<< Back
" เย็นสบายชายน้ำ วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2539 "
(น.251) รูป 225 ต้นสนพิเศษ ที่เขาลงทะเบียนเอาไว้
(น.252) รูป 226 ถนนเก่าในเขตเมืองหวงซาน
(น.252) เขามีที่ถ่ายรูปด้วยกล้องคอมพิวเตอร์ ทำเป็นบัตรผ่านเข้าเขตหวงซาน ข้าพเจ้าเลยลองถ่ายเป็นที่ระลึก
นั่งรถกระเช้ากลับไปขึ้นรถ ขากลับนี้หลับเสียครึ่งทาง เห็นดินและหินถล่มจากภูเขาข้างทาง
แวะที่ถนนเก่าในเขตเมืองหวงซาน ถนนนี้เป็นถนนการค้ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ห้องแถวที่เป็นร้านค้ายังเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณของมณฑลอันฮุย มีร้านน้ำชา ร้านช่างทอง เราลงเดิน เห็นมีของรับประทาน ใบชา
อาหารพื้นเมืองขายเยอะ ของที่ขายมากแถวนี้มีพวกเครื่องเขียน ที่เขาเรียกว่าเพชรสี่อย่างประจำห้องเขียนหนังสือ ได้แก่ กระดาษ แท่งหมึก พู่กัน และแท่นหินฝนหมึก เดินเข้าไปในร้านหนึ่งขายแท่นหมึกขนาดต่าง ๆ บางแท่นใหญ่ขนาดที่ยกไม่ไหว สลักเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น คนพายเรือในน้ำเชี่ยวมาจาก
(น.253) รูป 227 ร้านขายแท่นฝนหมึก
(น.253) หลายมณฑล เขาเชิญข้าพเจ้าเข้าไป ให้แท่นฝนหมึกอันหนึ่ง สลักชื่อและข้อความ เจ้าของร้านพรรณนาสรรพคุณของหินที่นำมาทำแท่นฝนหมึกว่า จะต้องเนียนเรียบเนื้อละเอียดเหมือนผิวเด็ก หินบางแท่งแช่น้ำแล้วจะเห็นลวดลาย
(น.253) รูป 228 ร้านขายพู่กัน
(น.254) รูป 229 ดูการผลิตหมึก
(น.254) เข้าไปร้านอื่น ซื้อชุดเครื่องเขียน เข็มทิศแบบจีนโบราณสำหรับดูฮวงซุ้ย คนขายขายบ้างให้บ้าง
ไปดูโรงงานผลิตแท่งหมึกของทางการคือ กั๋วอิ๋งตุนซีฮุยโจวหูไคเหวินเม่อฉ่าง อยู่เลขที่ 5 เขตตุนซี เมืองหวงซาน เจ้าของรายแรกผู้ตั้งโรงงานชื่อ หูเทียนจู้ หรือหูเจิ้ง (ค.ศ.1742 – 1808)
มีตำแหน่งราชการเป็นไคเหวิน เปิดร้านในค.ศ. 1782 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ผลิตหมึกที่ดีมีคุณภาพมีแสงมันเป็นเงางาม มีกลิ่นหอม ไม่เหนียวติดพู่กัน ไม่ซึมในกระดาษ หมึกที่มีชื่อคือหมึกชะมด มีสรรพคุณทำให้เลือดลมเดินสะดวก
(น.255) รูป 230 ดูการผลิตหมึก
(น.255) โรงงานเป็นอาคารแบบจีน 2 ชั้น ขึ้นไปดูชั้นบน มีผู้แสดงวิธีการทำแท่งหมึกและลงลายทองให้ดู ดูเหมือนว่าโรงงานจริง ๆ จะอยู่ชั้นล่างหรืออยู่ที่อื่น แต่ยกขึ้นมาให้ดูที่นี่เพื่อความสะดวก ที่ผนังติดภาพเขียนแสดงขั้นตอนการทำแท่งหมึก มีคำอธิบายประกอบมี 12 ขั้นตอน
(น.255) รูป 231 ขั้นตอนการทำหมึก (ภาพขาดขั้นตอนที่ 6)
(น.256) รูป 232 ขั้นตอนการทำหมึก (ภาพขาดขั้นตอนที่ 6)
รูป 233 ขั้นตอนการทำหมึก (ภาพขาดขั้นตอนที่ 6)
(น.256)
1) เอาไขจากหนังสัตว์ผสมน้ำมันตังอิ้ว เคี่ยวเป็นกาวผสมกับผงอะไรก็ไม่ทราบคล้ายพิมเสน
2) ผสมกาวกับตัวยาเพื่อให้เกิดความมันเป็นเงาคงทนติดแน่น
3) นำผงเขม่าที่ร่อนสะอาดแล้วคลุกเคล้ากับกาวที่ผสมตัวยาแล้ว เขม่านี้ต้องทำพิเศษ เขาว่าทำจากน้ำมันตังอิ้ว ได้ทราบว่าบางเจ้าทำจากเขม่าไม้สน
หมึกจากเขม่าสนจะเข้มกว่าหมึกที่ทำจากเขม่าน้ำมัน ในด้านสีสันหมึกที่ผลิตจากเขม่าน้ำมันจะมีความมันเงามากกว่าหมึกจากเขม่าสน ดังนั้นหมึกเขม่าสนเหมาะสำหรับเขียนอักษร หมึกเขม่าน้ำมันเหมาะสำหรับเขียนภาพ ที่จริงยังมีส่วนผสมอื่นอีก
4) เมื่อคลุกเสร็จแล้วนึ่งด้วยไฟแรงให้ร้อน แล้วนำมาโขลกหรือตำ
5) ตำด้วยสากกลับไปกลับมา แล้วนึ่งให้สุก
Next >>