<< Back
" มุ่งไกลในรอยทราย วันอังคารที่ 17 เมษายน 2533 "
(น.256) รูป 162. สถานีรถไฟที่ทู่หลู่ฟัน มีนายกเทศมนตรีมารับ
At Turfan railways station, I was greeted by the mayor.
(น.257) อังคารที่ 17 เมษายน 2533
ตื่นมาตกใจว่าตั้ง 7.45 น. แล้ว รีบออกมาจากห้อง เจออาจารย์สารสินนั่งคุยกับคุณหมอเชิดชัยอยู่ก่อนแล้วก็เลยไปร่วมวงนั่งคุยด้วย นั่งดูสองข้างทางก็ยังเป็นทะเลทรายอยู่นั่นเอง
ดูรางรถไฟบางช่วงเป็นหมอนไม้ เวลารถเลี้ยวถึงได้มองเห็นว่าขบวนยาวมาก เวลาประมาณ 8.30 น. รับประทานอาหารกับท่านทูตทั้งสอง และคุณติ๋ม ทิวทัศน์ตอนนี้เป็นทะเลทราย
เห็นภูเขาที่หิมะปกคลุม ภูเขานี้คือภูเขาเทียนซานนั่นเอง เส้นทางที่เรากำลังไปนี้เป็นเส้นที่เรียกว่า เทียนซานหนานลู่ เห็นส่วนที่เป็นหมู่บ้านเป็นสีเขียว
กว่าจะถึงทู่หลู่ฟันตอนเที่ยงพอดี มีนายกเทศมนตรีเมืองทู่หลู่ฟันมารับที่สถานีรถไฟ เด็กแต่งตัวชุดชนเผ่าเววูเอ๋อร์ให้ดอกไม้ นายกเทศมนตรีทู่หลู่ฟัน (ก็เป็นคนเผ่าเววูเอ๋อร์) นั่งรถไปด้วย
คนขับรถก็เป็นชาวเววูเอ๋อร์เช่นเดียวกัน ระยะทางไปเมืองเกาชาง 40 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่งนายกเทศมนตรียื่นนาฬิกาให้ดู เห็นแล้วตกใจเพราะเวลาของเขาช้ากว่าเวลาของเราถึง 2 ชั่วโมง
(น.258) รูป 163. เมืองโบราณเกาชาง
Ancient Gaochang.
(น.258) นายกเทศมนตรีบอกว่าที่ทู่หลู่ฟันนี้นายกชาติชายก็เคยมา และจะได้รับเสด็จสมเด็จป้าในเดือนหน้า ที่ทู่หลู่ฟันนี้มีนักท่องเที่ยวมาก มีประมาณ 20,000-30,000 คน
มองดูแผงลอยสองข้างทาง มีแผงขายแว่นตาอยู่หลายแผง (เห็นจะต้องใช้แว่นกันทรายกันมาก) เขตทู่หลู่ฟันมีเทศบาล 1 อำเภอ 2 มีประชากร 480,000 คน
มีชนกลุ่มน้อย 19 กลุ่ม ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มเววูเอ๋อร์ มี 73% ฮั่น 24% มีเนื้อที่ 7,200 ตารางกิโลเมตร มีเนื้อที่เพาะปลูกเพียงล้านโหม่ว ปัญหาสำคัญที่สุดคือการขาดน้ำ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ องุ่น ฝ้าย
(น.259) ข้าว ป่าไม้ สวนแตงฮามี (ที่จริงแล้วเขาบอกจำนวนเนื้อที่เป็นตัวเลขด้วย แต่ข้าพเจ้าจดไม่ทันทั้งหมด คิดว่าไม่จำเป็นต้องบอกไว้)
ทู่หลู่ฟันมีโบราณสถานมากกว่าที่อื่นในละแวกนี้ ที่สำคัญมีเมืองเกาชางและเจียวเหอ ถ้ำพระพุทธรูป สุสานโบราณ บ่อน้ำโบราณ เป็นต้น
(น.260) บริเวณทะเลสาบไอติงคอล ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 154 เมตร เป็นบริเวณที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเป็นที่ 2 ของโลก (ที่ 1 ของจีน)
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของเมืองนี้คือความแห้งแล้ง ปริมาณการระเหยของน้ำสูงกว่าปริมาณฝนตกเสียด้วยซ้ำ อุณหภูมิร้อนที่สุดของเมืองประมาณ 48˚ ซ. ในทะเลทรายบางทีสูงถึง 70˚ ซ.
ราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมเอาไข่ซุกในทราย 3-4 นาทีก็สุก นอกจากเรื่องอุณหภูมิแล้ว ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของทู่หลู่ฟันคือมีลมแรง
(การรายงานอากาศของจีนจึงต้องรายงานความแรงของลมอยู่เสมอ เมื่อวานนี้ในรถไฟรายงานลมที่ทู่หลู่ฟันว่าจะมีลมแรงมากถึงระดับ 7 ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราจะไปทู่หลู่ฟันไม่ได้เลย)
รถผ่านภูเขาหั่วเหยียน ภูเขาลูกนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทู่หลู่ฟัน เป็นภูเขาหินสีแดง เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมาดูคล้ายกับเป็นสีของไฟ อากาศแถวนั้นก็ร้อนมาก (เรารู้กันซึ้งดี)
มีนิทานที่เกี่ยวกับภูเขานี้มากมาย เช่นในเรื่องไซอิ๋ว พระถังซำจั๋ง เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง พยายามจะข้ามภูเขานี้ แต่ไม่สามารถผ่านเปลวไฟไปได้
เห้งเจียไปขโมยพัดวิเศษมาจากเจ้าหญิงพัดเหล็ก พัด 49 ครั้งทำให้ฝนตกหนักดับไฟไปได้ ยังมีเรื่องเล่าพื้นบ้านต่อว่า ตอนที่พยายามข้ามภูเขาเห้งเจียโดนไฟไหม้หาง พวกลิงเลยก้นแดงกันไปหมด
เขานี้ยาว 120 กิโลเมตร ข้าพเจ้าเห็นว่าน่ากลัว คือเป็นเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว เห็นจะเป็นเพราะมันร้อนมาก
ข้างทางมีโรงอิฐสำหรับตากแห้งองุ่น เขาปลูกองุ่นกันทุกบ้านทำให้เย็นสบาย มีพันธุ์ต่างๆ ทั้งสำหรับทำเหล้า ตากแห้ง และกินสด นอกจาก
(น.261) นั้นมีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ที่นี่เขาไม่ทอผ้า เพียงแต่ผลิตรังไหมส่งโรงงาน นอกจากนั้นเห็นมีต้นพุทราป่า ต้นทับทิม
ที่ตำบลอัสตาน่าสะพานพังต้องหยุดกลับรถ ผู้คนดูหน้าตาไม่เป็นคนจีน เป็นพวกเววูเอ๋อร์ โพกหัว ผู้หญิงนุ่งกระโปรงซ้อนกางเกง ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรดี
ไปถึงเมืองโบราณเกาชาง อยู่ห่างทู่หลู่ฟันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 47 ก.ม. สร้างขึ้นประมาณศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นศูนย์รวมชาวฮั่น (จีน) ในซินเกียงเคยเป็นค่ายทหาร
ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 รับพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางไปอินเดียเพื่อหาคัมภีร์ได้เดินทางผ่านตุนหวง ฮามี (สมัยนั้นเรียกอีอู่) และได้มาถึงเมืองนี้ หยุดสอนคัมภีร์แก่กษัตริย์พักหนึ่งแล้วจึงเดินทางต่อไป
โดยมีสัญญาว่าถ้าไปได้คัมภีร์เมืองอินเดียกลับมาแล้วจะต้องมาสอนที่เกาชาง 3 ปี แต่ปรากฏว่าขากลับได้ข่าวว่าพระเจ้าถังไถ่จงมาตีเมืองเกาชางกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ถังแล้ว ก็ถือว่าไม่ต้องกระทำตามสัญญา และตอนขากลับก็กลับทางเส้นทางสายใต้ ผ่านเมืองเหอเถียน
