Please wait...

<< Back

" ย่ำแดนมังกร วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2524 "


(น.174) รูป 86 บริเวณสุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้


รูป 87 ม้าดินเผาสุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้

(น.175) พวกนี้เป็นม้าลาก ถ้าปล่อยให้หางม้ายาวๆ กลัวว่าจะไปปัดดฝุ่นคนบนรถจะแย่ อีกตู้หนึ่งเป็นทหารกองหน้า ยังเห็นขากางเกงเป็นสีน้ำเงินข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าสีที่ทาโบราณวัตถุหรือโบราณสถานโดยทั่วๆ ไปนั้น สีที่จะคงเหลืออยู่มากที่สุดจะเป็นสีแดงและสีน้ำเงิน นี้คงเป็นเพราะสีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีที่ใช้มาก และเป็สีที่มีความทนทานด้วย ภัณฑารักษ์ชี้ให้สังเกตหน้าตาของทหารบางคนว่าไม่ใช่หน้าตาคนจีน แต่เป็นคนกลุ่มน้อย มีคนหนึ่งเขาบอกว่าหน้าตาเหมือนคน ซินเกียง หลังจากนั้นเราดูทหารม้าและม้า ในตู้มีเครื่องแต่งม้าทำด้วยหินคล้ายหยก เครื่องแบบทหารม้าก็ไม่เหมือนเครื่องแบบทหารราบ ทหารขี่ม้าเขากลัวผมจะปลิว จึงต้องสวมหมวกทำด้วยหนังเสือ เสื้อเกราะที่สวมก็ยาวไม่ได้ นอกจากนั้นยังใส่รองเท้าบู๊ตด้วย (พอพูดถึงรองเท้าบู๊ตต้องหันไปดูเท้าท่านผู้หญิงมณีรัตน์ และท่านผู้หญิงสุประภาดา ท่านผู้หญิงทั้งสองนิยมสวมรองเท่าบู๊ตเพราะทำให้เดินได้คล่องแคล่วว่องไว ยืนนานได้โดยไม่ปวดขา) ส่วนอานม้านั้นทำเลียนแบบอานม้าที่ทำด้วยหนัง น่าสังเกตว่าเข็มขัดที่รัดอานม้านั้นเหมือนเข็มขัดอย่างสมัยนี้ ม้าที่ทหารม้าขี่ก็ไม่ถูกขมวดหางเหมือนหางม้าลากรถ ตอนสุดท้ายเราได้ดูทหารในท่านั่งซึ่งมีอยู่ในหลุมที่สองถึงร้อยกว่าตัว ทหารนั่งถือธนู ฝีมือแกะหน้าตาหุ่นดีมาก พูดถึงหน้าหุ่น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าดูหน้าตาเป็นคนแคว้นใด หรือกลุ่มใด แต่มองดูแล้วก็อดสรรเสริญนายช่างผู้แกะสลักมิได้ ว่ามี


(น.176) รูป 88 บริเวณพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้ มีฝรั่งนักท่องเที่ยวอเมริกันมากันเยอะ

(น.176) ความสามารถใส่อารมณ์ต่าง ในใบหน้าทำให้คิดว่าแต่ละนายซึ่งรวมกันเป็นทหารในกองทัพของราชวงศ์ ฉิน ต่างมีความนึกคิดและอารมณ์ของตน ทหารธนูจะสวมรองเท้า ถ้าเป็นของจริงก็ทำด้วยหนังควายพื้นรองเท้าเป็นลายเหมือนรองเท้ายางบ้านเรา ทหารธนูอีกพวกยืนยิงธนู แต่ทำท่าทางเหมือนกำลังจะเลียะพะ ใคร

