Please wait...

<< Back

สามก๊ก

จากหนังสือ

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 3

(น.3) สำหรับพวกเราประเทศจีนค่อนข้างจะห่างไกลและค่อนข้างจะลึกลับ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราอยากรู้อยากเห็น คงจะเนื่องมาจากที่จีนปิดประเทศ และหลังจากนั้นก็มิได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยมาช้านาน ดังนั้นหนังสือ สามก๊ก เลียดก๊ก ฯลฯ ที่ผู้ใหญ่อ่านออกเสียงเมื่อสมัยเด็กๆกับหนังจำพวกกระบี่ไร้เทียมทาน ศึกสายเลือด ก็ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างภาพเกี่ยวกับเมืองจีนได้ เมื่อนายกรัฐมนตรี จ้าวจื่อหยาง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพเจ้ากับน้องไปเยือนจีน (น.3) รูป 1 ในเครื่องบินถ่ายกับพนักงาน

ย่ำแดนมังกร หน้า 250, 282

(น.250) วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศขมุกขมัว ฝนตก ยังนึกอยู่ว่าจะดูการชลประทานกันอย่างไรถ้าฝนตกอย่างนี้เรารับประทานข้าวเช้าด้วยกันอย่างเคย มีการคุยกันเรื่องสามก๊กฉบับต่างๆ อาหารเช้าวันนี้มีข้าวต้ม มันทอด ไก่ผัดกับ ถั่วแขก ถั่วลิสง ผัดผักกาด ผักกาดดอง เห็ด แตงกวาดอง หมูทอด ไข่ต้ม ขนมปัง หมั่นโถว (ซาลาเปาไม่มีไส้) และขนมอะไรอีกอย่างหนึ่ง (น.282) ข้าพเจ้าถามคุณจางว่าเคยทำงานอะไรมาก่อน เห็นรู้เรื่องต่างๆหลายอย่าง คุณจางบอกว่าเคยทำงานด้านดูแลเยาวชน (อายุ 15-28) มาก่อนสำหรับตัวเธอเองนั้นเมื่ออายุ 15 ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชน เมื่อสมัยก่อนปลดแอกได้ทำงานเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษา ในสมัยต่อต้านญี่ปุ่นไปคัดค้านรัฐบาล เลยถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1945 ถึงสนามบิน เรากล่าวขอบคุณทุกคนที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่พวกเรา เป็นอันว่าเราจากเสฉวน ดินแดนแห่งวรรณกรรมอมตะ “สามก๊ก” เราไม่ได้ยินเรื่องสามก๊กมากนักในการเยือนครั้งนี้ แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ที่ได้เห็นก็มีคุณค่าควรแก่การจดจำ เครื่องบินจากเสฉวนไปคุนหมิงต้องผ่านภูเขามาก ข้าพเจ้าคุยกับท่านหวังหลายเรื่องเลยไม่ค่อยได้ชมทิวทัศน์ การบินครั้งนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่เราจะได้นั่งไปพร้อมกับฝ่ายจีน แม้ว่าเครื่องบินจะพาเราไปส่งที่ฮ่องกง ท่านรัฐมนตรีช่วยหวังคุยให้ฟังว่า หลี่ปิงสร้างชลประทานตูเจียงเอี้ยน ท่านรัฐมนตรีช่วยบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เดิมเป็นหนังยาว และแก้ไขย่อให้ดีแต่สั้นเข้า ท่านหวังบอกว่าดีใจและเสียใจที่ข้าพเจ้ามาเมืองจีน ดีใจที่ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เห็นเมืองจีนแต่ก็เสียใจที่ข้าพเจ้ามาน้อยเกินไป ไม่ได้เห็นเท่าที่ควร แต่ก็ไม่เป็นไร จีนทำหนังเกี่ยวกับการเกษตรมาก ถ้าต้องการเรื่องใดจะส่งให้ได้ ต้องจำเอาไว้ว่าจะคิด

