Please wait...

<< Back

จี่หนาน

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 78

(น.78) เมื่อจบจากวิทยาลัยครูในปักกิ่งเมื่อ ค.ศ.1918 เหล่าเซ่อทำงานเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษา เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจราชการทางการศึกษา บริเวณชานเมืองด้านเหนือของปักกิ่ง ค.ศ.1924 เดินทางไปอังกฤษไปสอนภาษาจีนที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) วิชาที่สอนร่วมกับศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ มีภาษาพูดจีน แปล (ทั้งภาษาทางการและภาษาพูด) เอกสารจีนคลาสสิก และเอกสารประวัติศาสตร์ เอกสารศาสนาเต๋าและพุทธ การเขียนภาษาจีน เป็นต้น ขณะนั้นใช้ชื่อว่า Colin C. Shu ตนเองก็เรียนภาษาอังกฤษจากเพื่อน ในเวลาว่างเริ่มเขียนนวนิยายปรัชญาของเหล่าจัง เจ้าจื่อเย เอ้อร์หม่า และเรื่องอื่นๆ ได้ช่วย Clement Egerton แปลเรื่อง จิน ผิงเหม่ย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Lotus เป็นคนอ่านเสียงภาษาจีนในลิงกัวโฟนสอนภาษาอังกฤษ ค.ศ.1930 กลับจากอังกฤษไปสอนที่มหาวิทยาลัยฉีหลู เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง และสอนที่มหาวิทยาลันซานตงด้วย

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 51,52

(น.51) ไปถึงสนามบินจี่หนาน มณฑลซานตง นครจี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มีคุณอู่จงชู่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ต้อนรับ มานั่งในรถด้วย อธิบายเรื่องต่างๆ ตอนที่ไปถึงมืดแล้ว ฉันขอให้คนขับรถเปิดไฟจะได้จดที่คุณอู่พูดได้ คนรถบอกว่าไฟเสียเปิดไม่ได้ แต่แรกฉันเขียนมืดๆ โดยใช้วิธีเอานิ้วจิ้มในกระดาษเป็นเครื่องหมายว่าเขียนถึงบรรทัดไหนแล้ว สักพักค่อยฉลาดขึ้นมาหน่อย นึกขึ้นมาได้ว่ามีไฟฉายอยู่ในกระเป๋า เลยเขียนได้ปกติ คุณอู่เล่าว่า ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง (ฉันไม่รู้จะเขียนขงจื่อ ขงจื้อ หรือขงจื๊อ ดี ซุปว่าขงจื่อก็แล้วกัน จีนกลางเรียกแบบนี้ แต้จิ๋วเรียกขงจื้อ แต่ไทยเรียกขงจื๊อ) สำหรับภูเขาไท่ซานนั้นคนจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ไท่ซานเป็นหนึ่งในภูเขาสำคัญ 5 ลูกของจีน มีความยิ่งใหญ่ตระหง่าน จักรพรรดิราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว จำนวน 72 พระองค์เคยเสด็จขึ้น ในสมัยหลังนั้นได้ขึ้นทุกราชวงศ์ จึงมีมาก ไม่ได้นับจำนวน มีป้ายพระเจ้าในสรวงสวรรค์และพระธิดา จากเชิงเขาขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางตะวันออก และทางตะวันตก ไปบรรจบกันที่จงเทียนเหมิน (จง = กลาง เทียน = ฟ้า เหมิน = ประตู) จากนั้นขึ้นรถกระเช้าไปได้ มีทิวทัศน์งามๆ มากมาย มีลายมือนักประพันธ์มีชื่อสลักไว้ มีวัดต่างๆ ถือกันว่ายอดเขาหนานเทียนเหมินเป็นประตู