(น.177) เขาอธิบายว่าทหารราบ ทหารม้า เหล่านี้แต่งตัวตามชั้น คือ มองดูเครื่องแต่งตัวก็รู้ว่ามียศแค่ไหน เราไม่มีเวลาดูอะไรยิ่งไปกว่านี้ เพราะต้องไปดูบ่อน้ำ หวาชิงฉือ และพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ ป้านโพ (Ban Po) จึงออกจากหเองแสดงหุ่น ข้างนอกมีนัก่ท่องเที่ยวชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่ ส่วนมากเป็นผู้หญิงแก่ๆ เข้ามาทักทายข้าพเจ้าว่า มาเมืองจีนแล้วคราวหน้าให้ไปอเมริกาบ้าง เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์และนักโบราณนคดีก็กล่าวอำลาข้าพเจ้าเขากล่าวถามว่า มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ข้าพเจ้าจึงกล่าวขอบคุณที่เขาพาข้าพเจ้าชมพิพิธภัณฑ์พร้อมทั้งตอบข้อซักถามต่างๆ ข้าพเจ้าเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนเอาใจใส่และรักงานของตนเป็นอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกหน่อยคงจะเป็นแหล่งการศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีน ซึ่งเมื่อเราใช้ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของชาติการที่เอาคนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับสุสานมาหัดงาน เป็นการพัฒนาชนบทและช่วยชาวบ้านด้วย สำหรับข้าพเจ้า การได้ชมสุสานของพระจักรพรรดิ ฉินสื่อหวังตี้ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมาก ข้าพเจ้าเคยเรียนประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่อยู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และปีแรกที่ข้าพเจ้าสอนอารยธรรมก็สอนเรื่องพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้ นี้อีก ข้าพเจ้าเห็นว่าพระจักรพรรดิพระองค์นี้เป็นคนที่น่าสนใจ คนคนเดียวนี้ทั้งสร้างและเชื่อมกำแพงเมืองจีน สร้างสุสานมีอะไรต่อมิอะไรใหญ่โต ซึ่งจะต้องอาศัยวิชากการชั้นสูงจึงจะทำได้ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่ประเทศ

(น.178) จีน โดยการจัดการคมนาคมให้เข้าสู่ศูนย์กลาง ปรับตัวหนังสือจีนเป็นอย่างเดียวกัน ปรับระบบการใช้เงิน มาตราชั่ง ตวง วัดให้เหมือนกันหมด และอย่างอื่นอีก แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ดุเดือดค่อนข้างจะโหดร้ายในทรรศนะของเรา ปัจจุบันรายละเอียดเรื่องนี้หาอ่านได้ในหนังสือ National Geographic Magazine ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1978 ในรถ ข้าพเจ้าถามคุณซุนหมิงว่าทำไมถึงไม่เปิดดูในสุสานว่ามีอะไรบ้าง เขาบอกว่าตอนนี้นักวิชาการจีนต้องทำงานหลายด้านแล้วเคยอยู่ครั้งหนึ่งที่จีนเปิดเอาศพที่ฝังอยู่ฝนสุสาน ซึ่งศพอยู่ในสภาพที่ดีมากในตอนแรก ทิ้งเอาไว้นานๆ ก็เน่าเสียไป เพราะทางด้านวิชาการยังไม่ดีพอ ขนาดหุ่นในกองทัพนั้น ยังไม่สามารถรักษาสีให้อยู่ในสภาพเดิมได้ ถ้าเปิดสุสานขึ้นอีกจะทำของเสียไปอีกเอาไว้วิชาการดีขึ้นค่อยพิจารณาเปิดสุสาน (ข้าพเจ้าเข้าใจว่าอาจเป็นด้วยงบประมาณ และอีกประการหนึ่ง มีประวัติอยู่ว่าสุสานพระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ ถูกกษัตริย์ต่างราชวงศ์ชื่อพระเจ้า ฉู่ป้าหวัง หรือ ฌ้อปาอ๋อง สั่งเผา ปล้นขนทรัพย์สมบัติ อาจไม่มีอะไรเหลือมากนัก ไม่คุ้มกับงบประมาณที่จะเสียและการทำลายพืชผลที่ปลูกบนเนินดินเหนือสุสาน)


