Please wait...

<< Back

หลานโจว

จากหนังสือ

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 118

(น.118) มีภาพผู้นำมาตรวจงานชลประทาน เช่น ท่านประธานเหมา หลิวเซ่าฉี จูเต๋อ และโจวเอินไหล เรื่องการควบคุมน้ำท่วม ต้องควบคุมน้ำแข็งคือ ธารน้ำแข็งในหนิงเซี่ยและมองโกเลียใน ซึ่งอาจจะทำให้น้ำท่วมในฤดูร้อน เขาใช้วิธีทำฝาย ส่วนวิธีการที่ไม่ใช่ทางวิศวกรรมนั้นก็คือ การบริหาร การติดต่อกับคนเพื่อสร้างความเข้าใจ และการใช้ระบบ microwave ส่งข่าว สมัยก่อน (เขื่อนซานเหมินเสีย ค.ศ. 1957-1966) ไม่ได้คิดเรื่องเขื่อนที่แก้ปัญหาตะกอน ยังสร้างไม่ทันเสร็จดี มีตะกอนมาถมเสียครึ่งหนึ่งแล้ว ในระยะหลังมีเทคโนโลยีดีขึ้น จึงใช้วิธีทำอุโมงค์ให้ตะกอนไหลออกไป และมีการแก้ไขการกัดเซาะด้วย เรื่องการใช้น้ำก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีเขตแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งอยู่เป็นบริเวณกว้าง การส่งน้ำต้องใช้ท่อส่งน้ำไป การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างโรงไฟฟ้าในมณฑลส่านซี เมืองหลานโจวในมณฑลกานซู่ และที่หลงหยังเสียเป็นที่ใหญ่ที่สุด

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนจีนถิ่นโพ้นทะเล หน้า 70

(น.70) รถไฟมี 3 สาย และกำลังก่อสร้างเส้นทางเวินโจว-ฝูโจว หลานโจว-หลงเหยียน อีกสายกำลังสำรวจ

เยือนจีนถิ่นโพ้นทะเล หน้า 192

(น.192) รูป
(น.192) ขึ้นไปชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์เรือจีน จัดแสดงตั้งแต่เรือสมัยหินใหม่ที่ขุดพบในสุสาน แสดงความแตกต่างของเรือที่เรียกว่า โจว กับที่เรียกว่า ฉวน แสดงแผนที่บริเวณที่ขุดพบเรือโบราณ เรือทิเบตชนิดที่ใช้หนังจามรีขึง (หนังยังมีขน) เรือไม้ขุด แพหนังแพะชนิดที่ข้าพเจ้าเห็นเขาใช้กันในหนิงเซี่ยพิพิธภัณฑ์ซื้อจากเมืองหลานโจว เป็นแพที่ใช้ทั่วไปในแถบแม่น้ำหวงเหอ เรือที่ใช้กันที่เมืองเซ่าซิง (มณฑลเจ้อเจียง) เรือสำราญของจักรพรรดิสุยหยังตี้ เป็นเรือพระที่นั่ง ใช้คนลาก 80,000 คน เพราะทั้งขบวนเสด็จมีเรือ 2,000 กว่าลำ มีเรือของจักรพรรดิที่ใช้สาวอายุ 15 ปี ประมาณ 200-300 คนลากเรือเดินทะเล

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 28

(น.28) ท่านเล่าว่าได้เป็นประธานปล่อยปลาที่สวนหลวง ร.9 ถามถึงกำหนดการเดินทาง แล้วท่านอธิบายให้ฟังว่าเส้นทางแพรไหมนี้มีสมบัติทางวัฒนธรรมอยู่มาก น่าเสียดายที่ถูกชาวต่างประเทศมาลักไป ทำลายเสียหายเสียมากมาย แสดงให้เห็นโทษของการขาดความรู้ และอำนาจทางการเมือง ที่หลานโจวมีโรงไฟฟ้าใหญ่ มีแม่น้ำหวงเหอซึ่งทำให้ไฟฟ้าและใช้ในการชลประทานได้ เฉพาะที่หลานโจวก็มี 6 แห่ง ถึงแม่น้ำหวงเหอจะหล่อเลี้ยงประเทศจีน แต่ในอดีตก็นำภัยพิบัติมาให้มาก ครั้งสุดท้าย ใน ค.ศ. 1937 ท่านเล่าถึงการส่งจรวดนำดาวเทียมโทรคมนาคมเมื่อคืนนี้ ปรับระบบ 4 วัน และใช้ได้ใน 15 วัน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 73

