Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2542 "


(น. 189) รูป 147 ดอกไม้บาน
Blossoms.

(น. 189) เดินไปที่ศาลาตกปลาหรือเตี้ยวอวี๋ไถของจักรพรรดิเฉียนหลง (เตี้ยว = ตก อวี๋ = ปลา ไถ = เวทีที่ที่ใช้แสดง เรือนรับรองที่ปักกิ่งใช้ชื่อว่า เตี้ยวอวี๋ไถ) เดินไปพลางชมดอกไม้ไปพลาง บริเวณศาลาตกปลาเป็นที่ที่เห็นทิวทัศน์ต่างๆ ได้ดีมาก เช่น เจดีย์ขาว สะพานห้าศาลา เจดีย์ขาว มีลักษณะเหมือนเจดีย์ที่ทะเลเหลืองของปักกิ่ง มีประวัติเล่ากันมาว่า จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่เมืองนี้ มีพระราชดำรัสว่าทิวทัศน์ที่นี่สวยงาม แต่ขาดเจดีย์สีขาว พ่อค้าเกลือจึงเอาเกลือมากองเป็นเจดีย์เสร็จในคืนนั้น ทำให้จักรพรรดิพอพระทัยมาก ภายหลังจึงสร้างเจดีย์จริงใน ค.ศ. 1784 เป็นปีที่ 49 ในรัชกาล ฟังแล้วไม่ทราบว่า พระจักรพรรดิเห็นว่าสร้างเจดีย์ด้วยเกลือแปลกดี จึงพอพระทัย หรือว่าถูกหลอกคิดว่าเป็นเจดีย์จริง จักรพรรดิเป็นบุคคลที่ใครๆ คอยจ้องจะหลอกอยู่แล้ว

(น. 190) ส่วนสะพานห้าศาลา สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1757 เป็นปีที่ 22 ในรัชกาล สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสะพานยกย่องว่า เป็นสะพานที่คงความงามแห่งศิลปะภาคใต้ ผสานกับความสง่างามของศิลปะภาคเหนืออย่างกลมกลืนลงตัว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สะพาน 24 ตามบทกวีของตู้มู่ที่พรรณนาความว่า
เขาเขียวเห็นลางๆ สายน้ำเห็นไกลๆ
ที่เจียงหนานปลายชิวเทียน แมกไม้เหี่ยวเฉา
สะพานยี่สิบสี่ ยามราตรีจันทร์กระจ่าง
สอนนางแก้วเป่าขลุ่ยอยู่หนใด


(น. 190) รูป

(น. 191) บทกวีนี้มีชื่อว่า จี้หยังโจวหานชั่วพั่นกวน หรือ ส่งไปหยังโจวให้พั่นกวนชื่อหานชั่ว ตู้มู่เขียนให้เพื่อนสนิทชื่อ หานชั่ว สันนิษฐานว่าทั้งสองรู้จักกันตอนที่ตู้มู่ไปรับราชการที่หยังโจวช่วงประมาณ ค.ศ. 833 หรือ 834 ถึง ค.ศ. 835 มีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของหานชั่วอยู่น้อยมาก รู้แต่ว่าเป็นเพื่อนของตู้มู่ รับราชการเป็น พั่นกวน ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางในหัวเมือง มีหน้าที่ช่วยงานเจ้าเมืองทั้งในด้านบริหารและตุลาการปนๆ กัน

