Please wait...

<< Back

พระราชวังโปตาลา

จากหนังสือ

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 92-104

(น.92) เมื่อไปถึง (นั่งรถขึ้นไป) มองในเมืองเห็นบ้านเรือน วังโปตาลามีประวัติว่า เมื่อกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ หรือตามภาษาทิเบตว่า ซงซันกัมโป (Songtsen Gampo) จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง ได้สร้างวังนี้ใน ค.ศ. 641 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าหญิง ต่อมาวังถูกฟ้าผ่าและเกิดศึกสงคราม วังนี้จึงทรุดโทรมทิ้งร้างไป จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดาไลลามะองค์ที่ 5 สร้างวังโปตาลาขึ้นใหม่ สร้างส่วนที่เรียกว่าวังขาวใน ค.ศ. 1645 สามปีต่อมาสร้างอาคาร 9 ชั้น
(น.93) รูป 84 พระราชวังโปตาลา (ปู้ต๋าลา)
(น.94) รูป 85 วังแดง
(น.95) ใน ค.ศ. 1649 ดาไลลามะย้ายจากวัดเดรปุง (Drepung) จีนเรียกว่า วัดเจ๋อปั้ง มาประทับที่วังใหม่นี้ ส่วนที่เป็นวังแดงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 ทรงสร้างจริงหรือไม่ เนื่องจากนักประวัติศาสตร์คิดว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1682 แต่ว่าคนสมัยนั้นปิดข่าวการสิ้นพระชนม์เอาไว้ 12 ปี ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ จนวังแดงสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1694 บางคนว่าผู้สำเร็จราชการซังเจี๋ยเจียชู่ (ภาษาทิเบต ซังเก เกียทโซ) เป็นผู้วางแผนสร้างวังแดง พระราชวังโปตาลาที่สร้างขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้ ตัววังมีพื้นที่ 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว วังแดงทาสีแดง อยู่ตรงกลางพระราชวัง วังขาวทาสีขาวอยู่ด้านขาวและด้านซ้ายของวังแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สีขาวแสดงถึงสันติภาพ วังแดงใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาและเป็นที่ประดิษฐานสถูปวิญญาณของดาไลลามะ 8 องค์ตั้งแต่องค์ที่ 5 ส่วนวังขาวเป็นที่ทำการรัฐบาลและที่ประทับของดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 เป็นต้นมาเช่นกัน ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวังโปตาลานั้นได้ให้อาจารย์กฤษดาวรรณ ทำภาคผนวกไว้ในท้ายเล่มหนังสือนี้
(น.96) เริ่มต้นไปที่วังแดงก่อน อาคารที่เราเห็นในปัจจุบันสร้างสมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 เป็นสถานที่ใหญ่โอฬาร มีสิ่งที่น่าสนใจชมมาก ทางเดินชมวกวนเหมือนเข้าเขาวงกต ถ้าไปเองไม่มีคนนำคงจะหลงทาง จะเขียนตามที่เห็นก็ยังงงไม่ทราบว่าจะเล่าจะเขียนอย่างไรดี ห้องที่เข้าห้องแรก ฝาผนังทำเป็นช่องๆ เก็บคัมภีร์กันจูร์ของทิเบต อายุราว 300 กว่าปี น้ำหมึกที่เขียนเป็นทองคำ อยู่นานเท่าไรสีก็ไม่ลบเลือน หน้ารูปเคารพมีตะเกียงที่ใช้เนย เข้าใจว่าเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวร มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 พระประธานเป็นรูปพระศากยมุนี มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปพระอาจารย์ 8 องค์ หรือว่าเป็นพระไภษัชยคุรุ มีสถูปวิญญาณของพระดาไลลามะองค์ที่ 11 ขณะนี้เห็นตามที่ต่างๆ ในวัง มีบันไดพาด เจ้า หน้าที่กำลังไปบันทึกว่า ในวังมีอะไรบ้าง เช่น ใช้ทองเท่าไร ใช้อัญมณีเท่าไร
(น.96) รูป 86 คัมภีร์กันจูร์
(น.96) รูป 87 ภาพฝาผนังรูปบ้านและประวัติดาไลลามะองค์ที่ 5
(น.97) รูป 88 รูปปักพระราชวังโปตาลา
(น.97) ภาพฝาผนังเป็นฝีมือสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นรูปบ้านเรือน ประวัติดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ยังมีสถูปอีกหลายองค์ มีรูปปัทมสัมภวะ นิกายหนิงม่าปะ (Nyingma pa) หรือนิกายแดง พบผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเขาบอกว่าเป็นคนอธิบายตอนที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จ เข้าไปในห้องโถงที่ใช้ประกอบพิธี มีป้ายลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลงว่า หย่งเหลียนซูตี้ เป็นคำแปลของ โอม มณี ปัทเม หูม แขวนรูปปักวังโปตาลา (สมัยใหม่) ผู้ปักใช้เวลาถึง 2 ปี จึงปักเสร็จ