(น.73) ประมาณ 5,000 คนร่วมโครงการ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งจะมาเมืองจีนในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสำรวจเส้นทางแพรไหมเป็นเวลา 40 วันโดยทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมามีการประชุมที่เมืองอิสลามาบัด ปากีสถาน เรื่องการสำรวจเส้นทางแพรไหม ที่พิพิธภัณฑ์ส่านซีจะจัดนิทรรศการที่ผู้อำนวยการ (อาจารย์หวาง) พูดเมื่อคืนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการสำรวจของสหประชาชาติ ตอนทีมสำรวจดำเนินการจะมีการถ่ายทอดดาวเทียมไปต่างประเทศด้วย เส้นทางสำคัญในการสำรวจครั้งนี้คือเมืองอีซาน สุสานเม่าหลิง เฉียนหลิง วัดฝ่าเหมินซื่อ เมืองเป่าจี (ออกจากซีอานไปประมาน 200 กิโลเมตร) อยู่บริเวณซีอาน 5-6 วัน แล้วไปเมืองต่าง ๆ ในมณฑลกานซู ได้แก่เมืองเทียนสุ่ย หลานโจว อู่เว่ย จิ่วฉวน เดินทางตามแม่น้ำเว่ย ที่เมืองตุนหวงมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ ส่วนที่มณฑลซินเกียงไปเมืองทู่หลู่ฟัน เมืองเกาชาง คูเชอ ข่าชือ หลังจากจัดโครงการนี้แล้วจะดำเนินงานต่อไปอีก 16 ปี โดยแยกเป็นหัวข้อวิชาการต่างๆ การสำรวจได้รับความสนับสนุนจากหลายประเทศในโลก ประธานยูเนสโกมาร่วมประชุมด้วย การค้นคว้าครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกด้วย เส้นทางแพรไหมเป็นทางเชื่อมเอเชียกับภาคตะวันตก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี มีผลเกื้อกูลให้เศรษฐกิจโลกคืบหน้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) มีเส้นทางแพรไหมทางทะเล ทำให้เส้นทางบกลดบทบาทลง เส้นทางแพรไหมทางทะเลนั้นรุ่งเรืองอยู่ที่มณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) และกว่างตง (กวางตุ้ง) ต่อไปที่สิงคโปร์ ลังกา แอฟริกา และยุโรปตะวันตก

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 125,126,127

(น.125) ประมาณหกโมงเย็นเครื่องบินเพิ่งมาจากกวางโจว การบินไปหลานโจวใช้เวลาชั่วโมงหนึ่ง ขึ้นไปบนเครื่องบินเลี้ยงน้ำชาจีน เชินเชินโคล่า (Shen Shen Cola) เป็นโคล่าที่จีนทำเอง รสเหมือนยาจีน ขนมสมุนไพร มีสรรพคุณมากตามเคย ขนมปังไส้ถั่วแดง ขนมเค้ก ฯลฯ ชมวิวภูเขาก็ดูแปลกดี มีภูเขาเป็นกระจุก ๆ ตามช่องเขาเป็นที่ไร่นา แต่ก็มีอยู่น้อย เครื่องบินลงที่สนามบินประมาณทุ่มครึ่ง ยังไม่มืด ที่สนามบินจะอุณหภูมิเท่าไรก็ไม่ทราบ รายงานอากาศนั้นว่าประมาณ 2 ํซ. แต่เป็นที่หลานโจว สนามบินจะต้องหนาวกว่านั้น รองผู้ว่าราชการมณฑลมารับ ท่านบอกว่าที่สนามบินนี้ก่อนข้าพเจ้ามาถึงสักครึ่งชั่วโมงหิมะ


(น.126) รูป 89. ที่สนามบิน อากาศหนาวมาก
At the airport. It was very cold.