(น.179) รูป 89 บริเวณบ่อน้ำร้อน (ซีอาน) ต้นไม้ที่เห็นเป็นต้นทับทิม กำลังออกดอก ดอกโตกว่าทับทิมบ้านเรามาก เขาใช้เลี้ยงผึ้ง

(น.179) เนินเขาแถวนี้เขามักจะทำนาขั้นบันได บางทีก็ทำไร่ ทำสวน ปลูกส้ม ชา ทางใต้ของมณฑลส่านซีมีการทำนาในลักษณะที่เราก็ทำในบริเวณภูเขาบางแห่งทางภาคเหนือ คือทำเป็นนามีน้ำขังอยู่ชั้นบน แล้วให้น้ำไหลตามรูคันนาลงมาชั้นล่างต่อๆ ไป พอดีถึงบ่อน้ำ หวาชิงฉือ พอไปถึงก็มีพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลสถานที่มาคอยต้อนรับ พาเข้าไปนั่งในอาคารซึ่งมีชื่อว่า เฟยซวงเตี้ยน ผู้ดูแลสถานที่ (เป็นผู้ชาย) ได้กล่าวคำต้อนรับและเล่าเรื่องย่อๆ เกี่ยวกับสถานที่นี้ ในคำต้อนรับแปลออกมาว่า “ยินดีต้อนรับอย่างเร่าร้อน” มีใครในกลุมเราถามล่ามว่า ต้อนรับ “อย่างอบอุ่น” ไม่พอหรือ (ถามเพราะว่าสมัยที่เรียนกับครูกำชัย ครูบอกว่า ต้อนรับ “อย่างอบอุ่น” นั้นไม่เป็นสำนวนภาษาไทย เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ

(น.180) (warm welcome) ครูยังพูดให้เราขบขันกันว่า เมืองไทยเราต้อนรับ “อย่างอบอุ่น” คงจะไม่ค่อยสบายนัก เพราะอากาศบ้านเราร้อน ข้าพเจ้าก็คิดในใจว่า ถ้าอย่างนั้นถ้าพูดว่า “ต้อนรับอย่างเย็นสบาย” คงทำให้แขกผู้มาเยือนมีความสุขที่สุด) เขาบอกว่าต้อนรับ “อย่างอบอุ่น” นั้นยังไม่ถึงใจพวกเขาที่พยายามจะต้อนรับเราอย่างดีที่สุด จากเรื่องย่อที่เขาเล่าทำให้เราทราบว่า หวาชิงฉือ เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ อยู่เชิงเขา หลีซาน นี้ อยู่ทางด้านตะวันออกของซีอานประมาณ 36 กิโลเมตร เริ่มใช้บ่อน้ำนี้ตั้วแต่สมัยราชวงศ์ ซีโจว (โจว ตะวันตก) ราชวงศ์ต่างๆ มี โจว ฉิน ฮั่น ถัง ต่างได้มาตั้งเมืองหลวงที่นี่ ราชวงศ์ ถัง ได้มาสร้างพระราชวังฤดูร้อนที่ใหญ่ที่สุด ระหว่างที่เขาพูดอยู่นี้ก็มีน้ำชามาเลี้ยงตามธรรมเนียมเดิม แต่พวกเราทั้งไทยและจีนไม่ต้องการจะเสียเวลามากนักจึงขอรีบออกไปชมสถานที่กันเลย เมื่อออกไปนอกห้องทางจีนก็เรียกทุกคนให้มาถ่ายรูปหมู่กันหน้าบ่อน้ำ จิ่วหลงถัง หรือบ่อน้ำมังกร 9 ตัว วิวข้างหลังจึงเป็นบ่อน้ำและไกลออกไปเป็นภูเขาค่อนข้างสูง สวยงามมาก ตอนแรกเห็นบ่อน้ำเก้ามังกรนี้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ ข้าพเจ้าดีใจแทนพระสนมเพราะว่าต้องอาบน้ำเย็นแบบนี้ ถ้าไม่แข็งแรงอาจจะเป็นปอดบวมตายก็ได้ ถ่ายรูปป้าจันกำลังทดลองจับน้ำ เราเดินผ่านบ่อน้ำมังกร 9 ตัว ผ่านห้องที่เขาเปิดให้ประชาชนมาอาบน้ำได้ ตั้งแต่ ค.ฃส. 1971 คุณซุนหมิงบ่นว่าเรามีเวลาน้อย

