Please wait...

<< Back

ปัญหาสตรีในจีน

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 177-181

(น.177) วันนี้ครูให้ข้าพเจ้าพูดเรื่องการแสดงละครไทย เมื่อเรียนเสร็จแล้ว อาจารย์เผย์มาเอาที่ช่วยแปลเกี่ยวกับอิทธิพลจีนในศิลปะไทยมา อาจารย์เผย์ไม่ทราบว่าบางคำจะใช้ภาษาจีนว่าอย่างไรดี เช่น คำว่า ไม้ประกับคัมภีร์ ตอนนี้ใช้คำว่า ปกคัมภีร์ไปก่อน ต้องโทรศัพท์ไปถามพุทธสมาคม ถามว่าเขาใช้ศัพท์เฉพาะว่าอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ข้าพเจ้าจะเตรียมไว้พูดปาฐกถา ในห้องข้าพเจ้ามีเครื่องส่งโทรสาร อ้อยส่งแฟกซ์ไปที่ออฟฟิซ ขอให้ส่งฟิล์มมาเพิ่มเติม ข้าพเจ้าไม่เคยส่งแฟกซ์เลยตั้งแต่มา อ้อยเลยทดลองเป็นคนแรก ข้าพเจ้าจะถ่ายซีร็อกซ์ที่ข้าพเจ้าเขียนปาฐกถาเรื่อง “วัฒนธรรมไทย” ก็เลยใช้เครื่องนี้ อาจารย์เผย์ไปแล้ว ข้าพเจ้ารับประทาน มีข้าว ซุปข้าวโพด พริกผัด ไข่ผัดพริก ข้าพเจ้าเอากระทงทองใส่ไก่ผัดตั้งฉ่ายที่ป้าจันทำมารับประทานด้วย รับประทานมะม่วงสุกเป็นของหวาน รับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ป้าจัน จี้ และครูฟั่นมา ถึงเวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง อาจารย์จังกับอาจารย์หวังพาอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 4 คน คือ
(น.177) รูป 195 อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 4 ท่าน มาสนทนาเรื่องปัญหาสตรี
(น.178) รูป 196 ดูสถิติการเข้าเรียนระดับต่างๆ
(น.178) 1.ศาสตราจารย์เว่ยกั๋วอิง เป็นบรรณารักษ์วารสารมหาวิทยาลัยปักกิ่งและเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาศาสตร์ของปักกิ่ง
2.รองศาสตราจารย์เจิ้งเจินเจิน เป็นอาจารย์การวิจัยประชากรศาสตร์
3.ศาสตราจารย์แพทย์หญิงหวงหลินหง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและอบรมสุขภาพสตรีและเด็ก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ปักกิ่ง
4.ศาสตราจารย์แพทย์หญิง โจงฉงเล่อ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหมายเลข 1 แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (เป็นกุมารแพทย์)
ทั้ง 4 คนมาสนทนาเรื่องปัญหาสตรี อาจารย์เว่ยกั๋วอิง กล่าวว่าในจีนสตรีมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าประเทศอื่น ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้ เมืองจีนก็มีเหมือนกัน จึงเปรียบเทียบเรื่องนี้ได้ (อาจารย์ยกตัวเลขมาเยอะแยะจะไม่ขอกล่าวในที่นี่) นอกจากสมาชิกสภาต่างๆ แล้ว กรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก พนักงานของรัฐระดับผู้ใหญ่ก็มี เช่น ผู้ใหญ่ระดับรองนายกเทศมนตรีนครใหญ่ๆ ผู้ว่าราชการมณฑลและรอง
(น.179) รูป 197 ด้านการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และด้านสุขภาพ