(น.98) รูปพระอาจารย์จงคาปา (เป็นผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะหรือนิกายเหลือง) เป็นอาจารย์ของพระดาไลลามะและพระปันฉานลามะ เขาเล่าว่าแต่แรกผู้ที่จะได้เป็นดาไลลามะและปันฉานลามะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ มีลูกศิษย์ลูกหามาก ต่อมามีระบบการสรรหาทารกสืบทอดวิญญาณ รูปศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์จงคาปา ในตู้มีพระไตรปิฎกอยู่มากมาย ใส่ตู้ปิดกุญแจเอาไว้ ขอดูพระไตรปิฎก ต้องไปตามคนเก็บกุญแจมา หากุญแจอยู่พักใหญ่ เมื่อหากุญแจพบยังไขไม่ได้ เพราะรูกุญแจอยู่สูง พอดีมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งตัวสูงมาก จึงไขเปิดตู้และหยิบคัมภีร์ออกมาได้ ฉบับที่หยิบมานี้เป็นสมุดพับ กระดาษดำเขียนตัวอักษรด้วยหรดาล เขาบอกว่ากระดาษที่เขียนเป็นกระดาษพิเศษของทิเบต มีสรรพคุณสำคัญคือ แมลงไม่กิน คัมภีร์ฉบับนี้เป็นปรัชญาปารมิตาสูตร กระดาษบางหน้าติดกัน จะว่าเป็นเพราะความชื้นก็ไม่น่าจะใช่เพราะทิเบตอากาศแห้ง อีกอย่างหนึ่งคือเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่มีคนอ่าน เนื่องจากมีคัมภีร์มากอ่านไม่ทัน
(น.98) รูป 89 คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร กระดาษดำหมึกทอง
(น.99) ในห้องมีภาพดาไลลามะองค์ที่ 5 เฝ้าจักรพรรดิซุ่นจื้อ ใน ค.ศ. 1652 จักรพรรดิสถาปนาดาไลลามะ ตามประวัติว่ามีผู้ติดตามจากทิเบตไปปักกิ่ง 3,000 กว่าคน ขึ้นบันไดไปสองชั้น มีที่เก็บพระกริ่ง ทำด้วยโลหะผสม 2,600 องค์ การหล่อพระแบบนี้ใช้แร่ธาตุหายาก 10 ชนิดขึ้นไป วิธีหล่อแบบนี้ทำในทิเบต เนปาล และอินเดีย ข้าพเจ้าสงสัยว่าธรรมเนียมพระกริ่งทิเบตเป็นอย่างไร ลืมถาม อาจฟังผิด ในห้องมีตะเกียงเนย ชาวบ้านนำเนยมาจากบ้าน มาเติมอยู่ตลอดเวลา ไฟจึงไม่ดับเลย อีกห้อง มีโบราณวัตถุที่พ่อค้าชาวทิเบตผู้หนึ่งซื้อจากที่ต่างๆ นำมาถวายพระ ประมาณ 200 กว่าชิ้น ถวายใน ค.ศ. 1995 เข้าไปในถ้ำธรรมราชา (ฝ่าหวังต้ง) เป็นห้องที่เก่าแก่ที่สุดในวังโปตาลา มีอายุราว 1,360 ปี เป็นห้องที่กษัตริย์ซงจ้านกานปู้มาพักปฏิบัติธรรม มีรูปกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาลซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง (เป็นผู้นำพุทธศาสนามาทิเบต เช่นเดียวกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง) เจ้าหญิงเหวินเฉิง เสนาบดีทิเบตผู้ที่เป็นตัวแทนกษัตริย์ไปกรุงฉังอานเพื่อสู่ขอเจ้าหญิงเหวินเฉิง (มีเรื่องว่าเสนาบดีผู้นี้จะต้องผ่านการทดสอบสติปัญญาหลายอย่าง เช่น ต้องเอาเชือกร้อยไข่มุกซึ่งมีรูเลี้ยวไปเลี้ยวมา 9 ครั้ง ต้องคัดเลือกจับคู่แม่ม้าลูกม้า ต้องดูออกว่าคนไหนเป็นเจ้าหญิงตัวจริง) เสนาบดีผู้ประดิษฐ์อักษรทิเบตและเขียนไวยากรณ์ทิเบต
(น.100) มีรูปสนมชาวทิเบตซึ่งมีลูกกับกษัตริย์ มีเตาไฟและหม้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของดั้งเดิมที่กษัตริย์และเจ้าหญิงใช้ อีกห้องจัดเป็นห้องนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุด้านศาสนาและสังคมของทิเบต เช่น เครื่องแต่งกายของข้าราชการตำแหน่งต่างๆ รูปเทวดาของอินเดียหรือเนปาล อายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 ตะเกียงเนยทอง เป็นของที่เจียงไคเช็กถวายดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) กาน้ำชา และถ้วยชาแบบต่างๆ ในสมัยต่างๆ ประกาศนียบัตรที่ UNESCO มอบให้ ยกย่องให้วังโปตาลาเป็นมรดกโลก รูปพระอาจารย์มิลาเรปา หรือมิลารัสปา (คริสต์ศตวรรษที่ 11) เป็นศิษย์เอกของผู้ก่อตั้งนิกายก๋าจี่ปา หรือ กากยูปะ (Kagyur pa) หรือนิกายขาว ซึ่งมีนับถือมากทางภาคตะวันออก เครื่องประกอบพิธีของทิเบตเป็นเงินลงยา (cloisonné) และประดับอัญมณี ข้าพเจ้าสงสัยว่าปะการังมาอยู่ในทิเบตได้อย่างไร เขาอธิบายว่าสมัยก่อนทิเบตอยู่ในทะเล เมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้น ปะการังจึงมาอยู่ในดินและขุดได้ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่า น่าสงสัยว่าสมัยที่ทิเบตอยู่ใต้น้ำมีปะการังแบบนี้หรือยัง
สังข์ (ใหญ่มาก) ใช้เป่าในพิธีที่ดาไลลามะออกว่าราชการ
ตาราเขียวทพด้วยแก้วคริสตัล
วัชรปาณีอยู่บนดอกบัว 8 กลีบ
