Please wait...

<< Back

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง วันเสาร์ที่ 15 มกราคม


รูป 140 สิ่งของโบราณ

(น.100) สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) รวบรวมดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียงเข้าด้วยกัน มีแม่ทัพแห่งอ้ายฮุยหรือแม่ทัพแห่งเฮยหลงเจียงมาอยู่ประจำการ ตั้งที่บัญชาการซึ่งขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารที่จี๋หลิน แม่ทัพมีอำนาจบังคับบัญชาราชการทั้งบู๊ (การทหาร) และบุ๋น (การพลเรือน) ในตู้มีสิ่งของสมัยราชวงศ์จิน เช่น หัวไถ มีดตัดหญ้า ตราของที่ทำการเก่า นอกจากนั้นมีลายครามสมัยราชวงศ์ชิง ของพวกนี้ชาวบ้านบริจาคบ้าง ซื้อชาวบ้านมาบ้าง ที่น่าสนใจคือ มีแผนที่แสดงอาณาบริเวณแถบนี้ ได้เห็นที่ต่างๆ เช่น เกาะซักคาริน (Sakharin) จีนเรียกว่าคู่เย่ะ เดิมเป็นที่อยู่ของพวกเร่ร่อนเผ่าเอ้อหลุนชุน ทะเลสาบชิงไห่เป็นของจีน 1 ใน 3 เป็นของรัสเซีย 2 ใน 3 แผนที่แสดงส่วนที่แม่น้ำเฮยหลงเจียงบรรจบกับแม่น้ำอูซูหลี่เจียง อันเป็นบริเวณที่รัสเซียและจีนเคยรบกันเรื่องปัญหาชายแดน


(น.101) รูป 141 แผนที่แสดงประวัติศาสตร์บริเวณนี้ในสมัยต่างๆ ที่น่าสนใจคือแถบนี้บางยุคก็เป็นของจีน บางยุคก็เป็นของรัสเซีย

(น.101) แผนที่แสดงเมืองอ้ายฮุย เมืองอ้ายฮุยนี้มี 2 เมือง เมืองเก่าเวลานี้อยู่ในรัสเซีย จีนเรียกแถบนี้ว่าเจียงตง คือ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเฮยหลงเจียง รัสเซียเรียกเมืองนี้ว่า บลาโกเวชเชนสก์ (Blagoveshchensk) เมืองทางฝั่งจีนเป็นเมืองสร้างใหม่ อยู่ในแถบเจียงซี คือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ การพิพาทเรื่องปัญหาชายแดนเริ่มแต่ช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 17 และการกำหนดเส้นกั้นเขตแดน ทำให้เมืองอ้ายฮุยมีทั้งทางฝั่งรัสเซียและฝั่งจีน คำว่าอ้ายฮุย ภาษาตาเว่อร์แปลว่าน่ากลัว ส่วนภาษาแมนจูเรียกเมืองนี้ว่า “ซาฮาเลียนอูลาฮัวทง” ดังได้กล่าวแล้ว

