Please wait...

<< Back

" เย็นสบายชายน้ำ วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2539 "


รูป 35 ข้อความที่เขียน

(น.35) นายอำเภอเล่าถึงอำเภอนี้ว่า มีประชากรราว 9 แสนคน มีเนื้อที่ 1,400 ตารางกิโลเมตร นายอำเภอเคยไปดูงานเมืองไทยเป็นเวลา 4 วัน แต่เคยไปเจรจาธุรกิจที่สิงคโปร์ถึง 3 ครั้ง ที่อำเภอนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,200 ปี มีคณะทูตานุทูต เช่น Kissinger พระเจ้าสีหนุ นายกรัฐมนตรีโกจ๊กตงก็เคยมา อำเภอนี้มีความดีเด่นคือ มีหินแกะสลักพระพุทธรูปตามถ้ำและหน้าผา มีร้อยกว่าแห่ง มีพระพุทธรูปกว่า 6 หมื่นรูป ที่สำคัญคือที่เป๋าติ่งซานและเป่ยซาน เขตภูเขาเป๋าติ่งซานการคมนาคมสะดวกกว่าที่อื่น จึงมีผู้มาเยี่ยมชมมาก

(น.36) อำเภอนี้อุดมสมบูรณ์ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ผลิตผลการเกษตรที่สำคัญมี ข้าว ข้าวโพด พริก ผักต่าง ๆ น้ำมีปลาชนิดต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ มีเครื่องโลหะที่มีชื่อเสียง ทำตะปู ทำมีดชนิดต่าง ๆ อะไหล่รถยนต์ (ส่งออกได้) เรียกได้ว่าดีทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว ชื่อเมืองต้าจู๋ แปลว่า ความอุดมสมบูรณ์ไม่ได้แปลว่าเท้าใหญ่อย่างที่ข้าพเจ้าเข้าใจ นอกจากหินแกะสลักที่คนชอบไปดูแล้ว เมืองนี้ยังมีทิวทัศน์สวยงาม เช่น ทะเลสาบซีหูหรือหลงสุ่ย มีเกาะ 108 เกาะ ทางอำเภอกำลังตัดถนนมาตรฐานจากฉงชิ่งถึงต้าจู๋ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง มีต่างประเทศมาลงทุน เช่น สิงคโปร์มาลงทุนอุตสาหกรรมเคมี และจะลงทุนด้านการท่องเที่ยว ออสเตรเลียลงทุนผลิตรถขนส่ง สิงคโปร์กับมาเลเซียร่วมกันจะสร้างอุทยานพระหมื่นองค์ อำเภอนี้เป็นอำเภอหนึ่งใน 500 อำเภอของจีนที่มีถ่านหิน เป็นหนึ่งใน 500 อำเภอที่ปลูกข้าวได้ ปลูกไม้ผล เช่น สาลี องุ่น แอปเปิ้ล ฤดูใบไม้ผลิปลูกสตรอเบอรี่ได้ อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5-6 องศาเซลเซียส ไม่มีหิมะ อาหารที่รับประทานวันนี้ค่อนข้างเผ็ด อะไร ๆ ก็แช่พริก มีปลาต่าง ๆ หลายชนิด ขนมงา ผักดองเค็ม เขาอธิบายว่า จะต้องดองฤดูหนาว เก็บไว้อย่างน้อย 3 ปี ถ้าได้ถึง 5 ปี ก็จะดีมาก เมื่อขึ้นไปบนห้องพักมีสมุดให้เขียนหนังสือ จึงเขียนว่า ต้าจู๋ลี่สื่อฉาง แปลว่า ต้าจู๋ประวัติศาสตร์ยาวนาน ออกเดินทางไปอนุสรณ์สถานมีความรู้สึกว่าถนนขรุขระเสียยิ่งกว่าขามา เท่าไร ๆ ก็ไม่ถึงเสียที แต่ก็ถึงอย่างไม่รู้ตัว


(น.37) รูป 36 ต้นหวงเจี่ยวที่อนุสรณ์สถานหงเยียนชุน

(น.37) อนุสรณ์สถานหงเหยียนชุน แปลว่า หมู่บ้านผาแดง มีไกด์เข้ามาอธิบายเร็วจนล่ามแปลไม่ทัน ได้ความคร่าว ๆ ว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ หรัวกว๋อโหม (mó) ซื้อที่ปลูกผลไม้ เช่น สาลี่ แอปเปิ้ล ส้ม ไว้ที่นี่ ต่อมายกให้เป็นที่พักของกองทัพลู่ที่ 8 มีที่พักของก๊กมินตั๋งอยู่อีกด้าน หรัวกว๋อโหม (mó) เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1949 เมื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ย้ายบ้านไปอยู่ปักกิ่ง บริจาคบ้านนี้แก่เทศบาล เป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงการปฏิวัติ ต้นไม้เก่าแก่คือ ต้นหวงเจี่ยว ต้นไม้ต้นนี้เป็นเครื่องหมายแบ่งเขต ด้านหนึ่งของต้นหวงเจี่ยวเป็นเขตของพวกก๊กมินตั๋ง อีกด้านเป็นเขตของพวกคอมมิวนิสต์ เขาว่าคอมมิวนิสต์มาอยู่ที่นี่ใน ค.ศ. 1939