ย่ำแดนมังกร หน้า 377

(น.377)
พระราชดำรัสของ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เนื่องในวโรกาสที่ทางการมณฑลเสฉวน และนครเฉิงตู
จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ นครเฉิงตู
วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2524
ท่านผู้ว่าราชการมณฑลเสฉวน ลู่ต้าตง
ท่านนายกเทศมนตรีนครเฉิงตู เฝิงหรูซิ่ว
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจยิ่งในการมาเยือนนครเฉิงตู ซึ่งเป็นนครที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อนเฉิงตูก็มีตำแหน่งสำคัญในประวัติศาสตร์โดยเป็นเมืองหลวงในสมัย “จ้านกว๋อ” ข้าพเจ้าเองคุ้นเคยกับชื่อเฉิงตูเมื่อได้อ่านวรรณคดีจีน สามก๊ก (หรือ ซานกว๋อเหยี่ยนอี้) และทราบว่าเฉิงตูเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร “สู่” ของ “เล่าปี่” หรือ “หลิวเป้ย” เข้าใจว่าในปัจจุบันเฉิงตูยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม วัฒนธรรมและการศึกษาในภาคตะวันตกเฉียงใต้ และผู้นำจีนสำคัญอย่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จ้าวจื่อหยาง เคยแสดงความสามารถในด้านการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจในภาคนี้ เมื่อคราวดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลเสฉวน ข้าพเจ้าและคณะมีความตั้งใจที่จะศึกษาถึงความยิ่งใหญ่ของมณฑลนี้ และความสามารถของชาวเสฉวนในระยะเวลาอันสั้นที่เราพำนักอยู่ที่นี่ ขอขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและขอขอบคุณ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 363

(น.363)
ราชวงศ์ที่ปกครองจีน 1. ราชวงศ์เซี่ย ประมาณก่อน ค.ศ. 2205 – 1766 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1994 – 1523
2. ราชวงศ์ซาง ประมาณก่อน ค.ศ. 1766 – 1122 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1523 – 1027
3. ราชวงศ์โจว ประมาณก่อน ค.ศ. 1122 – 770 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1027 – 770
4. ยุคชุนชิว ก่อน ค.ศ. 770 – 476
5. ยุคจ้านกว๋อ ก่อน ค.ศ. 476 – 221
6. ราชวงศ์ฉิน ก่อน ค.ศ. 221 – 206
7. ราชวงศ์ฮั่น ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 220
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8 หวังหมางยึดอำนาจ (ราชวงศ์ซิน) ค.ศ. 8 – 23 ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ค.ศ. 25 – 220
8. สมัยสามก๊ก ค.ศ. 220 – 265
ราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ ตั้งเมืองหลวงที่ลั่วหยาง) ค.ศ. 220 – 265 ราชวงศ์สู่หรือสู่อั่น (ก๊กของเล่าปี่ ตั้งเมืองหลวงที่เฉิงตู) ค.ศ. 221 – 263 ราชวงศ์หวู (ก๊กของซุนกวน ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง) ค.ศ. 222 – 280

(น.364) 9. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 ราชวงศ์นี้สามารถรวบรวมประเทศจีนหลังสมัยสามก๊กให้เป็นปึกแผ่นอยู่ประมาณ 50 ปีเศษ
10. ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ (สมัยแห่งการแตกแยกทางการเมือง)
ราชวงศ์ใต้ ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ค.ศ. 317 – 420 ราชวงศ์นี้สืบสันตติวงศ์มาจากราชวงศ์จิ้นตะวันตก ใน ค.ศ. 317 อพยพหนีการรุกรานของพวกอนารยชน 5 ชนเผ่ามาอยู่ทางใต้ และมาตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง
ราชวงศ์หลิวซ่ง ค.ศ. 420 – 479
ราชวงศ์ฉีใต้ ค.ศ. 479 – 502
ราชวงศ์เหลียง ค.ศ. 502 – 557
ราชวงศ์เฉิน ค.ศ. 557 – 589 ราชวงศ์ต่าง ๆ ทางภาคใต้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิง เมื่อรวมกับราชวงศ์หวูของซุนกวน ซึ่งเคยตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิงเหมือนกัน จะมีจำนวนทั้งหมด 6 ราชวงศ์ จึงเรียกราชวงศ์ทางใต้รวมกันว่า ราชวงศ์เหนือใต้ หรือหกราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์หวู จิ้นตะวันออก หลิวซ่ง ฉีใต้ เหลียง และเฉิน

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 3

(น.3) 3. ราชวงศ์โจว ประมาณก่อน ค.ศ. 1122 – 770 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1027 – 770
4. ยุคชุนชิว ก่อน ค.ศ. 770 – 476
5. ยุคจ้านกว๋อ ก่อน ค.ศ. 476 – 221
6. ราชวงศ์ฉิน ก่อน ค.ศ. 221 – 206
7. ราชวงศ์ฮั่น ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 220
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8 หวังหมางยึดอำนาจ (ราชวงศ์ซิน) ค.ศ. 8 – 23 ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ค.ศ. 25 – 220
8. สมัยสามก๊ก ค.ศ. 220 – 265
ราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ ตั้งเมืองหลวงที่ลั่วหยาง) ค.ศ. 220 – 265 ราชวงศ์สู่หรือสู่ฮั่น (ก๊กของเล่าปี่ ตั้งเมืองหลวงที่เฉิงตู) ค.ศ. 221 – 263 ราชวงศ์หวู (ก๊กของซุนกวน ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง) ค.ศ. 222 – 280
9. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 ราชวงศ์นี้สามารถรวบรวมประเทศจีนหลังสมัยสามก๊กให้เป็นปึกแผ่นอยู่ประมาณ 50 ปีเศษ
10. ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ (สมัยแห่งการแตกแยกทางการเมือง)

