Please wait...

<< Back

" เจียงหนานแสนงาม วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2542 "


(น. 202) รูป 152 ทิวทัศน์มองจากหอฝูหรง
Beautiful view from Furong Tower.


(น. 203) รูป 153 นั่งเรือชมทะเลสาบ
Admiring the magnificent view of the lake from a boat.


รูป 154 นั่งเรือชมทะเลสาบ
Admiring the magnificent view of the lake from a boat.


(น. 204) รูป 155 รูปพระอรหันต์
Images of the arhats.

(น. 204) คนอื่นๆ หายไปหมด ดูเหมือนว่าเขาให้ไปขึ้นเรือก่อน ข้าพเจ้าขึ้นเรือไปถึงที่วัดจินซาน เป็นวัดนิกายฉานจงหรือเซ็น เจ้าอาวาสเป็นหลวงปู่อายุประมาณ 85 ปี มีหลวงพี่เป็นผู้ช่วย ท่านพาเข้าในวิหาร มีพระ เณรสวดมนต์ว่าอะไรก็ไม่ทราบ คงเป็นสันสกฤตแบบจีน พระเณรวัดนี้มีถึง 80 รูป เพราะหลวงปู่มีชื่อเสียงว่าสอนดี หลวงปู่สอนให้จุดธูปเทียนปักไม้หอม เมื่อปักแล้วเดินวนไปรอบหนึ่งแล้วจึงกราบ จะวางพุ่มเองท่านก็ว่าให้ท่านวางให้ ในวัดมีจตุโลกบาลเหมือนวัดอื่น ด้านในมีพระพุทธรูปเหมือนกับวัดต้าหมิงที่ไปเมื่อเช้านี้ รอบๆ มีพระอรหันต์ มีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมด้วย


(น. 205) รูป 156 เจดีย์ 7 ชั้น
Seven-storeyed stupa.

(น. 205) หลวงพี่พาขึ้นเขาเพื่อไปเจดีย์ที่สูงขึ้นไป หยุดดูทัศนียภาพเป็นพักๆ เดิมที่สร้างวัดอยู่กลางน้ำ แล้วน้ำเปลี่ยนเส้นทาง หลวงพี่เล่าว่ามีวัดบนเขาสองแห่ง เขาจินซานนี้ไม่ค่อยเห็นเพราะต้นไม้และตึกบังเต็มไปหมด ส่วนเจียวซานเห็นแต่ต้นไม้ตึกซ่อนอยู่หลังต้นไม้ อาคารที่นี่หันทางทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก คนจีนทั่วไปจะสร้างอาคารหันทางทิศใต้ อาจจะเป็นเพราะลักษณะของแม่น้ำจึงวางผังวัดเช่นนี้ หลวงพี่ยังเล่าเรื่องพระถังซำจั๋งเป็นทารกลอยน้ำมา และเจ้าอาวาสวัดจินซานช่วยเก็บเอามาเลี้ยง เป็นเรื่องประหลาดไม่เคยได้ยิน

(น. 206) บนภูเขามีพระเจดีย์ 7 ชั้น หลวงพี่บอกว่าภูเขาลูกนี้ยังไม่สูง สร้างเจดีย์ต่อขึ้นไปทำให้เขาสูงขึ้น ข้าพเจ้าจะขึ้นไปชมทิวทัศน์ก็ได้ แต่ท่านไม่ขึ้นเพราะรู้สึกไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าขึ้นไปบนเจดีย์ 7 ชั้น เจดีย์นี้สร้างสมัยจักรพรรดิกวงซวี่ (จักรพรรดิกวงสู) ปีที่ 26 ตรงกับ ค.ศ. 1900 ข้างบนเห็นยอดเขาอีก 2 ยอด มีเจดีย์ บริเวณแถวนี้มีถ้ำ เรียกว่า ถ้ำฝาไห่ มีรูปปั้นพระฝาไห่อยู่ในนั้น กลับลงมาที่ศาลาข้างล่าง หลวงปู่คอยรับอยู่ ท่านกล่าวต้อนรับ (ภาษาที่ท่านพูด คนปักกิ่งฟังไม่ค่อยจะออก ดีแล้วที่มีล่ามท้องถิ่น)


(น. 206) รูป 157 หลวงปู่อธิบายวัตถุโบราณของวัด ในภาพคือติ่ง ภาชนะ 3 ขา
The Reverend Monk giving explanation on the Temple's antiques. A tripod bowl (ting) is seen in the picture.