หลังจากนั้นตอนประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 พวกอุยกูร์หรือที่คนจีนเรียกว่าหุยกู่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเววูเอ๋อร์ปัจจุบันได้เข้ามาปกครองได้นำศาสนาลัทธิมานีเคียน ซึ่งก็ถือกันพร้อมๆ กับพุทธศาสนาและคริสต์นิกายเนสโตเรียน
ในการศึกษาค้นคว้าได้พบเอกสารภาษาต่างๆ หลายอย่าง พบว่าเมืองแบ่งออกเป็นส่วนๆ (เช่นเดียวกับเมืองฉางอาน) คือส่วนนอก ส่วนใน และส่วนที่เป็นพระราชวัง อาจารย์มู่ชุนยิง ซึ่งเป็นไก๊ด์พาไปดูส่วนที่เป็นวัด
(น.262) รูป 164. ที่สุสานอัสตาน่า มีหลุมศพหลายหลุม มีมัมมี่อยู่ในหลุม น่ากลัวมาก
Astana cemetery, with numerous graves with horrifying looking mummies inside.
(น.262) มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูป ขณะนี้ไม่มีพระพุทธรูปแล้ว เหลือแต่สิ่งที่เขียนเป็นพระประภามณฑล อากาศที่นี่ร้อนมากต้องถอดเสื้อหนาวออก
จากเมืองโบราณเราไปดูสุสานอัสตาน่า เมื่อไปถึงมีคนแก่มารับ ได้ความว่าเป็นคนช่วยการขุดตั้งแต่แรก การขุดค้นมีขึ้นในปี ค.ศ. 1959 และขุดอยู่ 10 ปี พบหลุมศพ 600 กว่าหลุม เก่าที่สุดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 ส่วนมากจะเป็นสมัยจิ้นและถัง เจอมัมมี่ในหลุมศพเหล่านี้ด้วย เท่าที่ฟัง
(น.263) รูป 165. บริเวณสุสาน
The ground of the cemetery.
(น.263) คำอธิบายมัมมี่ที่เกิดขึ้นจากการที่อากาศแห้งแล้วศพก็แห้งไปเอง ไม่ได้มีกรรมวิธีผ่าตัดเอาอวัยวะภายในส่วนนั้นส่วนนี้ออกแบบมัมมี่ของอียิปต์
เขาให้เราลงไปดูในหลุม 2 แห่ง มีภาพวาดฝาผนัง เป็นภาพเขียนหยาบๆ มีศพหญิงและชายวางอยู่ เจ้าหน้าที่อธิบายว่าแต่ก่อนมีรูปปูนปั้นและสิ่งของอื่นๆ เช่น ธัญพืช อาหารที่รับประทานอยู่ในหลุมด้วย แต่ขณะนี้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด แม้แต่ตัวมัมมี่ของหลุมต่างๆ ก็อยู่ที่
(น.264) พิพิธภัณฑ์ มีเก็บไว้เป็นตัวอย่างที่หลุมก็ที่เราเห็น แต่เขาก็ถอดเสื้อผ้า (เห็นว่าเป็นผ้าไหม) เอาไปไว้พิพิธภัณฑ์หมด อีกหลุมมีผู้ชาย 1 และผู้หญิง 2 ไก๊ด์อธิบายว่าคนหนึ่งจะมีภรรยา 2 คน
ออกจากสุสานทุกคนอ่อนเพลียมากเนื่องจากอากาศร้อนมากโดยไม่ได้เตรียมไว้ก่อน จริงๆ ก็เหมือนกับที่ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือที่เขาพูดถึงลักษณะภูมิอากาศทะเลทราย นึกถึงเนื้อเพลงเต่ากินผักบุ้งที่ว่า
“ยามร้อนก็จะร้อนไปทุกส่วน ดังเพลิงกาลผลาญกวนประหารหัก ยามหนาวก็จะหนาวสะท้านนัก..” มันเป็นอย่างนี้จริงๆ