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 106

(น.106) นั่งสักพักมีสาวสวยใส่กี่เพ้าแนะนำตัวว่าเป็นไกด์ พรรคพวกเรามีแต่สงสัยว่า ใส่กี่เพ้าแบบนี้อุตส่าห์เดินขึ้นเขามาได้ ที่จริงรู้สึกว่าเขาจะเดินขึ้นมาชุดธรรมดา แล้วมาเปลี่ยนข้างบน มีแผ่นหินเขียนกลอนไป๋ตี้เฉิงเป็นลายมือโจวเอินไหล ไปไป๋ตี้เมี่ยว มีศาลาสร้างขึ้น ค.ศ. 1984 ทำหุ่นเรื่องสามก๊กมีหลายตอน เช่น ตอน ค.ศ. 219 กวนอูไปเฝ้าพระเจ้าเล่าปี่ ตอนนั้นพระเจ้าเล่าปี่อยู่ในป่า ลู่ซุ่น (ลกซุ่น) ส่งทหารมาเผาป่า พระเจ้าเล่าปี่แพ้หนีเข้าไป๋ตี้ซึ่งสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกว่าเป๊กเต้ ค.ศ. 223 พระเจ้าเล่าปี่ประชวรหนักจึงส่งหนังสือไปเฉิงตู ขอให้ขงเบ้งมาหาแล้วฝากลูก 2 คน ให้ถือขงเบ้งเป็นพ่อ เมื่อมอบลูกให้แล้ว 2 เดือนเล่าปี่ก็ตาย สถานที่ตายจริง ๆ ขณะนี้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูที่เฟิ่งเจี๋ย เรื่องนี้สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนอยู่ตอนที่ 66

(น.106) รูป 94 หุ่นรูปสามก๊ก ตอนพระเจ้าเล่าปี่ประชวรหนัก

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 160

(น.160) เรือผ่านเมืองเกงจิ๋ว (เรียกตามสามก๊กของไทย) ภาษาจีนกลาง เรียกว่า จิงโจว เป็นบ้านเกิดของจอมพลเฮ่อหลง (ที่กล่าวถึงที่ฉงชิ่ง) แต่เขาไปคัดค้านโครงการก้าวกระโดดไกลของท่านประธานเหมา จึงประสบปัญหา พรรคคอมมิวนิสต์ประชุมกันที่หลูซานใกล้ ๆ กับตรงนี้ ถือว่าเป็น “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานเหมาชอบไปพักร้อน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นเมืองใหญ่มาก แล่นเรือตั้งนานยังไม่หมด

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 163 - 164, 166, 171, 177

(น.163) วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2539
เรือทอดสมอเวลาตีสี่ครึ่ง พอเริ่มมีแสงสลัว ๆ ข้าพเจ้าออกไปข้างนอก แม่น้ำกว้างมากจนเหมือนกับเป็นปากน้ำ ที่ฝั่งเป็นทุ่งหญ้า เห็นป่าอยู่ลิบ ๆ ท้องฟ้ามืดมีเมฆฝน 08.00 น. ไปชื่อปี้ อำเภอผู่ฉี มีนายกเทศมนตรีและคนอื่น ๆ มารับ ไกด์อธิบายว่า เชื่อกันว่าแม่น้ำตรงนี้เป็นที่ที่โจโฉแตกทัพเรือ แม่น้ำกว้างใหญ่มาก สามก๊กเรียกว่าทะเลเสียด้วยซ้ำ มีพิพิธภัณฑ์ ปักธงสามสี สีเหลืองหมายถึง ก๊กโจโฉ สีแดงหมายถึง ก๊กเล่าปี่ สีเขียวหมายถึง ก๊กซุนกวน ตัวพิพิธภัณฑ์รูปร่างเหมือนป้อมค่ายโบราณ มองจากข้างบนเป็นโป้ยก่วย คือ ยันต์ 8 ทิศของจีน เขาบอกว่านักท่องเที่ยวที่มามากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เพราะว่าต้องการมาศึกษายุทธศาสตร์จีนโบราณเพื่อไปปรับปรุงการค้า

(น.164) รูป 150 แผนที่ในพิพิธภัณฑ์แสดงสถานที่ตอนโจโฉแตกทัพเรือที่ชื่อปี้ ข้างในเป็นห้องโถงใหญ่ มีเสื้อผ้านักรบโบราณที่ใช้ในหนังเรื่องสามก๊กแขวนไว้ ให้คนเช่าแต่งตัวถ่ายรูป มีแผนที่ 3 รูปใหญ่เต็มผนัง แสดงแคว้นต่าง ๆ ของขุนศึกปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ก่อนสามก๊ก) แผนที่แสดงการลุกฮือของกบฏชาวนาสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และแผนที่แสดงสถานที่ตอนโจโฉแตกทัพเรือที่ชื่อปี้