(น.52) สวรรค์ มีตำหนักเทียนค่วงซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ตำหนักสำคัญ ทั้งจักรพรรดิและประชาชนที่จะขึ้นเขาไท่ซานจะต้องไปบวงสรวงศาลเจ้าไต้เมี่ยวก่อน มหาวิทยาลัยซานตงเป็นมหาวิทยาลัยรวมวิชา มีทุกสาขาทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มีคณะโบราณคดี ครูอาจารย์ขุดพบของโบราณในซานตง เขาจะให้ดูของที่ขุดได้ บ่ายพรุ่งนี้จะได้ไปดูสถานที่สำคัญในจี่หนาน เช่น น้ำพุเป้าทูเฉวียน และทะเลสาบต้าหมิงหู ภูมิประเทศของเมืองจี่หนานทางใต้สูงทางเหนือต่ำ ใต้ติดไท่ซาน เหนือติดหวงเหอ อยู่ในหุบเขา จึงมีน้ำพุมากมาย ถ้าฝนตกน้ำมาก น้ำพุก็จะผุดมามาก หลายปีมานี้แห้งแล้ง ขนาดตอนนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิ น้ำยังน้อย ฉะนั้นน้ำพุจึงไม่มาก สมัยโบราณจี่หนานมีน้ำพุที่มีชื่อเสียง 72 แห่ง สวนเป้าทูมีน้ำพุใหญ่ที่สุด เคยมีน้ำออกมาก ขณะนี้น้ำไม่มากนัก ภายในสวนมีห้องที่จัดเป็นที่ระลึกหลีขู่ฉาน จิตรกรมีชื่อของจีนปัจจุบัน ทะเลสาบต้าหมิงเป็นทะเลสาบธรรมชาติ ไม่ใช่ทะเลสาบขุด มีทิวทัศน์สวยงาม กวีมีชื่อคือหลี่ไป๋กับตู้ฝู่เคยมา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น โจโฉเคยมาปกครองเมืองนี้ พรุ่งนี้จะได้ดูพิพิธภัณฑ์ซานตง ตอนค่ำรองผู้ว่าราชการจะเป็นเจ้าภาพในนามมณฑล ท่านผู้ว่าราชการติดประชุมสภามาไม่ได้ คุณอู่เองเคยทำงานการค้าต่างประเทศ เคยไปเมืองไทย 3 ครั้ง ได้ไปวัดพระแก้ว พัทยา และเชียงใหม่ ได้ศึกษาเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ นำเข้าปอจากไทยมาทอเป็นกระสอบส่งกลับไทย เยอรมนีมีอิทธิพลอยู่ที่ชิงเต่า ทุกวันนี้ยังมีบ้านที่มีรูปแบบสไตล์เยอรมัน คนเยอรมันทำทางรถไฟสายจี่หนาน-ชิงเต่า (ที่จริงฉันสนใจประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่การประชุมแวร์ซายส์ตกลงโอนทรัพย์สินของเยอรมนีเป็นของญี่ปุ่นทำให้คนจีนไม่พอใจเกิดการประท้วงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919) ทั้งมณฑลมีเนื้อที่ 156,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 87 ล้านคน (มากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ!)

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 56,62,77,79,80,83,84

(น.56) เรือนรับรองหนานเจียว จี่หนาน มณฑลซานตง
วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543
ถึงประพจน์
เช้านี้ไปมหาวิทยาลัยซานตง คุณอู่นั่งรถไปด้วย เขาเล่าว่าเรือนรับรองอยู่ทางใต้ของนครจี่หนาน เลยได้ชื่อว่าหนานเจียว พูดกันถึงสมัยก่อนที่มีการวิจารณ์ขงจื่อ คุณอู่เองเห็นว่าขงจื่อมีทั้งส่วนดีมีประโยชน์และส่วนที่ไม่ดี ส่วนดีคือ ส่วนปรัชญาการปกครองที่ผู้ปกครองต้องเมตตาประชาชน ทำให้คนมีจริยธรรม ส่วนไม่ดีคือ เรื่องดูถูกผู้หญิง ดูถูกการค้าขาย อย่างไรก็ตามคนที่วิจารณ์ขงจื่อส่วนมากจะวิจารณ์ไปโดยไม่ได้ศึกษาและไม่เข้าใจจริง ฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างเป็นธรรมเสียก่อน (ฉันเองก็ไม่ได้ศึกษา ได้แต่ฟังๆ เขาพูด ดูเหมือนว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีการวิเคราะห์ตีความขงจื่อไปต่างๆ นานา ที่ว่าดูถูกผู้หญิงและการค้าจะเป็นเรื่องมาทีหลังกระมัง)