(น.101) เหวัชระและศักติ เขาแพะใหญ่มาก อธิบายว่าแพะตัวนี้เขาใหญ่ยาวมาก ทำให้เกะกะก้มลงกินหญ้าไม่ได้ จึงอดตาย ข้าพเจ้าว่าคนน่าไปช่วยป้อนอาหารให้มัน เขาบอกว่ามีแพะหลายตัวป้อนไม่ทัน ภาพทังกาต่างๆ มีรูปพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น รองเท้าขององครักษ์ดาไลลามะ มีมัณฑละประดับด้วยไข่มุก 200,000 เม็ด และหินโมรา ทำสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง ในตู้มีคัมภีร์ใบลาน เขียนภาษาสันสกฤต มาจากอินเดีย กุญแจดอกโต (มาก) เกราะสมัยถู่โป๋ เครื่องแต่งกายทำด้วยงาช้าง ในตู้มีพระไตรปิฎก มหาปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษาทิเบต เขียนด้วยทองคำ เขาเชิญไปนั่งพักในห้องรับแขก ในห้องนั้นมีลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินที่เขียนใน ค.ศ. 1990 มีคนอธิบายว่า วังโปตาลานี้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 ที่จริงก่อนหน้านั้นรัฐบาลกลางยกย่องเป็นแหล่งโบราณสถานระดับชาติตั้งแต่ ค.ศ. 1960 และช่วยในการบูรณะมาตลอด ระหว่าง ค.ศ. 1989-1994 ใช้เงินซ่อมแซมไป 53 ล้านหยวน
(น.102) รูป 90 รูปพระกวนอิม 1,000 มือ 11 หน้า
(น.102) ตั้งแต่ปีนี้ไปอีก 5 ปี จะบูรณะเป็นครั้งที่ 2 ตั้งงบประมาณไว้ 170 ล้านหยวน เมื่อปีที่แล้วรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงแนะนำให้สร้างห้องมหัคฆภัณฑ์รวบรวมเพชรนิลจินดาต่างๆ เอาของจากอาคารต่างๆ มารวมไว้ที่เดียว รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มลงมือตั้งกรรมการบูรณะ แต่ค่อยๆ ทำไป เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการท่องเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการบันทึกทำบัญชีโบราณวัตถุ เขียนลงสมุด 10 ปี ที่ผ่านมาทำการบันทึกของต่างๆ เครื่องเงินทอง อัญมณีไปได้ 70,000 กว่าชิ้น ประมาณ 70-80% เท่านั้น งานนี้เป็นงานละเอียดต้องถ่ายรูป บันทึกลักษณะ วัดขนาด ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่นและประเทศต่างๆ นั่งพักสักครู่ ซื้อหนังสือแล้วไปดูวิหารกวนอิมผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตำหนักหลังที่สองของกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ มีรูปพระกวนอิม ดาไลลามะองค์ที่ 7 พระอาจารย์จงคาปา ไปวิหารที่สูงที่สุดในบริเวณวัง อยู่ที่วังแดง มีรูปกวนอิม 1,000 มือ 11 หน้า มีป้ายเขียน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน แมนจู ทิเบต มองโกล
(น.103) ขึ้นไปชั้นสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นดาดฟ้า หลังคาทำด้วยทองแดงชุบทอง ส่วนนี้เป็นดาดฟ้าของวังขาว มีห้องของพระดาไลลามะ มีรูปเขียนดาไลลามะองค์ที่ 13 มีห้องออกว่าราชการ ห้องหนังสือ ห้องแต่งพระองค์ ห้องรับแขก ออกนอกห้องเป็นลานสี่เหลี่ยมสำหรับดูการแสดงต่างๆ มีภาพผนังเล่าเรื่อง ดูวันเดียวไม่จบ ห้องรับแขกของดาไลลามะนั้น ใน ค.ศ. 1956 หัวหน้าคณะทางการจีนมาหาลือกับดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) ในห้องนี้ นอกจากนั้นยังมีห้องบรรทม ห้องสำหรับปลีกตัวหลีกเร้นทำสมาธิ
(น.103) รูป 91 ดาดฟ้าของวังขาวซึ่งเป็นที่ประทับของดาไลลามะ
(น.104) บริเวณนี้มีหน้าต่างตรงกลางที่มองลงไปเห็นเมืองลาซา (ห้องนี้เป็นห้องบรรทมฤดูร้อน) ห้องบรรทมฤดูหนาวมีที่ประทับของดาไลลามะและของพระอาจารย์ นอกห้องเป็นที่สำหรับข้าราชการทั้งหลายนั่งรอก่อนเฝ้า ที่นั่งสูงๆ ต่ำๆ แสดงว่าข้าราชการเหล่านี้มีฐานะไม่เหมือนกัน ผู้มีตำแหน่งสูงก็นั่งที่สูง ผู้มีตำแหน่งต่ำก็นั่งที่ต่ำ เมื่อดูวังโปตาลาเสร็จแล้ว ใครๆ โหวตกันว่าน่าจะกลับเข้าห้องน้ำที่โรงแรม แล้วจึงจะไปวัดต้าเจาซื่อ หรือ วัดโจคัง เมื่อเข้าห้องน้ำกันเรียบร้อยแล้ว ออกไปยืนที่ลานของวังโปตาลาด้านหน้า วันนี้เราขึ้นไปที่วังเข้าด้านหน้าไม่ได้ เพราะฝนตกทางชำรุด พอถ่ายรูปกันจนพอใจแล้วไปที่วัดต้าเจาซื่อ หรือวัดโจคัง เมื่อไปถึงมีนายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการคณะกรรมการของวัด และเจ้าอาวาส มาต้อนรับ วัดนี้มีพุทธบริษัทศรัทธามาไหว้พระกันมาก พระอธิบายว่าจะไหว้มากไหว้น้อยขึ้นกับสุขภาพของผู้ไหว้ ถ้ามีแรงมากก็ไหว้ได้มากครั้ง