(น.102) นอกจากแผนที่และป้ายรูปถ่ายแล้ว เขาวาดรูปสีน้ำมันแสดงเหตุการณ์สำคัญๆ มีรูปเชคอฟ นักเขียนมีชื่อของรัสเซีย มาที่เมืองอ้ายฮุยใน ค.ศ.1892 ตู้แสดงเครื่องหยก เครื่องประดับม้า แววหางนกยูงที่ข้าราชการสมัยราชวงศ์ชิงใช้แสดงลำดับยศ แผนที่แสดงสถานีม้าเร็วที่ใช้ในการคมนาคมสื่อสารสมัยโบราณ ตามสถานีจัดเป็นที่พักด้วย ของใช้ในบ้านมีถาด จานรองแก้ว รูปในหนังสือรัสเซียที่เขียนเกี่ยวกับภูมิภาคบริเวณนี้ ธนู หางทำด้วยขนห่าน หัวธนูเจาะรูที่หัว ยิงแล้วมีเสียงสัญญาณ ข่มขวัญข้าศึกได้ ดาบ ตราประจำตำแหน่ง รองเท้าสำหรับขึ้นเขาล่าสัตว์ของพวกเอ้อหลุนชุน เสื้อแมนจูธงแดง เรื่องต่อไปที่ได้ดูเป็นเรื่องการขยายดินแดนของรัสเซียมายังชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ปัญหาชายแดนในบริเวณนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีผลต่อทั้งความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจในบริเวณชายแดน ราชวงศ์ชิงจึงให้ความสำคัญตลอดมา พยายามแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งที่เกิดขึ้น แต่จะแก้ไขได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองและประสิทธิภาพทางการปกครองของราชวงศ์ชิงเองด้วย ระหว่าง ค.ศ.1685-1686 ในสมัยพระเจ้าคังซีจีนได้ส่งกองทหารเข้าโจมตีเมือง Albazin เมืองด่านชายแดนของรัสเซียบนฝั่งแม่น้ำเฮยหลงเจียง ปัญหาชายแดนที่ยืดเยื้อนี้ยุติลงด้วย


(น.103) รูป 142 แสดงปัญหาข้อพิพาทเรื่องชายแดน

(น.103)การเจรจาทำสนธิสัญญา Nerchinsk ค.ศ.1689 ผู้แทนฝ่ายรัสเซียที่เข้ามาเจรจาคือ นายพลคาบารอฟ (Khabarovsk) สนธิสัญญา Nerchinsk แม้จะทำให้จีนเสียดินแดนให้รัสเซียบ้างเล็กน้อย คือเมืองโป๋ลี่ของจีนตกเป็นของรัสเซีย กลายเป็นเมืองคาบารอฟ ตามชื่อนายพลที่เป็นผู้แทนเข้ามาเจรจา แต่ก็เป็นสนธิสัญญาที่จีนได้ทำกับรัสเซียอย่างเสมอภาค มีการเจรจาเส้นกั้นเขตแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือให้แน่ชัด ตามสนธิสัญญานี้แม่น้ำเฮยหลงเจียงและเขตสันปันน้ำทั้งหมดเป็นของจีน นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังตกลงให้การค้าชายแดนดำเนินไปตามปกติด้วย ใน ค.ศ.1728 สมัยพระเจ้าหย่งเจิ้ง จีนกับรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญา Kiakhta เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยตามชายแดนที่นี่ การค้าแบบกองคาราวานในบริเวณนี้

(น.104)และการขุดค้นหาทองที่ภาคใต้ของไซบีเรีย ตามสนธิสัญญานี้ทั้งจีนและรัสเซียตกลงกันว่า แนวเขตแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปตามเส้นทางของแม่น้ำ Argun และแม่น้ำ Kiakhta ปัญหาข้อพิพาทเรื่องชายแดนได้ดำเนินต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ จึงต้องเสียดินแดนให้แก่รัสเซียไปเป็นจำนวนมาก รวมดินแดนที่เสียไปประมาณ 1 ล้านกว่าตารางกิโลเมตร ปี 1858 เซ็นสัญญาอ้ายฮุย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สัญญานี้ฝรั่งเรียกว่า Argun Peace Treaty ตัดพื้นที่จีนไป 600,000 กว่าตารางกิโลเมตร ต่อมาทำสนธิสัญญาปักกิ่งปี ค.ศ.1900 ตัดพื้นที่ไปอีก 400,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาแม่น้ำเฮยหลงเจียงก็กลายเป็นเส้นกำหนดชายแดนระหว่างจีนและรัสเซีย มีรูปรัสเซียมาทุบร้านของชาวบ้านแล้วก็ไป ปี ค.ศ.1900 นี้ทหารรัสเซียรุกเข้ามาในภาคอีสาน 3 มณฑล ตามแผนที่มีแมนจูเรีย จี๋หลิน ต้าเหลียน เทียนสิน เป็นช่วงที่เกิดกบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ภาพวาดที่แสดงไว้เห็นการกวาดต้อนผู้คน ช่วงนั้นคนที่เกิดในดินแดนที่ตกเป็นของฝั่งรัสเซียมีอยู่ 64 หมู่บ้านที่ถูกตัดออกไป พวกที่หนีมาจีนบ้านเกิดนั้น บ้านช่องก็ถูกยึดไป เขาไปสัมภาษณ์คนที่เคยอยู่ทางฝั่งรัสเซียที่หนีมา แต่กว่าจะไปสัมภาษณ์พวกนี้ก็อายุมากแล้ว คนหนึ่งไปสัมภาษณ์เมื่อปี ค.ศ.1965 ที่อยู่ใหม่อยู่ที่ชานตุง อายุ 76 ปี ภาพประชาชนช่วยกันต่อต้านรัสเซีย ในปี ค.ศ.1900 นี้มีแม่ทัพเฮยหลงเจียง