(น.127) ตกลงมา สนามบินห่างตัวเมือง 70 กิโลเมตร รถแล่นประมาณชั่วโมง อาจจะมากกว่านั่งเครื่องบินจากซีอานมาเสียอีก เมืองนี้มีภูเขาอยู่สองข้าง ตรงกลางมีแม่น้ำหวงเหอ จึงต้องใช้ที่ที่ค่อนข้างจะราบเป็นสนามบิน เลยอยู่ไกลหน่อย นับว่าเป็นสนามบินที่ไกลเมืองเป็นที่สองของจีน (ที่หนึ่งคือลาซาในทิเบต) เคยได้รับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คราวนั้นเปียนเหมยก็มาอารักขา

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 129,130,138,145,147,153,154

(น.129) พฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533
เช้านี้อากาศข้องนอกหนาวมาก น้ำที่ขังอยู่บนหลังคา กลายเป็นน้ำแข็งเหมือนอยู่ในตู้เย็น แดดออกยังไม่ยอมละลาย ที่นี่เขาไม่ถามว่าจะรับประทานอาหารเช้าแบบจีนหรือแบบฝรั่งแต่จัดมาเลย รู้สึกว่าจะปนทั้ง 2 อย่างคือ มีไข่ดาว ขนมปังทาเนยทาแยม ข้าวต้มใส่ถั่วเขียว มีเครื่องข้าวต้ม หม่านโถว เกือบ ๆ จะเก้าโมงเช้าเลขาธิการมณฑล ซึ่งคุณหลิวอธิบายให้ฟังว่าคล้าย ๆ กับปลัด เป็นผู้นั่งรถพาไป เขาเล่าว่าพิพิธภัณฑ์มณฑลที่เราจะไปนี้สร้าง ค.ศ. 1956 อยู่ในเนื้อที่ 18,000 ตารางเมตร พิพิธภัณฑ์ที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1. ประวัติศาสตร์
2. ทรัพยากรธรรมชาติ
3. งานการสร้างสรรค์สังคมนิยมกานซู
หลานโจวนครหลวงของมณฑลกานซูมีพลเมืองราวสองล้านสี่แสนคน (ตอนปลดแอกใหม่ ๆ มีแค่สองแสน) ที่อยู่ในตัวเมืองมีล้านสองแสน นอกนั้นอาศัยอยู่ชานเมือง แต่ก่อนนี้มีชื่อเรียกว่าจินเฉิง (เมืองทอง) อุตสาห


(น.130) รูป 91. รูปสำริด “ม้าบิน” อันมีชื่อเสียง
The famous "flying horse", bronze.

(น.130) กรรมของเมืองนี้มีหลายอย่าง เช่น ปิโตรเคมี เครื่องถักทอ อิเล็กทรอนิกส์ มีน้ำมันที่เมืองยู่วเหมินและฉางชิง แต่ว่าไม่พอป้อนโรงกลั่น ต้องลำเลียงมาจากซินเกียงทางรถไฟ เริ่มมีการวางท่อจากซินเกียงมากานซู โรงกลั่นห่างจากหลานโจวไปประมาณ 20 กิโลเมตร เมืองหลานโจววางตัวไปตามแม่น้ำหวงเหอ ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเขาหัวโล้นสีน้ำตาล พิพิธภัณฑ์กานซูเป็นที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของวัตถุโบราณ ที่พิพิธภัณฑ์นี้ติดคำแปลคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ให้ด้วย (แต่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาดู เพราะต้องเดินดูอย่างเร็วที่สุด ฉะนั้นจะพยายามเขียนบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่คนที่มองผ่านแผล็บเดียวจะทำได้) ได้ทราบ