(น. 207) ท่านเล่าว่าวัดนี้มีประวัติมา 1,600 ปีแล้ว มีเนินเขา 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงในเมืองนี้คือ จินซานกับเจียวซาน เหมือนหยก 2 ก้อนลอยอยู่ในแม่น้ำ ที่นี่มีของสำคัญเก็บไว้คือ 1. ติ่ง คือภาชนะสำริด 3 ขา สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ภาชนะแบบนี้มีวิธีใช้ 2 อย่างคือ ใช้ในกองทัพ (ทหารทำกับข้าวหรือพิธีกรรม) และใช้ในพิธีกรรม ติ่งใบนี้เป็นของโจวซวนหวัง มีคำจารึกอยู่ข้างใน
2. เข็มขัดหยกของซูตงปัว กวีเอกและขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง เข็มขัดนี้มีหยก 20 ชิ้นร้อยติดกัน มีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่ซูตงปัวเป็นเจ้าเมืองหยังโจว ช่วงหนึ่งเจ็บป่วยมาก อยากลาออก จึงมาปรึกษาเจ้าอาวาสวัดนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เจ้าอาวาสแนะนำให้ลาออกแถมให้ทิ้งเมียน้อยให้หมด เพราะชีวิตเหมือนเทียนใกล้ดับ ส่วนจารึกที่เขียนไว้อยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง เป็นเรื่องการเสด็จเจียงหนาน
3. ภาพวาดจินซานอยู่กลางน้ำ สมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522 – 1566) ฝีมือเหวินจื่อหมิง หลวงปู่แปลบทกวีที่เขียนเอาไว้ในภาพให้ฟังว่า

(น. 208)

ได้มาที่วัดจินซานอีกหนหนึ่งเมื่อตอนผมหงอก
สถานที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สันทรายถูกน้ำท่วมถึง
มองเห็นใบเรือที่ใช้ใบในแม่น้ำฉังเจียง
เห็นอาทิตย์กำลังตกทางทิศตะวันตก
แม่น้ำไม่สามารถกล่าวอธิบายได้
เวลาผ่านไป ชีวิตก็ล่วงไป
คนคิดว่าความกังวลทำให้ผมหงอก
อยากปีนเมฆดูเมืองที่ไกลออกไป
ดูนครหลวงที่ไกลโพ้น
ยืนอยู่ท่ามกลางฤดูใบไม้ผลิ
ชื่นชมทิวทัศน์ ณ ที่นี้
สวรรค์อยู่บนฟ้าสูง ผืนน้ำสีน้ำเงิน
เป็นทิวทัศน์ที่งามสง่า
ประวัติศาสตร์ทางตะวันออกเห็นเป่ยกู้มีเหตุหลายหลากปรากฏ
เรื่องราชวงศ์ภาคใต้ที่โหดร้ายก็ยังเป็นที่กล่าวถึง
กล่าวกันว่ามีสุสานกษัตริย์ที่เจิ้นเจียงนี้ แต่ไม่น่าเชื่อ
มองจากที่นี่เห็นวิญญาณร่ายรำในสายน้ำ
หวังว่าในอนาคตจะได้เป่าขลุ่ยในแสงจันทร์
ระหว่างฤดูใบไม้ผลิจะได้ล่องเรือข้ามแม่น้ำกลับบ้านทาง
ทิศตะวันออก
เขียนบทกวีนี้สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง ให้เจ้าอาวาส

(น. 209) อีกม้วนหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นสมุดเซ็นเยี่ยมสมัยก่อน มีคนสมัยหลังเขียนชมภาพที่เจียงไคเช็คเขียนก็มี หลวงปู่อ่านเป็นสำเนียงพื้นเมือง ฟังแล้วเพราะดีกว่าใช้ภาษาจีนกลางเสียอีก แต่ฟังไม่ออก ท่านขอให้ข้าพเจ้าเขียนตัวอักษรให้ท่าน ข้าพเจ้าเขียนว่า จินซานซื่อ (วัดจินซาน) ท่านเขียนให้ข้าพเจ้าว่า โฝซิน แปลว่า โพธิจิต (ซึ่งเป็นหลักของนิกายฉานจง) ข้าพเจ้าบริจาคเงิน ท่านจะให้ใบอนุโมทนา แต่ยังหาไม่เจอ กลับลงไปที่รถท่านทูตจังเหลียนยังไม่มา ได้ความว่าขอให้หลวงปู่เขียนตัวอักษรให้เหมือนกัน กลับไปที่โรงแรม ค่ำนั้นนายกเทศมนตรีเลี้ยงรับรอง ได้กล่าวต้อนรับในนามประชาชน 2,560,000 คน ข้าพเจ้าเป็นมิตรเก่าที่ชาวจีนรู้จักดี ปีที่แล้วคณะของท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงได้พบกับข้าพเจ้า และวันนี้ข้าพเจ้าก็ได้มาที่บ้านเกิดของท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศถังเจียเสวียนด้วย ทำให้รู้สึกเป็นกันเองยิ่งขึ้น เมืองนี้ขึ้นตรงกับรัฐบาลมณฑล มีเนื้อที่ 3,843 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,560,000 คน แบ่งการปกครองเป็นเมืองระดับอำเภอ 3 เมือง และเขตอีก 2 เขต เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน สมัยสามก๊กช่วงหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ของซุนกวน ที่เป่ยกู้ซานมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ เล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของซุนกวน


