Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2533 "




(น.292) รูป 183. เดินชมสุเหร่า
Around the mosque.

(น.293) พฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2533
เมื่อคืนนี้ตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่งเห็นยังดึกเลยนอนต่อถึงตีห้าครึ่งยังไม่สว่างจึงออกมาเขียนหนังสือจน 9.00 น. จึงได้สว่าง มีเวลาพิจารณาถึงเมืองกาชการ์หรือที่จีนเรียกว่าข่าชือนี้ เป็นศูนย์กลางของอิสลามของจีน เส้นทางแพรไหมสายเทียนซานหนานลู่ และสายคุนลุ้นเป่ยลู่มาบรรจบกันที่นี่ กล่าวกันว่าเป็นอาณาจักรที่เป็นพุทธศาสนาแห่งแรก และแต่ก่อนถือพุทธหินยาย นิกายสรรวาสติวาทิน (ใช้ภาษาสันสกฤต) ถือเป็นศูนย์กลางใหญ่แห่งหนึ่ง มีวัดจำนวนมาก มีพระสงฆ์พันกว่ารูป (ตามที่พระถังซำจั๋งบันทึกไว้) นัดกันรับประทานอาหารเช้าตอนสิบโมง กว่าจะถึงเวลานั้นท้องก็ร้องแล้วร้องอีก เวลา 11.00 น. คุณลุงมารับไปที่สุเหร่าไอด์กาห์ เป็นสุเหร่าเก่าอายุ 500 กว่าปี (สร้างค.ศ. 1442) มีโต๊ะอิหม่ามมารับอยู่ 5 ท่าน อยู่สุเหร่านี้ 3 ท่านอีก 2 ท่านอยู่ที่อื่น อิหม่ามพูดเปอร์เซีย อาหรับได้ เล่าว่าพรุ่งนี้เป็นวันศุกร์จะมีคนมาทำพิธีสี่พันห้าพันคน ธรรมดาก็จะมีคนมาทำละหมาด (นะมาซ) ครั้งละ 1,000 คน ในวันออกฮัจยีซึ่งมีพิธีกูรบ่านรถจะเข้าไม่ได้ ต้องปิดถนนนานถึงชั่วโมง

(น.294) ดูสุเหร่าเสร็จแล้วเดินไปตามซอยเล็กๆ แคบๆ เห็นมีมัสยิดเล็กๆ อยู่เกือบทุกซอย วันธรรมดาแต่ละคนก็จะไปสวดมนต์ที่มัสยิดตามซอยบ้านของตน แต่วันศุกร์จะไปรวมที่มัสยิดกลาง เดินไปถึงโรงเรียนอนุบาลสำหรับพวกเววูเอ๋อร์ เป็นของเทศบาลเมืองกาชการ์ สร้างเมื่อ ค.ศ. 1956 มีนักเรียน 400 กว่าคน เจ้าหน้าที่ 80 กว่าคน นักเรียนมาเรียนแต่เช้า รับประทานอาหารเที่ยงที่โรงเรียนและกลับตอนเย็น เด็กจะเรียนอยู่ถึง 8 ชั่วโมง เป็นภาษาเววูเอ๋อร์ สอนหนังสือดนตรี และกีฬา นักเรียนที่เรียนอายุ 3-6 ปี ทางโรงเรียนจัดการแสดงของเด็กเล็กๆ ไว้ให้ เด็กเป็นโฆษกประกาศเสียงชัดแจ๋วว่าจะร้องเพลงเรารักครูของเรา มีการเต้นไปด้วย เด็กที่นี่เก่งร้องเพลงหมู่ก็ร้องได้ถูกทำนอง เนื้อเพลงตามที่เขาแปลให้ฟังว่า ครูของเราเป็นครูที่รัก เราเป็นดอกไม้และผลไม้ในสวน ครูเป็นคนสวน

ชุดที่ 2 การฟ้อนรำความร่าเริงในฤดูใบไม้ผลิ เด็กเต้น ครูดีดเครื่องสายและตีกลอง
ชุดที่ 3 เด็กเต้นดิสโก้ เต้นได้ดีมาก
ชุดที่ 4 รำสาวกาชการ์
ชุดที่ 5 รำของเล่นของฉัน เต้นไปอุ้มตุ๊กตาไป เนื้อร้องว่าตุ๊กตาอย่าร้องไห้ ต้องฟังผู้ใหญ่ อย่าร้องไห้
ชุดที่ 6 เด็ก 2 คนดีดเครื่องสายและร้องเพลง
ชุดที่ 7 ฟ้อนโรงเรียนอนุบาลของเรา ซึ่งมีเนื้อร้องว่าอากาศสดชื่น เรามาเต้นรำกันเถิด เราเป็นดอกไม้ในสวนอนุบาล จะเรียนให้ดี เติบโตขึ้นแล้วจะบินสู่ท้องฟ้าสีเขียว
ชุดที่ 8 เป็นการเต้นระบำพื้นเมืองอย่างหนึ่ง
ชุดที่ 9 ระบำเทศกาลของเรา

(น.295) รูป 184. เด็กๆ ร้องเพลงหมู่ เด็กที่นี่ร้องเพลงเก่ง เสียงดังชัดเจน ทำนองถูกต้อง คงจะเป็นไปตามสายเลือด เขาว่าตามธรรมเนียมแต่เก่าก่อนชาวเววูเอ๋อร์ชอบร้องรำทำเพลงถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

Chorus by the children. They were very good. Their singing was loud, clear and the melody very precise.
This is probably because music is in their blood. I was told that the Uighur people traditionally loved singing and dancing and considered them as an essential part of their life.