(น.179) ในด้านการศึกษา เมื่อดูในกราฟแล้วเห็นได้ว่าระดับประถมศึกษา ผู้หญิงได้เรียนเป็นจำนวนมาก แต่ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาถือว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ในเมืองกับในชนบทแตกต่างกัน ในเมืองชายกับหญิงได้รับการศึกษาเท่าๆ กัน แต่ในชนบท ชายการศึกษาสูงกว่าหญิง ถึงแม้ว่าชายหญิงจะมีโอกาสศึกษาเท่าๆ กันแล้ว ชายยังมีโอกาสในเรื่องการทำงานมากกว่า เพราะบริษัทยังคิดว่าผู้หญิงทำงานในที่ทุรกันดารไม่ได้ ต้องออกลูก (ลาคลอด) ทางศูนย์วิจัยเคยไปศึกษาที่ทำงานต่างๆ มีเงื่อนไขการหยุดงานของสตรีต่างๆ กัน บางแห่งให้หยุดปีหนึ่ง แต่มาตรฐานของประเทศคือ 3 เดือน ที่จริงพวกผู้หญิงก็ไม่ได้อยากหยุดงาน เพราะหยุดไปปีหนึ่ง เพื่อนร่วมงานได้เลื่อนขั้นสูงกว่าแล้ว ในตะวันตกผู้หญิงหยุดงาน 3 ปี จนลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลก็เปลี่ยนงานใหม่ได้ จุดประสงค์ที่ให้หยุดงานเพราะ
(น.180) รูป 198 อาจารย์ 4 ท่านที่มาเป็นวิชาการ
(น.180) ต้องการให้ลูกกินนมแม่ เรื่องกินนมแม่นั้น ในชนบทไม่มีปัญหา มีปัญหาแต่ในเมือง เพราะแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เลี้ยงนมแม่ 4 เดือน เดี๋ยวนี้พวกผู้หญิงมีความรู้มากขึ้น เวลาตั้งครรภ์จะพยายามหาของดีๆกิน ปัญหาเรื่องออกลูกตายก็ไม่มีแล้ว บางทีที่ล้าหลังก็ยังมีการออกลูกที่บ้าน หลังคลอดต้องอยู่บ้านเดือนหนึ่ง ออกจากบ้านไม่ได้ ไม่รับประทานโน่นนี่ ไม่สระผม เรื่องการขาดธาตุอาหารมีอยู่บ้าง ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การขาดแคลเซียม เรื่องธาตุอาหารนี้สำคัญมากสำหรับหญิงมีครรภ์และเด็ก สภาพภาคเหนือและภาคใต้ไม่เหมือนกัน ภาคเหนือมีปัญหามาก เพราะอากาศหน้าหนาวหนาวมาก เด็กบางคนไม่ได้ออกจากบ้านเลย ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ทำให้กระดูกอ่อนแอ หลังคด หัวแบน ส่งเสริมให้เด็กกินไข่กินนม สมัยนี้นมก็เติมสารอาหารต่างๆ ธาตุเหล็กช่วยให้เลือดเดินได้ดี สมองแจ่มใส เด็กในเมืองมีเจ้าหน้าที่อนามัยตรวจสุขภาพเป็นประจำ
(น.181) เรื่องโรคพยาธิมีน้อยลง เพราะมีการรณรงค์เรื่องอนามัยให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหาร แต่ก่อนนี้ผักมีพยาธิเพราะนิยมใช้อุจจาระรด แต่ว่าปัจจุบันนี้นิยมใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไม่นิยมใช้อุจจาระ สมัยก่อนชอบทำห้องน้ำกับห้องครัวรวมกัน ปัจจุบันทางการให้แยกกันคนละที่ ขณะนี้นับว่าพ่อแม่มีลูกคนเดียว (ในชนบทอาจจะมี 1-3 คน) มีลูกน้อยคนก็เลยรักลูกมาก หาของดีๆ ให้กิน ให้รับการศึกษาดีที่สุด ชายหญิงก็เลี้ยงดีเหมือนกัน ทางการก็ไปตรวจตามโรงเรียน ฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกัน ในที่ทุรกันดารมีโรคขาดสารอาหารไอโอดีนก็ส่งเสริมให้ใช้เกลือไอโอดีนและน้ำไอโอดีนหยดในน้ำดื่ม การศึกษาระดับประถมจัดได้กว้างขวาง ขจัดการไม่รู้หนังสือ ในท้องถิ่นที่รัฐบาลเข้าไปจัดการได้ยาก มักมีผู้บริหารระดับพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน มีครูสอน ชาวบ้านร่วมกันลงทุนในด้านการศึกษา นอกจากนั้นมีผดุงครรภ์ หมอหมู่บ้านดูแลสุขภาพ เวลา 