมื่อซี้อเสร็จเรียบร้อยแล้วได้ดูกรรมวิธีการผลิตที่เขาว่าใช้กันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เป็นเครื่องตัดหินและเครื่องกลึงที่ใช้การชักรอก ไม่มีมอเตอร์ ขั้นแรกเจาะรูในหิน ใช้ทรายเพชรตัด เป็นเครื่องมือที่ใช้มา 2,000 ปีแล้ว จากนั้นไปดูขั้นตอนการผลิตโดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งจริง ๆ ก็

(น.208) เหมือนของเก่านั่นแหละ แต่ว่าใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนมอเตอร์แขนหรือมอเตอร์ขาแบบเก่า คือใช้มือหรือเท้าหมุนรอกเครื่องกลึง เขาแสดงการตัดรูปม้า เจ้าแม่กวนอิม ตั้งแต่ตัดหินจนสำเร็จขั้นสุดท้ายใช้คนเดียวทำ ไม่ได้ส่งทำคนละขั้นตอน ช่างแต่ละคนต้องมาฝึกงานที่โรงงานอย่างน้อย 3 ปี ข้าพเจ้าก็ว่าดี เพราะการทำงานตั้งแต่ต้นจนประสบความสำเร็จ เป็นความพอใจของผู้สร้างงาน ทำให้รู้สึกว่าตนได้เป็นผู้สร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้น แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเครื่องมือก็มีไม่กี่ชิ้น คนเป็นนายช่างก็มีอยู่หลายคนจะไม่เสียเวลาแย่งกันหรือ คงเดินกันพลุกพล่าน เขามีช่างออกแบบอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้าถามถึงทรายเพชรว่ามาจากไหน เขาบอกว่าเป็นทรายทับทิมจากแถว ๆ ยู่วเหมิน แถว ๆ ฉนวนเหอซี ขึ้นไปที่ห้องรับรองอีกครั้งหนึ่ง ทางโรงงานเตรียมกระดาษและพู่กันให้เขียนหนังสือจีนอีก คราวนี้อาจารย์สารสินเขียนแนะนำไว้ว่า เป้ยกวงเจ้าจิ่วฉวน แปลว่าแสงสว่างจากแก้วส่องสว่างเมืองจิ่วฉวน ลาผู้จัดการโรงงานไปยังโรงแรมจิ่วฉวน ซึ่งเป็นโรงแรมค่อนข้างใหญ่ เขาจัดห้องไว้ให้พักผ่อนสักครู่ก่อนลงไปรับประทานอาหารซึ่งนายกเทศมนตรีจะเป็นเจ้าภาพ ในห้องมีกระดาษ พู่กัน หมึกเอาไว้พร้อม ข้าพเจ้าจึงซ้อมเขียนตัวหนังสือกับเขียนภาพไปได้พักหนึ่งก็ถึงเวลาอาหาร เขาจัดเลี้ยงที่ห้องข้างล่าง ตอนอาหารสังเกตว่าชาซานเผ้าของที่นี่ไม่ได้มีแค่ชา น้ำตาลกรวด ลำไยแห้งเท่านั้น เขายังเติมองุ่น โก่วจี้ พุทราเข้าไปอีก แสดงว่ามีอะไรก็ใส่เข้าไปได้เหมือนแกงโฮะ ชานี้คงต้องเรียกว่าชาโฮะ


(น.209) รูป 137. นายกเทศมนตรีเลี้ยงอาหารกลางวัน ข้าพเจ้าท่องกลอนจีนสมัยราชวงศ์ถังเรื่องถ้วยเรืองแสง
Lunch hosted by the mayor during which I recited a Tang pome on the luminescent cup.

(น.209) ก่อนอื่นนายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับ กล่าวว่าเขตการปกครองจิ่วฉวนเป็นเมืองที่สำคัญ เป็นช่วงกลางของเส้นทางสายแพรไหม มีกำแพงเมืองจีนเก่า มีวัด ช่วงการเดินทางตอนนี้สถานที่สำคัญก็มีตุนหวง ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เนินทรายหมิงซา นอกจากนั้นจะได้เห็นทะเลทราย ดอนเขียว (Oasis) ทุ่งหญ้า และทิวทัศน์อันสวยงามของเขาฉีเหลียน ที่สำคัญคือถ้วยเรืองแสงยามราตรี เป็นศิลปกรรมล้ำค่าที่ทำให้เส้นทางสายแพรไหมนี้สดใส จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์

