Please wait...

<< Back

ถ้ำตุนหวง


(น.230) รูป 144. ตุนหวง
Dunhuang.

(น.230) พระอริยเมตไตรย (จีนเรียกมี่เล่อ) พระในถ้ำนี้มีลักษณะไขว้พระชงฆ์อย่างหลวมๆ ทั้งนั้น ภาพฝาผนังวาดอย่างหยาบๆ เรื่องพระเจ้าแผ่นดินตัดขา ตัดเศียรให้พราหมณ์ (เป็นเรื่องสละตนเองอีกแล้ว) ถ้ำที่ 285 เป็นถ้ำสมัยซีเว่ย (เว่ยตะวันตก) มีอำนาจอยู่ราว ค.ศ. 535-557 มีจารึกบอกปีเดือนที่วาด อาจารย์ต้วนอธิบายว่าถือว่าเป็น
(น.231) ทรัพย์สมบัติสำคัญของประเทศได้รักษาไว้เป็นอย่างดี ใน ค.ศ. 1925 เกือบจะถูกชาวอเมริกันขโมยไปแล้ว ติดกระดาษ นำกาวมาเตรียมจะลอก ประชาชนช่วยกันขับไล่ จึงเอาอะไรไปไม่ได้ เพดานเป็นเรื่องนิยายพื้นบ้านจีนโบราณ เรื่องมนุษย์คู่แรกของโลกคือฟูซีซื่อและหนู่วา เป็นมนุษย์เริ่มแรกของจีน ภาพพระจันทร์ พระอาทิตย์ ตามคติของจีน อาจารย์ต้วนว่ามีรูปเทพเจ้าอพอลโลของกรีกนั่งรถม้า มีม้า 4 ตัวลาก หน้าตาเป็นแบบจีน เทวดาลม เทวดาฟ้าผ่าของจีน นางฟ้าขี่กิเลนในศาสนาเต๋า ข้าพเจ้าก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็ขอกล่าวโดยสรุปย่อๆ ในตอนนี้ว่าห้องนี้มิได้แสดงเฉพาะความเชื่อในพุทธศาสนา แต่จะมีความเชื่อในลัทธิเต๋าและความเชื่อผีสางเทวดาแบบโบราณ เช่นรูปคนหัวเป็นมังกรอยู่ใต้เขาคุนลุ้น ออกจากถ้ำนี้อาจารย์ต้วนชี้ให้ดูซันเหว่ยซานคือภูเขาสามยอด อยู่ทางทิศตะวันออก มีประวัติว่ามีแสงทองอยู่หลังเขา เห็นว่าเป็นสถานที่ศิริมงคลจึงมาเจาะถ้ำ แต่ก็ไม่มีภาพเขียนอะไร มีแต่วัด
ข้าพเจ้าถามอาจารย์ต้วนถึงงานด้านอนุรักษ์ว่าทำไปในด้านใด อาจารย์ต้วนว่ามีหลายขั้นตอน
1. ค้นคว้าว่าสีทำด้วยอะไร
2. หาสาเหตุของการเปลี่ยนสี
3. หาวิธีการรักษา
4. ร่วมมือทางวิชาการกับอเมริกาและจีน
จริงๆ เกินเวลามาตั้งนานแล้ว แต่ต้องพูดว่า “ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว” เราดูต่อให้ครบตามที่ตั้งใจไว้ดีกว่า ก็น้อยเต็มทีแล้ว เลยบอกอาจารย์ต้วน
(น.232) ว่าดูเสียอีกถ้ำก็แล้วกัน เราเลยเข้าไปที่ถ้ำที่ 017 ถ้ำนี้เป็นที่เก็บคัมภีร์และเอกสารต่างๆ เป็นที่เร้นลับไม่มีใครทราบ พระลัทธิเต๋ารูปหนึ่งชื่อหวางเต้าซือ มาบำเพ็ญพรตอยู่ที่นี้ วันหนึ่ง (ปรามาณ ค.ศ. 1900) ทรายก็ร่วงลงมา หวางเต้าซือจึงเรียกพวกลูกน้องให้มาช่วยกันขุดทรายออกไป ก็ได้พบประตูเปิดเข้าไปเป็นห้องเต็มไปด้วยคัมภีร์และเอกสาร ผ้าไหมและภาพวาดอยู่เต็มถ้ำ เอาผ้ามัดไว้ เป็นของสมัยราชวงศ์ถัง พวกภาพวาดมี 800 กว่าชิ้น มีคัมภีร์และเอกสารประมาณ 4-5 หมื่นเล่ม ได้ความว่าฝรั่งเช่นเซอร์ออเรล สไตน์มาซื้อไปถูกๆ ก็ตั้งแยะ ที่ยังคงเหลือที่จีนเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติปักกิ่งประมาณ 10,000 กว่าเล่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี ศิลปะ คณิตศาสตร์ การแพทย์ เศรษฐกิจ ฯลฯ ข้างในห้องมีรูปปั้นพระหงเปี้ยน อยู่ในสมัยปลายราชวงศ์ถัง รับหน้าที่เป็นพระที่ควบคุมฉนวนเหอซี เมื่อมรณภาพแล้วลูกศิษย์จึงสร้างรูปปั้นนี้ขึ้น จารึกประวัติที่ฝาผนังมีรูปต้นโพธิ์ 2 ต้น มีกระเป๋าคัมภีร์แขวนไว้ (กระเป๋าคัมภีร์ดูยังกับกระเป๋าถือสมัยใหม่) มีลูกศิษย์ถือผ้ามือหนึ่ง อีกมือถือไม้เท้า แม่ชีถือพัดบังแดดบังลม ภาพสมัยถังตอนปลายใช้วิธีเขียนเส้นง่ายๆ มีชีวิตชีวา ด้านนอกห้องมีภาพเขียนสมัยซีเซี่ย ตรงเครื่องประดับทำลวดลายเป็นเส้นนูนขึ้นมา ถ้าหวางเต้าซือไม่เห็นทรายร่วงก็คงไม่มีใครทราบว่ามีห้องเก็บคัมภีร์ เพราะเขาเก็บได้แนบเนียน เอาปูนโบกประตูและเขียนภาพทับ ก่อนกลับอาจารย์ต้วนให้หนังสือภาพตุนหวง 2 เล่ม ถ่ายภาพชัดกว่าที่เห็นในถ้ำ รวมบทความในการสัมมนาและบทความต่างๆ หนังสือเหล่านี้เขียนเป็นภาษาจีนที่ค่อนข้างจะยากสำหรับข้าพเจ้าจึงยังไม่ได้ค้นดู ถ้าจะ