(น. 210) รูป 158 นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้นเจียงให้ของที่ระลึก
The Mayor of Zhenjiang gave me a souvenir.

(น. 210) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หลิวซ่งคือ หลิวอวี้หรือจักรพรรดิซ่งอู่ตี้ (ค.ศ. 420 – 422) และปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฉีใต้หรือฉีเกาตี้ (ค.ศ. 479 – 482) ต่างก็เป็นคนเจิ้นเจียงเช่นกัน เมืองเจิ้นเจียงนี้มีกวีโบราณ (ราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง) มาชุมนุมกันอยู่มาก เขียนโคลงกลอนและบทความมากมาย เช่น หวังเหวย หวังอานสือ หลี่ไป๋ ไป๋จวีอี้ ซูซื่อ (ซูตงปัว) เขียนบทกวีชมเมืองนี้

(น. 211) ในเมืองนี้ยังมีนักวิชาการมีชื่อที่เขียนหนังสือไว้หลายคน เช่น พระโอรสองค์หนึ่งของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ. 502 – 519) ได้คัดสรรความเรียงและกวีนิพนธ์ดีๆ มารวมเล่มเผยแพร่ ตอนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเมืองจีนครั้งแรก ท่านประธานเหมาเจ๋อตงก็มอบหนังสือนี้ให้ มีนักวิชาการชื่อ หลิวเสวีย เขียนตำราเกี่ยวกับกลวิธีการประพันธ์ ตั้งชื่อว่า เหวินซินเตียวหลง (แกะสลักมังกรในหัวใจวรรณคดี) นักวิทยาศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่งชื่อ เสิ่นคั่ว เขียนหนังสือรวมบทความทางวิทยาศาสตร์ ตั้งชื่อหนังสือว่า เมิ่งซีปี่ถาน (เมิ่งซี เป็นชื่อสวนที่เสิ่นคั่วสร้างขึ้น ปี่ถาน แปลว่า งานเขียนเขียนเล่าเรื่อง) เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยว มีภูเขาจินซาน เจียวซาน และเป่ยกู้ซาน ยังมีหนานซาน เป็นป่าอนุรักษ์ เหมาซานเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเต๋า ส่วนเป่าหัวซานเคยเป็นที่มั่นของพวกต่อต้านญี่ปุ่น ที่นี่มีเจดีย์หลายแห่ง ทั้งเจดีย์ไม้ อิฐ หิน เหล็ก เจดีย์ที่จินซานเป็นเจดีย์ไม้ พรุ่งนี้จะได้เห็นเจดีย์เหล็ก เมืองเจิ้นเจียงยังเป็นเมืองวีรชนคนกล้า ต่อสู้ศัตรูผู้รุกรานในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตอนสงครามฝิ่นก็ต่อสู้กับพวกอังกฤษที่ภูเขาเจียวซาน ขณะนี้ยังมีปืนใหญ่ที่ใช้รบสมัยนั้น สมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น นายพลเฉินอี้กับนายพลซู่อวี้รบอยู่ที่ภูเขาเหมาซาน ขณะนี้มีอนุสาวรีย์เป็นเครื่องระลึกถึงคุณความดี ที่ภูเขานี้มีปาฏิหาริย์แปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาจุดประทัด เสียงประทัดจะสะท้อนดังเหมือนเสียงแตร

