Please wait...

<< Back

" ใต้เมฆที่เมฆใต้ วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2538 "


(น.141) รูป 154 พระประธานในวัด


รูป 155 พระสงฆ์ในวัด


(น.142) รูป 156 ป้ายต้อนรับภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาลื้อ


รูป 157 ป้ายต้อนรับภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาลื้อ


รูป 158 ป้ายต้อนรับภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาลื้อ

(น.142) มีป้ายประวัติวัดเป็นภาษาจีน ภาษาไทลื้อ และภาษาไทย กล่าวไว้ส่วนหนึ่งดังนี้ “ท่านนักท่องเที่ยวนานาประเทศ ผู้มาเยือนชมวัดแห่งนี้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมาถึงที่นี่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เชิญพักผ่อนได้ตามสบาย ในขณะเดียวกันก็จะขอประทานอภัยแก่ท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งว่าวัดหรือสถานที่แห่งนี้ไม่มีความสวยงามหรูหราดังที่ข่าวลือและคงไม่มีสิ่งใดที่น่าชมพอเต็มอกเต็มใจตามความคิดและความต้องการของท่าน เพราะว่าวิหารนี้หรืออาคารสถานที่แห่งนี้ได้สร้างมาใหม่...ฯลฯ”


(น.143) รูป 159 ออกจากวัด

(น.143) ที่นี่ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2515
ข้อความในตอนหลังเหมือนกับว่าเป็นการเรี่ยไรอย่างที่เขาเรี่ยไรกัน จะเอาไปสร้างโบสถ์ใหม่ได้ ข้าพเจ้าคิดว่าเขาทำโบสถ์เล็กๆ ตามกำลังทรัพย์ ตามศิลปะพื้นบ้านก็ดีแล้ว ถ้าสร้างโบสถ์แบบเมืองไทย เข้าไปขัดหูขัดตาไปเสียอีก อย่างนี้อยู่ในความสงบดีกว่า อย่างเช่นวัดนี้ไปถึงก็รู้สึกร่มรื่นเป็นวัดจริงๆ


(น.144) รูป 160 บ้านอ้ายเสียง

(น.144) จากนั้นเดินเข้าหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านชื่อ อ้ายเสียง มีเด็กๆ ยืนต้อนรับ บ้านที่ขึ้นไปเยี่ยม เขาแนะนำว่าพ่อเฒ่าเฮือน (เรือน) ชื่ออ้ายคำ แม่เฒ่าเฮือนชื่ออีอุ่น มีแม่ตู้ มีลูก มีป้า เขาเตรียมการต้อนรับ มีอะไรๆ ให้กิน คนที่นี่รายได้ในการทำเครื่องเงิน ทำนา กรีดยาง ทอผ้าขายนักท่องเที่ยว ดูก็ไม่ทราบว่าเขามีเงินกันตรงไหน มีกี่ทอผ้าอยู่กี่เดียว มีคนแก่จารใบลาน หมู่บ้านชาวไทลื้อนิยมปลูกต้นขี้เหล็กเพื่อตัดกิ่งทำฟืน ไม้ขี้เหล็กนี้ภาษาจีนเรียกว่า เที่ยเต้ามู่ (ไม้มีดเหล็ก) หรือเฮยซินชู่ (ไม้หัวใจดำ) ไส้กลางของไม้เป็นสีดำ ใช้แกะสลักได้ ข้อดีของไม้ชนิดนี้คือเราตัดเฉพาะกิ่งไม่ต้องโค่นทั้งต้น สามารถมีเชื้อเพลิงพอใช้ เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนั้นที่เห็นสองข้างทางปลูกอ้อย กล้วย ตองตึง มะพร้าว ถั่ว ฝรั่ง หมาก ขนุน ไผ่ มะละกอ สัปปะรด แตงโม (ราคาถูกกว่าปักกิ่งมาก)