(น.138) ราชวงศ์จิน (เผ่า Jurchen เป็นบรรพบุรุษของพวกแมนจู ค.ศ. 1115 – 1234) คนที่ดูมังกรหยก (อีกแล้ว) ควรจะรู้จักพวกนี้ ที่เราเรียกว่าพวกกิมก๊ก แต่งชุดแดง ๆ ที่เป็นคนตีราชวงศ์ซ่ง ได้ครองดินแดนภาคเหนือทั้งหมด ใน ค.ศ. 1126 แต่ตอนหลังก็ถูกพวกราชวงศ์หยวน (มองโกล) โจมตียึดดินแดนไป
สมัยราชวงศ์หยวน (หงวน) ตั้งอาณาจักรใน ค.ศ. 1206 ตั้งนามราชวงศ์ว่าหยวนในค.ศ. 1271 พิพิธภัณฑ์ตั้งเครื่องถ้วยที่พบในกานซู เคลือบสีแดง เครื่องเคลือบทำเป็นบ้านไม้ในสมัยราชวงศ์หยวน แสดงสถาปัตยกรรมสมัยนั้น ที่ประตูมีคนรับใช้ยืนอยู่ เจ้าของบ้านเป็นหญิงชรานั่งอยู่ที่หน้าต่าง
สมัยราชวงศ์หมิง (เหม็ง) ค.ศ. 1368 – 1644 มีเสื้อเกราะเหล็กที่หน้าอกมีรอยทะลุ เป็นอันว่าเจ้าของถูกยิงตายแน่ ๆ ปืนใหญ่ ดาบ แผ่นกระดาษซึ่งครูกู้อธิบายว่าเป็นหนังสือเดินทางสมัยก่อน
สมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) ค.ศ. 1644 (ปีที่เข้าปักกิ่งทางด่านซ่านไห่กวน) – 1911 แสดงแผนที่เมืองหลานโจวเมื่อ 200 ปีมาแล้ว สมัยนั้นเรียกชื่อว่าเมืองจินเฉิง มีศิลาจารึกที่กำแพงเมือง และแสดงภาพวาดของศิลปินท้องถิ่นในสมัยราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าถามว่าปัจจุบันมีการขุดค้นทางโบราณคดีบ้างไหม เขาตอบว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน เพราะเทคนิคการรักษาของยังไม่ดีพอ จากแผนกโบราณคดี เราดูต่อที่แผนกศิลปะพื้นบ้าน คนอธิบายเขาเอาบทความภาษาจีนยาวเหยียดส่งมาให้ข้าพเจ้า อวดว่านิทรรศการนี้เคย


(น.145) รูป 102. ถ้ำตุนหวงจำลอง
A model of Dunhuang caves.

(น.145) 5 อย่าง เช่น พวกจ๋วนหยีอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ พวกที่อยู่ติดกับเสฉวนเป็นเผ่าหยู่กู่ มีแต่ในกานซู พวกเทียนจู่อยู่เหอซี พวกเซี่ยเหอ ผู้จัดนิทรรศการประดิษฐ์ถ้ำขึ้นมาใหม่เป็นถ้ำตุนหวงผสมกับไหมจี๋ซานซึ่งมีรูปแกะพุทธประวัติ พอดูนิทรรศการจบก็ต้องลาไปที่โรงงานทอผ้าขนสัตว์ต่อ โรงงานนี้เรียกว่าโรงงานทอผ้าขนสัตว์หมายเลขที่ 1 แห่งหลานโจว พัฒนามาจากโรงงานทอผ้าขนสัตว์หลานโจวที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1940 ภายหลังการปลดแอกรัฐบาลได้เอาใจใส่อุตสาหกรรมนี้ มีนโยบายให้ขยายกิจการเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตทั้งวัตถุดิบ และผลิตผ้าทั้งชนิดเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด อุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักรกลที่ผลิตในประเทศจีน มีส่วนหนึ่งที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมันตะวันตก และญี่ปุ่น เนื่องจากโรงงานนี้เป็นโรงงานเก่า เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรก็มีปัญหาอยู่บ้าง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลง

(น.147) ขากลับที่พักผ่านสะพานจงชาน เป็นสะพานเหล็ก สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1907 วิศวกรเยอรมันเป็นผู้สร้าง ก่อนสมัยปลดแอกสะพานถูกเผา เมื่อปลดแอกแล้วได้บูรณะขึ้นใหม่ ถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำหวงเหอแห่งแรก รถผ่านสวนเด็กเล่น รองเลขานุการมณฑลอธิบายว่าเมืองหลานโจวนี้ทำสัญญาเป็นเมืองคู่กับเมืองอะคิตะ (Akita) ของญี่ปุ่น (จีนเรียกชิวเถียน)

(น.153) สมัยราชวงศ์ถังคนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปอินเดียใน ค.ศ. 629 ท่านผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะศึกษาให้ถ่องแท้ก็ต้องอ่านคัมภีร์เดิม ประเทศอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพุทธศาสนา ฉะนั้นต้องไปให้ถึงที่อินเดียจึงจะแก้ข้อสงสัยในเรื่องคัมภีร์พุทธศาสนาได้ ในช่วงนั้นทางการกำหนดว่าใครจะออกนอกประเทศจะต้องขออนุญาตคณะของพระถังซำจั๋ง (มีหลายองค์) ขอพระราชทานพระบรมราชา