(น.166) มีห้องหุ่นขี้ผึ้งเรื่องสามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือ แยกเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้อง ในห้องแรกขงเบ้งเกลี้ยกล่อมก๊กซุนกวนและบรรดาเสนาธิการให้มาเป็นพันธมิตร โจโฉยกทัพมาแปดแสนคน ในการรบที่ผ่านมาซุนกวนมักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้กำลังใจไม่ดีนัก แต่ขงเบ้งพูดในที่ประชุมว่ารู้ตัวเอง รู้ศัตรูจึงจะชนะได้ (อ้างคำพูดซุนหวู่) แล้วชี้ให้เห็นว่าโจโฉมีจุดอ่อนอยู่ 4 ประการคือ 1) ทหารของโจโฉคุ้นเคยแต่การรบบนบก ไม่สันทัดการรบทางเรือ (อาจจะเมาเรือ) 2) ทัพโจโฉเดินทางมาแต่ไกล เหมือนลูกธนู แล่นมาจากที่ไกล ๆ ไม่มีทางทะลุผ้าไหมบาง ๆ 3) การส่งกำลังบำรุงไม่ทัน

(น.171) รูป 159 ศาลาอี้เจียงถิง อีกฝั่งเป็นเมืองอูหลิง ที่ตั้งทัพโจโฉ เมืองอูหลิงนี้แบ่งเป็นสามส่วน คือตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย เรือรบโจโฉอยู่แถวอูหลิง ตอนต้นโจโฉก็มาฝึกเรือแถวนี้ ลำใหญ่จอดด้านนอก ลำเล็กอยู่ด้านใน จิวยี่แอบดูอยู่อีกฝั่ง น้ำตรงนี้เป็นน้ำหมุน เรือถูกเผา ศพลอยอยู่บริเวณนี้ ไม่ไหลไปที่อื่น แถวนี้มีที่ฝั่งศพม้า ขุดไปพบกระดูกม้า ข้าพเจ้าเห็นจะไม่เขียนเล่าเรื่องโจโฉแตกทัพเรือในที่นี้ เพราะยาวมาก ถ้าผู้อ่านสนใจ อ่านในสามก๊กได้ ใกล้ ๆ แถวนี้ มีวนอุทยานน้ำ เรียกว่า วนอุทยานลู่สุ่ย เป็นชื่อของขุนพลก๊กซุนกวน ซึ่งมาเลี้ยงม้าแถวนี้ ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ 600 กว่าเกาะ มีรูปต่าง ๆ บริเวณประมาณ 110 ตารางกิโลเมตร มีทะเลสาบซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำฉางเจียง มีน้ำพุร้อนเป็นน้ำแร่ซึ่งแก้เบาหวาน แก้ความดันสูง มีบ้านพัก 3 ดาว ท่าเทียบเรือทำเป็นรูปเรือบัญชาการของจิวยี่ หลังคามีรูปนกจูช่วย เป็นนกสีแดง ก่อนกลับ เขาให้ของขวัญเป็นใบชาและแสตมป์รูปสามก๊ก

(น.177) ไปที่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำหอจำลองนกกระเรียนเหลืองในสมัยต่าง ๆ เล่าประวัติว่าหอนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊กประมาณ ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเป็นหอดูข้าศึก เขาเล่าเรื่องสามก๊กตอนเล่าปี่ตีกังตั๋ง เรื่องกวนอูฆ่าตัวตาย
สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก
สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ใหญ่เหมือนราชวงศ์ถัง
สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงคือ เอาไว้ดูข้าศึก