(น. 212) เจิ้นเจียงเป็นเมืองท่า มีทั้งอุตสาหกรรมและการค้า ส่วนการท่องเที่ยวและการคมนาคมก็สะดวกดี ด้านหนึ่งของเมืองเป็นแม่น้ำ อีกสามด้านมีภูเขาล้อม และเป็นจุดที่คลองใหญ่มาบรรจบแม่น้ำแยงซี มีทางรถไฟ ทางหลวง มีสนามบินอยู่ทั้งสองข้าง เป็นทางผ่านของทางด่วนเซี่ยงไฮ้-นานกิง มีท่าเรือสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในลุ่มแม่น้ำแยงซี มีสินค้าขนถ่าย 15 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตต้ากั่ง (ท่าใหญ่) เป็นท่าเรือที่เปิดสู่โลกภายนอกก่อนท่าอื่นๆ ในจีน หลังจากดำเนินตามนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว ใน ค.ศ. 1998 มี GNP 39,100 ล้านหยวน รายได้ 14,700 หยวนต่อคน เป็นลำดับที่ 5 ของมณฑลเจียงซู ลำดับที่ 50 ของประเทศ เมืองระดับอำเภอที่ขึ้นกับเจิ้นเจียงก็มีความเจริญใกล้เคียงกัน เมืองนี้เป็นเมืองเกษตร แต่อุตสาหกรรมก็รุ่งเรือง การบริการก็มีคุณภาพดี อุตสาหกรรมมีทั้งอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานกระดาษ การผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร ความพร้อมของเมืองทำให้นักธุรกิจสนใจมาลงทุนสร้างโรงงานถึง 1,800 แห่ง เป็นเงินลงทุนราว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนไปแล้ว 1,823 ล้านเหรียญ มีคนไทยมาลงทุนและค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะมาที่เจิ้นเจียงเป็นเวลาอันสั้น แต่เจิ้นเจียงคงจะติดอยู่ในใจข้าพเจ้า และของเพื่อนทุกท่าน คราวหน้าหวังว่าคงมีโอกาสต้อนรับอีก หวังว่าจะช่วยกันเผยแพร่ชื่อเสียงชักชวนคนไทยให้มาเมืองนี้ ทั้งที่มาในด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา และวัฒนธรรม หากมาลงทุนก็ยิ่งดี

(น. 213) ข้าพเจ้าถามว่าคนไทยมาลงทุนอะไร ท่านนายกเทศมนตรีกล่าวว่า มามีหุ้นอยู่ในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่ลงทุนร่วมกับสหรัฐอเมริกาผลิต DVD และ CD-ROM อีกบริษัทมาผลิตกระแสไฟฟ้าที่เมืองตานหยัง ข้าพเจ้ากล่าวว่าท่านหลี่หลานชิงเป็นผู้แนะนำให้มาที่นี่ นายกเทศมนตรีบอกว่าเขาก็ยินดีต้อนรับ ประชาชนรู้ข่าวที่ข้าพเจ้าจะมาเยือนหลายวันแล้ว คืนนี้ก็ต้องมีข่าวออกโทรทัศน์ของเจิ้นเจียง ท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงเกิดและเติบโตที่นี่ มีโรงเรียนมัธยม 2 แห่งที่ท่านเคยเรียน ส่วนท่านถังเจียเสวียนนั้นพ่อแม่เคยอยู่เมืองนี้และย้ายไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่เมื่อมีคนถามหรือจะเขียนประวัติ ท่านยังบอกว่าเป็นคนเจิ้นเจียง ข้าพเจ้าเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้ท่านถังก็ไปเมืองไทยและไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทางการ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่ได้เข้าไป ไม่ได้พบกัน จากนั้นก็ให้ของขวัญเป็นแสตมป์รูปสามก๊ก แล้วเชิญไปรับประทานอาหาร ท่านนายกเทศมนตรีเล่าว่าท่านไม่ได้เป็นคนเจิ้นเจียง แต่ก็อยู่ที่เจิ้นเจียงมา 41 ปีแล้ว มีอาหารชนิดต่างๆ รวมทั้งซาละเปาที่มีไส้เป็นซุปร้อน นิยมใส่ซอสเปรี้ยวจิ๊กโฉ่ว (วิธีกินซาละเปานี้ต้องใช้หลอดดูดน้ำ) จิ๊กโฉ่วนี้มีสรรพคุณพิเศษคือ ใช้รักษาสุขภาพและช่วยเสริมสวย มาจากการหมักเหล้าข้าวเหนียวทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ จะมีลักษณะเป็นน้ำส้ม เล่ากันว่าท่านหลี่เผิงชอบจิ๊กโฉ่วนี้มาก ถึงกับเอาไปใส่กับสไปรท์ดื่ม (ตอนที่ท่านหลี่เผิงเยือนไทย ข้าพเจ้าเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อหนึ่ง ลอง

Next >>