(น.154) นุญาตจากพระเจ้าถังไท่จง (มีพระนามเดิมว่าหลี่ซื่อหมิ่น) แต่พระเจ้าถังไท่จงไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าในช่วงนั้นเพิ่งจะตั้งราชวงศ์ยังไม่มีความมั่นคง พระสงฆ์องค์อื่นก็เลิกล้มความตั้งใจ เหลือแต่พระถังซำจั๋งเท่านั้นที่ยังมีความคิดอยู่ ใช้เวลาที่คอยเรียนภาษาอินเดีย ขณะนั้นที่ฉางอานเกิดทุพภิกขภัย จักรพรรดิมีพระราชบัญชาให้ประชาชนไปที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์ พระถังซำจั๋งเลยถือโอกาสเดินทางไปตะวันตก ท่านเดินทางผ่านหลานโจวไปถึง เหลียงโจว (ปัจจุบันเรียกอู่เว่ย) พวกขุนนางที่อยู่ที่นั่นจะบังคับให้กลับไป ท่านก็ไม่ยอม จึงหนีออกไป ขุนนางให้นักรบไล่ตาม พอดีพระสงฆ์ท้องถิ่นที่เลื่อมใสท่านจึงส่งลูกศิษย์ตามไปส่งอย่างลับ ๆ คณะสงฆ์นอนกลางวันเดินทางกลางคืน เพราะไม่กล้าปรากฏตัว จนถึงกานโจว (จางเย่) ข้าราชการที่นั่นเป็นพุทธศาสนิกชนจึงอำนวยความสะดวกถวาย ในการเดินทางผ่านหอไฟรักษาการณ์ต่าง ๆ (นอกเขตตุนหวง) ต้องเสี่ยงกับการที่ขุนนางประจำหอจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทาง แต่โชคดีที่ทุกคนเลื่อมใสท่าน จากนั้นรอนแรมไปในทะเลทรายที่มีแต่หัวกะโหลกคนตายกับขี้ม้าเป็นเครื่องบอกทางสู่ทิศตะวันตก เดินทางไปร้อยลี้ไม่พบน้ำเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน เดินทางไปร้อยลี้ (แถว ๆ ฮามี) กลางวันลมร้อน พัดทรายเข้าตา กลางคืนมีแต่แสงเรืองแห่งฟอสฟอรัส ในที่สุดก็ล้มลงทั้งคนทั้งม้า จนมีลมพัดจึงฟื้น ทันใดนั้นม้าพาเดินไปที่บ่อน้ำ ท่านได้ดื่มน้ำบรรเทาความกระหายและเติมใส่ถุงหนัง เดินทางอีก 2 วันจึงผ่านทะเลทรายไปเมืองอีอู่หรือฮามี กษัตริย์เมืองนี้ปฏิบัติต่อพระถังซำจั๋งเป็นอย่างดี ท่านจึงพักอยู่ 10 วัน และเดินทางต่อไปถึงเมืองเกาชาง (เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองทู่หลู่ฟัน) กษัตริย์เมืองเกาชางเคารพท่านอย่างจริงใจ จึงไม่อยากให้ท่านจากไป ท่านรู้สึกเกรงใจแต่ก็จำเป็นจะต้องไปให้บรรลุจุดหมายจึงใช้วิธีอดข้าว กษัตริย์เกาชางเห็นความเด็ดเดี่ยวจึงยอมให้ท่านไป

