<< Back
หอสมุดแห่งชาติ
จากหนังสือ
หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 199-207
รูป 150 หอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง สนทนากับศาสตราจารย์ เหรินจี้อวี๋ ผู้อำนวยการ
At the National Library. Meeting with Professor Ren Jiyu, the Director.
(น.199) ช่วงบ่ายไปหอสมุดแห่งชาติ ที่จริงที่ไปเที่ยวนี้เพราะตอนที่ไปประชุม ICAI ที่ Berkeley ไปพบคุณซุนเฉิงเจียน ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการ ประพจน์จำได้ไหมที่เขาแนะนำที่งานเลี้ยงที่ Modern Art Museum ดูเขาไม่ค่อยจะสันทัดภาษาอังกฤษนัก ฉันไปคุยภาษาจีน (ที่จริงก็แบบไม่ค่อยจะสันทัดเหมือนกัน) เขาก็เลยชอบใจ นัดกันว่าตอนฉันไปเมืองจีน จะได้เจอกันอีกที
ที่ห้องรับรอง ผู้อำนวยการชื่อ ศาสตราจารย์เหรินจี้อวี๋กล่าวต้อนรับ อาจารย์เหรินอายุ 84 ปีแล้ว สมองยังดีแต่ว่าเดินไม่สะดวกนักแล้ว เข้าใจว่าคุณซุนคงเป็นคนช่วยงานบริหารต่างๆ ท่านผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปรัชญาและศาสนา
(น.200)
รูป 151 ดูนิทรรศการที่หอสมุด
Exhibition in the Library.
(น.200) ศาสตราจารย์เหรินกล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนไม่ใช่ความสัมพันธ์ธรรมดาเหมือนประเทศอื่น แต่เป็นความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้พบฉัน รู้สึกดีใจมาก แต่ว่าได้เคยอ่านหนังสือที่ฉันแต่งหลายเล่ม ชมความรู้เรื่องจีนของฉัน และชมว่าเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ไทยจีน เมื่อกล่าวจบได้ให้หนังสือเกิงจือถู เป็นหนังสือบทกวีจีนและภาพจีนที่เกี่ยวกับการทำไร่ไถนาและการทอผ้า เขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้เขียนชื่อโหลวสวี บางคนกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ปัจจุบันเหลือเพียงกลอน 35 บทเท่านั้น บ้างก็ว่าสูญหายไปหมดแล้ว ศาสตราจารย์เหรินอธิบายว่าเป็นธรรมเนียมของคนจีนแต่โบราณที่ผู้ชายจะทำนา ผู้หญิงทอผ้า ฉบับนี้เพิ่งพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1999 นี่เอง เป็น facsimile ส่วนของอีกอย่างคือ แผ่นซีดีเกี่ยวกับหอสมุด
(น.201)
รูป 152 ดูหนังสือโบราณหายาก
Ancient rare books.
(น.201) ที่จริงฉันมาที่หอสมุดแห่งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ไม่จำเป็นต้องบรรยายอะไรมาก
ดูนิทรรศการหนังสือเก่า ผู้บรรยายคือ หัวหน้าฝ่ายหนังสือโบราณหายากชื่อ คุณหวงรุ่นหวา หนังสือเหล่านี้รวบรวมหลังสมัยปลดแอก ใน ค.ศ. 1937 ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดมณฑลซานซี พวกทหารปาลู่จวินบอกชาวบ้านให้เอาหนังสือและของมีค่าไปซ่อน หลังจากปลดแอกปักกิ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลปักกิ่งขอให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งหนังสือเหล่านี้มาเก็บไว้ที่ปักกิ่ง มีทั้งหมด 4,800 กว่าเล่ม อยู่ในสภาพที่ไม่ดี จึงต้องซ่อมแซมใช้เวลานานถึง 17 ปี เล่มแรกที่ดูเป็นหนังสือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่เขียนในราชวงศ์จิน ได้มาจากวัดกวงเซิ่งซื่อ
หนังสือหัวเหยียนจิง หรืออวตังสกสูตร
(น.202) คัมภีร์ฉบับตัวเขียนที่มาจากถ้ำตุนหวง เช่น คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น
หนังสือเกี่ยวกับมาร์โคโปโลฉบับลายมือเขียน เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 15
บทสวดสรรเสริญกวนอิมพันกรเขียนในราชวงศ์ชิง
สำเนาจารึกพระไตรปิฎกฉบับฝังซานมี 1,500 กว่าหลักที่ประพจน์อยากดู ฉันเคยไปดูมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นกำลังเริ่มทำสำเนา (rubbing) ทำสำเร็จแล้วก็เลยจับฝังลงไปในดินอย่างเดิมเพราะกลัวจะเสียหาย สำเนามีอยู่ 2 ชุดคือ อยู่ที่หอสมุดนี้กับอยู่ที่พุทธสมาคม ฉันถามถึงฉบับพิมพ์ เขาว่าไม่มี เห็นจะต้องถามอีก มีรูปวัดตั้งแต่สมัยก่อน แล้วถูกญี่ปุ่นระเบิดซ่อมใหม่ใน ค.ศ. 1949
หนังสือกระดูกสมัยราชวงศ์ซัง หลังจากปลดแอกแล้ว มีนักสะสมนำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติ
(น.202)
รูป 153 แผนที่จีนโบราณ
Ancient map of China.
