Please wait...

<< Back

สวนสาธารณะเอ๋อร์ไห่

จากหนังสือ

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 37

(น.37) สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ มีพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำประปาก็ทำจากทะเลสาบนี้ ที่เรียกว่าเอ๋อร์ไห่เห็นจะเป็นเพราะว่ามีคนเห็นว่าทะเลสาบนี้มีรูปร่าง เหมือนหูคน นอกจากทะเลสาบเอ๋อร์ไห่แล้ว ยังมีทะเลสาบอีกแห่งหนึ่งคือทะเลสาบเทียนฉือหรือทะเลสาบคุนหมิง เอ๋อร์ไห่ลึก มีน้ำมากกว่า เทียนฉือกว้างกว่าแต่ตื้น ทิวทัศน์ของต้าหลี่มีลม (feng) ดอกไม้ (hua) หิมะ (xue) พระจันทร์ (yue) สินค้าออกมีต้นเหอเถาหรือวอลนัท เห็ดต่างๆ สิ่งทอ กระดาษ เป็นต้น ชาวบ้านยังปลูกข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วปากอ้า มีเห็ดชนิดต่างๆ และกัญชาขึ้นในป่าสน มีราคาแพง แต่ชาวบ้านเองก็ปลูก

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 61-66

(น.61) รถเข้าสวนสาธารณะเอ๋อร์ไห่ มาดามเล่าว่าพระจันทร์ที่นี่สวยมาก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คนชอบมาดูพระจันทร์ แต่แถวนี้แผ่นดินไหวบ่อย ฉะนั้นจึงมีศูนย์ควบคุมแผ่นดินไหว ฝ่ายต้อนรับเต้นระบำไป๋แบบตอนเราเข้าไปถึงโรงแรมและเอา “กระเป๋าหอม” รูปหัวใจสวมให้ทุกคน ของข้าพเจ้าโตที่สุด ใครๆ ล้อว่าหัวใจโต


(น.62) รูป 67 นั่งในเรือ


รูป 68 ทิวทัศน์ขณะอยู่ในเรือ

(น.63) รูป 69 เมฆแบบนี้ที่นิทานเรียกว่าเมฆมองสามี
(น.63) ขึ้นไปบนเรือไปนั่งในห้อง ผู้ว่าฯ เล่านิทานเรื่องเมฆมองสามีว่า มีนิทานน่านเจ้าว่า เจ้าหญิงองค์หนึ่งไปรักคนล่าสัตว์ แต่ถูกพ่อแม่ขัดขวางจึงหนีไป ตอนหนาวไม่มีเสื้อผ้า คนล่าสัตว์ไปเอาเสื้อพระมาใส่ให้ พระในวัดรู้เข้าก็ลงโทษ จับคนล่าสัตว์กดน้ำ คนล่าสัตว์กลายเป็นก้อนหินอยู่ใต้น้ำ เจ้าหญิงคอยสามีอยู่ไม่กลับเสียที เลยกลายเป็นก้อนเมฆ เรียกว่าเมฆมองสามี ตอนที่เมฆนี้ออกมาต้องมีลม เมฆก็จะโตขึ้นทุกที อากาศจะเปลี่ยนไป


(น.64) รูป 70 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

(น.64) ผู้ว่าฯ อธิบายว่าอุทยานนี้เคยเป็นที่เลี้ยงกวางของกษัตริย์น่านเจ้าเป็นต้นน้ำของอำเภอไห่หยวน อำเภอนั้นก็มีทะเลสาบอีกแห่ง เล็กกว่าที่นี่ ชาวบ้านที่นี่ส่วนมากเป็นชาวประมง มีฐานะค่อนข้างดี นอกจากจับปลาแล้วยังปลูกผัก สกัดหินอ่อนมาเป็นวัสดุก่อสร้างและเครื่องประดับ ทะเลสาบแห่งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำโดยทำประตูน้ำ เพื่อให้ชักน้ำเข้านาได้และป้องกันน้ำท่วม การจับปลามีการควบคุม เดือนเมษายนถึงสิงหาคมห้ามจับ เพราะเป็นช่วงที่ปลาอิ๋นหยูหรือปลาเงินยังเล็ก พันธุ์ปลาเงินที่นี่จากไท่หู เมืองหูซี มณฑลเจียงซู เดี๋ยวนี้ส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณปีละ 1,000 กว่าตัน คนไป๋สนใจการศึกษา ฉะนั้นได้เป็นผู้นำระดับมณฑลกันมาก


(น.65) รูป 71 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

(น.65) ด้านล่างของทะเลสาบมีสถานีกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำจากแหล่งน้ำนี้ สถานีกำเนิดไฟฟ้าต้องใช้น้ำมาก ชาวบ้านก็ต้องการน้ำเข้านา ฉะนั้นต้องมีการกำหนดการใช้น้ำให้สมดุล ไฟฟ้าจากสถานนี้ใช้ทั้งมณฑล แต่น้ำที่ชาวนาใช้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาต้าหลี่เท่านั้น มาดามเฉินบอกว่าน่าจะต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่าท้องถิ่น สภาผู้แทนฯ จึงออกกฎหมายบังคับเรื่องระดับน้ำ 1 มิลลิเมตร ผู้ว่าฯ ก็พยายามแย่งชิง น้ำลดไปแค่นั้นหมดไปถึงแสนลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าฯ แย้งว่าที่สู้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าเพาะปลูกได้ดีชีวิตก็ดีและสงบสุข เป็นผลดีต่อมณฑลด้วยที่จริงเรื่องนี้เขายั่วกันเล่นระหว่างผู้ว่าฯ กับมาดามเฉิน ไม่ได้ทะเลาะกันจริงๆ สรุปกันว่าต้องประสานประโยชน์เพื่อทุกฝ่าย