(น.233) รูป 145. เมื่อดูถ้ำแล้วอาจารย์ต้วนให้หนังสือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตุนหวง และให้เขียนอักษรจีนอีก
After examining the caves, Professor Duan gave me books on Dunhuang, and asked me to do more Chinese calligraphy.

(น.233) ค้นคว้าเห็นจะต้องใช้เวลานาน ต้องขอความกรุณาจากครุกู้หรืออาจารย์สารสิน ดังนั้นข้าพเจ้าขออนุญาตเขียนอย่างย่นย่อไว้เท่านี้ การค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศิลป์ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากข้าพเจ้าต้องการพิมพ์หนังสือออกมาให้ทันเวลา เรามีเวลาดูภาพ
(น.234) ที่ถ้ำตุนหวงนี้น้อยมาก ถ้ำก็มืด มองไม่ค่อยชัด และไม่ได้ถ่ายรูปมาดู อีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจคำอธิบาย ข้าพเจ้าต้องการทราบชื่อคัมภีร์ที่เป็นแนวในการวาดภาพก็ยังไม่สามารถค้นหาได้ครบถ้วน บางทีในอนาคตอาจจะนำเอาเอกสารที่ได้รับมาศึกษาและเขียนบทความวิชาการให้ดีกว่านี้ มีพู่กัน กระดาษ เตรียมให้ข้าพเจ้าเขียนหนังสืออีก
คราวนี้ครูกู้กับอาจารย์สารสินช่วยกันคิดว่า “ตุนหวงอี้ชู่ หมิงอี้ฉวนฉิว” แปลว่าศิลปะตุนหวงเป็นที่เลื่องลือทั่วโลก
กลับจากตุนหวงเห็นป้ายประกาศอยู่ข้างหน้า เป็นภาษาจีนและอังกฤษ ข้าพเจ้าจดมาได้เฉพาะภาษาอังกฤษ ว่า
To cherish cultural relics is everybody’s duty.

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 357

(น.357)
สุนทรพจน์ ของ
นายหลี่เป่าเฟิง นายกเทศมนตรีเมืองจิ่วฉวน
ในวโรกาสจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันถวาย
ณ โรงแรมจิ่วฉวน เมืองจิ่วฉวน
วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2533

ขอพระราชทานกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทราบฝ่าละอองพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าในนามเขตปกครองของจิ่วฉวน เทศบาล และประชาชนเมืองจิ่วฉวน รู้สึกปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองจิ่วฉวนครั้งนี้ เมืองจิ่วฉวนนับเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งบนเส้นทางสายแพรไหมในระยะทาง 600 กิโลเมตรนี้จะมีกำแพงเมืองจีนเก่า วัดวาอาราม ถ้ำตุนหวง เยหยาเฉียน เยหยากวน และด่านกู่หยางกวน นอกจากนั้นยังมีทะเลทราย ดอนสีเขียว ทุ่งหญ้าภูเขาฉีเหลียนซาน อันเป็นสถานที่ทัศนาจรสวยงามมาก เมืองนี้มีศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงอย่างหนึ่งคือการประดิษฐ์เย่กวงเป้ย ซึ่งเช้าวันนี้ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จ ฯ ทอดพระเนตร พร้อมทั้งทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยมแล้ว การที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทเสด็จพระราชดำเนินมาครั้งนี้ ทำให้เส้นทางสายแพรไหมมีความหมาย มีสีสันสดใสยิ่งขึ้นและจักจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของผู้มาเยือนเมืองจิ่วฉวนตลอดไป สุดท้ายนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอเชิญชวนท่านผู้มีเกียรติดื่มถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัยที่ดี และทรงมีความสุขสำราญตลอดเวลาที่ประทับ ณ เมืองจิ่วฉวน.

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 201-202

(น.201) ดูนิทรรศการหนังสือเก่า ผู้บรรยายคือ หัวหน้าฝ่ายหนังสือโบราณหายากชื่อ คุณหวงรุ่นหวา หนังสือเหล่านี้รวบรวมหลังสมัยปลดแอก ใน ค.ศ. 1937 ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดมณฑลซานซี พวกทหารปาลู่จวินบอกชาวบ้านให้เอาหนังสือและของมีค่าไปซ่อน หลังจากปลดแอกปักกิ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลปักกิ่งขอ ให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งหนังสือเหล่านี้มาเก็บไว้ที่ปักกิ่ง มีทั้งหมด 4,800 กว่าเล่ม อยู่ในสภาพที่ไม่ดี จึงต้องซ่อมแซมใช้เวลานานถึง 17 ปี เล่มแรกที่ดูเป็นหนังสือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่เขียนในราชวงศ์จิน ได้มาจากวัดกวงเซิ่งซื่อ หนังสือหัวเหยียนจิง หรืออวตังสกสูตร
(น.202) คัมภีร์ฉบับตัวเขียนที่มาจากถ้ำตุนหวง เช่น คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น