ขึ้นนั่งรถข้าพเจ้ามองข้างทางเห็นนกหัวขวานตัวหนึ่ง เหมือนกับนกหัวขวานที่มีที่วังไกลกังวลหัวหิน 2-3 ตัว และไม่เคยเห็นที่อื่น เห็นบริเวณที่ขุดน้ำมัน (เป็นบริษัทของจีนเอง)
นายกเทศมนตรีเล่าว่าสินค้าออกของทู่หลู่ฟันมีหลายอย่างเช่น ฝ้าย องุ่นแห้ง องุ่นสด แตงฮามี (ส่งฮ่องกง ญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เช่น โปตัสเซียม ฟอสเฟต และยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว
หน้าถ้ำพระพุทธรูปพันองค์มีรูปปั้น (เป็นของทำใหม่) พระถังซำจั๋ง เห้งเจีย เป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง กำลังเดินทาง
ตอนนี้ใครๆ บ่นว่าร้อน ไก๊ด์เขาบอกว่ายังไม่เรียกว่าร้อน เดือนพฤษภาคม มิถุนายนจะร้อนกว่านี้อีก ปรอท 40 ˚ซ. ขึ้นไป บริเวณถ้ำมีลำธารไหลผ่าน ซึ่งเป็นลักษณะของการทำถ้ำแบบนี้ทุกๆ แห่ง
(จะต้องมีน้ำใช้) มีถ้ำหลายแห่ง แต่เขาว่าไม่มีอะไรให้เราเข้าไปดู 2 ถ้ำ (ถ้าทั้งหมดมี 83 ถ้ำ มีภาพอยู่ 40 ถ้ำ) ซึ่งเดิมมีภาพเขียนที่สวยงาม แต่ถูกฟอนเลอก้อก ชาวเยอรมันลอกภาพเอาไปไว้ที่เบอร์ลิน ทิ้งผนังไว้ขาวๆ อย่างนั้นเอง
(น.265) รูป 166. หน้าถ้ำพระพุทธรูปพันองค์
In front of the Thousand Buddhas Cave.
(น.265) จากเบเซกลิกต่อไปดูสุเหร่าซึ่งมีหอสูงสำหรับอิหม่ามขึ้นไปสวดชักชวนคนมาสวดมนต์ ทำด้วยอิฐ เป็นแบบเววูเอ๋อร์ ผู้ที่เริ่มก่อสร้างเป็นเจ้าเมืองชื่อเอ๋อมิน ใน ค.ศ. 1777 ไก๊ด์เล่าว่าเอ๋อมินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสมัยพระเจ้าคังซี
ลูกชายชื่อสุไลมานเป็นผู้สร้างต่อ ตอนนั้นเมืองนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ชิงไปแล้ว หอนี้จึงได้ชื่อว่าซูกงถะ แปลว่าหอเจ้าซู
(น.266) รูป 167. สุเหร่าซูกงถะ
Sugongta Mosque.
(น.266) ดูสุเหร่าแล้วตรงไปโรงแรมลวี้โจว แปลว่าดอนเขียว หรือโอเอซิส ท่านนายกเทศมนตรีเอาองุ่นแห้งมาให้ ในห้องที่เขาจัดไว้ให้พักมีกำหนดการและชื่อคนที่เราจะพบที่ซินเกียงวางไว้ให้
ตกลงว่าเรารับประทานกันเองแบบจีนห้องหนึ่งไทยห้องหนึ่ง เจ้าภาพท้องถิ่นเขาไม่มารับประทานด้วยเพราะเป็นช่วงเวลาที่เขาถือบวชกัน รู้สึกว่าทั้งฝ่ายไทยและจีน (ที่มาด้วยกันจากปักกิ่ง) หิวมาก เพราะเป็นเวลาเกือบ 5 โมง (ของปักกิ่ง)
เมื่อรับประทานเสร็จตกลงกันว่าจะไปอูหลู่มู่ฉีเลย ข้ามรายการเมืองโบราณเจียวเหอ แต่ข้าพเจ้าอยากเห็นระบบน้ำใต้ดินที่เรียกว่าระบบคารีสจึงแวะดู ระบบชลประทานแบบคารีสนี้เป็นระบบบ่อน้ำที่มีทางเชื่อมติดต่อกันอยู่ใต้ดิน นำขึ้นมาใช้ได้แบบน้ำซับ ต้นกำเนิดของน้ำมาจากหิมะละลาย
(น.267) รูป 168. น้ำในบ่อน้ำคารีสใสสะอาดจืดสนิท
Water in the Karez which is very clear and refreshing.