(น.62) ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1995 เมื่อมีการค้นพบเครื่องสำริดหยกและหิน ยังมีกระดูกที่ทำเป็นเครื่องมือและเครื่องเซรามิกในสุสานที่ขุดได้ ณ แหล่งเซียนเหรินไถในอำเภอฉังชิง นครจี่หนาน ของบางอย่างหายากมาก เช่น ภาชนะสามขาที่เรียกว่า “ติ่ง” แจกันรูปสี่เหลี่ยมทั้งชุด มีลวดลายมังกรและหงส์ หินดนตรี เป็นหินแขวนกับราวตีเป็นเพลงได้ มีการขุดและศึกษาอยู่ 20 กว่าแห่ง เช่น ต้าซินจวง ในนครจี่หนาน แหล่งกว๋อเจียหลง ในอำเภอซินเวิ่น และแหล่งจงเฉินเหอ เมืองโซ่วกวง ทั้งหมดนี้ดึงดูดความสนใจของวงวิชาการทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ เพราะคุณค่าทางวิชาการที่สูงส่ง ขณะนี้มีศาสตราจารย์ 1 ท่าน รองศาสตราจารย์ 5 ท่าน อาจารย์ 3 ท่าน ในภาควิชาโบราณคดี 2 ท่านได้รับยกย่องเป็นนักวิชาการดีเด่นในมหาวิทยาลัย ภาควิชานี้มีโครงการปริญญาโทและมีการทำงานภาคสนามเป็นกลุ่ม ฝึกหัวหน้ากลุ่มทำงานเป็นทีม มีวิชาพื้นฐานคือ “การปฏิบัติงานภาคสนาม” ได้รับรางวัลความสำเร็จยอดเยี่ยมในการสอนจากรัฐบาลกลางใน ค.ศ. 1989 ใน 10 ปีหลังมีการพิมพ์หนังสือของอาจารย์ในภาควิชาโบราณคดีถึง 10 กว่าเล่ม และยังมีบทความตีพิมพ์ในจีนและต่างประเทศอีกกว่า 300 เรื่อง ขณะนี้ภาควิชาเป็นศูนย์การศึกษาโบราณคดีชั้นนำของจีน ในตู้มีสิ่งของที่มาจากการขุดค้นหลายอย่าง ฉันไม่มีเวลาดูทั้งหมด (ตามเคย) จะบรรยายเท่าที่จดมาทัน ถือว่าเป็นหนังตัวอย่างก็แล้วกัน

(น.77) จากร้านขายของไปที่ทะเลสาบต้าหมิง ลงเรือ เกิดปัญหาว่านั่งตรงไหนดี ฉันอยากขึ้นไปบนดาดฟ้า คิดว่าอากาศจะบริสุทธิ์ดี พอขึ้นไป ใครๆ ก็ตามไป เหล่าเติ้ง (หัวหน้าตำรวจ) ก็บอกว่าคนมากเกินไปบ้าง น้ำหนักไม่สมดุลบ้าง จนใครๆ รำคาญลงไปข้างล่างกันแยะ ตอนหลังฉันเองก็รู้สึกหนาวทั้งๆ ที่ใส่เสื้อโค้ตแล้วก็เลยลงไปข้างล่างด้วย ไกด์เล่าว่าทะเลสาบนี้อายุ 1,400 กว่าปี เป็นทะเลสาบธรรมชาติ น้ำมาจากน้ำพุ แต่ก่อนมีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นนี้ คือ กว้างเกือบเท่าเมืองจี่หนาน น้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร รอบทะเลสาบยาว 4.25 กิโลเมตร มองจากทะเลสาบจะเห็นหอสมุดมณฑลซานตงซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1949 และศาลของกวีเอกซินชี่จี๋ กวีราชวงศ์ซ่งเช่นเดียวกับซูตงปัว ทิวทัศน์ของทะเลสาบนี้งามทุกฤดูกาล ในฤดูร้อนมีดอกบัวบานสีชมพูเต็มทะเลสาบ ต้นหลิวริมทะเลสาบเขียวขจี ฤดูหนาวต้นหลิวที่ใบร่วงเหลือแต่ก้านดูเหมือนหมอกควัน

(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน คือ
1. โจวเหยียน สมัยจั้นกว๋อ ก่อน ค.ศ. 355-265 ปี เป็นนักปรัชญา
2. ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน
3. หลวงจีนอี้จิ้ง สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 635-713) เป็นผู้นำคัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียมา 300 กว่าเรื่อง แปลได้ 107 เรื่องก็ถึงแก่มรณภาพ
4. กวีเอกหลี่ชิงเจ้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1084-1151) มีชื่อเสียงในด้านการแต่งบทกวีรักและโศก
5. ซินชี่จี๋ (ค.ศ. 1140-1207) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นกวีผู้รักชาติ
6. ตู้เหรินเจี๋ย สมัยราชวงศ์จินหรือกิมก๊ก (ค.ศ. 1210-1280) เป็นนักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
7. จังหยั่งเหา สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1270-1329) นักแต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
8. จังฉี่เหยียน สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1285-1353) เป็นนักประวัติศาสตร์

(น.80)


รูป 59 รูปบุคคลมีชื่อเสียงสมัยต่างๆ
Pictures of famous persons of different periods.