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 261-267

พระราชวังโปตาลา
พระราชวังโปตาลาเป็นพระราชวังฤดูหนาวขององค์ดาไลลามะ สร้างโดยกษัตริย์ซงซันกัมโปในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชื่อโปตาลามาจากชื่อภาษาสันสกฤตว่า “โปตลกะ” หมายถึง พระราชวังบนสรวงสวรรค์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องจากชาวทิเบตเชื่อว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปคือ นิรมาณกาย (ยังเซ) ของพระอวโลกิเตศวร ที่ประทับของพระองค์จึงได้รับการขนานนามเช่นนั้น หลังจากพระราชวังสร้างได้ประมาณ 100 ปี เกิดฟ้าผ่าทำให้ไฟไหม้ พระราชวังได้รับความเสียหายอย่างมาก เมื่ออาณาจักรยาลุง (ราชวงศ์หย่าหลุง / ราชวงศ์ถู่โป๋) เสื่อมสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 10 พระราชวังก็ถูกทำลายไปอีก จนถึงสมัยขององค์ดาไลลามะที่ 5 ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พระองค์โปรดให้มีการบูรณะพระราชวังโปตาลาครั้งใหญ่ตามภาพจำลองของพระราชวังที่เขียนไว้ที่ข้างผนังวัดโจคัง แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนจะบูรณะเสร็จสิ้นทั้งหมด ผู้สำเร็จราชการซังเก เกียทโซ จึงดำเนินการซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ
(น.262) ตำหนัก วิหาร ห้องโถงภายในพระราชวังได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยของดาไลลามะองค์ที่ 13 พระราชวังโปตาลาต่างจากวัดและวังอื่นๆ ตรงที่ไม่ถูกทำลายในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากทิเบตเปลี่ยนการปกครอง รัฐบาลจีนได้บูรณะพระราชวังไปแล้วหนึ่งครั้งและกำลังดำเนินการบูรณะครั้งที่สองด้วย งบประมาณ 170 ล้านหยวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ในการบูรณะครั้งนี้รัฐบาลมีแผนการที่จะสร้างหอขนาดใหญ่เพื่อเก็บสมบัติและวัตถุต่างๆ ของพระราชวัง ในขณะนี้ได้ทำบัญชีทรัพย์สิน ประเมินค่า วัดขนาด และถ่ายรูปสิ่งของต่างๆ ไปแล้วประมาณ 80% พระราชวังโปตาลาเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่แสดงฝีมือของช่างศิลป์ทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว วังแดงมีความสูง 13 ชั้น เป็นอาคารใหญ่ทาสีแดงอยู่ตรงกลางพระราชวัง วังขาวเป็นอาคาร 2 หลังทาสีขาวอยู่ด้านขวาและด้านซ้ายของวังแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สีขาวแสดงถึงสันติภาพ
(น.263) วังทั้งสองใช้ประกอบหน้าที่ต่างกัน วังแดง ใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา และเป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะ 8 องค์ตั้งแต่องค์ที่ 5 ผู้สำเร็จราชการซังเก เกียทโซเป็นผู้สร้างวังแดงขึ้นเพื่อประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 5 เมื่อคราวที่พระองค์สิ้นพระชนม์นั้นซังเก เกียทโซเก็บความลับเรื่องการสิ้นพระชนม์นานถึง 12 ปี (บ้างบอกว่า 14 ปี บ้างก็ว่า 15 ปี) ด้วยเกรงว่าหากประชาชนทราบข่าวจะไม่สามารถสร้างวังแดงได้เสร็จ และเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบในแผ่นดินด้วย หลังจากสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์ที่ 5 ที่พระราชวังโปตาลาแล้วก็มีการสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์อื่นที่นี่เช่นกัน อย่างไรก็ตามพระราชวังนี้ไม่มีสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 6 เนื่องจากพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่ลาซา บ้างเชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองลีทัง ทางใต้ของแคว้นคาม (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองตนเองกานเซของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวน) บ้างก็เชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ถูกลาซังข่านแห่งมองโกลเนรเทศไปจีน และพระศพของพระองค์เก็บไว้ที่วัดหนึ่งในบริเวณทะเลสาบโกโกนอร์ ในมณฑลชิงไห่ สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 และที่ 13 ได้ชื่อว่ามีความงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด องค์ระฆังทำด้วยทองคำแท้ตั้งอยู่บนฐานที่ทำด้วยทองเหลือง ที่ยอดฝังด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวกและอัญมณีอื่นๆ เช่น มุก และกัลปังหา สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ขนาบข้างด้วยสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 10 และ 12 ภายในวังแดงมีหอประชุม วิหาร และหอสมุดเก็บพระไตรปิฎกครบชุด ได้แก่ กันจูร์ (พระไตรปิฎก) และตันจูร์ (อรรถกถา) วังขาว ซึ่งอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของวังแดงนั้นเป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นที่ประทับของดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 ดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 ไม่ได้ประทับที่นี่ หากแต่ประทับที่วังกานเดนโพทรังภายในวัดเดรปุง (ชื่อกานเดนโพทรังนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อเรียกรัฐบาลขององค์ดาไลลามะ) เนื่องจากพระราชวังโปตาลาเป็นที่ประทับของดาไลลามะ ซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่า เป็นนิรมาณ
(น.264) กายของพระอวโลกิเตศวร พวกเขาจึงนิยมเดินทางมาจาริกแสวงบุญและเดินประทักษิณรอบพระราชวังนี้ พระราชวังโปตาลามี 999 ห้อง หากรวมวิหารที่เป็นถ้ำชื่อ เชอเกียลดรุบพุก (ถ้ำสมประสงค์ของธรรมราชา) หรือฝ่าหวังต้งในภาษาจีนแล้ว ก็จะนับได้ 1,000 ห้องพอดี วิหารเชอเกียลดรุบพุกเป็นที่เก็บพระบรมรูปของกษัตริย์ซงซันกัมโปและพระรูปมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิงจากจีนและเจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาล นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของอำมาตย์ทนมี สัมโภตา ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต และอำมาตย์สกุลการ์ผู้ไปรับเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาจากจีน เชอเกียลดรุบพุกเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชวังนี้ พระบรมรูปและรูปปั้นในวิหารนี้สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 เชื่อกันว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปเคยทรงนั่งสมาธิที่นี่ วิหารสำคัญ เช่น วิหารทรุงรับ (วิหารต้นตระกูล) ในวังแดง มีพระพุทธรูปศากยมุนี รูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปบรรจุพระศพดาไลลามะองค์ที่ 11 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา ระหว่างสถูปกับหิ้งพระหลักในวิหารมีพระพุทธเจ้า 3 ภพ และพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ (แมงลา) ที่ดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระไตรปิฎกวางอยู่บนชั้นตามผนัง พระไตรปิฎกเหล่านี้จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1725 คัมภีร์เหล่านี้เขียนด้วยน้ำหมึกทองและสีตามธรรมชาติ วิหารที่สำคัญที่สุดวิหารหนึ่งของวังแดงคือ วิหารไตรโลก ซึ่งมีชื่อภาษาทิเบตว่า “ซาซุม นัมเกียล” (วิหารชัยชนะเหนือสามโลก) เป็นวิหารของพระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร 11 เศียร 1,000 กร ทำด้วยเงินแท้ สูง 3 เมตร หนักประมาณ 300 กิโลกรัม สร้างในปี ค.ศ. 1903 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 ในวิหารนี้มีภาพทังกาวาดรูปจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แขวนอยู่บนผนังด้านเหนือ ภาพนี้จักรพรรดิเฉียนหลงถวายดาไลลามะองค์ที่ 8 ใต้ภาพมีป้ายสลัก 4 ภาษา คือ ภาษาทิเบต จีน แมนจู และมองโกล เขียนว่า “ขอให้จักรพรรดิคังซีมีพระชนมายุนับหมื่นปี” ป้ายนี้จักรพรรดิเฉียนหลง