(น.145) รูป 161 ชาวลื้อจารใบลาน

(น.145) จากนั้นเดินทางทางรถยนต์เพื่อไปสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา มาดามเฉินเล่าว่าคนที่เริ่มต้นทำสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้วชื่อนายไช่ซีเถา เดินเท้ามาจากมณฑลเสฉวน การสร้างสวนพฤกษศาสตร์เช่นนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวยูนนานเป็นอย่างมาก แถวๆ นี้มีพื้นที่มาก ประชากรน้อย ต้องหาอาชีพต่างๆ ให้โดยการนำเอาพืชจากประเทศต่างๆ มาปลูก ยาสูบซึ่งปัจจุบันเป็นรายได้หลักของมณฑลก็ได้นำพันธุ์ดีจากสหรัฐฯ มาปลูก ชาวไต่หรือชาวไทลื้อนี้ มาดามบอกว่าผู้หญิงทำงานมากกว่าผู้ชาย ภรรยาเห็นสามีทำงานหนักมากก็รู้สึกไม่สบายใจ ต้องแบ่งมาทำมากกว่าแบบนี้ไม่ทราบตีความว่าผู้หญิงถูกกดขี่ หรือผู้หญิงมีค่าต่อสังคมมากกว่าผู้ชาย สิ่งที่พัฒนายากที่สุดคือเรื่องการศึกษาเป็นงานที่ใช้เงินมาก งบประมาณ 3,000 ล้านหยวนก็ยังไม่พอ มีทางที่จะช่วยเหลือตั้งเป็นโครงการ “ความหวัง” ซี ว่าง กง เชอ เปิดโอกาสให้ประชาชน บริษัทองค์กรต่างๆ บริจาคช่วยเด็ก ให้ค่าหนังสือเรียนคนละ 60 หยวน/ปี เด็กพวกนี้ไม่ต้องเสียค่าอาหาร ช่วยให้มีรายได้ระหว่างเรียนการขายพืชต่างๆ ยังยากเพราะถนนยังไม่ดีทั่วถึง เช่น แตงโมที่นี่ขายราคาถูกมากแต่ปักกิ่งแพงมาก


(น.146) รูป 162 สวนพฤกษศาสตร์

(น.146) ชาวบ้านเผาป่ากันมาก รัฐบาลห้ามทำลายป่า แต่ที่ทำกินเขาใช้วิธี แบ่งเป็นแปลงๆ เว้นไว้แปลงหนึ่ง แล้วหมุนเวียนไปอีก รายได้เฉลี่ยชาวบ้านแถบนี้ 945 หยวน/คน/ปี แต่ของประเทศราว 804 หยวน/คน/ปี ไปถึงที่สวนพฤกษศาสตร์ ได้เห็นต้นว่างเทียน หรือตะเคียนสามพอน (Parashore-ashinensi) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงปลูกไว้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1986 คนที่มาต้อนรับเราเป็นรองผู้อำนวยการของสวนพฤกษศาสตร์ที่นี่ชื่อนายเฉินจิ้น เขาเป็นชาวเจียงซู จบจากมหาวิทยาลัยนานกิงทางด้านเกษตรศาสตร์พืชสวน (horticulture) ขณะนี้มีอายุ 30 กว่าปีแล้ว มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษ เขาพาไปเข้าห้องน้ำก่อน แล้วจึงไปที่ร้านอาหาร เมื่อคุยกันได้ความว่าปัจจุบันทางสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (Academia Sinica) ให้งบประมาณมา 80% ส่วนใหญ่เป็นหมวด

(น.147) ค่าตอบแทนและเงินเดือน อีก 20% ต้องหาเองโดยรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป จากมูลนิธิสาธารณประโยชน์ในประเทศจีน หรือในยูนนานเององค์การระหว่างประเทศ เพาะพันธุ์พืชจำหน่าย ทำร้านอาหาร รับนักท่องเที่ยว มีที่พักให้ด้วย พืชที่ปลูกแถบนี้มีพืชเมืองร้อน พืชมีกลิ่นหอม เครื่องเทศ ไม้ดอกต่างๆ ท่านรองผู้อำนวยการเคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่การเกษตรของไทย ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ไม่เคยไปเมืองไทย ในการวิจัยเน้นหนักเรื่องของการทำพืชที่สาธิตให้ราษฎรเข้ามาดู โดยการทำวนเกษตร ใช้พืชเศรษฐกิจราคาแพงหลายชนิดปลูกรวมๆ กัน เน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ให้ชาวบ้านมีรายได้ยั่งยืนตลอดไป (sustainability of income) เช่น วิจัยการปลูกยางและต้องการปลูกชาด้วยทำอย่างไร ชาต้องมีร่มเงาดีพอสมควรในระยะเริ่มต้น นอกจากนั้นต้องการศึกษาไม้ผลของไทย จีน อินโดนีเซีย เอามาทดลองปลูก บอกว่าทุเรียนปลูกไม่ค่อยขึ้น กำลังทดลองจำปาดะอีกอย่าง ผลไม้นอกนั้นที่ปลูกไว้มีเงาะ มะไฟ น้อยหน่า กลางวันนี้รับประทานปลีกล้วย เนื้อสับ เห็ดหัวเช่าผัด (คล้ายๆ เห็ดกระดุม แต่ใหญ่กว่ามาก) ผักดีดทราย (ผักบุ้ง) ส้มตำมะละกอเมืองสิบสองปันนานี้เขาเรียกมะละกอว่าหมากก้วยสำเภา เพราะฉะนั้นส้มตำเรียกว่าส้มหมากก้วยสำเภา ผักหนัง ผักกูด (ภาษาจีนเรียกว่าหลงจัว) ผักมือนาค (อุ้งตีนมังกร) ห่อหมกปลีกล้วย ส้มโอ

Next >>