16:30น. ไปที่ตึกภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เมื่อเข้าไปเห็นรูปศาสตราจารย์เฉิน (รองอธิการกำลังถือต้นพิทูเนียที่ผสมใหม่ให้ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน) รองหัวหน้าภาควิชาชื่อ ดร. กู้หงยา มาต้อนรับ นำขึ้นไปที่ห้องประชุมบรรยายสรุปเรื่องการทำงาน ฟังไม่ค่อยทัน ขอเอกสารก็บอกว่ายังไม่ได้พิมพ์ ที่จริงน่าจะขอให้เขาช่วย print เอกสารเท่าที่เขาแสดงใน powerpoint เอาเป็นว่าภาควิชาได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมีการวิจัยของภาควิชาเอง การวิจัยบางอย่างก็ร่วมกับภาคเอกชน เช่น มีการปลูกถ่ายยีนที่ป้องกันโรคได้และทำให้มีผลผลิตสูงขึ้นในข้าว มีการปลูกถ่ายยีนป้องกันเชื้อไวรัส CMV ในพริกลูกใหญ่ เป็นการเพิ่มผลผลิต การทดลองภาคสนามทำที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และในมณฑลยูนนาน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 118-120

(น.118) รูป 108 เต็นท์ชนเผ่าเร่ร่อนทิเบตทำด้วยขนจามรี
(น.118) ของใช้ในครัวเรือนรูปบ้านเรือนคนทิเบตแบบต่างๆ ทุกแบบจะมีลักษณะหลังคาตัด จากพิพิธภัณฑ์ไปร้านหนังสือซินหัวมีแต่หนังสือภาษาจีนกับภาษาทิเบต ข้าพเจ้าเลยซื้อหนังสือการแพทย์ทิเบต (มีรูป) มา กลับโรงแรม ตอนค่ำมาดามปาซังเลี้ยง มาดามปาซังเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองทิเบต และประธานสมาพันธ์สตรีทิเบต มาดามเล่าว่าทิเบตแบ่งแยกไม่ได้จากจีน ตั้งแต่สมัยราวงศ์ถังก็มีเรื่องเจ้าหญิงเหวินเฉิง ใน ค.ศ. 1279 สมัยพระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนจีนกับทิเบตได้รวมกันเป็นปึกแผ่น สมัยราชวงศ์หมิงจนถึงปัจจุบันก็รวมกันมาตลอดกว่า 726 ปีแล้ว เมื่อ ค.ศ. 1951 ทำสัญญา 17 ข้อ ค.ศ. 1959 มีกลุ่มอิทธิพลก่อกบฏ รัฐบาลกลางปราบกบฏ และปฏิรูปทิเบต ค.ศ. 1956 ตั้งคณะกรรมการเตรียมการปกครองตนเองของทิเบต ใน ค.ศ. 1965 ตั้งเขตปกครองตนเองเป็นทางการ พอตั้งแล้วก็ปฏิรูปให้ก้าวหน้า เปิดสู่โลกภายนอก แก้ไขระบบต่างๆ ซึ่งเดิมพวกผู้ดี ข้าราชการชั้นสูง และลามะ อยู่สุขสบาย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวนา ทาสติดที่ดินลำบาก พวกทาสไม่มีสิทธิอะไรเลย เป็นทรัพย์ของเจ้าของจะไปจำนำขายฝากให้กับใครก็ได้ ภายหลังรัฐบาลกลางและมณฑลต่างๆ ในจีนช่วยพัฒนาทิเบต ตอนฉลอง 50 ปีการปลดปล่อย รองประธานาธิบดีหูจิ่นเทานำคณะผู้แทนระดับสูงของจีนมา
(น.119) รูป 109 สนทนากับมาดามปาซัง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองทิเบต
(น.120) สตรีได้เป็นผู้นำ สตรีทิเบตแต่ก่อนอยู่อย่างแร้นแค้น ไม่มีสิทธิทางการเมือง ว่าผู้หญิงเป็นของไม่สะอาดทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทีหลังนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ข้าราชการสตรีเดี๋ยวนี้มี 33.3% มี 6 ท่านที่เป็นใหญ่ระดับมณฑล ระดับอธิบดีและนายอำเภอมีมากมาย จำนวนชายหญิงมีครึ่งต่อครึ่ง ผู้ใหญ่ในราชการยังมีที่เป็นหญิงไม่ถึงครึ่ง