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 228

(น.228) ด้านตะวันออก มณฑลนี้มีประชากรราว 60.31 ล้านคน มีพื้นที่ 140,000 ตารางกิโลเมตร แม่น้ำฉางเจียงไหลผ่านมณฑลอันฮุยราว 400 กว่ากิโลเมตร และแม่น้ำหวายเหอก็ไหลผ่านด้วย นอกจากนั้นยังมีแม่น้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำฉางเจียงอีกหลายสาย มณฑลอันฮุยมีเหล็กกล้า ถ่านหิน ทองคำ ทองแดง ดินดีอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการเกษตรดี ที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ การท่องเที่ยว ที่อันฮุยนี้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีพื้นที่ภูเขา ที่ราบ และเนินเขา เหนือแม่น้ำหวายเหอเป็นที่ราบ มีภูเขาเทือกใหญ่ ๆ ภูเขาที่สวยงามที่สุดในโลก มีหินแปลก ทะเลเมฆ น้ำพุร้อน มีคำกล่าวว่า ในประเทศจีนมีภูเขา 5 แห่งที่งามที่สุด ไปเที่ยวทั้ง 5 แห่งนี้แล้วไม่ต้องไปที่อื่น แต่ถ้าไปหวงซานแล้วก็ไม่ต้องไปที่ภูเขา 5 แห่ง ภูเขาอีกแห่งที่มีชื่อเสียงคือ ภูเขาจิ่วหัวซาน เป็นภูเขาที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา 1 ใน 4 ของจีน เป็นสถานที่ประทับของพระโพธิสัตว์กษิติครรภ (ตี้จ้าง) ตอนนี้มณฑลอันฮุยมีเศรษฐกิจดี ตั้งแต่ค.ศ. 1992 รายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ถ่านหิน เหล็กกล้า เครื่องยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาทางการค้าระหว่างประเทศ ได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ 23 ประเทศในภูมิภาค ไทยก็มาลงทุน ตอนนี้ยังไม่มีการลงทุนมากนัก ต้องพยายามส่งเสริมในเรื่องนี้ การส่งออกของมณฑลก็ดีขึ้นมากราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ คนอันฮุยเป็นมิตรกับไทย ผู้นำหลายคนได้เคยมาเยือนไทยแล้ว นั่งโต๊ะอาหาร มีเหล้าเรียกว่า กู๋จิ่งก้ง เล่ากันว่าเป็นเหล้าพิเศษที่โจโฉถวายพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ (พระเจ้าเหี้ยนเต้ในสามก๊กฉบับแปลภาษาไทย)

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 12

(น. 12) อายุหลายพันปี มีฤทธิ์สามารถแปลงกายเป็นสาวงามมาเป็นภรรยาของนักศึกษาผู้หนึ่ง คือ สวี่เซียน เจ้าอาวาสวัดจินซานชื่อ พระฝาไห่ ไม่เห็นด้วยว่า ปีศาจจะมาสมสู่อยู่กับมนุษย์ได้อย่างไร จึงพยายามกีดกัน นางพญางูเคยทำให้น้ำท่วมวัดจินซาน แสดงว่าวัดนี้เคยจมน้ำอยู่หนหนึ่ง ภายหลังนางพญางูขาวพ่ายแพ้ฤทธิ์ของพระฝาไห่ ถูกครอบไว้ในเจดีย์ถึง 19 ปี จนลูกชายมาช่วย จึงออกจากเจดีย์ได้ ข้าพเจ้าเคยอ่านเรื่องนี้ที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยพิมพ์รวมเล่มนิทานจีน แต่ลืมรายละเอียดไปแล้ว สมัยสามก๊กบ้านเกิดของท่านเคยเป็นเมืองหลวงของง่อก๊ก (หรืออู๋กั๋วของซุนกวน) มีอยู่คราวหนึ่ง ง่อก๊กพยายามรวมกับจ๊กก๊ก (หรือสู่กั๋วของเล่าปี่) เพื่อไปตีวุ่ยก๊ก (หรือเว่ยกั๋วของโจโฉ) โดยจะให้เจ้าหญิงง่อก๊กแต่งงานกับพระเจ้าเล่าปี่แห่งจ๊กก๊ก แต่การรวมก๊กก็ไม่สำเร็จ การแต่งงานแบบนี้ถือว่าเป็นการสมรสทางการเมือง งิ้วชอบแสดงเรื่องนี้ อีกตอนหนึ่งที่งิ้วชอบแสดงคือเรื่องจับโอรสเล่าปี่ แต่หนีไปได้ (เห็นจะเป็นตอนจูล่งมาช่วย) อีกวัดหนึ่งเป็นสถานที่ที่มีกวีมาเขียนกลอน เช่น ซูซื่อหรือซูตงปัว (ค.ศ. 1037? – ค.ศ. 1101) กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – ค.ศ. 1279) นอกจากนั้นในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – ค.ศ. 589) ซึ่งเป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมืองเป็นราชวงศ์ทางเหนือและทางใต้ รวมทั้งมีราชวงศ์ปกครองสืบต่อกันทางเหนือ – ใต้หลายราชวงศ์นั้น ราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502 – ค.ศ. 557) ซึ่งอยู่ทางใต้ ก็มีเจ้านายองค์หนึ่งไม่สนใจการเมือง ชอบแต่การแต่งบทกวี ได้มาแต่งไว้ ข้าพเจ้าจะได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ซึ่งเล่าประวัติของเมืองหลายยุคหลายสมัย