(น. 191)
(น. 192) นักวรรณคดีวิจารณ์กล่าวว่า ตู้มู่เขียนบทกวีนี้ตอนที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งสูงขึ้นที่ฉังอานแล้ว เขียนมาเย้าแหย่เพื่อนคือ หานชั่ว ซึ่งยังคงอยู่ที่หยังโจว ช่วงที่อยู่ที่นี่ ทั้งสองเคยไปเที่ยวสำราญ ฟังเพลง หานักร้องสาว และหญิงคณิกาด้วยกัน เมื่อจากกันไปอยู่คนละเมือง ตู้มู่จึงเขียนมาแหย่เพื่อนว่า ตอนนี้ที่เจียงหนานอยู่ในปลายชิวเทียน ต้นไม้เหี่ยวเฉา แต่เธอยังเที่ยวเตร่ สอนสาวงามเป่าขลุ่ยอยู่ที่ใด บาทที่ 3 นั้นยังมีปัญหาในการตีความเรื่อง เอ้อร์สือซื่อเฉียว หรือ สะพานยี่สิบสี่ (เออร์สือซื่อ = ยี่สิบสี่ เฉียว = สะพาน) ซึ่งมีความเห็นต่างกันดังนี้
มีสะพานอยู่ 24 สะพาน แต่มีนักเขียนไปสำรวจแล้วพบว่าในเมืองมีเพียง 21 สะพาน ส่วนนอกเมืองมี 9 สะพาน รวมทั้งหมด 30 สะพาน
มีสะพานเดียว เป็นชื่อสะพาน เรียกว่า เอ้อร์สือซื่อเฉียว หรือ สะพานยี่สิบสี่
จักรพรรดิสุยหยังตี้ให้นางสนม 24 คนมาเป่าปี่ที่สะพานนี้ จึงเรียกว่า เอ้อร์สือซื่อเฉียว
หมายความว่า เมืองหยังโจวมีสะพานมากมาย ตู้มู่รู้ว่ามีกี่สะพาน แต่เขียนแบบประมาณการ ไม่ตรงตามตัวเลขจริง เขียนพรรณนาสื่อความนัยว่า จันทร์กระจ่างส่องสว่างไปตามสะพานต่างๆ แล้วเธอล่ะ หานชั่ว ไปสอนสาวงาม นางแก้วของเธอเป่าขลุ่ยอยู่ที่ไหน


(น. 193) รูป 148 ฟังดนตรี
Listening to music.

(น. 193) กวีมีอิสระในการเขียน และย่อมหวังให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการและปัญญากลั่นกรองตีความกวีนิพนธ์ของตน เสรีภาพนี้เป็นการให้ชีวิตอันสมบูรณ์แก่บทกวีจากภาษาใจที่สื่อกันได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ไร้พรมแดน เป็นภาษาสากล จากศาลาตกปลาของจักรพรรดิเฉียนหลง ลงเรือล่องต่อไป เรือขึ้นที่ท่าตำหนักว่อชุนไถ ซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลงสร้างถวายพระราชชนนีในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ หน้าตำหนักมีศิลาจารึกฝีมือเขียนตัวอักษรจีนของประธานเหมาเจ๋อตง เขียนบทกวี จี้หยังโจวหานชั่วพั่นกวน ของ ตู้มู่ ข้างในมีการแสดงดนตรีด้วยเจิง เพลงแม่น้ำหลิวหยังและหยังโจวหมินเกอ (เพลงชาวบ้านของหยังโจว) เป็นการแสดงหมู่


(น. 194) รูป 149 วัดต้าหมิง
Da Ming Temple.

(น. 194) เมื่อฟังเพลงแล้ว นั่งรถไปที่วัดต้าหมิง เป็นวัดในนิกายลวี่จงคือ นิกายวินัย เจ้าอาวาสและเจ้าหน้าที่กิจการศาสนาของเมืองมารับ วัดนี้ดูเหมือนวัดอื่นๆ คือหน้าประตูเป็นหอจตุโลกบาล มีพระเมตไตรยอยู่ตรงกลางวิหารใหญ่ มีพระพุทธรูปอีก 3 องค์ ตรงกลางคงเป็นพระศากยมุนี มีพระอานนท์อยู่ด้านขวา พระกัสสปอยู่ซ้าย พระพุทธรูปข้างขวาคือ พระอมิตาภะ ส่วนข้างซ้ายคือ พระไภษัชยคุรุ วัดต้าหมิงตั้งอยู่บนเขายอดกลางของภูเขาสู่กัง เป็นภูเขาที่ไม่สูงนัก อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหยังโจว มีประวัติย้อน