ต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป รัฐบาลอบรมข้าราชการสตรีให้มีประสิทธิภาพขึ้น ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบตมี 1 นคร คือ ลาซา มี 6 จังหวัด และ 76 อำเภอ พื้นที่ 1,200,000 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,620,000 คน สมัยก่อนไม่มีโรงเรียน คน 95% ไม่รู้หนังสือ ปัจจุบันตั้งโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีการสอนหนังสือภาคค่ำ มีเด็กในวัยเรียนประมาณ 87.8% รัฐบาลกลางสนใจพัฒนาเศรษฐกิจทิเบต มีการสัมมนากัน 4 ครั้ง ภายหลังการสัมมนาครั้งที่ 3 กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มณฑลอื่นๆ หลายมณฑลสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทิเบต แบ่งพื้นที่ของทิเบตเป็น 1 นคร 6 จังหวัด รัฐบาลให้มณฑล 15 มณฑลสนับสนุน โดย 2 มณฑลช่วยกันรับผิดชอบพื้นที่ปกครองแห่งหนึ่ง มณฑลเหล่านั้นส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานที่ทิเบต ลงทุนโครงการต่างๆ เป็นลักษณะรัฐบาลท้องถิ่นต่อรัฐบาล (รัฐบาลมณฑลต่างๆ ต่อรัฐบาลทิเบต?) กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลกลางมาช่วยกระทรวงของทิเบต ฉะนั้น 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นความก้าวหน้าได้ชัด ปีนี้จัดสัมมนาครั้งที่ 4 เร่งการสนับสนุนทิเบตมากขึ้น ขอบเขตขยายกว้างขึ้น นโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลางมีผลต่อทิเบตด้วย ทิเบตเปลี่ยนแปลงมากใน 50 ปีนี้ ความก้าวหน้าต้องเปรียบกับทิเบตเอง แต่ถ้าไปเปรียบกับมณฑลอื่นก็ยังล้าหลัง โครงการลงทุนสำคัญตอนนี้คือ การสร้างทางรถไฟสายชิงไห่-ลาซา ทิเบตยังไม่มีทางรถไฟ เมื่อมีแล้วจะพัฒนาดีขึ้น นอกนั้นยังมีโครงการพัฒนาคมนาคมอื่นๆ การเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข จากนั้นไปรับประทานที่ห้องไกลาสที่เรารับประทานทุกวัน ถามเรื่องการศึกษาต่อ มาดามบอกว่าช่วงประถมและมัธยมต้น ผู้หญิงมักจะเรียนดีกว่าผู้ชาย เพราะเด็กผู้ชายซน แต่พอชั้นสูงขึ้นกว่านี้ผู้หญิงใจแตกไม่อยากเรียน ผู้ชายจะเรียนดีขึ้น ระหว่างรับประทานอาหารมีการแสดงเกซาร์ เป็นการขับร้องมหากาพย์เกซาร์สดุดีกษัตริย์เกซาร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณของทิเบต มีนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงชื่อยู่เหมย อายุ 40 ปี นักร้องคนนี้เดิมก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ พออายุ 15 ปี เกิดป่วยสลบไปนาน พอฟื้นขึ้นมาก็ร้องเกซาร์ได้โดยธรรมชาติไม่มีใครสอน นักร้องคนนี้เป็นชาวบ้านไม่รู้หนังสือ แต่ร้องเกซาร์ได้ไพเราะ ขณะนี้ทำงานที่สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ (Academy of Social Science) ของทิเบต อัดเทปไว้ 60 กว่าม้วนแล้ว มาดามปาซังบอกว่ามีคำกล่าวว่าเด็กทิเบตนั้น ถ้าดื่มนมได้ก็กินเหล้าได้ พูดได้ก็ร้องเพลงได้ เดินได้ก็เต้นรำได้ มาดามเองผิดไปจากคำกล่าวนี้ทั้งหมด คือ กินเหล้าก็ไม่เป็น ร้องเพลงเต้นรำไม่เป็นทั้งนั้น