(น.265) พระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 (ค.ศ. 1708-1757) ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 14 พรรษาเนื่องในวโรกาสที่จักรพรรดิคังซีครองราชย์สมบัติครบ 61 ปี ด้านเหนือของวิหารนี้เป็นบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 7 มีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 7 และรูปปั้นของพระอาจารย์จงคาปา ปีกตะวันออกของชั้นที่ 4 ของวังแดงเป็นวิหารของพระศรีอารยเมตไตรย์เรียกว่า วิหารจัมคัง (จัม มาจากคำว่า จัมปา ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้) ในวิหารนี้มีพระพุทธรูปศรีอาริย์สูง 3.66 เมตรและกว้าง 2.65 เมตร ในท่านั่ง ทำด้วยทองแดง นอกจากนี้ในวิหารมีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 รูปปั้นพระโพธิสัตว์ตาราขาว เจดีย์ไม้ และชั้นวางพระไตรปิฎก สถูปดาไลลามะองค์ที่ 13 สูง 13 เมตร สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1934-1936 ภายในสถูปมีพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 13 เก็บรักษาด้วยเกลือ ยอดสถูปประดับด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวก ด้านหน้าของสถูปเป็นรูปปั้นดาไลลามะองค์นี้ ปีกตะวันตกของชั้นที่ 4 เป็นวิหารเรียกว่า พักปาลาคัง (วิหารพระอวโลกิเตศวร) ที่ผู้จาริกแสวงบุญชาวทิเบตถือว่าเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพระราชวัง มีพระพุทธรูปอวโลกิเตศวรทำจากไม้จันทน์ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ได้มีผู้ใดสร้างขึ้น แต่ปรากฏขึ้นเองในโลกมนุษย์ ซมเชนนุบ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันตก) เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังอุทิศแด่ดาไลลามะองค์ที่ 5 มีเสาใหญ่ 8 เสาและเสาเล็ก 36 เสา หุ้มด้วยพรม มีบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 6 เหนือบัลลังก์มีป้ายเขียนเป็นภาษาจีนจากจักรพรรดิเฉียนหลง ภาพฝาผนังแสดงชีวิตของดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปโปตลกะและกษัตริย์ทิเบต ถัดไปเป็นวิหารลัมริม (หนทางค่อยเป็นค่อยไปสู่การตรัสรู้) มีรูปปั้นของจงคาปาและพระอาจารย์ในสายเกลุกปะและตู้เก็บพระไตรปิฎก
(น.266) วิหารกุนซังลาคังเก็บพระพุทธรูปและสถูปเล็กๆ ที่พ่อค้าชาวทิเบตชื่อเต็มปาต้าชี่เป็นผู้นำมาถวาย หอสมบัติเป็นที่แสดงของมีค่าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าและของใช้ของดาไลลามะและราชองครักษ์ เครื่องใช้ในการออกว่าราชการ เช่น หอยสังข์แกะสลักเป็นรูปมังกร พระพุทธรูปและเครื่องบูชาในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปทำจากหินคริสตัลของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระรูปทำด้วยทองแดงชุบทองของเหวัชระ (เกย ดอร์เจ) ซึ่งเป็นเทพตามลัทธิตันตระ ทรงยืนบนดอกบัวพร้อมชายา มันดาลาหรือภาพจำลองจักรวาล 3 มิติ สร้างในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำจากไข่มุก 200,000 เม็ด ภาชนะใส่น้ำมนต์ทำจากปะการังและกัลปังหา เครื่องแต่งกายในการประกอบพิธีชัม ซึ่งเป็นการรำทางศาสนาที่มีพระเป็นผู้แสดง ทำจากกระดูกและหนังวัว สมบัติที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น กุญแจใหญ่ที่สุดของพระราชวัง แบบจำลองพระราชวัง เขาแพะของแพะที่มีเขายาวมากจนกินหญ้าไม่ได้และต้องตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์การแพทย์ของยูทก ยนเต็น โกนโป ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาการแพทย์ของทิเบต คัมภีร์โหราศาสตร์ และที่สำคัญคือ คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทาน ด้านตะวันออกของวังขาวเป็นลานกว้างขนาด 1,500 ตารางเมตร ชื่อว่าเตยังชาร์ ลานนี้เป็นที่แสดงพิธีทางศาสนารวมทั้งการแสดงพิธีชัม สองด้านของลานนี้เป็นกุฏิพระ 2 ชั้นและห้องเก็บของ ทางปีกตะวันออกของเตยังชาร์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนธรรมะชื่อว่า เซล็อบต้า (โรงเรียนบนยอดเขา) สร้างโดยดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1749 บนฝาผนังของวังขาวมีภาพเขียนฝาผนังที่วิจิตร เป็นภาพโลกบาล การสร้างวิทยาลัยการแพทย์บนภูเขาชักโปรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภูเขามาร์โปรี ที่ตั้งของพระราชวังโปตาลา การเสด็จเข้าสู่ทิเบตของเจ้าหญิงเหวินเฉิง การสร้างวัดต้าเจาซื่อ และการเสด็จไปปักกิ่งของดาไลลามะองค์ที่ 5 เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิราชวงศ์ชิง
(น.267) ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 13 และ 14 อยู่บนชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของวังขาว ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 13 และดาไลลามะองค์อื่นๆ นอกเหนือจากดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว นุบ โซนัม เลคิล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันตก) ประกอบด้วยห้องบรรทมและห้องพักผ่อนพระวรกาย ที่บางครั้งใช้ประชุมสภาและต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว ชาร์ ดาเดน นังเซล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันออก) ประกอบด้วยห้องออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ห้องนั่งสมาธิซึ่งมีหน้าต่าง อยู่ใจกลางพระราชวัง ที่นี่เป็นที่ที่พระองค์ทอดพระเนตรชัมซึ่งแสดงที่เตยังชาร์ หิ้งพระในห้องนี้มีพระพุทธรูปต่างๆ ที่สร้างอย่างสวยงาม ห้องด้านในเรียกว่า โกนโปลาคัง มีรูปปั้นของธรรมบาล ได้แก่ มหากาลเกรและศรีเทวี ด้านในหลังผ้าม่านเป็นห้องบรรทมและห้องสรงของดาไลลามะ ซมเชนชาร์ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันออก) ตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 ของวังขาว เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในวังขาว มีเสา 64 ต้น เป็นที่ที่ประกอบพิธีสำคัญของรัฐ ดาไลลามะทุกพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่นี่ มีบัลลังก์ของดาไลลามะ ภาพฝาผนังซึ่งวาดในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 เป็นเรื่องวิวัฒนาการของชาวทิเบต ประวัติและตำนานเกี่ยวกับดาไลลามะ อาคารระหว่างวังแดงและวังขาวเป็นที่แขวนภาพทังกาขนาดใหญ่รูปพระพุทธเจ้าศากยมุนี ซึ่งจะนำมาแสดงให้พุทธศาสนิกชนชมและบูชาในช่วงเทศกาลปีใหม่