(น.203)
รูป 154 แผนที่ฝรั่งโบราณ
Ancient map drawn by westerners.
(น.203) มีที่เก็บแผนที่โบราณสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้เขียนคือ หวงซัง ลักษณะเป็นสำเนาแผนที่กว้าง 184 เซนติเมตร ยาว 98 เซนติเมตร พื้นที่ฝั่งทะเลแถวๆ ฮ่องกง หู่เหมิน ก่วงโจว อีกแผ่นหนึ่งเป็นสำเนาแผนที่แถวๆ มณฑลเจียงซี เขียนสมัยราชวงศ์หมิง ลักษณะแผนที่เหล่านี้คล้ายๆ แผนที่ไทยที่หมู (สันทนีย์) กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ แต่เขาบอกชื่อคนเขียนได้ ของเราบอกไม่ได้ แม้แต่ว่าเป็นของที่หน่วยงานไหนทำ และทำเมื่อไร
แผนที่ของหวงซังที่กล่าวมานั้น เขาทำถวายอ๋ององค์หนึ่ง ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นจักรพรรดิซ่งหนิงจง (ค.ศ. 1194-1224) มี 8 ฉบับ ที่เห็นนั้นเป็น 1 ใน 8 ที่ทำถวาย หวงซังพยายามเน้นเขียนพื้นที่ขอบชายแดนของจีน เพื่อให้จักรพรรดิระลึกว่า จีนกำลังถูกรุกรานจากพวกซีเซี่ย พวกกิมก๊ก พวกมองโกล ปลุกใจให้ยึดดินแดนกลับคืนมา ทำถวาย ค.ศ. 1190 แผนที่นี้มาตราส่วน 1 : 2,500,000 ค.ศ. 1247 มีคนแถวทางใต้เอาไปจารึกบนหิน ตัวแผนที่เล็กกว่าแผ่นจารึกเล็กน้อย
ในหมวดแผนที่ยังมีแผนที่ atlas ชื่อว่า Le Grand Atlas ของ Johan Blaeu พิมพ์ในฮอลแลนด์ แสดง Boston Habor
แผนที่อีกเล่มเป็นแผนที่ยุโรป พิมพ์ ค.ศ. 1526 ชื่อ Theatrum Orbis Terrarum
(น.204) หนังสือของชนชาติส่วนน้อย สมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1720 เป็นอักษรมองโกล เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก เรียกว่า กานจูเอ่อร์ แกะสลักบนแผ่นไม้
ที่อำเภอเต๋อเก๋อ มณฑลเสฉวน เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมทิเบตที่สำคัญ เป็นแหล่งพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาเป็นภาษาทิเบต ค.ศ. 1950 รัฐบาลกลางส่งคนไปนำต้นฉบับมาเก็บไว้ที่หอสมุด 107 ผูกและพิมพ์ด้วยกระดาษธรรมดา ที่มณฑลชิงไห่ วัดถาเอ่อร์ ก็มีคัมภีร์ภาษาทิเบตที่หอสมุดรวบรวมมาไว้ หนังสือคนกลุ่มน้อยที่พิมพ์ที่สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนานเป็นคัมภีร์ใบลาน
(น.204)
รูป 155 หนังสือบทกวีจีน
A book of Chinese poetry.