(น. 195) หลังไป 1,500 กว่าปี จักรพรรดิเซี่ยวอู่ตี้ แห่งราชวงศ์หลิวซ่งในสมัยราชวงศ์เหนือใต้เป็นผู้สร้างในรัชศกต้าหมิง อันเป็นรัชศกที่ใช้ในช่วง ค.ศ. 457 – 464 หรือกลางศตวรรษที่ 5 จึงเรียกชื่อวัดตามปีรัชศก คำว่า ต้าหมิง แปลว่า สว่างเจิดจ้า ในสมัยราชวงศ์ถังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดซีหลิง แปลว่า ที่สถิตแห่งจิตวิญญาณ ราชวงศ์ซ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมว่า วัดต้าหมิง ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเมืองหยังโจว เห็นคำว่า ต้าหมิง ทรงไม่พอพระทัย เพราะทรงเกรงว่าจะทำให้ผู้คนคิดถึงราชวงศ์หมิง จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝ่าจิ้งซื่อ หรือ วัดฝ่าจิ้ง คำว่า ฝ่าจิ้ง แปลว่า พระธรรมพิสุทธิ์ ใน ค.ศ. 1980 ได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อดั้งเดิมคือ วัดต้าหมิง เพราะในเดือน 4 ปีนั้นได้อัญเชิญรูปปั้นพระเจี้ยนเจิน (ค.ศ. 688 – 763) จากประเทศญี่ปุ่น กลับมาตั้งบูชาที่วัดนี้ พระเจี้ยนเจินเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของวัดต้าหมิง ใน ค.ศ. 753 สมัยราชวงศ์ถังได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่เมืองนาราในประเทศญี่ปุ่น ได้ตั้งนิกายวินัยขึ้นที่นั่น และอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 763 ท่านเคยฟันฝ่าอุปสรรคเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้งแต่ไปไม่ถึง จนในครั้งที่ 6 จึงประสบผลสำเร็จ ที่วัดต้าหมิงมีหออนุสรณ์พระเจี้ยนเจินที่สร้างตามลักษณะสถาปัตยกรรมราชวงศ์ถัง สร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1973 เจ้าอาวาสบอกว่า วัดที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงแทนวัดเก่าที่ถูกไฟไหม้ไป บูรณะในสมัยราชวงศ์ชิงและสมัยปัจจุบัน ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966 – 1975) วัดนี้

(น. 196) ไม่ถูกทำลาย เพราะท่านโจวเอินไหล มาห้ามไว้ทัน ข้าพเจ้ามองดูแล้วก็ดูไม่ออกว่าจะมีร่องรอยโบราณของราชวงศ์หมิงเหลืออยู่ ดูจะเป็นของบูรณะใหม่ สถานที่มีชื่อเสียงของวัดต้าหมิงคือ หอผิงซาน และสวนฟังผู่ เมื่อวันที่ไปพบท่านรองประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (5 เมษายน) ท่านบอกว่าวัดต้าหมิงสร้างใหม่ในสมัยราชวงศ์ชิง ข้อมูลของใครถูกต้องก็ไม่ทราบ ตัดสินไม่ได้ โอวหยังซิว (ค.ศ. 1007 – 1072) กวีเอกและขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อครั้งมารับราชการอยู่ที่หยังโจวได้สร้างหอผิงซานใน ค.ศ. 1048 จากหอนี้ มองออกไปข้างนอกไกลโพ้นจะเห็นภูเขาและทิวทัศน์ต่างๆ เสมือนอยู่ระดับเดียวกับหอจึงเรียกว่า ผิงซานถัง มีความหมายว่า หอสูงเสมอภูเขา หลังจากโอวหยังซิวถึงแก่กรรมไปแล้ว ซูตงปัวมารับราชการอยู่ที่หยังโจว ได้ไปนั่งบนหอผิงซาน ขับบทกวี (ฉือ) รำลึกถึงโอวหยังซิว ส่วนสวนฟังผู่ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1741 จักรพรรดิเฉียนหลงเคยเสด็จมาที่สวนนี้ เข้าไปในวิหารใหญ่ พระตีกลองต้อนรับ แล้วให้ไหว้พระวางพุ่มดอกไม้ที่นำมาจากเมืองไทย และจุดธูปเทียน ปักกำยาน เห็นวัดนี้มีไม้ขีดตราของวัดเอง เลยขอมาเป็นที่ระลึก พระพาชมรอบๆ แล้วไปที่พระเจดีย์ชีหลิง ตามประวัติว่าสร้างสมัยราชวงศ์สุย มี 9 ชั้น ทุกชั้นมีพระพุทธรูป แต่เขาไม่ได้ให้ปีนขึ้นไป ให้ดูแต่ชั้นล่างมีพระหินขาวของพม่า ทั้งพระนั่งและพระนอน ผู้ว่าราชการเมืองย่างกุ้งเป็นผู้ถวาย ชมรอบๆ วัดอีกนิดหน่อย แล้วกลับที่พัก


(น. 197) รูป 150 เจดีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดต้าหมิง
This stupa is the symbol of the Temple.