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ



พระราชวังโปตาลา

พระราชวังโปตาลาเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่แสดงฝีมือของช่างศิลป์ทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว วังแดงมีความสูง 13 ชั้น เป็นอาคารใหญ่ทาสีแดงอยู่ตรงกลางพระราชวัง วังขาวเป็นอาคาร 2 หลังทาสีขาวอยู่ด้านขวาและด้านซ้ายของวังแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สีขาวแสดงถึงสันติภาพ[1]

ที่ประทับของพระโพธิสัตว์ฯ

วังปู้ต๋าลา แปลว่า สถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ วังปู้ต๋าลานี้ ภาษาไทยใช้ว่า วังโปตาลา ตามเสียงอ่านในภาษาทิเบต ซึ่งมาจากชื่อภาษาสันสกฤตว่า “โปตลกะ” หมายถึง พระราชวังบนสรวงสวรรค์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร[2] เนื่องจากชาวทิเบตเชื่อว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปคือ นิรมาณกาย (ยังเซ) ของพระอวโลกิเตศวร ที่ประทับของพระองค์จึงได้รับการขนานนามเช่นนั้น[3]

ประวัติ

จากพระราชวังสู่ความเป็นพุทธศาสนสถาน พระราชวังโปตาลาเป็นพระราชวังฤดูหนาวขององค์ดาไลลามะ สร้างโดยกษัตริย์ซงซันกัมโปในคริสต์ศตวรรษที่ 7[4] วังโปตาลามีประวัติว่า เมื่อกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ หรือตามภาษาทิเบตว่า ซงซันกัมโป (Songtsen Gampo) จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง ได้สร้างวังนี้ใน ค.ศ. 641 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าหญิง[5] หลังจากพระราชวังสร้างได้ประมาณ 100 ปี เกิดฟ้าผ่าทำให้ไฟไหม้ พระราชวังได้รับความเสียหายอย่างมาก เมื่ออาณาจักรยาลุง (ราชวงศ์หย่าหลุง / ราชวงศ์ถู่โป๋) เสื่อมสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 10 พระราชวังก็ถูกทำลายไปอีก จนถึงสมัยขององค์ดาไลลามะที่ 5 ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พระองค์โปรดให้มีการบูรณะพระราชวังโปตาลาครั้งใหญ่ตามภาพจำลองของพระราชวังที่เขียนไว้ที่ข้างผนังวัดโจคัง[6] ดาไลลามะองค์ที่ 5 สร้างวังโปตาลาขึ้นใหม่ สร้างส่วนที่เรียกว่าวังขาวใน ค.ศ. 1645 สามปีต่อมาสร้างอาคาร 9 ชั้น ใน ค.ศ. 1649 ดาไลลามะย้ายจากวัดเดรปุง (Drepung) จีนเรียกว่า วัดเจ๋อปั้ง มาประทับที่วังใหม่นี้ ส่วนที่เป็นวังแดงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 ทรงสร้างจริงหรือไม่ เนื่องจากนักประวัติศาสตร์คิดว่าดาไลลามะองค์ที่ 5 สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1682 แต่ว่าคนสมัยนั้นปิดข่าวการสิ้นพระชนม์เอาไว้ 12 ปี ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ จนวังแดงสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1694 บางคนว่าผู้สำเร็จราชการซังเจี๋ยเจียชู่ (ภาษาทิเบต ซังเก เกียทโซ) เป็นผู้วางแผนสร้างวังแดง[7] ตำหนัก วิหาร ห้องโถงภายในพระราชวังได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยของดาไลลามะองค์ที่ 13[8]

ซังเก เกียทโซ

ผู้สำเร็จราชการซังเก เกียทโซเป็นผู้สร้างวังแดงขึ้นเพื่อประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 5 เมื่อคราวที่พระองค์สิ้นพระชนม์นั้นซังเก เกียทโซเก็บความลับเรื่องการสิ้นพระชนม์นานถึง 12 ปี (บ้างบอกว่า 14 ปี บ้างก็ว่า 15 ปี) ด้วยเกรงว่าหากประชาชนทราบข่าวจะไม่สามารถสร้างวังแดงได้เสร็จ และเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบในแผ่นดินด้วย หลังจากสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์ที่ 5 ที่พระราชวังโปตาลาแล้วก็มีการสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์อื่นที่นี่เช่นกัน อย่างไรก็ตามพระราชวังนี้ไม่มีสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 6 เนื่องจากพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่ลาซา บ้างเชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองลีทัง ทางใต้ของแคว้นคาม (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองตนเองกานเซของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวน) บ้างก็เชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ถูกลาซังข่านแห่งมองโกลเนรเทศไปจีน และพระศพของพระองค์เก็บไว้ที่วัดหนึ่งในบริเวณทะเลสาบโกโกนอร์ ในมณฑลชิงไห่[9]

อาคารต่างๆภายในพระราชวังโปตาลา

พระราชวังโปตาลามี 999 ห้อง หากรวมวิหารที่เป็นถ้ำชื่อ เชอเกียลดรุบพุก (ถ้ำสมประสงค์ของธรรมราชา) หรือฝ่าหวังต้งในภาษาจีนแล้ว ก็จะนับได้ 1,000 ห้องพอดี[10]

วังแดง

วังแดงมีความสูง 13 ชั้น เป็นอาคารใหญ่ทาสีแดงอยู่ตรงกลางพระราชวัง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ[11]

ความสำคัญ

วังแดงใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาและเป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะ 8 องค์ตั้งแต่องค์ที่ 5 ภายในวังแดงมีหอประชุม วิหาร และหอสมุดเก็บพระไตรปิฎกครบชุด ได้แก่ กันจูร์ (พระไตรปิฎก) และตันจูร์ (อรรถกถา) [12]

สถานที่สำคัญภายในวังแดง

เริ่มต้นไปที่วังแดงก่อน อาคารที่เราเห็นในปัจจุบันสร้างสมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 เป็นสถานที่ใหญ่โอฬาร มีสิ่งที่น่าสนใจชมมาก ทางเดินชมวกวนเหมือนเข้าเขาวงกต ถ้าไปเองไม่มีคนนำคงจะหลงทาง จะเขียนตามที่เห็นก็ยังงงไม่ทราบว่าจะเล่าจะเขียนอย่างไรดี[13]