เจียงหนานแสนงาม หน้า 147

(น. 147) ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีผู้แปลพงศาวดารและนวนิยายจีนเป็นภาษาไทย เรื่องที่รู้จักกันดีที่สุดคือเรื่องสามก๊กซึ่งถือกันว่าฉบับแปลภาษาไทยนี้เป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่ไพเราะที่สุดเล่มหนึ่ง คนไทยชอบอ่านนวนิยายจีนแปลไทยมาก ชอบให้เด็กใช้หัดอ่าน ปัจจุบันนี้คนไทยอาจชอบดูภาพยนตร์จีนกำลังภายในจากโทรทัศน์มากกว่า สมัยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าพาณิชย์ที่รุ่งโรจน์ มีพ่อค้าและหมอสอนศาสนาจากประเทศต่างๆ ในเอเชียและยุโรปมาพักอยู่ในกรุง ตั้งเป็นหมู่บ้าน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 209

(น. 209) อีกม้วนหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นสมุดเซ็นเยี่ยมสมัยก่อน มีคนสมัยหลังเขียนชมภาพที่เจียงไคเช็คเขียนก็มี หลวงปู่อ่านเป็นสำเนียงพื้นเมือง ฟังแล้วเพราะดีกว่าใช้ภาษาจีนกลางเสียอีก แต่ฟังไม่ออก ท่านขอให้ข้าพเจ้าเขียนตัวอักษรให้ท่าน ข้าพเจ้าเขียนว่า จินซานซื่อ (วัดจินซาน) ท่านเขียนให้ข้าพเจ้าว่า โฝซิน แปลว่า โพธิจิต (ซึ่งเป็นหลักของนิกายฉานจง) ข้าพเจ้าบริจาคเงิน ท่านจะให้ใบอนุโมทนา แต่ยังหาไม่เจอ กลับลงไปที่รถท่านทูตจังเหลียนยังไม่มา ได้ความว่าขอให้หลวงปู่เขียนตัวอักษรให้เหมือนกัน กลับไปที่โรงแรม ค่ำนั้นนายกเทศมนตรีเลี้ยงรับรอง ได้กล่าวต้อนรับในนามประชาชน 2,560,000 คน ข้าพเจ้าเป็นมิตรเก่าที่ชาวจีนรู้จักดี ปีที่แล้วคณะของท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงได้พบกับข้าพเจ้า และวันนี้ข้าพเจ้าก็ได้มาที่บ้านเกิดของท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศถังเจียเสวียนด้วย ทำให้รู้สึกเป็นกันเองยิ่งขึ้น เมืองนี้ขึ้นตรงกับรัฐบาลมณฑล มีเนื้อที่ 3,843 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,560,000 คน แบ่งการปกครองเป็นเมืองระดับอำเภอ 3 เมือง และเขตอีก 2 เขต เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน สมัยสามก๊กช่วงหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ของซุนกวน ที่เป่ยกู้ซานมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ เล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของซุนกวน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 229 - 231, 233

(น. 229) ทางขึ้นวัดกานลู่ ทำเป็นทางเดินมีหลังคาคลุม ในหนังสือเรื่องสามก๊กกล่าวถึงระเบียงทางขึ้นนี้ด้วย แต่ที่เห็นอยู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ตรงทางขึ้นใกล้ถึงวัด มีจารึกศิลาเขียนว่า เทียนเซี่ยตี้อีเจียงซาน แปลว่า ทิวทัศน์เป็นที่หนึ่งแห่งแผ่นดิน จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ. 502 – 519) เคยพูดถึงเขาเป่ยกู้ซานว่าเพิ่มความสง่างามให้แก่เมืองเจิ้นเจียง ลายมือตัวหนังสือที่เขียนบนแผ่นหินนั้นเขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ฝีมืออู๋จวี แต่มาจารึกบนหินสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง ขึ้นไปข้างบนมองเห็นวิวเมืองเจิ้นเจียงได้ดี เห็นอู่ต่อเรืออยู่ข้างๆ

(น. 230) ไปถึงวัดกานลู่ ไม่มีหอจตุโลกบาลแบบวัดอื่นที่เห็น มีวิหารไม่ใหญ่นัก มีพระพุทธรูป 3 องค์ พระพุทธรูปจริงถูกทำลายไปนานแล้ว มีรูปหุ่นเป็นเรื่องในสามก๊กเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หุ่นเล่าเรื่องเล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของซุนกวน มีรูปเล่าปี่หารือกับขงเบ้ง แม่ของซุนกวนออกมาดูตัวเล่าปี่ เดิมที่วางแผนเรื่องการแต่งงานนั้น แม่ไม่รู้เรื่องเลยเนื่องจากเป็นกลอุบายของจิวยี่ที่จะลวงเล่าปี่มาขังเป็นตัวประกัน ไม่ได้จะให้น้องสาวไปจริง แม่จึงโกรธซุนกวน และพ่อสื่อซึ่งเป็นญาติของซุนกวน เมื่อนัดมาดูตัวกันที่วัดกำลอหรือกานลู่ ดูลักษณะก็รู้ว่าเป็นผู้มีบุญคือ หูยาว แขนยาว จึงยอมให้แต่งงาน และคอยพิทักษ์รักษาไม่ให้เล่าปี่เป็นอันตราย แม่ซุนกวนรู้เรื่องแต่งงานนี้ก็ด้วยกลอุบายของขงเบ้งที่บอกแก่จูล่งไว้

