Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2533 "




(น.308) รูป 196. เมื่อวิ่งออกกำลังกายเสร็จแล้วก็มาบริหารร่างกาย และหัดมวยจีน
After jogging, I came out to exercise and practise Kungfu.

(น.309) ศุกร์ที่ 20 เมษายน 2533
ตื่นขึ้นมาหกโมงเป๋ง เขียนหนังสือต่ออีกหน่อยก็ถึงเวลานัดว่าจะไปวิ่งกันตอนเช้าคือ 7 โมงเช้า อึ่งโผล่เข้ามาก่อนแล้วตามด้วยเปียนเหมย หมอเชิดชัย อาจารย์สารสิน ยังมือตึ๊ดตื๋อเพราะเวลาท้องถิ่นประมาณตีสี่ อากาศหนาวและชื้น ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจารย์สารสินเคยวิ่งก็เลยให้เป็นผู้นำทาง วิ่งไปสักพักก็รู้สึกว่าหายหนาว แต่ปวดหูเหมือนกับเปลี่ยนระดับเร็ว ๆ จะเป็นเพราะหนาว หรือเป็นเพราะเมืองอูหลู่มู่ฉีอยู่สูงประมาณ 800 เมตรและเราเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติคือวิ่ง วันนี้จึงไม่กล้าวิ่งเร็วนัก วิ่งไปได้ประมาณ 2 ก.ม. เศษ ไม่รู้สึกเหนื่อย แต่เห็นว่าจะต้องเดินทางอีกนานจึงไม่เห็นสมควรที่จะบังคับตัวเองต่อไป วิ่งเสร็จแล้วทำท่าออกกำลังกายโดยมีเปียนเหมยเป็นคนสอน ขึ้นไปอาบน้ำรู้สึกสบาย รับประทานอาหารเช้าเวลา 9.00 น. พอ 10.00 น. เดินทางไปโรงงานเย็บปักถักร้อย ก่อนเดินทางครูกู้เตือนว่าให้ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น เพราะเมื่อคืนนี้ที่หนานซานที่เราจะไปเป็นรายการที่ 2 มีหิมะตก ออกจากที่พักผ่านโรงเรียนตำรวจ สนามแข่งม้า ไปถึงโรงงานเย็บปักถักร้อย ผู้จัดการโรงงานกล่าวต้อนรับ เล่าเรื่องโรงงานนี้ว่าตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1975 มีพนักงาน 220 คน เงินทุน 1,400,000 หยวน ผลิตสินค้าจำหน่าย


(น.310) รูป 197. ไปโรงงานเย็บปักถักร้อย
On the way to the embroidery factory.

(น.310) ในประเทศเป็นส่วนมาก ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของคนกลุ่มน้อย พนักงานมีทั้งชาวฮั่น รัสเซีย อิสลาม เววูเอ๋อร์ คาซัก 80% เป็นผู้หญิง รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะให้เงินตราต่างประเทศ ของบางอย่างทำที่โรงงาน บางอย่างทำที่บ้าน ที่เราไปดูส่วนมากจะเป็นการปักจักร


(น.311) รูป 198. ท่านทูตเตชและคุณติ๋มถ่ายรูปกับชาวเววูเอ๋อร์
His Excellency Tej and Madame posing for picture with a fake Uighur.

(น.311) ออกจากโรงงานมุ่งไปที่ภูเขาใต้หรือหนานซาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทียนซาน ข้าพเจ้ากับอาจารย์มู่คุยกันถึงเรื่องว่าจะเอาศิลปวัตถุที่ฝรั่งเอาไปกลับคืนได้หรือไม่ ถ้าทางจีนมีสถาบันที่จะดูแลได้เรียบร้อย อาจารย์มู่บอกว่าลำบากจะต้องมีหลักฐานซึ่งหาได้ยาก


(น.312) รูป 199. ไปเที่ยวหนานซาน
Visiting Nanshan.

(น.312) ในด้านภูมิศาสตร์ของซินเกียงนั้นมีที่น่าศึกษาหลายแห่ง ที่ราบสูงปามีร์ถือว่าสูงที่สุดในโลก ทู่หลู่ฟันถือว่าต่ำเป็นที่ 2 ของโลก ไปถึงจุดหมายมีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับพาย่ำหิมะ ซุปรู้สึกว่าจะสนุกมากตื่นเต้นที่มากันถึงที่นี่ ย่ำหิมะเล่น และถ่ายรูปกันอยู่พักหนึ่ง เข้าไปในเต็นท์ (yurt) ของพวกคาซัก คุณจูบริเวณอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของคนเผ่าคาซักว่าพวกนี้เวลาหน้าหนาวจะพาแพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงอย่างอื่นมาเลี้ยงด้านล่าง เวลาหน้าร้อนหิมะละลายจะพาสัตว์ขึ้นไปเลี้ยงบนภูเขา บางครั้งก็ประดิษฐ์ของประเภทศิลปหัตถกรรมขาย ในขณะที่ลำธารก็ยังแข็งอยู่ บริเวณสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,500 เมตร ภูเขาบางส่วนอยู่เหนือเส้นหิมะ


