Please wait...

<< Back

ชลประทานลุ่มแม่น้ำจูเจียง

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 99,100,101,102,103,104

(น.99) ที่หมายสุดท้ายของวันนี้คือ สำนักงานชลประทานจูเจียง ก่อนไปถึงต้องหยุดรถเพราะว่ามีรถชนอยู่ข้างหน้าทำให้รถติดมาก (แต่เราไม่เห็น) ในที่สุดต้องอ้อมไปอีกทาง เมื่อเกือบ 11 ปีมาแล้ว (Nov. 23-29, 1998) ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุม Asian Conference on Remote Sensing ครั้งที่ 9 จัดที่ประเทศไทย และได้เสนอการวิจัยซึ่งทำร่วมกับศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ และกรพินธุ์ ศรีสุขสวัสดิ์ เรื่อง Land use/Land cover Map Accuracy Assessment of Landsat Themetic Mapper Data using The DIMAPS Image Processing System for Narathiwat Province. ได้พบกับนักวิชาการจีนหลายคน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุกนี้ นักวิชาการจีนให้นามบัตรเอาไว้ ข้าพเจ้าก็เอาไปเขียนไว้ในสมุดจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์เล่มเก่าซึ่งปัจจุบันเขียนเต็มเล่มและไม่ได้ใช้แล้ว (แต่แปลกที่ไม่หาย) นามบัตรเหล่านั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าก็ไม่เคยติดต่อพวกเขาเลย เมื่อจะเตรียมการเดินทางมามณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าเกิดความคิดว่านอกจากมาดูเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว น่าจะมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีบ้าง แม่น้ำจูเจียงนั้นเป็นแม่น้ำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้จีนตอนใต้ จึงอยากไปศึกษาดู เกิดคิดออกว่าเคยมีที่อยู่ใครที่เคยทำงานโครงการนี้ จึงไปเปิดสมุดเก่าดู พบชื่อคุณหวังลี่หยู ที่ทำงานอยู่ที่โครงการแม่น้ำจูเจียง จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไป


(น.100) รูป 106 สำนักงานชลประทานจูเจียง

(น.100) สอบถามดูว่าเขายังทำงานอยู่หรือเปล่า ปรากฏว่าหาตัวพบและสามารถจัดให้ไปเยี่ยมสำนักงานโครงการได้ แต่จะดูอะไรมากกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะเวลามีน้อย แม่น้ำจูเจียงเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 7 ของจีน ไหลผ่านมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว กวางสี และกวางตุ้ง และยังมีส่วนหนึ่งที่ไหลผ่านประเทศเวียดนามอีกด้วย มีพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทั้งหมดประมาณ 453,700 ตารางกิโลเมตร
โครงการชลประทานลุ่มน้ำจูเจียงเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงชลประทานของจีน มีหน้าที่
1. เป็นหน่วยบริหารงานเกี่ยวกับน้ำในเขตลุ่มแม่น้ำจูเจียง
2. ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน
3. เป็นหน่วยงานบุกเบิกและพัฒนาพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำจูเจียง ในแง่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและป้องกันน้ำท่วม
4. บริหารงานด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับการชลประทานในแม่น้ำจูเจียง

(น.101)
5. รับผิดชอบงานก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับการชลประทานในแถบลุ่มแม่น้ำจูเจียง
คณะกรรมการมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 1,200 คน มีวิศวกรระดับศาสตราจารย์ 15 คน วิศวกรชั้นสูง 119 คน และวิศวกรทั่วไป 307 คน มีอุกรณ์ที่ทันสมัย สามารถวางแผนผังจากการใช้ประโยชน์จากที่ราบลุ่มแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล นอกจากนั้นยังสร้างระบบการจ่ายน้ำระหว่างเมืองจูไห่และมาเก๊าตามโครงการพัฒนาเมืองและความร่วมมือเกี่ยวกับการก่อสร้างงานด้านการชลประทานกับหน่วยงานในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และประเทศไทย เมื่อไปถึงสำนักงาน นายเสวียเจี้ยนเฟิง ประธานคณะกรรมการโครงการชลประทานจูเจียงต้อนรับ พร้อมกับนายหวังลี่หยู วิศวกร (ที่ข้าพเจ้าลองให้หาตัว) นายหลูหุ้ยจาง หัวหน้าสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ของโครงการลุ่มแม่น้ำจูเจียง ไปที่ห้องประชุมมีโต๊ะสี่เหลี่ยม ไทยนั่งฟากหนึ่ง จีนนั่งฟากหนึ่ง คุณเสวียกล่าวต้อนรับ มีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ กล่าวเท้าความถึงการที่คุณหวังลี่หยูได้ไปทำงานวิจัยในประเทศไทยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ไทยในด้านรีโมตเซนซิ่งเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว จีนเริ่มงานด้านรีโมตเซนซิ่งนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ตัวเขาเองได้ไปดูงานนี้ที่เมืองไทยประมาณ ค.ศ. 1993-1994 มีผู้แทนจากจีนไปดูงานด้านนี้ 2 คณะ และร่วมกันทำงานวิจัยในด้านการตกตะกอนและการที่ดินถูกกัดเซาะ ( Sedimentation and Soil Erosion) การทำงานได้รับความร่วมมือจากสภาวิจัยแห่งชาติ ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้