(น.105) รูป 143 แสดงปัญหาข้อพิพาทเรื่องชายแดน

(น.105)เป็นวีรชนเสียชีวิต เลนินประณามรัฐบาลสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ว่ารุกรานดินแดนจีน (แต่ไม่ยักคืนกลับให้จีน) มีรูปผู้บริหารเมืองเฮยเหอที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เห็นรูปท่านนายกเทศมนตรีด้วย เลยชวนท่านมาถ่ายรูป จะเห็นได้ว่าปัญหาชายแดนระหว่างจีนและรัสเซียเป็นปัญหาที่ดำเนินมานาน 2-3 ศตวรรษ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นได้กระทบถึงชีวิตของผู้คนในชายแดน การสูญเสียดินแดนเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ชาวจีนไม่ลืมเลือน และได้บันทึกให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้เป็นบทเรียนสืบต่อๆ กันมา กลับโรงแรมข้างนอกมืดแล้ว มืดเร็วมากหิมะก็ตกหนักมาก ไปถึงต้องรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อไปรับประทานเลี้ยงกลางคืน มีเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ไฟก็ดับอยู่ 5 ครั้ง ต้องเอาไฟฉายเข้าไปในห้องน้ำ เคราะห์ดีที่งานเลี้ยงก็อยู่ในอาคารนี้เอง เมื่อเข้าไปถึงเห็นนายกเทศมนตรีมีกระดาษปึกโตสำหรับกล่าวสุนทรพจน์ แต่จริงๆ แล้วเขาก็พยายามย่อและใช้เวลา 1 ชั่วโมง


(น.106) รูป 144 นายกเทศมนตรีเมืองเฮยเหอกล่าวบรรยายสรุปก่อนเลี้ยงอาหาร

(น.106) ประชาชน 1,600,000 คน ขอต้อนรับข้าพเจ้าที่มาจากแดนไกล โดยไม่กลัวความหนาวเย็นเป็นครั้งแรก ได้ข่าวก็มีคนสนใจศึกษาเรื่องประเทศไทย ได้อ่านหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองไทยจะบรรยายอย่างคร่าวๆ ว่า เฮยเหอเป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่สุดของจีน จีนมีคำกล่าวว่า บุกใต้ ล่องเหนือ ชาวบ้านพูดกันว่าถ้ายังไม่ถึงเมืองเฮยเหอก็ยังไม่ถึงภาคเหนือ ข้าพเจ้าก็ได้มาถึงแล้ว ได้ดูแม่น้ำเฮยหลงเจียง ฝั่งรัสเซีย ซึ่งมีเมืองบลาโกเวชเชนสก์ตั้งอยู่ พื้นที่อ้ายฮุยที่เคยเป็นของจีนอยู่บริเวณใกล้ๆ นั้น อำเภอน่านเจีย เขตปกครองเต๋อตู ซุนเอ๋อ ซุ่นหู เป่ยอาน และอู่ต้าเหลียน