(น. 197) ข้าพเจ้ามาเยือนหยังโจวสั้นๆ เพียงวันเดียว ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ 4 แห่ง เมื่อกลับมาแล้วได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม หยังโจวเป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปถึงปลายสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) เป็นเมืองในแคว้นอู๋ เดิมมีชื่อว่า หันเฉิง ตามชื่อคลองขุดหันโกว ที่พระเจ้าฟูชาโปรดให้ขุดขึ้นในปี 486 ก่อนคริสตกาล เพื่อเชื่อมแม่น้ำฉังเจียงและแม่น้ำหวยเหอ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตั้งเป็นแคว้นชื่อว่า ก่วงหลิง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น หยังโจว ในสมัยราชวงศ์สุย และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมืองหยังโจวตั้งอยู่กลางมณฑลเจียงซูทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฉังเจียง และอยู่ริมฝั่งคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ที่ผ่านเมืองนี้ด้วย จักรพรรดิสุยหยังตี้เกณฑ์แรงงานมหาศาลมาขุดคลองนี้เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางน้ำระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ โดยอาศัยแนวคลองหันโกวเป็นหลัก คลองต้าอวิ้นเหอเริ่มจากอำเภอทงเซี่ยนในปักกิ่ง ผ่านเทียนสิน มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู และมาสิ้นสุดที่หังโจวใน

(น. 198) มณฑลเจ้อเจียง รวมความยาว 1,794 กิโลเมตร เป็นคลองขุดที่เก่าแก่ และยาวที่สุดในโลก เชื่อมต่อแม่น้ำใหญ่ 5 สายคือ ไห่เหอ หวงเหอ (ฮวงโห) หวยเหอ ฉังเจียง และเฉียนถังเจียง ปัจจุบันนี้คลองต้าอวิ้นเหอเดินเรือได้ตลอดปีเฉพาะช่วงจากมณฑลเจียงซูถึงมณฑลเจ้อเจียง ช่วงอื่นๆ เดินเรือได้บางฤดูกาล และบางช่วงก็ตื้นเขินจากการที่แม่น้ำฮวงโหเปลี่ยนเส้นทาง สภาพทำเลที่ตั้งเช่นนี้ทำให้หยังโจวเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางเรือและเป็นเมืองพาณิชย์มาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งข้าวและเกลือทะเล เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านงานเครื่องเขิน ดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยผ้าไหม การเจียระไนหยก และการจัดสวนทำเขามอ สามารถประดิษฐ์เขามอให้มีลักษณะ 4 ฤดูต่างกันออกไป ปัจจุบันหยังโจวเป็นเมืองสำคัญของมณฑลเจียงซูทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม หยังโจวเป็นเมืองงามน่ายลมาเก่าก่อน และยังมีสถานบันเทิงมากมาย เดือนที่หยังโจวงามมากคือ ช่วงเดือนสาม ดังที่หลี่ไป๋ได้กล่าวไว้ว่า “ล่องไปเมืองหยังโจว เดือนสาม กลางหมอก ดอกไม้” (บาทที่ 2 ในบทกวี หอกระเรียนเหลือง ส่งเมิ่งเฮ่าหรานไปก่วงหลิง) ความงามของเมืองหยังโจวเป็นแรงบันดาลใจให้กวีที่มาเที่ยวเมืองนี้ประพันธ์บทกวีเอาไว้มาก หลากเรื่องหลายรส มีการรวมเล่มพิมพ์เผยแพร่ ข้าพเจ้ามาเพียงวันเดียว จึงมิได้มีบทกวีใดๆ หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว นั่งรถไปเมืองเจิ้นเจียง รถไปลงแพขนานยนต์เพื่อข้ามจากฝั่งหยังโจวไปฝั่งเจิ้นเจียง แม่น้ำ