(น.181) ถ้ามีเวลามากหน่อยให้มาที่นี่ตั้งแต่เช้าอาบน้ำก่อนจังจะเริ่มดูอะไรต่อมิอะไร เมื่อเดินผ่านออกไปอีกมีหลุมมีน้ำไหล เขาบอกว่าชั่วโมงละ 25 ตัน อุณหภูมิประมาณ 40 กว่าองฃสา ลองจับดูอุ่นจัดดีทีเดียวในหวาชิงฉือมีบ่อน้ำเช่นนี้ 4 แห่ง ในบริเวณนี้มีบ้านพักนักท่องเที่ยวตกแต่งเป็นแบบราชวงศ์ ถัง สวนเขาก็ทำสวยงามดี ปลูกต้นทับทิมต้นโตๆ ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่งหนึ่งคือ ศาลาที่เขาสร้างนั้นเขามุงหลังคาโดยใช้ไม้เป็นโครงเอาไม้ไผ่สานเป็นแผ่นปูชั้นหนึ่งก่อนจึงมุงกระเบื้อง ทำเช่นนี้ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอย่างไร คงจะทำเพื่อไม่ให้ร้อน (อันนี้เดาเอาเอง) ข้าพเจ้าอยากทราบว่าทำอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่แล้ว (อยากทราบว่าไม้ไผ่แบบนี้จะอยู่ได้นานหรือไม่) เขาบอกว่าทำเมื่อ ค.ศ. 1959 ซึ่งก็นับว่านานมาแล้ว เวลาเรามีน้อยยังจะต้องไปพิพิธภัณฑ์ ป้านโพ อีกแห่งหนึ่งระหว่างทางก็ได้นั่งคุยกับคุณซุนหมิงอีก เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ป้านโพ รถสวนกับคนขี่จักรยานบรรทุกกรงลูกไก่หลายกรง ร้องกันเจี๊ยบๆๆๆ ลั่นไปหมด เมื่อถึง ป้านโพ (Ban Po) มีหัวหน้าพิพิธภัณฑ์และเจ้าหน้าที่ผู้อธิบายคอยรับ ป้านโพ เป็นหมู่บ้านอยู่ริมฝังแม่น้ำ (ห่างเมืองซีอานเก่าประมาณ 10 กิโลเมตร) ใน ค.ศ. 1953 นักโบราณคดีได้มาสำรวจพบชุมชนสมัยหินใหม่ ในแบบของอารยธรรม หยางเส้า ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ


(น.182) รูป 90 ถ่ายหน้าพิพิธภัณฑ์ป้านโพ

(น.182) เมื่อประมาณ 6,000 ปีแล้ว มีอาณาเขตบริเวณ 50,000 ตารางเมตร (ซึ่งเขาสร้างพิพิธภัณฑ์ครอบลงไปเลย) ในปี 1954 เริ่มการขุดสร้างพิพิธภัณฑ์ในปี 1958 บริเวณนี้แบ่งเป็นเขตที่พัก เขตป่าช้าและเขตทำเครื่องปั้น ในบรรดาบ้านที่ขุด มีบ้านพัก 45 หลัง คอกสัตว์ 2 แห่ง หลุมที่ใช้เป็นเป็นโกดังเก็บข้าวของ 200 กว่าหลุม เตาเผาเครื่องปั้นดินเผา 6 เตา หลุมศพ 250 หลุม หม้อใส่ศพเด็ก 73 ใบ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ อีกเป็นหมื่นๆ ชิ้น ทั้งพวกเครื่องมือการเกษตร และของใช้ในบ้านอยู่ปนกัน กระดูกสัตว์ทั้งสัตวบ้านสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เมล็ดผลไม้ และธัญพืช พอถึงปี 1961 ก็ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการรักษาโบราณวัตถุแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์