(น.205) มีตู้เก็บเอกสาร ลายมือของบุคคลสำคัญ เมื่อเสียชีวิตแล้วครอบครัวหรือคนใกล้ชิดให้ห้องสมุด หนังสือชุดหย่งเล่อต้าเตี่ยน ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง รวบรวมเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1408 เป็นประมวลหนังสือที่แยกหมวดหมู่ตามเนื้อเรื่อง นอกจากนั้นมีต้นฉบับลายมือของนักเขียนจีนมีชื่อ เช่น ปาจินที่เขียนนวนิยายเรื่อง บ้าน หลู่ซวิ่นเขียนเรื่องซานเว่ยซูอู เฉาอวี๋เขียนเรื่อง ฝนฟ้าคะนอง กัวมัวรั่วเขียนเรื่อง ชวีหยวน อัลบั้มส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉีตอนไปเยือนต่างประเทศ หนังสือส่วนตัวของท่านโจวเอินไหล มีหนังสือ Das Kapital ของ Karl Marx จดหมายของ Karl Marx หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่ของประธานเหมา หนังสือโบราณของตะวันตกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15
ห้องนี้ยังเก็บของโบราณ เช่น จารึกกระดองเต่า หนังสือเขียนบนไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่นที่มาจากสุสานหม่าหวังตุย
ไปที่ห้องอ่านหนังสือ มีพจนานุกรมศัพท์หมวดภาษาต่างประเทศเทียบภาษาจีน จักรพรรดิหงอู่โปรดเกล้าให้จัดทำ หลังการตั้งสำนักงานต่างประเทศ (ซื่ออี๋ก่วน) ใน ค.ศ. 1382 เพื่อเป็นแบบเรียนของพวกล่าม มีหลายภาษา เช่น มองโกล ไทย พม่า และอื่นๆ มีคำศัพท์เป็นหมวด เช่น ประตู หน้าต่าง ศาลา มีตัวอักษรและเสียงอ่าน พจนานุกรมนี้มีชื่อว่า หัวอี๋อี้อวี่
หนังสือ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือรวมบทกวี 1,000 บทสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หลิวเค่อจวงเป็นผู้รวบรวมในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) แยกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ของเดิมคงจะสูญหายไปแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีไม่กี่สิบบท และไม่ใช่ของหลิวเค่อจวงรวบรวม แต่ยังใช้ชื่อ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือที่ชาวจีนใช้สอนลูกหลานให้ท่องจำบทกวีดีๆ ฉบับที่ดูนี้อายุ 500 กว่าปีช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิง เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือและมีภาพประกอบด้วย ผู้อำนวยการบอกว่าได้เคยทำสำเนาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว (แต่ฉันนึกไม่ออก)
(น.206)
รูป 156 หนังสือแผนที่โบราณ
Ancient Atlas Book.
(น.206) ผู้อำนวยการศาสตราจารย์เหรินลาไป ส่วนเราไปดูต่อส่วนที่เป็นเทคโนโลยี คุณซุ่นอี้กังบรรยายให้เห็นถึงการบริการของหอสมุดแห่งชาติ ในระยะ 4 ปีได้ปรับปรุงการบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเทคนิค เตรียมจะทำห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (digital library) ต้องจัดผู้ให้บริการ คอย digitize ข้อมูลต่างๆ และต้องมี webmaster คอยดูแล website ของหอสมุด ขณะนี้แม้หนังสือที่เป็นกระดาษก็จะลงทะเบียนเก็บข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ ขณะนี้ยังไม่เสร็จ ต่อไปรายการหนังสือจะลง internet ขณะนี้มี website ของหอสมุด คือ www.nlc.gov.cn มีข้อมูลน่าสนใจแต่เสียที่กดแล้วมาช้า (เครื่องของฉันอาจจะไม่ดีเองก็ได้)
ส่วนที่เป็น digital library นั้นขณะนี้ทำเป็น intranet ให้ดูภายในหอสมุด ยังไม่ปล่อยลง internet มีเรื่องธรรมชาติวิทยา มีเสียงอธิบาย มีภาพวีดีโอ ที่ดีมากคือ เรื่องกวีจีน มีชื่อกวีพร้อมรูป click ตรงที่เป็น hypertext จะออกมาเป็นประวัติของกวี มีเสียงอ่านบทกวีให้ด้วย ศัพท์ที่ยากจะทำเป็น hypertext เมื่อ click แล้วจะมีคำอธิบายศัพท์
(น.207) มีช่างที่เขาไปมาหาสู่กับหอสมุดทำตราชื่อฉัน ตัวตราทำเป็นรูปแพะ เป็นการบังเอิญเพราะเขาไม่ทราบว่าฉันปีแพะ
หอสมุดมีร้านหนังสือของตัวเอง ปกรณ์เขาอยากไปร้านหนังสือ แต่บอกว่าร้านหนังสือยักษ์ที่ไปกันเมื่อปีที่แล้วนั้นไม่เอาเพราะว่าหาอะไรไม่พบเลย แถมบริการช้ามาก ที่หอสมุดนี้หนังสือดีๆ มีมาก เพราะเขาเลือกหนังสือดีจากทุกสำนักพิมพ์
"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 11-17
(น.11)
07.20 น. รับประทานอาหารเช้า
08.00 น. ไปหอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง
เมื่อไปถึงนายถังเชาหมิง รองผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ นักวิจัย ต้อนรับ อธิบายว่าหอสมุดนี้เปิดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 หนังสือส่วนหนึ่งของห้องสมุดนี้มาจากหอสมุดหลวงสมัยราชวงศ์ซ้องใต้ 700 ปีมาแล้ว หอสมุดเดิมสร้างปี 1930 อยู่ที่เป่ยไห่ ค.ศ. 1987 สร้างหอสมุดหลังใหม่ มีเนื้อที่ 140,000 ตารางเมตร เก็บหนังสือได้ 20 ล้านเล่ม (ขณะนี้มีกว่า 16 ล้านเล่ม ภาษาจีน 40% ภาษาต่างประเทศ 60%) ห้องอ่านหนังสือ 30 ห้อง ทุกวันมีคนมาอ่านหนังสือประมาณ 5,000 คน (มีที่นั่ง 2,000 ที่)
(น.12) รูป 6 หอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง
Peking's National Library.
Next >>