(น. 199) ฉังเจียงตรงนี้กว้างมาก ได้ยินว่าจะสร้างสะพาน ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่าจะสร้างไปได้อย่างไร มีผู้อธิบายให้ว่า บริเวณที่สร้างสะพานมีเกาะอยู่ตรงกลาง ฝั่งที่เราลงแพสมัยก่อนเรียกว่า กวาโจว มีบทกวีของหวังอานสือ เขียนไว้ว่า
1. จิงโข่ว กวาโจวเพียงสายน้ำคั่น
2. จงซานห่างเพียงเขาไม่กี่ลูก
3. ลมชุนเทียนทำให้ฝั่งเจียงหนานเขียวอีกครั้ง
4. เมื่อใดจันทร์กระจ่างจะส่องทางให้ข้ากลับ
บทกวีนี้มีชื่อว่า ปั๋วฉวนกวาโจว หรือ จอดเรือที่กวาโจว หวังอานสือ (ค.ศ. 1021 – 1086) กวีเอกและขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเป็นผู้ประพันธ์ หวังอานสือเป็นคนสติปัญญาดี เมื่ออายุ 21 ปีก็สอบได้จิ้นซื่อ ชอบรับราชการในหัวเมืองมากกว่าเมืองหลวง เพราะต้องการสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ทำงานอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ 20 กว่าปี ใน ค.ศ. 1069 จักรพรรดิเสินจง (ค.ศ. 1068 – 1085) ทรงแต่งตั้งให้เป็นรองอัครเสนาบดี ปีรุ่งขึ้นได้เป็นอัครเสนาบดี ใน ค.ศ. 1069 หวังอานสือได้เริ่มการปฏิรูปการเมืองการปกครอง เรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า การปฏิรูปของหวังอานสือ พวกขุนนางหัวเก่าต่อต้านการปฏิรูป หวังอานสือเป็นคนเชื่อมั่นสูงในความคิดของตนเอง จึงลาออกจากราชการใน ค.ศ. 1074 รวมแล้วเคยลาออก 6 ครั้ง ใน ค.ศ. 1075 จักรพรรดิเสินจงทรงแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งใหม่ บทกวีนี้เขียนระหว่างการเดินทางมารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 จิตใจดีขึ้น อยากเห็นบ้านเมืองดี แต่ก็คิดถึงบ้านเมืองที่เจียงหนิง (นานกิง) เพราะพื้นเพนิสัยเป็นคนรักสงบ หวังอานสือไมใช่ชาวเมืองเจียงหนิง แต่ก็รักและผูกพันกับที่นี่

(น. 200) ในด้านวรรณศิลป์ บทกวีนี้บรรยายทิวทัศน์ได้ดี มีทั้งใกล้และไกล และมีทั้งภาพในตอนกลางวันและกลางคืน คำว่า จิงโข่ว ในบทกวีหมายถึง เมืองเจิ้นเจียง กวาโจว คือ บริเวณทางใต้ของหยังโจว ส่วน จงซาน ก็คือ ภูเขาจื่อจินซาน บาทที่ 3 เป็นบาทที่เด่น สามารถเอาความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ (ลมชุนเทียน) มาเปลี่ยนเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ (ฝั่งเจียงหนานเขียวอีกครั้ง) บทกวีแสดงถึงความสบายใจของผู้แต่ง ซึ่งติดใจทิวทัศน์งดงามที่จิงโข่ว-กวาโจว แต่ก็คิดถึงเมืองเจียงหนิง ฝั่งที่แพขนานยนต์ขึ้น ในบทกวีสมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า หลูโข่ว เข้าไปในเมืองซึ่งค่อนข้างใหญ่และถนนกว้าง ที่เกาะกลางถนนมีโคมแบบที่ติดตอนตรุษจีนติดไว้ เราไปที่โรงแรมเจิ้นเจียงก่อน พักผ่อนครู่หนึ่งก็ออกเดินทางไปที่สวนสาธารณะหมู่บ้านจินซาน เมืองเจิ้นเจียงเตรียมล่ามพูดภาษาอังกฤษได้ไว้ให้ ตอนลงจากรถฝนตกหยิมๆ ไปดูที่บ่อน้ำ เขาเรียกว่า เทียนเซี่ยตี้อีเฉวียน ว่าเกิดจากแม่น้ำฉังเจียงเปลี่ยนเส้นทาง แต่เดิมบ่อนี้อยู่กลางแม่น้ำ มีน้ำพุอยู่ตรงกลาง ว่ากันว่าน้ำของบ่อนี้ชงชารสดี แต่วิธีไปตักน้ำยากมาก ต้องไปตักตอนเที่ยงคืน ใช้กระบอกไม้ไผ่ตักน้ำ มีคนที่นี่ได้ไปเป็นคนใหญ่คนโตที่ปักกิ่ง ยังต้องตักเอาน้ำที่นี่ไปด้วย บ่อนี้มีอะไรที่แปลกอย่างหนึ่ง คือเมื่อปรบมือเสียงดังแล้วพรายน้ำจะขึ้นมา บ่อนี้ซ่อมเมื่อ ค.ศ. 1992