(น.183) รูป 91 คุณเฉิน (ล่าม) กำลังชี้หุ่นจำลองหมู่บ้านป้านโพ

(น.183) อุปกรณ์ต่างๆ และเครื่องใช้ส่วนมากจะทำด้วยหินหรือกระดูกทั้งขวาน มีด จอบ หัวธนู กงปั่นฝ้าย ฯลฯ ทำด้วยหิน เข็มเย็บผ้า เบ็ดปลา ทำด้วยกระดูก ตอนแรกเขาชี้ให้ดูโต๊ะแผนที่บริเวณหมู่บ้านนี้ เขาตั้งบ้านเรือนอยูใกล้ๆ กัน มีคันคูหมู่บ้านแข็งแรงดี เขาบอกว่าไว้ป้องกันสัตว์ร้าย


(น.184) รูป 92 หลุมก่อนประวัติศาสตร์ป้านโพ

(น.184) ในห้องที่มีโต๊ะแผนที่เป็นห้องเก็บสิ่งของต่างๆ ทุกชิ้นอยู่ในตู้ติดข้างฝา มีรูปปั้นซึ่งเขาสันนิษฐานว่า คนที่นั่นในอดีตจะมีเครื่องแต่งตัวและหน้าตาเช่นนี้ ในตู้กระจกเก็บสิ่งของเป็นช่องๆ เขาเอาของวางแยกประเภทมีรูปถ่ายและรูปวาดลายเส้นให้ดู และมีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษของที่ได้ดูมีหลายอย่าง เช่น มีไหสองใบ เก็บพันธุ์ข้าวฟ่างและพันธุ์ผักเครื่องมือประกอบอาชีพนั้นมีตั้ง 3 อย่างคือ อาชีพเกษตรกรรม เครื่องมือล่าสัตว์ และเครื่องมือทำการประมง มีหลักฐานเรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างน้อยก็มีหมูกับหมา ดูจากกระดูกจะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงจะถูกฆ่าตั้งแต่อายุปีเดียว ในตู้ช่องหนึ่งทำเป็นภาพชีวิตึนสมัยก่อน

(น.185) โดยปั้นเป็นตุ๊กตาแบบเหมือนจริง (อย่างที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของเราก็มี แต่ของเราปั้นใหญ่กว่า) รูปปั้นในตู้นี้แสดงเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา และการเผา วิธีทำเครื่องปั้นดินเผาของเขาก็คล้ายๆ กับที่ทำหลายแห่งในประเทศไทยคือปั้นเป็นเส้นยาวไ ก่อน แล้วขดเป็นวงขึ้นรูปเป็นชั้นๆ แล้วจึงทำให้เรียบอีกที วิธีนี้จะทำให้ปั้นได้รูปทรงโดยไม่ต้องใช้แป้นหมุน เตาที่เผาก็เหมือนอย่างที่เราเผาเครื่องปั้นด้วยฟืน เขาบอกว่าความร้อนประมาณ 800 ํ ในบรรดาเครื่องมือต่างๆ นั้นที่น่าทึ่งที่สุดเห็นจะเป็นเบ็ดตกปลาและเข็มซึ่งทำด้วยเขาสัตว์ ฝีมือประณีต รูเขมเล็กนิดเดียว นอกจากนั้นเป็นพวกเครื่องปั้นดินเผา ส่วนมากเขาจะทำเป็นภาชนะต่างๆ เช่น หม้อ อ่าง ชาม โอ่ง และตุ่ม สรุปได้ว่ามีทั้งภาชนะใส่อาหาร ใส่น้ำ ภาชนะสำหรับหุงต้ม และสำหรับเก็บของดินที่ใช้ปั้นของพวกนี้มีทั้งดินเหนียวเนื้อละเอียด ภาชนะเหล่านี้ส่วนมากทาสีแดง มีที่ทาสีเทาและสีดำ ลวดลายของภาชนะเหล่านี้มีทั้งรอยประทับด้วยวัตถุต่างๆ เช่น ลายเสื่อฟาง หรือผ้าฝ้ายที่ก้นภาชนะแสดงว่าสมัยนั้นมีเสื่อฟางและผ้าฝ้าย (เป็นไปได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ว่าพอเขาปั้นเสร็จก็วางบนเสื่อหรือบนผ้า ลายเลยติดเข้าไปเอง) นอกจากนั้นยังมีลายเชือก และลายจักสาน