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 166,173

(น.166) ไปถึงสวนสาธารณะอู่ฉวน เขาให้เข้าไปที่วัดก่อน วัดนี้มีชื่อว่าวัดจุนหยวน

(น.173) ของโบราณที่มีอยู่คือพระพุทธรูปเจี่ยหยิงฝอ หมายความว่านำผู้อื่นขึ้นสวรรค์ และระฆังเหล็กสร้างสมัยราชวงศ์หมิง ข้างบนแกะสลักคัมภีร์ในระฆังมีบทกวีว่า
เซียนได้ยินแล้วดีใจ ผีได้ยินหยุดทำชั่ว
ตีทะลุนรก ช่วยพวกเขาจากความยากลำบาก
การก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ยืนอยู่ข้างบนชมวิวเมืองหลานโจว ก่อนกลับมีอุบาสิกาเอาลูกประคำมาให้ คุยให้ฟังว่าเขาได้ไปไหว้พระตามวัดสำคัญของเมืองต่าง ๆ มาหลายแห่งแล้ว ผู้อำนวยการให้หนังสือเกี่ยวกับอู่ฉวน ดีเหมือนกัน เปิดดูคร่าว ๆ เห็นมีบทกวีหลายบท ขึ้นบนรถคุณเฉิงอธิบายว่าที่หลานโจวนี้ฤดูใบ้ไม้ผลิจะมาถึงช้ากว่าที่ปักกิ่ง มีดอกไม้สีเหลือง ๆ ที่จะออกดอกมาก่อนดอกไม้อื่น จึงเรียกว่าอิ๋งชุนฮวา แปลว่าดอกไม้ต้อนรับฤดูชุนเทียน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 183

(น.183) เสาร์ที่ 14 เมษายน 2533
เมื่อคืนนี้หนาวมาก เห็นว่าปรอทลงไปถึง -3 ซํ. ก่อนจะออกไปข้างนอกนักวาดภาพจีนคนที่วาดภาพที่เป็นของขวัญเมื่อคืนนี้มาพบ เขาบอกว่าเขาก็ไม่เคยวาดภาพเล็ก ๆ แบบนี้ ภาพนี้เขียนจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คุณเฉิงเล่าถึงโรงงานถลุงเหล็กที่นี่ว่าเป็นโรงงานใหญ่ ผลิตเหล็กได้ปีละแปดแสนตัน เหล็กกล้าห้าแสนตัน เหล็กเส้นสามแสนตัน กลางเมืองมีอนุสาวรีย์กรรมกรถลุงเหล็ก สวัสดิการด้านที่พักและเงินเดือนดีมากกว่าที่อื่น ทุกครอบครัวมีแก๊สใช้ ให้ย้ายไปหลานโจวก็ไม่ค่อยจะยอม คนงานที่โรงงานถลุงเหล็กส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ฉะนั้นเกิดปัญหาครอบครัวคือไม่ค่อยจะมีผู้หญิง รัฐบาลเลยกำลังก่อสร้างโรงงานทอผ้าฝ้ายเพื่อให้มีคนงานหญิง ต้นฝ้ายมีที่ตุนหวง ที่ซินเกียงก็มีมาก โรงงานนี้ยังสร้างไม่เสร็จ อนุสาวรีย์เถิงเฟยหมายถึงเศรษฐกิจรุดหน้าไปไกล

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 219,220,251

(น.219) จันทร์ที่ 16 เมษายน 2533
ตื่นมาวันนี้รู้สึกหนาว เลยลุกขึ้นวิ่งอยู่กับที่พักหนึ่ง ค่อยยังชั่วหน่อย อาหารเช้าวันนี้มีกับข้าวหลายอย่าง ข้าวต้มใส่พุทรา มีเครื่องข้าวต้มหลายอย่าง มีปาท่องโก๋ ไข่ดาว ขนมปัง มีดอกแอปเปิ้ลกับดอกท้อปักแจกันตั้งโต๊ะอาหารให้ด้วย เช้าวันนี้เราจะไปดูรูปภาพฝาผนังที่ถ้ำโมเกา ข้าพเจ้านั่งไปกับคุณเฉิง มีคุณหลิวนั่งข้างหน้า ส่วนเปียนเหมยไปนั่งรถข้างหน้า บอกว่ารถจอดจะวิ่งมาทันที คุณเฉิงอธิบายเรื่องน้ำว่าใช้น้ำจากภูเขาฉีเหลียนทำอ่างเก็บน้ำแล้วส่งให้ชาวนาใช้ ชาวนาทำนาประมาณคนละ 3 โหม่ว คุณหลิวแปลให้เสร็จว่าไร่กว่าๆ บริเวณนี้อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร ต้นไม้ออกใบเขียวเร็วกว่าที่หลานโจว ฉะนั้นแถวนี้ปลูกฝ้าย ผลไม้ ข้าวสาลี มีน้ำใช้พอสมควร แต่มีปัญหาอยู่ที่ลมแรง อาจทำให้พืชผลเสียหายได้ ขณะนี้สองข้างถนนก็เห็นมีการเพาะปลูกแล้วใช้ลาไถนาทั้งนั้น การปลูกข้าวโพดต้องเอาพลาสติกปิดไว้ เพราะเขาปลูกพร้อมข้าวสาลี แต่ข้าวโพดต้องการอากาศอบอุ่นกว่า ข้าวสาลีที่นี่ปลูกฤดูใบไม้ผลิ ถ้าทำเป็นโรงๆ เป็นที่ปลูกผัก