(น. 231) รูป 170 หุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนเล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวซุนกวน หุ่นพวกนี้มีลักษณะเหมือนหุ่นที่ไป๋ตี้เฉิง เมืองวั่นเซี่ยน มณฑลเสฉวน (ที่ข้าพเจ้าล่าไว้ในหนังสือเย็นสบายชายน้ำ) เรื่องโดยละเอียดของตอนนี้อยู่ในตอนที่ 45 ของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

(น. 233) ลงจากหอไปที่ศาลาจี้เจียงถิง เป็นศาลาที่น้องสาวซุนกวนขณะนั้นอยู่เมืองกังตั๋ง สร้างเป็นที่ระลึกถึงเล่าปี่เมื่อได้ข่าวลือว่าตายในที่รบ ก่อนที่นางจะกระโดดน้ำตายตามไปด้วย ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 65 กล่าวไว้ว่า ฝ่ายนางซุนฮูหยินอยู่ในเมืองกังตั๋ง ได้ยินเขาลือว่าพระเจ้าเล่าปี่แตกแล้วทหารล้มตายเป็นอันมาก ตัวก็ตายอยู่ในที่รบ ก็สงสารร้องไห้รักพระเจ้าเล่าปี่ผู้ผัวแล้วคิดว่าเกิดมาเป็นหญิงจะให้มีชายต้องถึงสองคนก็ไม่ควรนัก บัดนี้ผัวเราก็ตายแล้ว จะอยู่ไปก็เรื่องเป็นราคีอายแก่คนทั้งปวง คิดแล้วก็ขึ้นรถขับไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโจนลงแม่น้ำตาย คนทั้งปวงก็สรรเสริญนางซุนฮูหยินเป็นอันมาก ที่จริงตอนนั้นเล่าปี่ยังไม่ตาย ไปเจ็บตายภายหลังที่เมืองเป๊กเต้หรือไป๋ตี้เฉิง ดูเสร็จแล้วกลับโรงแรม รับประทานอาหารกลางวัน แล้วเดินทางไปซูโจว ขึ้นทางด่วนซึ่งเพิ่งสร้างใหม่เรียบดี มีป้ายบอกจำกัดความเร็วรถเก๋ง 120 รถบัส 110 รถบรรทุก 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีป้ายบอกให้ขับทิ้งระยะกัน 200 เมตร มีป้ายเทียบระยะให้ดูด้วย ผ่านเมืองฉังโจว ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม รถแล่นไปทางเดียวกับถนนไปเซี่ยงไฮ้ ระหว่างทางเจอรถขนหมูที่ส่งหมูไปขายเซี่ยงไฮ้ถึง 5 คัน บ้านเรือนชาวบ้านแถวนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพิเศษ หลังคาเหมือนกับมีช่อฟ้า ผ่านอู๋ซี ถึงซูโจวแล้วไปที่สวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park SIP)