(น.313) รูป 200. ในเต้นท์ของชนเผ่าคาซัก ดื่มน้ำชาใส่นม และกินขนม กว่าจะได้ดื่มและกินต้องฟังคุณจูบรรยายอยู่นาน
In the tent of Kazhak. We drank tea with milk and some sweet, but had to wait for a long time before we had a chance to drink it; since we must listen to Mr. Ju’s explanation.

(น.313) ฉะนั้นหิมะจะไม่ละลายเลย บางคนบอกว่าพวกคาซักนี้เป็นลูกหลานของพวกชนเผ่าอูซุนโบราณ ตอนที่รถผ่านมาข้างทางเห็นอาคารโรงเรียน ได้ความว่าเป็นโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ ชาวคาซัก เป็นโรงเรียนประจำ รับเด็กโต รัฐบาลยังจัดโรงเรียนเคลื่อนที่ และครูที่ขี่ม้าไปสอน ครอบครัวคาซักในเต็นท์มี พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสะใภ้ ลูกสาว คุณจูบอกว่าพวกคาซักชอบรับแขก เลี้ยงอาหารอย่างดี ในฤดูร้อนจะมีเทศกาลแข่งม้าและจับแพะ พวกสาว ๆ จะขี่ม้าไล่ตีผู้ชาย ถ้าไม่ชอบก็จะตีแรง ๆ ถ้าชอบก็ตีเบา ๆ พอเป็นพิธี


(น.314) รูป 201. ขนมทองพลุแบบคาซัก
Having snacks Kazhak style.

(น.314) อธิบายแค่นี้ข้าพเจ้าชักหิว อยากรับประทานอาหาร ที่เขาเตรียมทำไว้ให้มีน้ำชาใส่นม รับประทานแล้วรสเหมือนซุป เนยแข็งตากแห้งเรียกว่ากุร์ต ขนมมีลักษณ์คล้ายทองพลุแต่แข็งกว่าเรียกว่ายาวูร์ซัก ซาไมร์คือเนย ชาวคาซักและชาวเววูเอ๋อร์เป็นพวกเตอร์กด้วยกันก็เลยพูดกันรู้เรื่อง และแต่งงานกันไว้ พูดถึงคาซักแล้วก็ใคร่จะพูดถึงพวกเววูเอ๋อร์อีกสักหน่อย เพราะเอ่ยแต่ชื่อเผ่าโดยไม่ได้อธิบายอะไรมาตั้งนานแล้ว พวกเววูเอ๋อร์ (หุยกู่หรืออุยกูร์) เป็นคนกลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่ที่สุดในซินเกียง สืบสาวราวเรื่องได้ว่าบรรพบุรุษเป็นพวกทูจ๋วย (เตอร์ก) จากทะเล


(น.315) รูป 202. ถ่ายรูปหมู่กับครอบครัวเจ้าของบ้าน
Group picture with the host.

(น.315) สาบไบคาล ตามนิทานปรัมปราเล่ามาว่าชายคนหนึ่งแต่งงานกับหมาป่าศัตรูได้ฆ่าชายผู้นั้นเสียชีวิตไป เหลือแต่หมาป่าซึ่งออกลูกมาเป็นคน 10 คน เป็นต้นกำเนิดของพวกเตอร์ก ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 มาอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต คริสต์ศตวรรษที่ 8 เกิดเป็นอาณาจักรเววูเอ๋อร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับจีนราชวงศ์ถังในช่วงที่มีกบฏอันลูชาน (ค.ศ. 755 – 763) แต่ถูกเผ่าเคอร์กิซตีออกไปตั้งอาณาจักรอยู่ที่ตุนหวงและจางเย่กับแถว ๆ เทียนซานควบคุมเส้นทางการค้า แต่เดิมนับถือเจ้าถือผี ต่อมารับนับถือมานีเคียนพุทธ และถืออิสลาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และได้ให้อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมแก่พวกมองโกลอย่างมาก แม้แต่ในด้านตัวอักษร


(น.316) รูป 203. มุ่งไกลในรอยหิมะ
Faring through the traces on snow.

Next >>