(น.186) ลายที่เขียนยังมีลวดลายเรขาคณิต รูปพืช รูปสัตว์ เช่น รูปปลาอ้าปาก ซึ่งคนสมัยใหม่ดูแล้วยังบอกได้ว่าเป็นปลาอะไร (คนจีนเขาบอกว่า หลี่ หรือ หลี่ฮื้อ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง) รูปหน้าคนกำลังจะกินปลาซึ่งเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมาก เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอารยธรรมป้านโพ รูปกวางกระโดด รูปเงือก ที่มี รูปเล่านี้อาจจะเกี่ยวกับความเชื่อในทางศาสนาก็ได้ ของอื่นๆ เบ็ดเตล็ดมี นกหวีดดินเผา รูปปั้นรูปหัวคน และหัวนก ฝา หรือมือถือของภาชนะดินเผา เครื่องประดับ เช่น เครื่องประดับผมสร้อยคอ ลูกปัด ฟันสัตว์ แหวนดินเผา เครื่องประดับเข็มขัด และยังมีหม้อนึ่ง เครื่องมือตักน้ำ ที่กระดูกสัตว์บางชิ้น และตามขอบเครื่องปั้นดินเผามีเครื่องหมายต่างๆ สลักอยู่ มีเครื่องหมาย 22 แบบ นักวิชาการสงสัยกันว่าเป็นบันทึกเรื่องราวต่างๆ หรือไม่ก็เป็นการนับจำนวนสิ่งของรวมความว่าอาจจะเป็นต้นกำเนิดของตัวหนังสือจีน สังคมหมู่บ้านป้านโพนี้ เขาเรียกว่าสังคม “ระบบแม่” ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่ามีลักษณะอย่างไร ถราจากเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าเป็นสังคมที่สตรีมีฐานะสูงมาก ลูกหลานรู้จักแต่แม่ ไม่รู้จักพ่อ ข้าพเจ้าก็ยังไม่เข้าใจอีกนั่นแหละว่ารู้ได้อย่างไรว่าลูกหลานรู้จักใคร ไม่รู้จักใคร เขาเลยตอบใหม่ว่า ในสังคมนี้พ่อยังอยู่บ้าน ทำงานบ้าน แม่ออกป่าล่าสัตว์ ข้าพเจ้าว่าคำตอบนี้ยิ่งแปลกใหญ่ คนอธิบายคงเห็นข้าพเจ้าทำหน้ายุ่งๆ เลยเดินหายไปไหนก็ไม่ทราบและมาอธิบายตอนหลังว่า สังคมพ่อนั้นเมื่อครอบครัวมีลูกมีหลานออกไปแล้วจะแยกครอบครัวไปต่างหาก และที่เก็บของอยู่นอกบ้าน

Next >>