(น.210) ข้าพเจ้าจริงกล่าวตอบแสดงความยินดีที่ได้มายังเมืองจิ่วฉวน และได้ท่องบทกวีกล่าวถึงเย่กวงเป้ย หรือจอกเรืองแสงยามราตรี
สุราอย่างดีในจอกเรืองแสงยามราตรี
อยากดื่มอีกแต่เสียงผีผาเตือนให้รีบไป
นอนมึนเมากลางสนามรบหาใช่เรื่องน่าสรวลสันต์
แต่โบราณกาลทำศึกสักกี่คนเล่าจะได้กลับมา
ถึงข้าพเจ้าจะท่องกระท่อนกระแท่นเพราะชักจะลืมแล้ว ทุกคนต่างเอาใจช่วย และพอใจที่ท่องได้ ระหว่างอาหารท่านนายกเทศมนตรีอธิบายถึงเขตจิ่วฉวนว่าถ้าอากาศดี ๆ จะมองเห็นเขาฉีเหลียนได้ชัดเจน จิ่วฉวนมีสนามล่าสัตว์ที่รัฐบาลอนุญาต ในฤดูใบไม้ร่วง อธิบายว่าเป็นช่วงที่สัตว์อ้วนที่สุด ใครล่าได้ก็จัดการเอาเอง ใครจะเอาหนังเอาหัวไปปะข้างฝาแบบที่ฝรั่งชอบ บางคนล่าได้ก็ย่างกินในภูเขาทันที สัตว์ที่ให้ล่าได้มี ม้าป่า แพะภูเขาชนิดที่เรียกว่าแพะป่าสีเขียว ตัวจะเล็ก ๆ เขาคงจะเห็นข้าพเจ้าทำหน้าตาสยดสยองตอนที่ฟังว่ามีการตัดหัวแขวนผนัง เหมือนกับฟังเรื่องพวกฉยุงหนูตัดศีรษะหัวหน้าเผ่าเยว่จือมาทำจอกสุรา ก็เลยปลอบใจว่าส่วนมาก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะสัตว์พวกนี้ว่องไวจะตายไป เสร็จแล้วก็เล่าต่อว่าในภูเขาฉีเหลียนนี้ยังมีไก่หิมะอีกด้วย ข้าพเจ้ายังติดใจม้าภูเขาหรือม้าป่าอยู่ ถามว่าจะเอามาขี่ได้ไหม (ตรงนี้ไปนึกถึงม้าสีหมอกของขุนแผนว่าเป็นม้าที่ไม่มีใครจะปราบได้แต่ขุนแผนก็สามารถปราบอยู่) นายกเทศมนตรีบอกว่าจับมันก็ไม่ได้ จับได้มาแล้วก็ฝึกไม่ได้ พ่อแม่มักจะเรียกลูกที่ไม่อยู่บ้านว่า “ม้าป่า” (ตอนนี้ข้าพเจ้าชักสะดุ้ง) ฟังเรื่องล่าสัตว์ต่อดีกว่า ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจการล่าสัตว์ แต่ก็อยากจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมมาเล่าสู่กันฟัง... นักท่องเที่ยวที่จะมาล่าสัตว์ต้องเสีย