ห้องประกอบศาสนพิธี

เข้าไปในห้องโถงที่ใช้ประกอบพิธี มีป้ายลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลงว่า หย่งเหลียนซูตี้ เป็นคำแปลของ โอม มณี ปัทเม หูม แขวนรูปปักวังโปตาลา (สมัยใหม่) ผู้ปักใช้เวลาถึง 2 ปี จึงปักเสร็จ รูปพระอาจารย์จงคาปา (เป็นผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะหรือนิกายเหลือง) เป็นอาจารย์ของพระดาไลลามะและพระปันฉานลามะ เขาเล่าว่าแต่แรกผู้ที่จะได้เป็นดาไลลามะและปันฉานลามะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ มีลูกศิษย์ลูกหามาก ต่อมามีระบบการสรรหาทารกสืบทอดวิญญาณ

รูปศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์จงคาปา

ในตู้มีพระไตรปิฎกอยู่มากมาย ใส่ตู้ปิดกุญแจเอาไว้ ขอดูพระไตรปิฎก ต้องไปตามคนเก็บกุญแจมา หากุญแจอยู่พักใหญ่ เมื่อหากุญแจพบยังไขไม่ได้ เพราะรูกุญแจอยู่สูง พอดีมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งตัวสูงมาก จึงไขเปิดตู้และหยิบคัมภีร์ออกมาได้ ฉบับที่หยิบมานี้เป็นสมุดพับ กระดาษดำเขียนตัวอักษรด้วยหรดาล เขาบอกว่ากระดาษที่เขียนเป็นกระดาษพิเศษของทิเบต มีสรรพคุณสำคัญคือ แมลงไม่กิน คัมภีร์ฉบับนี้เป็นปรัชญาปารมิตาสูตร กระดาษบางหน้าติดกัน จะว่าเป็นเพราะความชื้นก็ไม่น่าจะใช่เพราะทิเบตอากาศแห้ง อีกอย่างหนึ่งคือเก็บเอาไว้เฉยๆ ไม่มีคนอ่าน เนื่องจากมีคัมภีร์มากอ่านไม่ทัน ในห้องมีภาพดาไลลามะองค์ที่ 5 เฝ้าจักรพรรดิซุ่นจื้อ ใน ค.ศ. 1652 จักรพรรดิสถาปนาดาไลลามะ ตามประวัติว่ามีผู้ติดตามจากทิเบตไปปักกิ่ง 3,000 กว่าคน[14]

วิหารทรุงรับ

วิหารสำคัญ เช่น วิหารทรุงรับ (วิหารต้นตระกูล) ในวังแดง มีพระพุทธรูปศากยมุนี รูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปบรรจุพระศพดาไลลามะองค์ที่ 11 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา ระหว่างสถูปกับหิ้งพระหลักในวิหารมีพระพุทธเจ้า 3 ภพ และพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ (แมงลา) ที่ดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระไตรปิฎกวางอยู่บนชั้นตามผนัง พระไตรปิฎกเหล่านี้จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1725 คัมภีร์เหล่านี้เขียนด้วยน้ำหมึกทองและสีตามธรรมชาติ[15]

วิหารไตรโลก

วิหารที่สำคัญที่สุดวิหารหนึ่งของวังแดงคือ วิหารไตรโลก ซึ่งมีชื่อภาษาทิเบตว่า “ซาซุม นัมเกียล” (วิหารชัยชนะเหนือสามโลก) เป็นวิหารของพระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร 11 เศียร 1,000 กร ทำด้วยเงินแท้ สูง 3 เมตร หนักประมาณ 300 กิโลกรัม สร้างในปี ค.ศ. 1903 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 ในวิหารนี้มีภาพทังกาวาดรูปจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แขวนอยู่บนผนังด้านเหนือ ภาพนี้จักรพรรดิเฉียนหลงถวายดาไลลามะองค์ที่ 8 ใต้ภาพมีป้ายสลัก 4 ภาษา คือ ภาษาทิเบต จีน แมนจู และมองโกล เขียนว่า “ขอให้จักรพรรดิคังซีมีพระชนมายุนับหมื่นปี” ป้ายนี้จักรพรรดิเฉียนหลงพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 (ค.ศ. 1708-1757) ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 14 พรรษาเนื่องในวโรกาสที่จักรพรรดิคังซีครองราชย์สมบัติครบ 61 ปี ด้านเหนือของวิหารนี้เป็นบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 7 มีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 7 และรูปปั้นของพระอาจารย์จงคาปา สถูปดาไลลามะองค์ที่ 13 สูง 13 เมตร สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1934-1936 ภายในสถูปมีพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 13 เก็บรักษาด้วยเกลือ ยอดสถูปประดับด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวก ด้านหน้าของสถูปเป็นรูปปั้นดาไลลามะองค์นี้ [16]

วิหารจัมคัง

ปีกตะวันออกของชั้นที่ 4 ของวังแดงเป็นวิหารของพระศรีอารยเมตไตรย์เรียกว่า วิหารจัมคัง (จัม มาจากคำว่า จัมปา ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้) ในวิหารนี้มีพระพุทธรูปศรีอาริย์สูง 3.66 เมตรและกว้าง 2.65 เมตร ในท่านั่ง ทำด้วยทองแดง นอกจากนี้ในวิหารมีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 รูปปั้นพระโพธิสัตว์ตาราขาว เจดีย์ไม้ และชั้นวางพระไตรปิฎก[17]

วิหารพระอวโลกิเตศวร

ปีกตะวันตกของชั้นที่ 4 เป็นวิหารเรียกว่า พักปาลาคัง (วิหารพระอวโลกิเตศวร) ที่ผู้จาริกแสวงบุญชาวทิเบตถือว่าเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพระราชวัง มีพระพุทธรูปอวโลกิเตศวรทำจากไม้จันทน์ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ได้มีผู้ใดสร้างขึ้น แต่ปรากฏขึ้นเองในโลกมนุษย์[18]