(น.38) รูป 37 ห้องของนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์


รูป 38 ชั้นหนังสือ


รูป 39 ไปนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของนักปฏิวัติ

(น.39) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาอยู่ที่นี่เพื่อมาเจรจาความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง ตึกที่ทำงานและที่อยู่อาศัยขณะนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ มีห้องส่งโทรเลขอยู่ชั้นล่าง สำนักงานและที่พักอยู่ชั้นบน ผู้ที่ไม่มีกิจเกี่ยวข้องห้ามเข้า ท่านโจวเอินไหลเคยมาประจำอยู่ที่นี่เมื่อเป็นเลขาธิการพรรคภาคใต้ มีห้องพักของท่านโจวเอินไหลและท่านเติ้งอิ่งเชา ทางเดินเข้าตึกมีรูปท่านเติ้งอิ่งเชาอุ้มเด็ก เป็นลูกของหรงเกาถัง ผู้ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีทบวงกีฬา เพื่อนสนิทของท่านโจวเอินไหล ในอาคารจัดไว้เป็นห้อง ๆ แต่ละห้องมีรูปเก่า ๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลที่เคยมาปฏิบัติงานที่ตึกนี้ มีโต๊ะเขียนหนังสือวางเครื่องเขียน หนังสือพิมพ์เก่า ๆ มีชั้นหนังสือวางหนังสืออ้างอิงจำพวกพจนานุกรม หนังสือเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ หนังสือพวกนี้ไม่ใช่ของเก่าสมัยโน้น ของเก่าเอาไปไว้พิพิธภัณฑ์ที่ปักกิ่งแล้ว แต่ละห้องมีเตียงหรือตั่งด้วย ถ้าอยู่อย่างนี้จริง ๆ นับว่าสบายพอสมควร นอกจากอากาศร้อนอบอ้าวสักหน่อย ถ้าเดิน ๆ ดูไม่มีคนอธิบาย ดูแป๊บเดียวก็คงจะเสร็จ แต่ที่นี่มีไกด์เล่าเรื่องคนโน้นทีคนนี้ที เราไม่ค่อยรู้จักเพราะศึกษาเรื่องประวัติพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาไม่ดีพอ ดูห้องรับแขกของปาลู่จุน ท่านประธานเหมาและท่านโจวพบแขกในนี้ มีรูปท่านเหมาถ่ายกับทหารอเมริกัน 3 นายในค.ศ. 1940 อีกรูปมีท่านโจว ท่านเติ้งอิ่งเชา ท่านต่งปี้อู่ พบกับคนจีนโพ้นทะเลชื่อซือถูเหม่ตัง พวกนี้เป็นแนวร่วมอยู่ในต่างประเทศ ในภาพมีภริยาของหวางซิง ซึ่งเป็นนักปฏิวัติรุ่นซุนยัดเซน ห้องของหัวหน้าสำนักงานชื่อ เฉียนจือกวง


(น.40) รูป 40 ห้องส่งวิทยุ-โทรเลข

(น.40) ห้องส่งโทรเลข ในตอนต้นก๊กมินตั๋งมาช่วยตั้งเครื่องมือ ตอนนั้นไฟดับบ่อย ต้องมีเครื่องปั่นไฟเอง พอมีปัญหาก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์เจรจากันไม่ประสบความสำเร็จ ก๊กมินตั๋งก็เลยไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ พรรคฯ ต้องไปหาเครื่องโทรเลขมาเองอยู่ชั้น 3 ใช้ไฟ 15 วัตต์ ชั้น 2 มีห้องโจวเอินไหล ห้องนี้แปลกคือ มีโต๊ะเขียนหนังสือและชั้นเขียนหนังสือ แต่ห้องนอนเป็นชั้นลดต้องเดินลงบันไดไป แต่แรกนึก


(น.40) รูป 41 ห้องที่ท่านประธานเหมาเคยมาอยู่


(น.41) รูป 42 คำอธิบายเรื่องห้องประธานเหมา

(น.41) อยากมีห้องแบบนี้ ดูน่าสบายดี แต่นึกอีกทีท่าจะอันตราย เพราะเวลากำลังง่วงต้องเดินลงบันไดอาจตกได้ มีรูปของเด็กหญิง เป็นลูกของจอมพลเยี่ยถิง นายพลผู้นี้มีบทบาทในการรบที่เรียกว่า หว่านหนานซื่อเปี้ยน (หว่านเป็นชื่อย่อของมณฑลอันฮุย) ทหารก๊กมินตั๋งโจมตีกองพลพรรคคอมมิวนิสต์ทางภาคใต้ของมณฑลอันฮุยในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1941 นักรบมีชื่อ 2 ท่านถูกจับติดคุก ภายหลังเสียชีวิต (คือนายพลเยี่ยถิงและนายพลเซียงอิง) ท่านโจวแต่งบทกวีสรรเสริญวีรกรรมนี้ นายพลเยี่ยถิงกับลูกสาวตกเครื่องบินตายตอนไปเหยียนอาน ส่วนอีกท่านตายตอนปฏิวัติวัฒนธรรม


(น.41) รูป 43 หมวกที่โจวเอินไหลให้ท่านประธานเหมา

Next >>