(น.107) รูป 145 นายกเทศมนตรีเมืองเฮยเหอกล่าวบรรยายสรุปก่อนเลี้ยงอาหาร

(น.107) เนื้อที่ของเฮยเหอ มีเนื้อที่ 68,726 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 1,600,000 คน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 0◦C หรืออาจจะต่ำกว่าศูนย์ประมาณ 1-2 องศา ช่วงนี้เป็นช่วงที่หนาวที่สุด อุณหภูมิเมืองไทยเวลานี้กับเฮยเหอต่างกันประมาณ 60◦C ดังที่มีคนชอบพูดกันว่าคนที่ถูกความหนาว จมูกและหูจะหลุดออกมา ทุกท่านก็เห็นแล้วว่าไม่มีสภาพเช่นนี้เกิดขึ้น ประชาชนเฮยเหอเองก็ไม่มีคนจมูกหลุด เนื่องจากข้าพเจ้าสนใจชนชาติแถบนี้ ซึ่งมีชนเผ่า 30 กว่าเผ่า คนฮั่น (จีน) มีมากที่สุด นอกจากนั้นมีคนกลุ่มน้อยพวกหม่าน พวกหุย (อิสลาม) เกาหลี ตาเว่อร์ เอ้อหลุนชุน มองโกล ประชาชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณ 50,000 คน ที่ข้าพเจ้าได้เห็นวันนี้เป็นจำพวกหนึ่งในคนกลุ่มน้อย ประวัติของเมืองนี้ย้อนกลับ 10,000 ปี ยุคหินเก่าตอนปลาย มีมนุษย์อยู่แล้ว ราชวงศ์โจวมีอำนาจปกครองต่อมาจนถึงราชวงศ์ชิง ดังที่ได้ฟังการบรรยายที่พิพิธภัณฑ์ เมืองเฮยเหอนี้กำลังเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ พร้อมที่จะแข่งกับเมืองอื่น เป็น


(น.108) รูป 146 นายกเทศมนตรีเมืองเฮยเหอกล่าวบรรยายสรุปก่อนเลี้ยงอาหาร

(น.108)เมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีข้อดีอีกหลายข้อ ข้อสำคัญประการหนึ่งคือ มีเมืองบลาโกเวชเชนสก์ เมืองชายแดนสำคัญเมืองหนึ่งของรัสเซีย อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม เมืองเฮยเหอเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีความเจริญดีใช้เป็นสถานที่ค้าขายกับรัสเซียและประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพรัฐเอกราช 35 รัฐ มีบริษัทค้าขาย 2,000 กว่า บริษัทจาก 19 มณฑลมาร่วมมือกันทำมาค้าขาย ตั้งแต่ ค.ศ.1987 เป็นต้นมาสินค้าส่งออกจีนและรัสเซียก็ผ่านด่านนี้ประมาณ 1,860 ล้านสวิสฟรังค์ (1 สวิสฟรังค์ ประมาณ 3.7 หยวนจีน) ทรัพยากรแร่ธาตุมี 95 ชนิด ยกตัวอย่างเช่นเหมืองแร่ทองแดง มีขนาดเป็นอันดับที่ 2 ทั่วประเทศ น้ำแร่อู่ต้าเหลียนเปรียบกับน้ำแร่ Vichy ของฝรั่งเศส ของรัสเซียมีเมืองเคาสกอฟ (Khaoskov) รัฐจอร์เจีย ที่ตั้งและทรัพยากรทำให้เฮยเหอเหมือนกับนกมี 2 ปีกทะยานสู่ฟ้า จีนมีหลายเมืองที่เป็นเมืองปิด แต่ไม่มีสภาพเงื่อนไขที่ดีเช่นนี้