(น.267) ที่เทียนซานแล้วซึมลงใต้ดิน ทางน้ำใต้ดินนี้ยาวมาก ข้าพเจ้าลองชิมน้ำดูนิดหน่อยก็จืดสนิทดี
ทางไปอูหลู่มู่ฉีเลียบเชิงเขาเทียนซาน ใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมง ฉะนั้นเขาจึงไม่จัดให้ใครนั่งด้วย แต่กลายเป็นการเดินทางที่สนุกสนานมากที่สุด ข้าพเจ้า เปียนเหมย กับคนขับรถคุยกันไปตลอดทาง
คนขับรถสอนศัพท์ภาษาเววูเอ๋อร์หลายคำ เช่น สวัสดี พูดว่ายากชุมซึส ขอบคุณ ว่าแรกแมท ลาก่อนว่าแฮร์เฮิช ดีมากว่าแบ๊กบักชี สี่คำนี้เป็นประโยชน์มาก คำอื่นๆ ก็ยังไม่ค่อยมีประโยชน์ เช่น
คุณชื่ออะไร ฉันเป็นคนปักกิ่ง เหยี่ยว การนับเลข เป็นต้น พูดไปพูดมามีการสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น กันไปเสียด้วยซ้ำ โธ่..ก็เดินทางตั้ง 3 ชั่วโมง เวลาจะพูดตั้งเยอะแยะ
(น.268) รถจะแล่นเลียบทิวเขาเทียนซานไปตลอด ผ่านเมืองต้าปั่นเฉิง เมืองนี้คนขับรถเล่าว่าเป็นถิ่นที่ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงสวย มีเพลงพื้นเมืองภาษาเววูเอ๋อร์ (คนขับรถร้องให้ฟัง) ชื่อเพลงต้าปั่นเฉิง
กล่าวถึงสาวสวยไว้หางเปียยาว (ภาษาเววูเอ๋อร์ว่ากันมาร์แฮน) ตาทั้งสองของเธอก็สวย อย่าแต่งงานกับใคร ให้มาแต่งงานกับฉันเถิด เวลาแต่งงานให้เอาสินสอดมา แล้วก็เอาน้องสาวมาด้วย เปียนเหมยหัวเราะชอบใจ
วิวสองข้างทางสวยงามมาก อากาศก็บริสุทธิ์ ข้าพเจ้าชอบเปิดกระจกให้ลมพัดเข้ามา สบายดี เชิงเขามีแม่น้ำโฮ่วโกวเหอไหลผ่าน มีฝูงแพะกินหญ้าอยู่เป็นระยะๆ ต้นไม้ข้างทางที่มีมากที่สุดได้แก่ต้นหลิว และยังมีต้นไม้อีกอย่างเรียกว่าต้นหูหยาง จะมีมากเฉพาะแถวๆ นี้
ข้าพเจ้าพยายามถามว่าคนขับรถชื่ออะไรจะได้เรียกชื่อเขา ไม่ต้องเรียกว่าคนขับรถ เขาบอกว่าแซ่อู๋ หรือแซ่อูเมเอ๋อ บอกว่าชื่ออับดุลลาห์ ไปๆ มาๆ ก็บอกว่าไม่ใช่ชื่อเขา เป็นชื่อพ่อ ซึ่งคนอิสลามใช้เป็นนามสกุล ข้าพเจ้าก็ฟังเขาไม่เข้าใจ แต่ก็เรียกเขาว่าคุณอู๋
คุณอู๋บอกว่าตัวเองอยู่อูหลู่มู่ฉี แต่ว่าพ่อแม่อยู่เมืองคูเชอ เขาอายุ 35 ปี (บอกวันเดือนปีเกิดเสร็จ เกิดเดือนสิงหาคม ฉะนั้นอ่อนกว่าข้าพเจ้า 4 เดือน) พรุ่งนี้ลูกชายจะอายุครบ 5 ปี