(น.102) โครงการชลประทานแบ่งงานวิจัย ดังนี้
1. งานวิจัยทางด้านอุทกศาสตร์ (Hydraulic Research)
2. การวิจัยโดยใช้ รีโมตเซนซิ่ง (Research on the Application of Remote Sensing Technology)
3. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Instrumentation and Automation Research)
งานที่ศึกษามีหลายอย่าง เช่น การศึกษาเรื่องปากน้ำ (estuary) แม่น้ำจูเจียงในด้านการตกตะกอนที่ทำให้ทางเดินเรือตื้นเขิน การศึกษาเรื่องตะกอนนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างสะพานด้วย ศึกษาในเรื่องตะกอนทางเมืองมาเก๊า ดินแดนที่ได้จากการถมทะเล ท่าเรือใหม่ของมาเก๊า ข้อมูลที่ใช้ในโครงการเหล่านี้ส่วนมากเป็น Landsat MSS และ TM ระหว่าง ค.ศ. 1973-1995 ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ ขึ้นไปชั้นบน ดูเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่อง scan และ printer สีที่ใช้สำหรับข้อมูลรีโมตเซนซิ่ง digitizer นำข้อมูลภาพดาวเทียวจาก CCT (ใช้ทั้งข้อมูลจาก Landsat และ SPOT) มา load ในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลนี้เก็บมาประมาณ 20 ปี ใช้ซอฟต์แวร์หลายอย่าง ที่แสดงให้ดู มีหลายเรื่อง เช่น Dynamic Monitoring of Pearl River Estuary ศึกษาเรื่องการไหลของกระแสน้ำ ปรับปรุงปากอ่าว


(น.102) รูป 107 นิทรรศการที่แสดงในสำนักงานชลประทาน


(น.103) รูป 108 นิทรรศการที่แสดงในสำนักงานชลประทาน

(น.103) เรื่อง Land Reclamation ต้องการศึกษากระแสน้ำเพื่อสร้างคันกั้นน้ำ ให้ดินมาเกาะ เรื่องการวางแผนร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ศึกษาว่าร่องน้ำไหนเป็นร่องน้ำใหญ่ การศึกษาสภาพน้ำ สิ่งแวดล้อมของทะเลรอบเกาะฮ่องกง การวางแผนพัฒนาบริเวณมาเก๊า สร้างฐานข้อมูลสำหรับการติดตามศึกษาเรื่องภัยน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำจูเจียง โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 มีการสำรวจภาคพื้นดินด้วย การเขียนแผนที่ฝั่งทะเล เขียนเส้นระดับ บันทึกระบบน้ำ และฐานข้อมูลต่างๆ ใช้โปรแกรม Photoshop ทำโมเดลทางคณิตศาสตร์ของบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำจูเจียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตะวันตกของมาเก๊า โปรแกรมแสดงผลได้ทั้งเป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง พิมพ์ออกทาเป็นรายงานได้ การศึกษาเรื่องกระแสน้ำที่ไหลเวียนของน้ำในอ่าว น้ำขึ้นน้ำลง เวลาที่กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง การ Calibrate เครื่องมือวัด ดูเสร็จแลกเปลี่ยนของขวัญ คุณหวังลี่หยูให้รูปที่พบกันครั้งก่อน
(น.104) ดูจากหนังสือที่ให้มาเขามีโครงการต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่มาก เช่น เรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ทางชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ไม่มีเวลาอธิบาย ข้าพเจ้าคิดว่าคิดว่าจะบันทึกไว้เพียงเท่านี้ไม่เขียนเรื่องจากหนังสืออีก เพราะจะทำให้เรื่องยาวมาก ผู้ใดสนใจงานด้านนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าโครงการแม่น้ำจูเจียงเป็นโครงการที่เหมาะที่จะไปศึกษาดูงาน