(น.81)
9. เปิ้นถง สมัยราชวงศ์หมิง เป็นกวี
10. หลี่ไคเซียน (ค.ศ. 1502-1568) สมัยราชวงศ์หมิง แต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
11. หลี่พานหลง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1514-1570) กวีเอกและนักปกครอง
12. อวี๋เซิ่นสิง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1559-1608) นักวิชาการ และเป็นเสนาบดี
13. จังเอ่อร์จือ สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1612-1678) นักวิชาการขงจื่อ
14. หวังสือเจิน สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1634-1711) นักแต่งนวนิยาย
15. ผู่ซงหลิง สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1640-1715) เขียนเรื่องสั้น เรื่องผี เรื่องสัตว์แปลกๆ ประชดประชันสังคมและคนจริงสมัยนั้น
นอกจากนั้นยังมีรูปหลี่ไป๋และตู้ฝู่ สลักบนหินสีดำ มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นที่ศาลาลี่เซี่ยนี้มากมาย เรื่องหนึ่งเล่ากันว่าตู้ฝู่ กวีเอกราชวงศ์ถัง มาถึงเมืองจี่หนาน หลี่ยง นักเขียนลายมือพู่กัน เป็นเจ้าเมืองเป่ยไห่ ดีใจมากเชิญตู้ฝู่และผู้มีชื่อเสียงทางวรรณศิลป์ทั้งหลายมาชุมนุมกันที่ศาลาลี่เซี่ย แต่งกลอนกันอย่างสนุกสนาน หลี่ยงเจ้าเมืองวัย 67 ส่วนตู้ฝู่เป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุเพียง 34 ปี ทั้งสองเป็นเพื่อนต่างวัยที่ศรัทธาซึ่งกันและกัน จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่ศาลานี้ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ที่ศาลาลี่เซี่ย ทรงพบหญิงสาวกำลังดีดพิณอยู่ในศาลา หญิงสาวผู้นี้หน้าตาสวยงามยิ่งกว่าหญิงงามสามพันในวัง ยิ่งเมื่อได้ทรงสนทนาก็ยิ่งถูกพระทัย หญิงสาวผู้นี้ชื่ออวี่เหอ เป็นลูกสาวผู้มีตระกูลในเมืองนี้ เป็นผู้รอบรู้ดนตรี บทกวี และความรู้อื่นๆ ทั้งสองได้โต้ตอบบอกรักกันด้วยบทกวีเสมอ เรื่องกบกับงูที่ฉันเขียนก็เกิดขึ้นระหว่างประทับคุยกับนาง ฉันเลยเข้าใจว่าทำไมจักรพรรดิจึงหงุดหงิดพระทัย