เขาขับรถมาได้ 21 ปีแล้ว (ก็ขับตั้งแต่อายุ 14 ปี) เปียนเหมยเลยเล่าประวัติตัวเองบ้างว่าเป็นลูกคนที่ 4 (คนเล็ก) พี่ๆ ก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด พี่คนที่ติดกันอายุ 35 ปี (อ่อนกว่าข้าพเจ้า 3 เดือน) แล้วเลยถามถึงคนในขบวนที่มากับข้าพเจ้าว่าเรียนจบวิชาอะไร ที่ไหน
(น.269) คุณอู๋เล่าเรื่องเทียนฉือ ทะเลสาบบนยอดเทียนซานอยู่สูงประมาณ 1,700 เมตร เขาบอกว่าสวยงามมาก มีปลาอยู่แยะ กว้าง 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ลึก 120 เมตร จับปลาได้ยาก
ต้นไม้ที่นี่จะเอียงไปข้างหนึ่งด้วยความแรงของลม ความที่ลมแรงจึงมีการคิดเอาพลังลมมาใช้ทำไฟฟ้า คุณอู๋บอกว่าใช้เครื่องมือของอิตาลี
จากนั้นพูดกันถึงบัวหิมะบนภูเขาเทียนซาน เขาเล่าว่าเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอม แล้วก็ควักซองบุหรี่ที่มีรูปดอกบัวหิมะขึ้นมาให้ดู รถผ่านทะเลสาบน้ำเค็ม (เหยียนหู) ก็เล่าว่าคนส่านซี หลานโจว ก็ต้องรับประทานเกลือจากที่นี่กันทั้งนั้น
เมื่อเข้าเมืองอูหลู่มู่ฉี (หรืออุรุมชี) ชักจะมืดแล้ว คุณอู๋ก็ยังคงอธิบายต่อ ชี้ให้ดูมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สวนสาธารณะ โรงพยาบาลของชนเผ่าเววูเอ๋อร์ โรงเรียนสอนศาสนามุสลิม พอถึงบ้านรับรองก็บอกว่า “แคลด้อก” แปลว่าถึงแล้ว
ที่บ้านรับรองที่รองผู้ว่าราชการมณฑล (เป็นชาวฮั่น) ประธานสหพันธ์สตรีแห่งซินเกียง และนายกเทศมนตรีอูหลู่มู่ฉี (สองคนเป็นชาวเววูเอ๋อร์) คอยรับ เทียบเวลาดู ปรากฏว่าท่านรองผู้ว่าราชการถือเวลาปักกิ่ง ข้าพเจ้าต้องหมุนนาฬิกาเป็นเวลาปักกิ่งอีก เพราะเขาว่าเขาจะถือเวลาปักกิ่งกัน (ที่ทู่หลู่ฟันถือเวลาซินเกียง)
นัดไปรับประทานอาหารค่ำที่ศาลาประชาชนของซินเกียง เวลาประมาณสี่ทุ่ม ศาลานี้มีแนวคิดคล้ายๆ กับมหาศาลาประชาชนที่ปักกิ่ง ที่นี่เขาทำเป็นห้องประชุมของชนเผ่าต่างๆ ที่มีในซินเกียง ไปนั่งในห้องรับรองผู้ว่าราชการมณฑลชื่อ ทูมูร์ ดาวาเมต (ชาวเววูเอ๋อร์) เชิญนั่ง กล่าว
Next >>