(น.251) ออกเดินทางจากตุนหวง คุณเฉิงบอกว่าจะส่งแขกไกลแค่ไหนก็ต้องจากกัน ถ้าข้าพเจ้ามาที่กานซูอีกทีให้ไปที่ไหมจี๋ซาน มีเอกลักษณ์ในด้านการแกะสลัก จากนั้นก็คุยกันเรื่องปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน คุณเฉิงเป็นเลขาธิการมณฑลก็มีความรู้ในเรื่องเช่นนี้เป็นอย่างดี เล่าให้ฟังว่าชาวนาจีนต้องการปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แต่รัฐบาลมีไม่พอให้ ทั้งๆ ที่อยากสนับสนุนให้ทำนา จะให้ใช้ปุ๋ยคอกก็ไม่ทันอกทันใจ ปุ๋ยเคมีที่รัฐบาลผลิตไม่เพียงพอต้องซื้อจากต่างประเทศ ข้าพเจ้าบอกว่ามาคราวนี้ไม่มีเวลาที่จะไปดูงานทางด้านเกษตร เพราะเป็นเรื่องที่ชอบมาก ก่อนมาข้าพเจ้าอ่านข้อมูลว่าที่หลานโจวมีสถาบันวิจัยทะเลทราย มณฑลกานซูมีทะเลทรายใหญ่ คงจะหาวิธีที่จะทำการเพาะปลูกหรือปรับปรุงพื้นที่ได้ เมืองไทยมีที่เป็นทรายมาก ถึงจะไม่เป็นทะเลทรายก็อาจจะมีอะไรที่น่าสนใจก็ได้

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 343,344

(น.343)
พระราชดำรัส
ในวโรกาสที่ นายเจี่ยจึ้อเจี๋ย ผู้ว่าราชการมณฑลกานซู
จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ นครหลานโจว
วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2533

ท่านผู้ว่าราชการมณฑลกานซู และผู้มีเกียรติทุกท่าน
ข้าพเจ้ามีความชื่นชมและประทับใจอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนนครหลานโจวและได้รับการต้อนรับที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิตจากชาวหลานโจว แม้จะมาเยือนเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าก็รู้สึกคุ้นกับนครนี้ เพราะได้ทราบชื่อเสียงกิตติศัพท์มาก่อนเป็นอย่างดี ว่านอกจากหลานโจวจะเป็นเมืองหลวงของมณฑลกานซูแล้ว ในอดีตยังเป็นแหล่งความเจริญเก่าแก่ มีประวัติเล่าขานยาวนานมากว่าสองพันปี ทั้งเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในทางสายแพรไหม ที่มุ่งไปสู่เมืองตุนหวง. ข้าพเจ้ายินดีด้วยเป็นอันมาก ที่ผลปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลมณฑลกานซู ทำให้นครหลานโจวมีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับมาทุก ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เครื่องหนัง และผ้าขนสัตว์ นอกจากนั้นยังเป็นเมืองที่ตั้งของสถานีวิจัยพลังงานปรมาณูที่สำคัญของประเทศด้วย ข้าพเจ้าจึงรู้สึกมั่นใจว่าความรู้ความสามารถของผู้บริหารแต่ละท่าน ณ ที่นี้ ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมณฑลกานซู จะทำให้หลานโจวและมณฑลกานซูเจริญรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง. ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการมณฑลกานซู และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทุกคน ที่ช่วยให้คณะของข้าพเจ้าได้รับประโยชน์มากมาย –

(น.344) จากการเยี่ยมชมและศึกษาสถานที่สำคัญของนครหลานโจวในครั้งนี้ และขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านผู้มีเกียรติดื่มอวยพรเพื่อสุขภาพและความสำเร็จของท่านผู้ว่าราชการมณฑลกานซู และมวลมิตรชาวจีน ขอให้สัมพันธไมตรีและความเข้าใจอันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยมั่นคงยืนยาวตลอดสืบไป.

Next >>