(น.83) ต้องยอมรับว่าวันนี้ฉันจดอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้สึกว่าไม่สบาย ไม่ค่อยมีสมาธิ ที่ทราบคือ ตอนที่เขาให้เขียนตัวอักษร เขียนได้ไม่ดีเลย กลับที่เรือนรับรอง ตอนค่ำมีเลี้ยง รองผู้ว่าราชการมณฑลเป็นเจ้าภาพ ก่อนอื่นคุณอู่ทำตัวเป็นพิธีกรแนะนำใครๆ และเชิญรองผู้ว่าราชการมณฑลกล่าวบรรยายสรุป ท่านรองผู้ว่าราชการฯ บอกว่า ผู้ว่าราชการมณฑลซึ่งประชุมอยู่ที่ปักกิ่งโทรศัพท์มากำชับให้ดูแลรับรองฉันให้ดี และแนะนำสถานที่ว่า จี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มณฑลซานตงมีประชากร 86,820,000 คน เนื้อที่ 156,000 ตารางกิโลเมตร ขงจื่อเกิดในมณฑลนี้ที่ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงแคว้นหลู่ สมัยชุนชิว จั้นกว๋อ (ส่วนทางตะวันออกของจี่หนานเป็นเมืองหลวงของแคว้นฉี ซึ่งอยู่สมัยเดียวกัน) ที่จี่หนานแต่ดั้งเดิมเศรษฐกิจขึ้นกับการเกษตร ราวทศวรรษ 1950 อุตสาหกรรมเริ่มเติบโต (ที่จริงเขาพูดตัวเลขเยอะแยะแต่ฉันขี้เกียจจด เพราะฉันนับเป็นภาษาจีนไม่ค่อยถ้วน และรู้สึกประพจน์เองก็คงขี้เกียจอ่าน) ปีหลังๆ นี้การเกษตรก็ก้าวหน้าเช่นกันเพราะใช้เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ เขาถือว่าไวน์แดงจังอวี้เป็นไวน์แดงที่ดีที่สุดของจีน ผลไม้ก็ปลูกได้ดี มณฑลนี้มีที่ติดชายทะเลยาว เพราะฉะนั้นการผลิตอาหารทะเลนั้นสำคัญ มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ในด้านการเกษตร การพัฒนาชลประทานเป็นเรื่องสำคัญ ถึงกระนั้นบางแห่งก็ยังแห้งแล้ง ต้องพัฒนาพืชทนแล้ง ด้านอุตสาหกรรมขณะนี้สำคัญมาก มีอุตสาหกรรมเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ การทำเหมืองถ่านหิน มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตอาหารสัตว์ ลงทุนร่วมกับบริษัทไทย และยังคิดพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เรื่องการพัฒนาใหม่นั้น กำหนดยุทธศาสตร์อนาคตดังนี้
(น.84)
1. พัฒนาการศึกษาและวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเจริญไปเร็วยิ่งขึ้น
2. พัฒนาไฮเทคในการทำอุตสาหกรรมพยายามทำให้ได้ระดับมาตรฐานสากล และให้สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ขณะนี้คิดว่าแก้ปัญหาปากท้องได้แล้ว ก็ต้องพยายามพัฒนาให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ
3. พัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 88,90,105,106,108

(น.88) ภูเขาไท่ซานมีสำนักปรัชญาขงจื่อ ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ อยู่ร่วมกัน เห็นว่ารอบๆ ภูเขามีวัดตามความเชื่อดังกล่าว สร้างมา 1,500 ปีแล้วก็มี เช่น วัดหลิงเหยียนซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นวัดทางพุทธศาสนาที่สำคัญ เขาพูดอย่างนี้ แต่พอไปค้นหนังสือมาอ่าน อธิบายว่า วัดนี้ไกลจากเขาไท่ซาน อยู่ระหว่างเมืองจี่หนานกับเมืองไท่อาน บริเวณเขาไท่ซานมีวัดผู่เจ้า สร้างสมัยหกราชวงศ์ อีกวัดชื่อ อวี้เฉียน เป็นวัดสมัยใหม่ มีเทพเจ้าบนภูเขาไท่ซาน เป็นเทพเจ้าตามลัทธิเต๋า มี 2 องค์ เทพชายคือ ตงเยี่ยต้าตี้ และเทพสตรีคือ ปี้เสียหยวนจวิน ทั้งสองเป็นเทพแห่งการปกปักรักษา ชาวบ้านกล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ขออะไรก็ได้ (ในลัทธิเต๋า มีเทพสตรีที่ยิ่งใหญ่สองท่านคือ หมาจู่ เป็นเทพสตรีทางทะเล คุ้มครองคนเดินเรือ ซึ่งฉันเขียนหลายครั้งแล้ว และเทพสตรีปี้เสียท่านนี้เป็นเทพทางภูเขา ซุปบอกว่าที่ภูเก็ตก็มีศาลเจ้าหมาจู่ ตั้งชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยว่า ศาลเจ้าแม่ย่านางเรือ)

(น.90) อาณาเขตของภูเขาไท่ซานกว้างไกลไปเกือบถึงกำแพงเมืองจี่หนาน กว้างถึง 426 ตารางกิโลเมตร ภูเขาไท่ซานเป็นหนึ่งในบรรดาภูเขาสำคัญของจีน กว่าจะกลับถึงที่พักก็ค่ำแล้ว รับประทานอาหารค่ำแบบกันเอง แถมก็ต้องคุยเรื่องประพจน์ด้วยตามเคย เมื่อรับประทานแล้วนักข่าวทีวีมณฑลซานตง หรือ Shan Dong Televisions – SDTV ของซานตงมาสัมภาษณ์ คนสัมภาษณ์ออกตัวว่าเขาแต่งตัวไม่ดีเพราะวันนี้เดินทางทั้งวัน ฉันว่าไม่เป็นอะไรเพราะที่จริงฉันก็แต่งไม่ค่อยจะดีเท่าไร แต่วันนี้ซุปเขาดูแลจัดการให้แต่งดีๆ