(น.66) รูป 72 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

(น.66) เราออกมาชมวิว มองไปไกลๆ พวกหนึ่งก็ว่าเหมือนวิวทะเลสาบเจนีวา มีภูเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะสีขาว ตอนนี้หิมะกำลังตกบนยอดเขามีเมฆดูเหมือนจะเป็นเมฆดูสามี ถ่ายรูปกันใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นเพราะเรือเราแล่นอยู่ใกล้ฝั่งนี้) ดูเห็นแห้งแล้งคล้ายๆ ภูเขาในมองโกเลียที่เราไปตอนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 เลยว่าที่นี่ดีมากข้างหนึ่งเป็นเจนีวา อีกข้างเป็นมองโกเลีย

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 203

(น.203)สำหรับนิทานกวนอิมทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ซึ่งข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่องในวันนั้น มาดามเฉินมาเล่าใหม่ว่ามีมังกรดุร้ายอาละวาดทำให้เกิดน้ำท่วม กวนอิมแปลงเป็นคนแก่ เอาตราทองคำโยนลงไปในทะเลสาบทับหัวมังกรเอาไว้แถบนั้นจึงสงบ



จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

สวนสาธารณะเอ๋อร์ไห่

รถเข้าสวนสาธารณะเอ๋อร์ไห่ มาดามเล่าว่าพระจันทร์ที่นี่สวยมาก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คนชอบมาดูพระจันทร์ แต่แถวนี้แผ่นดินไหวบ่อย ฉะนั้นจึงมีศูนย์ควบคุมแผ่นดินไหว[1] อุทยานนี้เคยเป็นที่เลี้ยงกวางของกษัตริย์น่านเจ้าเป็นต้นน้ำของอำเภอไห่หยวน อำเภอนั้นก็มีทะเลสาบอีกแห่ง เล็กกว่าที่นี่ ชาวบ้านที่นี่ส่วนมากเป็นชาวประมง มีฐานะค่อนข้างดี นอกจากจับปลาแล้วยังปลูกผัก สกัดหินอ่อนมาเป็นวัสดุก่อสร้างและเครื่องประดับ ทะเลสาบแห่งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำโดยทำประตูน้ำ เพื่อให้ชักน้ำเข้านาได้และป้องกันน้ำท่วม การจับปลามีการควบคุม เดือนเมษายนถึงสิงหาคมห้ามจับ เพราะเป็นช่วงที่ปลาอิ๋นหยูหรือปลาเงินยังเล็ก พันธุ์ปลาเงินที่นี่จากไท่หู เมืองหูซี มณฑลเจียงซู เดี๋ยวนี้ส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณปีละ 1,000 กว่าตัน[2]

ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ มีพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำประปาก็ทำจากทะเลสาบนี้ ที่เรียกว่าเอ๋อร์ไห่เห็นจะเป็นเพราะว่ามีคนเห็นว่าทะเลสาบนี้มีรูปร่างเหมือนหูคน เอ๋อร์ไห่ลึก มีน้ำมากกว่าทะเลสาบเทียนฉือหรือทะเลสาบคุนหมิงที่กว้างกว่าแต่ตื้น[3]

บทบาทสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ด้านล่างของทะเลสาบมีสถานีกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำจากแหล่งน้ำนี้ สถานีกำเนิดไฟฟ้าต้องใช้น้ำมาก ชาวบ้านก็ต้องการน้ำเข้านา ฉะนั้นต้องมีการกำหนดการใช้น้ำให้สมดุล ไฟฟ้าจากสถานนี้ใช้ทั้งมณฑล แต่น้ำที่ชาวนาใช้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาต้าหลี่เท่านั้น มาดามเฉินบอกว่าน่าจะต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่าท้องถิ่น สภาผู้แทนฯ จึงออกกฎหมายบังคับเรื่องระดับน้ำ 1 มิลลิเมตร ผู้ว่าฯ ก็พยายามแย่งชิง น้ำลดไปแค่นั้นหมดไปถึงแสนลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าฯ แย้งว่าที่สู้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าเพาะปลูกได้ดีชีวิตก็ดีและสงบสุข เป็นผลดีต่อมณฑลด้วยที่จริงเรื่องนี้เขายั่วกันเล่นระหว่างผู้ว่าฯ กับมาดามเฉิน ไม่ได้ทะเลาะกันจริงๆ สรุปกันว่าต้องประสานประโยชน์เพื่อทุกฝ่าย[4]

นิทานเรื่อง กวนอิมแห่งทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

เขาว่ากวนอิมที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ก่อนมังกรอาละวาด กวนอิมมาประทับตรา หรือทำอะไรก็ฟังไม่ออก[5] สำหรับนิทานกวนอิมทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ซึ่งข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่องในวันนั้น มาดามเฉินมาเล่าใหม่ว่ามีมังกรดุร้ายอาละวาดทำให้เกิดน้ำท่วม กวนอิมแปลงเป็นคนแก่ เอาตราทองคำโยนลงไปในทะเลสาบทับหัวมังกรเอาไว้แถบนั้นจึงสงบ [6]


อ้างอิง

1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 61
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 64
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 37
4. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 65
5. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 71
6. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 203