(น.109) ที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ หมายถึงนโยบายสิทธิพิเศษต่างๆ ปี ค.ศ.1992 รัฐบาลส่วนกลางกำหนดนโยบาย 8 ข้อ ให้สิทธิพิเศษในฐานะเป็นเมืองปิดชายแดน ในด้านรัฐบาล ประชาชนแห่งมณฑลได้ให้นโยบายอีก 55 ข้อ สหประชาชาติ (เข้าใจว่าหมายถึง UNDP) ได้ดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน subregion ที่กำลังพัฒนาให้ตัวแทนนักวิชาการจาก 14 ประเทศรวมทั้งอาจารย์ไทยมาสัมมนาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อเมืองเฮยเหอสามารถร่วมมือกับเมืองบลาโกเวชเชนสก์แล้ว การติดต่อจะเป็นไปตามธรรมเนียมระหว่างประเทศมากขึ้น มีการยืดหยุ่นและมีการให้สิทธิพิเศษต่อกันได้ง่ายขึ้น สำหรับด้านฮาร์ดแวร์ มีสายการบินติดต่อกับเมืองอื่น แม้เครื่องบินที่มีอยู่ยังเล็กก็ติดต่อกันได้ รถไฟภายในมีหลายสายขนส่งทางน้ำตามแม่น้ำและทะเลก็ติดต่อได้ ทางหลวงก็มีหลายสายกำลังวางแผนสร้างสนามบินขนาดกลาง โทรศัพท์ปัจจุบันนี้หมุนพูดระหว่างประเทศได้ มีโทรเลข Fax สรุปแล้วการเปิดประเทศรอบด้านคล้ายๆ กับคันธนู เซินเจิ้น ไหหลำ ติดฝั่งทะเลเป็นสายธนู เซี่ยงไฮ้เป็นคันธนู (ไม่รู้ว่าทำไม) พูดอีกอย่างหนึ่งเปรียบกับแม่เหล็ก เซินเจิ้น ไหหลำเป็นขั้วใต้ เซี่ยงไฮ้เป็นขั้วกลาง เฮยเหอเป็นขั้วเหนือ ด้านใต้ใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านนี้ใกล้เอเชียตะวันออก

(น.110) ชาวเฮยเหอมีความปรารถนาแต่ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่คือ ประการแรกให้ช่วยเลือกเมืองในประเทศไทยที่มีขนาดพอๆ กันกับเฮยเหอ มีความก้าวหน้าพัฒนาพอๆ กัน สามารถแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ ได้ เป็นเมืองพี่เมืองน้อง เพื่อให้เฮยเหอได้รับประสบการณ์จากไทย ประการที่สอง ถ้าสะดวก ให้วงการธุรกิจไทยมาเมืองนี้ ขอให้นักธุรกิจไทยมาสำรวจดูงานและร่วมมือกัน ตั้งแต่ท่านซุนเหวยเปิ่นประธานสภาประชาชนกลับจากเมืองไทยได้มาปรารภว่า นักธุรกิจไทยสนใจสิ่งที่เฮยเหอมี 2 ประการ อย่างแรกคือปูนซีเมนต์ที่กวานเหย่าเหอ มีวัตถุดิบพอที่จะผลิตได้ 1,400,000 ตันต่อปี อย่างที่สองคือการแปรรูปถั่วเหลือง พูดในแง่คุณภาพถือเป็นถั่วเหลืองคุณภาพดีที่สุดในประเทศจีน คิดว่าเฮยเหอมีถั่วที่ดีสุดในประเทศ นักวิชาการทางอเมริกาและแคนาดาเคยวิจัยว่า ถั่วเหลืองของจีนมีคุณภาพติดอันดับของโลก มีหนทางในอนาคตที่ไกลมาก สามารถเป็นสินค้าได้ 40 กว่าชนิด เช่น เต้าหู้ทำเป็นผงใช้แทนน้ำนมสำหรับผสมเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ

Next >>