(น.106) ตกลงฉันพูดเป็นภาษาไทยและให้คุณอู๋จื้ออู่แปล ก็จะดีเพราะว่าทีวีไทยก็จะได้ถ่ายด้วย ฉันจะเล่าคำถามคำตอบคร่าวๆ ดังนี้
1. สาเหตุที่มาเยือนซานตง ฉันว่าเป็นมณฑลที่เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมหวงเหอ (ฮวงโห) มีวัฒนธรรมจีนโบราณที่น่าสนใจ เป็นสถานที่กำเนิดขงจื่อและกวีสำคัญหลายท่าน ปัจจุบันเป็นมณฑลที่ก้าวหน้า และฉันรู้จักคนซานตงหลายคน
2. ความประทับใจที่นครจี่หนานในวันแรกที่มา ตอบว่า บ้านเมืองสะอาด ถนนหนทางกว้างขวางได้มาตรฐาน การต้อนรับที่ดี ได้ไปมหาวิทยาลัยซานตง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานทางวิชาการ ดูสวนน้ำพุ มีการรวบรวมความรู้ต่างๆ ไว้ทั้งจิตรกรรมและประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ ของมณฑล ทะเลสาบต้าหมิงหูก็สวยงาม
3. พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ตอบว่า มหาวิทยาลัยมีการสอนวิชาโบราณคดี อาจารย์และนักศึกษาได้เรียนและสอนภาคทฤษฎีแล้วมีโอกาสได้ไปทำงานภาคปฏิบัติ ไปขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี เมื่อขุดแล้วก็ได้นำวัตถุโบราณที่น่าสนใจมาจัดแสดง เขียนคำอธิบาย ค้นคว้าและเขียนบทความวิชาการเผยแพร่ในวงวิชาการ นอกจากนั้น ยังได้ทราบว่ากำลังทำฐานข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ด้วย การศึกษาอย่างเป็นระบบจะเป็นตัวอย่างแก่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ ได้ดูพิพิธภัณฑ์เป็นเวลาสั้นมากเพราะไม่มีเวลา แต่ก็นับว่าได้ประโยชน์ดี เขาสามารถนำสิ่งที่สำคัญเป็นหลักๆ มาไว้ด้วยกัน ใช้เวลาไม่มากก็สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของซานตงได้ ฉันชอบห้องที่แสดงสัตว์โบราณเพราะสนใจเรื่องสัตว์โบราณ ไดโนเสาร์ต่างๆ ซึ่งให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาด้วย

(น.108)
4. สนใจวัฒนธรรมจีนด้านไหน ตอบว่าสนใจทุกด้าน เพราะวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของมนุษยชาติในแต่ละสังคมซึ่งต้องมีครบทุกด้าน รวมทั้งปัจจัยสี่ที่จะสนองความต้องการทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ จะศึกษาวัฒนธรรมต้องสนใจและเข้าใจทุกด้าน จึงจะเข้าใจประชาชนและสังคมนั้นๆ ได้
5. มาครั้งนี้คิดว่าจะช่วยให้ไทยและมณฑลซานตงมีการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการได้อย่างไร ตอบว่ามาคราวนี้มีอาจารย์ 6 ท่านจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งตามมาด้วย เมื่อกลับไปแล้ว อาจารย์เหล่านี้คงจะไปหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยของเขาให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่สมควร
6. ขอให้กล่าวกับคนจีน ฉันก็เลยเอากลอนที่แต่งขยายความบทกวีชุนเสี่ยว (รุ่งอรุณฤดูใบไม้ผลิ) ของเมิ่งเฮ่าหราน ซึ่งฉันแต่งเป็นเนื้อร้อง เพลงจีนเด็ดดอกไม้ ที่กำนันสำราญ เกิดผล ขอให้ช่วยแต่ง ฉันท่องบทกวีของเมิ่งเฮ่าหราน แล้วหยิบเอาหนังสือ หยกใส่ร่ายคำ มาอ่านต่อกลอนที่ฉันแต่ง จะให้คุณอู๋อ่านคำแปลภาษาจีน คนที่สถานีเขาบอกว่าไม่ต้องอ่าน ขอบทไปแล้วเขาจะจัดการเองเป็นอันเสร็จเรียบร้อย เขาจะออกอากาศวันที่ 22 มีนาคมนี้ ฉันดูไม่ได้เพราะไม่ได้ตั้งไว้ แต่ที่สถานทูตจีนที่เมืองไทยบอกว่าเขาดูได้