(น.296) รูป 185. ศึกษานาฏศิลป์เววูเอ๋อร์
Studying Uighur dance.

(น.296)
ชุดที่ 10 ฟ้อนหมู่ ถึงตอนนี้มีเด็กตรงรี่เข้ามาจูงข้าพเจ้าออกไปเต้นด้วย ตกลงมาคราวนี้ได้ความรู้คือหัดฟ้อนรำแบบเววูเอ๋อร์ หันไปอีกทีเห็นท่านทูตกับคุณติ๋มออกมาเต้นด้วยเช่นกัน เสร็จจากโรงเรียนอนุบาล เราไปที่ร้านขายของพื้นเมือง ตั้งแต่มากาชการ์นี้ข้าพเจ้าใช้ภาษาเววูเอ๋อร์ที่เรียนจากคุณอู๋คนขับรถ ได้ประโยชน์มากมาถึงนี้ได้เรียนคำว่า ทามักอีตี เตสมัว แปลว่า กินข้าวหรือยัง ในร้านมีช่างทำเครื่องดนตรี มีกลองเรียกว่าดั๊บ ขึงด้วยหนังวัว ถ้าของที่ดีจริงๆ จะใช้หนังแพะ ก่อนจะเอาขึงจะต้องแช่น้ำไว้หลายวัน พิณราชัป ตุตาร์ แทมบูร์ พวกนี้ทำด้วยไม้หม่อน ใช้เขาวัวตัดเป็นชิ้นๆ ฝังเป็นลายขิมชนิดหนึ่งเรียกว่าคาลุม ในร้านมีมีดต่างๆ หลายอย่าง คล้ายๆ กับ


(น.297) รูป 186. เครื่องหนังมีหลายประเภทและหลายขนาด ทดลองตีให้เข้าจังหวะ ถามวิธีทำว่าจะต้องหมักหนังกับอะไรหรือเปล่า เช่น เครื่องแกง แกงเผ็ด เขาบอกว่าแช่น้ำอย่างเดียว
Various types of percussion instruments. I asked whether the leather has to be cured by spices or not. I was told that the leather had only to be dipped in water.


รูป 187. คัดเลือกมีด เจ้าภาพคงแปลกใจว่าเจ้าหญิงเมืองไทยพกมีดทีละ 10 กว่าเล่ม มีดแต่ละเล่มด้ามไม่เหมือนกัน
ทีแรกตั้งใจจะเอาไปฝากคนโน้นคนนี้ แต่ก็ไม่ได้ฝากเพราะเปลี่ยนใจเป็นให้ลูกเกด ไม่ให้มีด (เก็บไว้เอง)
Knives selection. The host might have been surprised that a Thai princess carried at one time at least ten knives.
The handle of each knife was different. I intended to buy them as gifts, but afterwards I changed my mind, and gave raisin as gifts and kept the knives.


(น.298) รูป 188. ชมตลาด (ซื้อได้มีดหลายเล่ม รำมะนาใบหนึ่ง กระดิ่งทองเหลืองเล็กๆ จะเอาไปห้อยคอม้า)
Shopping (I bought a lot of knives, a tambourine, small brass cloches for my horse.)

(น.298) ที่อาจารย์สารสินชี้ให้ซื้อที่โรงแรมเมืองเจียยู่กวน ข้าพเจ้าเป็นคนชอบมีดมาแต่ไหนแต่ไรเลยซื้อหลายเล่ม ไม่เหมือนกันเลย มีดที่ดีที่สุดต้องมาจากอำเภออิงซาใกล้เมืองข่าชือ ที่ร้านยังมีพรมและเครื่องประดับขายด้วย ออกจากร้านไปเดินดูบาซาร์มีของเยอะแยะ (แต่ชักจะหิวอีกแล้ว) กลับบ้านพักรับประทานข้าว (กันเอง) รับประทานเสร็จแล้วนั่งเขียนเร่องจน 17.00 น. ออกไปที่สุสานอาบัคโคจาหรือสุสานเซียงเฟย ผู้สร้างสุสานนี้คือ อาบัคโคจา สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1640 เพื่อฝังศพของบิดา สุสานนี้


(น.299) รูป 189. สุสานอาบัคโคจา ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าเป็นที่ฝังศพคนในตระกูลของพระสนมเซียงเฟยของพระเจ้าเฉียนหลง
Apak Hoja tomb said to be the tomb of members of the family of Xiangfei, a concubine of Emperor Qian Long.

(น.299) สร้างตามศิลปะซามาร์คานและอิสฟาฮาน ใช้กระเบื้องลายครามประดับประตูทางเข้า ข้างในมีโรงเรียนสอนศาสนาเล็กๆ และสุสานของครอบครัวอาบัคโคจา ทำเป็นรูปโดมประดับกระเบื้อง เข้าไปข้างในเวลาพูดเสียงจะก้องดังไปหมด ตระกูลโคจา เป็นตระกูลที่มีอิทธิพลตระกูลหนึ่งในดินแดนแถบนี้ สมาชิกของตระกูลที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ อาบัคโคจา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตระกูลโคจาได้ปกครองกาชการ์ คอร์ลา คูเชอ อักซู เหอเถียน และยาร์คาน ครอบครัวเขาฝังอยู่ที่นี่ 5 ชั่วคน มีหีบศพ

Next >>