เจียงหนานแสนงาม หน้า 320

(น. 320) เล่าเรื่องมาเสียยาวขอกลับเข้าเรื่องพิพิธภัณฑ์ หลู่ซวิ่นไปเป็นครูที่หังโจวใน ค.ศ. 1909 พิพิธภัณฑ์แสดงการทำภาพพืชอัดแห้ง หนังสือเรียน ค.ศ. 1912 ไปปักกิ่ง ได้พบกับอาจารย์ไช่หยวนเผยอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่งในตอนนั้น ค.ศ. 1927 ไปกว่างโจว ในปีนั้นเจียงไคเช็กก่อการรัฐประหาร หลู่ซวิ่นไม่พอใจ เลยไปอยู่เซี่ยงไฮ้ และอยู่ที่นั่นต่อมาจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1936 ข้าพเจ้าได้ไปบ้านหลู่ซวิ่นและพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่นที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ผู้สนใจรายละเอียดดูได้ในหนังสือ “เย็นสบายชายน้ำ” ห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมหนังสือต่างๆ เดินไปโรงเรียนซานเว่ย โรงเรียนนี้หลู่ซวิ่นเรียนเมื่ออายุ 12 – 17 ปี เป็นที่ปูพื้นฐานด้านภาษาจีน ซึ่งเป็นประโยชน์กับชีวิตในอนาคตมาก โรงเรียนนี้เป็นสถานศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเซ่าซิงสมัยราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าถามผู้บรรยายว่าชื่อโรงเรียนซานเว่ยซึ่งแปลตามศัพท์ว่าโรงเรียนสามรสชาตินั้น ฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามีความหมายอะไรอีก ผู้บรรยายอธิบายว่าแต่เดิมโรงเรียนชื่อ ซานอวี๋ ซาน แปลว่า สาม อวี๋ แปลว่า เวลาว่าง เหลือ เกิน คำนี้มาจากคำกล่าวของต่งอวี้ในสมัยสามก๊กที่กล่าวว่า ตงเจ่อซุ่ยจืออวี๋ เยี่ยเจ่อรื่อจืออวี๋ อินอวี่เจ่อ ฉิงจืออวี๋ แปลว่า ฤดูหนาวเป็นเวลาว่างของปี ค่ำคืนคือเวลาว่างของวัน ช่วงฝนตกครึ้มเป็นเวลาว่างของยามอากาศสดใส จึงควรใช้เวลาว่างนี้ศึกษาหาความรู้ให้เป็นประโยชน์ คุณปู่ของอาจารย์ของหลู่ซวิ่นชอบคำกล่าวนี้ จึงตั้งชื่อโรงเรียนว่า ซานอวี๋ (สามเวลาว่าง)

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 9

(น.9) ฉันชอบดื่มชาจีน จึงถามว่าชาที่มณฑลนี้มีหรือไม่ ได้ความว่าปลูกอยู่ทางใต้ของมณฑล เป็นชาเขียวเรียกว่า ชิงฉา มีประโยชน์ต่อร่างกาย เขาว่าบุหรี่ของมณฑลก็มีคุณภาพดี โรงงานที่เหยียนอานมีกำลังผลิตได้ปีละ 300,000 กล่อง แต่ผลิตจริงแค่ 100,000 กล่องเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจำกัดบุหรี่ ตอนที่สร้างทางรถไฟซีอาน-เหยียนอาน บริษัทผลิตบุหรี่ให้เงินกว่า 50 ล้านหยวนแก่กระทรวงรถไฟจีน อาหารคืนนี้มีออร์เดิฟ ซุปหูฉลาม กุ้งอบ ปลานึ่ง เนื้อทอด ผักต่างๆ ผัด ผลไม้ เส้นบะหมี่ที่เรียกว่าฉีซาน ขนม 2 ชนิดและผลไม้ เขาเล่าประวัติว่าสมัยMedia:สามก๊ก ฉีซานเป็นภูเขาที่ขงเบ้งนำทหารสู้ข้าศึกถึง 6 ครั้ง มีเสบียงอาหารพอเพราะพวกผู้หญิงที่นี่ทำบะหมี่เก่ง เลี้ยงดูได้ทั้งกองทัพ ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า รับประทานแล้ว กลับห้อง ต่อคอมพิวเตอร์ไม่ได้อีกแล้ว เขียนบรรยายได้แค่นี้ล่ะจ๊ะ พรุ่งนี้น่าจะมีเรื่องเล่ายาวหน่อย คิดถึง

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 220

(น.220) ส่วนข้าพเจ้าฟังเทปเพลงหุ่นกระบอกสามก๊กที่ครูสิริชัยชาญส่งมาให้ พลางเขียนคำปราศรัยขอบคุณมหาวิทยาลัยปักกิ่งในวันเลี้ยงอำลา เรียนมา 4 อาทิตย์แล้วจะต้องพูดให้ได้เรื่องได้ราวดีกว่าเมื่อวันแรกมา ข้าพเจ้าเขียนหนังสือจีนช้ามากยังใช้ไม่ได้ ขนาดมาอยู่นี่แล้วยังฝึกน้อยเกินไป เขียนไปเขียนมาพวก “แขก” ที่จะมารับประทานข้าวมาแล้ว คุณดอนไปรับประทานกับคุณชายดิศนันดา พี่หนูเล็ก อารยา อึ่ง พี่ไก่ อ้วน ซุป ประพจน์ ก็เลยมากัน มีอาหารสถานทูตและอาหารจานเด็ดของข้าพเจ้าอย่างเดิมคือ ไก่กระเทียมพริกไทยรากผักชีใส่น้ำมันหอย ผัดผักใส่แบรนด์ ที่แปลกคือไข่เจียวหมูสับ ไอศกรีมพี่ไก่ซื้อมา กาแฟดอยตุง เสร็จแล้วออกไปเดินเล่นรอบหนึ่งขึ้นมาสักพัก จึงกลับกันไป