วิหารเชอเกียลดรุบพุก

วิหารเชอเกียลดรุบพุกเป็นที่เก็บพระบรมรูปของกษัตริย์ซงซันกัมโปและพระรูปมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิงจากจีนและเจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาล นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของอำมาตย์ทนมี สัมโภตา ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต และอำมาตย์สกุลการ์ผู้ไปรับเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาจากจีน เชอเกียลดรุบพุกเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชวังนี้ พระบรมรูปและรูปปั้นในวิหารนี้สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 เชื่อกันว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปเคยทรงนั่งสมาธิที่นี่[19]

หอสมบัติ

หอสมบัติเป็นที่แสดงของมีค่าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าและของใช้ของดาไลลามะและราชองครักษ์ เครื่องใช้ในการออกว่าราชการ เช่น หอยสังข์แกะสลักเป็นรูปมังกร พระพุทธรูปและเครื่องบูชาในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปทำจากหินคริสตัลของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระรูปทำด้วยทองแดงชุบทองของเหวัชระ (เกย ดอร์เจ) ซึ่งเป็นเทพตามลัทธิตันตระ ทรงยืนบนดอกบัวพร้อมชายา มันดาลาหรือภาพจำลองจักรวาล 3 มิติ สร้างในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำจากไข่มุก 200,000 เม็ด ภาชนะใส่น้ำมนต์ทำจากปะการังและกัลปังหา เครื่องแต่งกายในการประกอบพิธีชัม ซึ่งเป็นการรำทางศาสนาที่มีพระเป็นผู้แสดง ทำจากกระดูกและหนังวัว สมบัติที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น กุญแจใหญ่ที่สุดของพระราชวัง แบบจำลองพระราชวัง เขาแพะของแพะที่มีเขายาวมากจนกินหญ้าไม่ได้และต้องตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์การแพทย์ของยูทก ยนเต็น โกนโป ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาการแพทย์ของทิเบต คัมภีร์โหราศาสตร์ และที่สำคัญคือ คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทาน[20] ห้องนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุด้านศาสนาและสังคมของทิเบต ห้องที่เข้าห้องแรก ฝาผนังทำเป็นช่องๆ เก็บคัมภีร์กันจูร์ของทิเบต อายุราว 300 กว่าปี น้ำหมึกที่เขียนเป็นทองคำ อยู่นานเท่าไรสีก็ไม่ลบเลือน หน้ารูปเคารพมีตะเกียงที่ใช้เนย เข้าใจว่าเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวร มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 พระประธานเป็นรูปพระศากยมุนี มีรูปพระดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปพระอาจารย์ 8 องค์ หรือว่าเป็นพระไภษัชยคุรุ มีสถูปวิญญาณของพระดาไลลามะองค์ที่ 11 ขณะนี้เห็นตามที่ต่างๆ ในวัง มีบันไดพาด เจ้า หน้าที่กำลังไปบันทึกว่า ในวังมีอะไรบ้าง เช่น ใช้ทองเท่าไร ใช้อัญมณีเท่าไร[21] ขึ้นบันไดไปสองชั้น มีที่เก็บพระกริ่ง ทำด้วยโลหะผสม 2,600 องค์ การหล่อพระแบบนี้ใช้แร่ธาตุหายาก 10 ชนิดขึ้นไป วิธีหล่อแบบนี้ทำในทิเบต เนปาล และอินเดีย ข้าพเจ้าสงสัยว่าธรรมเนียมพระกริ่งทิเบตเป็นอย่างไร ลืมถาม อาจฟังผิด ในห้องมีตะเกียงเนย ชาวบ้านนำเนยมาจากบ้าน มาเติมอยู่ตลอดเวลา ไฟจึงไม่ดับเลย อีกห้อง มีโบราณวัตถุที่พ่อค้าชาวทิเบตผู้หนึ่งซื้อจากที่ต่างๆ นำมาถวายพระ ประมาณ 200 กว่าชิ้น ถวายใน ค.ศ. 1995[22] อีกห้องจัดเป็นห้องนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุด้านศาสนาและสังคมของทิเบต เช่น เครื่องแต่งกายของข้าราชการตำแหน่งต่างๆ รูปเทวดาของอินเดียหรือเนปาล อายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 ตะเกียงเนยทอง เป็นของที่เจียงไคเช็กถวายดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) กาน้ำชา และถ้วยชาแบบต่างๆ ในสมัยต่างๆ ประกาศนียบัตรที่ UNESCO มอบให้ ยกย่องให้วังโปตาลาเป็นมรดกโลก รูปพระอาจารย์มิลาเรปา หรือมิลารัสปา (คริสต์ศตวรรษที่ 11) เป็นศิษย์เอกของผู้ก่อตั้งนิกายก๋าจี่ปา หรือ กากยูปะ (Kagyur pa) หรือนิกายขาว ซึ่งมีนับถือมากทางภาคตะวันออก เครื่องประกอบพิธีของทิเบตเป็นเงินลงยา (cloisonné) และประดับอัญมณี ข้าพเจ้าสงสัยว่าปะการังมาอยู่ในทิเบตได้อย่างไร เขาอธิบายว่าสมัยก่อนทิเบตอยู่ในทะเล เมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้น ปะการังจึงมาอยู่ในดินและขุดได้ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่า น่าสงสัยว่าสมัยที่ทิเบตอยู่ใต้น้ำมีปะการังแบบนี้หรือยัง สังข์ (ใหญ่มาก) ใช้เป่าในพิธีที่ดาไลลามะออกว่าราชการ ตาราเขียวทพด้วยแก้วคริสตัล วัชรปาณีอยู่บนดอกบัว 8 กลีบ เขาแพะใหญ่มาก อธิบายว่าแพะตัวนี้เขาใหญ่ยาวมาก ทำให้เกะกะก้มลงกินหญ้าไม่ได้ จึงอดตาย ข้าพเจ้าว่าคนน่าไปช่วยป้อนอาหารให้มัน เขาบอกว่ามีแพะหลายตัวป้อนไม่ทัน ภาพทังกาต่างๆ มีรูปพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น รองเท้าขององครักษ์ดาไลลามะ มีมัณฑละประดับด้วยไข่มุก 200,000 เม็ด และหินโมรา ทำสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง ในตู้มีคัมภีร์ใบลาน เขียนภาษาสันสกฤต มาจากอินเดีย กุญแจดอกโต (มาก) เกราะสมัยถู่โป๋ เครื่องแต่งกายทำด้วยงาช้าง ในตู้มีพระไตรปิฎก มหาปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษาทิเบต เขียนด้วยทองคำ[23]

Next >>