Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง วันเสาร์ที่ 15 มกราคม


(น.93) รูป 131 มอบตุ๊กตาชาวเขาไทยไว้ให้คุณป้าเป็นที่ระลึก

(น.93)ไร่ ยังทำได้แรงงาน ครอบครัวของเรามักจะมากกว่าบ้านคุณป้า แต่ที่นี่ใช้เครื่องจักรกลเพาะปลูกย่อมทำได้เร็ว การค้าการซื้อวัตถุดิบและการขายสินค้าดูจะสะดวก คนที่กล้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานอาจจะลำบากเรื่องความหนาวเย็น แต่จะร่ำรวยดีกว่าคนที่อยู่ทางใต้อากาศอุ่นสบาย ที่นี้ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่เก็บรวมกันไปเลยหลายเจ้าของ แต่ละคนมีเครื่องส่วนตัวเป็นเครื่องเล็กๆ ข้าพเจ้าถามถึงวัว นายกเทศมนตรีบอกว่าที่นี่เลี้ยงโคนมเป็นส่วนใหญ่ วัวเนื้อมีบ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ใช้พ่อพันธุ์ในประเทศ มีการสั่งเข้าจากออสเตรเลียบ้าง ชาวบ้านส่งนมไปที่ศูนย์รวมนมซึ่งจะเอาเข้าโรงงานแปรรูป

(น.94) ข้าพเจ้าถามว่าในรัสเซียมีคนตาเว่อร์อยู่บ้างหรือไม่นายกเทศมนตรีบอกว่า มีจำนวนไม่น้อย คุณป้าพาทัวร์ในบ้าน เข้าไปในห้องครัว มีหม้อใหญ่สำหรับหุงข้าวหมู หม้อเล็กหุงข้าวคน หม้อหุงข้าวจุดไฟในเตาไว้ เขาบอกว่าใช้ไม้ติดไฟใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ถ่านหินก็หาซื้อไม่ยากอยู่แถวๆ นี้เอง ควันจากเตาก็ต่อเข้าท่อไปเป็น heater ในห้องที่เรียกว่าคั่ง ข้าพเจ้าอ่านพบในหนังสือของหวางเหมิงที่ข้าพเจ้าแปล แต่ก็นึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร คราวนี้ก็ได้เห็นของจริง สุดท้ายดูเล้าเป็ดเล้าไก่ หมูฆ่าไปแล้วตัวหนึ่ง อีกตัวปล่อยวิ่งไปไหนก็ไม่ทราบ คุณป้าบอกว่าบ้านนี้สร้างมาได้ครบ 10 ปีพอดี ได้พบกับผู้ใหญ่บ้านคุนเหอ บอกว่าหมู่บ้านนี้มี 550 หลังคาเรือน ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นคนตาเว่อร์เหมือนกัน ออกจากหมู่บ้านคุนเหอ ข้ามแม่น้ำคงเหอ หิมะตกมากแต่บางบ้านก็ไม่เห็นเก็บผ้าที่ตากไว้ ปล่อยตากหิมะ แถวนี้มีที่ทำอิฐมาก ที่ปลูกโรงยาวๆ แต่แรกข้าพเจ้าคิดว่าเป็นตลาดสด คนขับรถบอกว่าเป็นที่ทำอิฐ


(น.95) รูป 132 หลังบ้านคุณป้า


รูป 133 เวลาเยี่ยมหมู่บ้านก็ชอบไปดูว่าชาวบ้านเขาปลูกอะไร เลี้ยงสัตว์อะไร ตอนนี้เป็นช่วงหน้าหนาว ไม่มีพืชผักอะไร


(น.96) รูป 134 เวลาเยี่ยมหมู่บ้านก็ชอบไปดูว่าชาวบ้านเขาปลูกอะไร เลี้ยงสัตว์อะไร ตอนนี้เป็นช่วงหน้าหนาว ไม่มีพืชผักอะไร


รูป 135 เวลาเยี่ยมหมู่บ้านก็ชอบไปดูว่าชาวบ้านเขาปลูกอะไร เลี้ยงสัตว์อะไร ตอนนี้เป็นช่วงหน้าหนาว ไม่มีพืชผักอะไร


(น.97) รูป 136 ไปที่ว่าการอำเภออ้ายฮุย

(น.97) ไปถึงที่ว่าการอำเภออ้ายฮุยปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์ชิงเคยเป็นเมืองด่านชายแดนที่สำคัญด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พวกแมนจูเรียกชื่อเมืองอ้ายฮุยว่า ซาฮาเลียนอูลาฮัวทง ในภาษาแมนจูคำว่า ซาฮาเลียน แปลว่า ดำ อูลา แปลว่า แม่น้ำฮัวทง แปลว่า เมือง รวมความแล้วแปลว่า เมืองแม่น้ำดำ ตรงกับความหมายคำว่าเมืองเฮยเหอในภาษาจีน เมืองอ้ายฮุยนอกจากเป็นเมืองด่านชายแดนแล้ว ยังมีความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ด้วย การศึกษาค้นคว้าทำให้ทราบว่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีผู้คนมาอาศัยอยู่นานแล้ว


(น.98) รูป 137 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองอ้ายฮุยตั้งแต่สมัยโบราณ

(น.98) เข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองอ้ายฮุย ซึ่งแสดงความเป็นมาของเมืองนี้ในด้านต่างๆ เรื่องแรกที่ได้ชมกล่าวถึงรอบๆ บริเวณที่เคยเป็นที่บัญชาการของแม่ทัพเฮยหลงเจียงมาแต่ ค.ศ.1683 ในสมัยราชวงศ์ชิงนั้น มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่มาแต่ครั้งโบราณ ขุดค้นพบเครื่องมือหิน หัวลูกศร หัวธนู มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่า หัวธนูพวกนี้เป็นบรรณาการส่งเข้าเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว นอกจากนั้นได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดการปกครองและการทหารของเมืองอ้ายฮุยตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง

สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (ค.ศ.386-534) มีตำแหน่งแม่ทัพประจำที่เมืองอ้ายฮุย
(น.99) รูป 138 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองอ้ายฮุยตั้งแต่สมัยโบราณ

(น.99) สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) มีกองทัพประจำการที่นี่
สมัยราชวงศ์เหลียว (ค.ศ.946-1125) มีผู้แทนพระองค์ของจักรพรรดิมาอยู่ประจำการ
สมัยราชวงศ์จิน (ค.ศ.1115-1234) เมืองสำคัญอยู่แถวๆ ผู่ยู่ลู่
สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1279-1368) มีแม่ทัพภาคตะวันออกมาตั้งสำนักงานอยู่ที่นี่
สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ตั้งกองบัญชาการทหารขึ้นที่นี่


(น.100) รูป 139 สิ่งของโบราณ

Next >>