(น.211) เงินซื้อบัตรเข้าไปเฉพาะตอนกลางวัน ล่าได้แค่ไหนก็เอาไปได้แค่นั้น อาวุธที่ใช้ส่วนมาจะติดปืนล่าสัตว์มาเอง ถ้าไม่มีมาก็มีให้เช่า ข้าพเจ้าสงสัยว่ามีการตรวจอาวุธหรือเปล่า ไม่ให้ถืออะไรที่ดุเดือดเกินความจำเป็นมา เขาบอกว่าตรวจ ในด้านยานพาหนะจะจัดรถให้ เสร็จเรื่องการล่าสัตว์เล่าต่อเรื่องการยิงจรวด นายกเทศมนตรีบอกว่าแต่ก่อนเป็นความลับ เดี๋ยวนี้ไม่ลับแล้ว ปีที่แล้วมีการยิงจรวดส่งดาวเทียมทางการจีนยังเชิญผู้แทนปากีสถานมาชม นอกจากพวกปากีสถานซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ยังมีผู้แทนสิงคโปร์ ไทย สหรัฐ ซาอุดีอารเบีย สถานีควบคุมมีที่ปักกิ่ง เสฉวน และซีอาน เมื่อสามปีที่แล้วส่งจรวดไปครั้งหนึ่ง ยิงดาวเทียมอุตุนิยมขึ้นไปได้ทีเดียว 3 ลูก ทำให้พยากรณ์อากาศได้สะดวกทั้งประเทศ ไม่ต้องรอข้อมูลภาพจากต่างประเทศ ดาวเทียมที่เพิ่งส่งขึ้นไปใหม่ (ที่เสฉวน) มีพวกอเมริกามา 100 กว่าคน ส่วนมากเป็นพวกช่างที่มาติดตั้งดาวเทียม จีนมีหน้าที่ในการส่งจรวดเท่านั้น ดาวเทียมมี 24 ช่อง ขายได้ 19 ช่อง หนึ่งในสี่เป็นของปากีสถาน จากเรื่องดาวเทียมกลับมาคุยต่อเรื่องท่องเที่ยวว่าเดินทางรถไฟอย่างที่พวกเราเดินทางนี้ก็สะดวกสบายดีอยู่ แต่สู้รถยนต์ไม่ได้ เพราะรถยนต์เร็วกว่า สามารถแล่นไปตามดอนเขียวได้ รถไฟจะผ่านแต่ทะเลทราย ตอนนี้เสียอยู่อีกอย่างที่ถนนไม่ค่อยดี ว่าแล้วก็บ่นว่าสถานที่ท่องเที่ยวมีมากแต่มีเวลาน้อย แถวนี้เป็นที่ซึ่งจักรพรรดิคังซีในราชวงศ์ชิงทรงพระสุบินเห็นเนื้อที่กว้างขวางไพศาล มีต้นไม้อยู่ 5 ต้น พวกขุนนางก็พยายามเสาะหาสถานที่ตามพระสุบินนิมิต มาได้ที่นี่เอง ขุนนางคนหนึ่งได้รับหน้าที่ให้สร้างเมืองแต่เป็นคนคอรัปชั่น จักรพรรดิทรงจับได้ ประชาชนพากันมาตัดศีรษะเอาหนังไปทำกลอง กลองยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์อานซีจนทุกวันนี้ (สยอง!) จาก

(น.212) นั้นก็เล่าเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่นว่าที่ซีอานเป็นสถานที่มีลมอยู่ตลอดเวลา แต่โบราณก็ไม่ค่อยจะมีต้นไม้ มีนิทานเรื่องซิยิ่นกุ้ยปราบตะวันตก ในรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง อาหารที่ติดมาเป็นเสบียงไม่เพียงพอ ต้องขุดรากหญ้ามากิน หญ้าชนิดนี้เรียกว่าซั่วหยวน ภายหลังจึงตั้งเป็นอำเภอซั่วหยวน แถบนี้แต่โบราณเป็นสนามรบ จีงมีสุสานอยู่มากมาย เส้นทางที่จะไปถ้ำโมเกาเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะต้องช่วงชิง ในสมัยฮั่นและสมัยถังถ้าควบคุมบริเวณนี้ได้เมืองซีอานก็ปลอดภัย ถ้าชนชาติกลุ่มน้อยควบคุมได้ตอนไหนก็ต้องเดือดร้อนกัน อาหารวันนี้มีหลายอย่าง แต่ไม่ได้จดไว้ ที่จำได้มีแค่แป้งข้าวสาลีพื้นเมืองที่ใช้มือปั้นนำม้าต้ม ชาวบ้านจะรับประทานกันเฉพาะในงานเทศกาล มีเนื้อแกะย่าง หลังอาหารมีเวลาพักผ่อนเล็กน้อยแล้วเดินทางตรงไปสถานีรถไฟเจียยู่กวน จากจิ่วฉวนไปเจียยู่กวนก็ต้องเปลี่ยนตำรวจนำเป็นรถของเจียยู่กวนคันเดิม เข้าใจว่าจิ่วฉวนเป็นเมืองที่กำลังขยายตัวออกไปอีก ไปที่ไหนก็มีแต่การก่อสร้าง ถ้าดูในประวัติศาสตร์แล้วมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เจอเครื่องมือหินประมาณ 4,000 – 5,000 ปีมาแล้ว และช่วงที่มีการรบระหว่างพวกเยว่จือกับฉยุงหนู ตอนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 8) เป็นช่วงที่มีชื่อ จิ่วฉวน (สมัยก่อนชื่อซูโจว) ในเอกสารประวัติศาสตร์เคยเป็นเขตอิทธิพลราชวงศ์ฮั่น สมัยแม่ทัพหัวชู่ปิ้งมา 107 ปีก่อน ค.ศ. ที่สร้างขึ้นเป็นเมืองประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 หลังจากแผ่นดินไหวยังคงมีร่องรอยของประตูเมืองด้านใต้ในสมัยนี้อยู่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทางเหนือของประเทศจีนมีศึกสงครามอย่างรุนแรง เป็นผลให้มีการอพยพของผู้คนไปอยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง

Next >>