(น. 201) รูป 151 ดูบ่อน้ำ
Looking at the pond.

(น. 201) บริเวณรอบๆ เป็นสวน เห็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาถ่ายรูปคู่อีกแล้ว ขึ้นไปบนหอสูงเรียกว่า หอฝูหรง (บางคนแปลว่า หอดอกบัว แต่มีผู้บอกว่า ไม่ใช่ดอกบัว ฝูหรงเป็นดอกไม้ไม่มีกลีบ ฟูๆ คล้ายกระถิน แต่เป็นสีชมพู ในพจนานุกรมเขียนว่า cotton rose hibiscus) หอนี้ดั้งเดิมสร้างสมัยราชวงศ์ถัง ตกแต่งด้วยภาพเมืองเจิ้นเจียง เห็นวัดจินซานด้วย มีบทกวีของหวังซังหลิงเขียนไว้ เดิมเป็นหอระฆังของวัด ปัจจุบันนี้เป็นที่รับแขก ชวนแขกดื่มน้ำชา เจ้าหน้าที่ของเมืองชวนดื่มน้ำชา เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์เล่าว่าชานี้เป็นชาใหม่ เก็บเมื่อวันเช็งเม้งคือเมื่อสามวันก่อนนี้เอง ชาที่นี่ประกวดชนะเสมอ ชาในฤดูชุนเทียนคือชาในช่วงนี้ดีที่สุด เพราะเก็บหลังฤดูหนาว ใบชาจะสะสมธาตุอาหารที่มีประโยชน์และหอมมากกว่าชาที่เก็บในหน้าร้อนซึ่งจะมีรสขม ข้าพเจ้ารู้สึกชอบชานี้ถึงจะอ่อนกว่าชาที่เรานิยมดื่มในเมืองไทย แต่หอมและชุ่มคอดี

(น. 202) ทิวทัศน์บริเวณนี้ถือว่างดงามมาก ภูเขาที่สำคัญมี 3 ยอดคือ เจียวซาน จินซาน และเป่ยกู้ซาน วัดจินซานเป็นสถานที่ที่มีเรื่องเล่านางพญางูขาว ว่ามีคนเอางูเล็กๆ มาเลี้ยง แล้วงูกลายเป็นสาวงามได้เพราะงูนี้บำเพ็ญเพียรมา 500 ปีจึงมีฤทธิ์ นางอยากแต่งงานกับชายหนุ่มชื่อสวี่เซียน แต่พระฝาไห่เจ้าอาวาสวัดจินซานไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าคนกับงูไม่ควรจะอยู่ด้วยกัน งูจึงโกรธทำน้ำท่วมวัด แต่ในที่สุดงูแพ้ ถูกจับขังไว้ในเจดีย์ 19 ปี บุตรชายมาช่วยได้ และได้อยู่ด้วยกัน ดูเหมือนว่าเรื่องนี้มีคนเล่ากันมาก และแต่ละคนก็เล่าไม่ค่อยเหมือนกันด้วย แถวนี้มีนักท่องเที่ยวมาปีหนึ่งประมาณสองสามล้านคน บริเวณสวนรอบๆ นี้มีท้อบานสวยงาม ดูแล้วเหมือนดอกนางพญาเสือโคร่งที่มีทางเหนือของไทย ช่วงฤดูใบไม้ผลินี้คนออกมาเที่ยวกันมาก ทางสวนจึงตกแต่งสวนด้วยว่าวรูปผีเสื้ออย่างสวยงาม

Next >>