Please wait...

<< Back

ยูนนาน

แกะรอยโสม หน้า 159,161

(น.159) ไปถึงสถาบัน คนที่มาต้อนรับชื่อศาสตราจารย์อู๋ซินจื้อ เป็นศาสตราจารย์ของสถาบันที่ชื่อยาวมาก ข้าพเจ้าไม่อยากจะคิดชื่อภาษาไทย ขอเรียกเป็นภาษาอังกฤษไว้ก่อนว่า Institute of Vertibrate Paleontology and Paleoanthropology ขึ้นกับสภาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Academia Sinica) เช่นเคย ยังเป็นรองประธานสมาคมกายวิภาคอีกด้วย ท่านศาสตราจารย์อธิบายเป็นภาษาอังกฤษเป็นเหตุให้อธิบายได้แยะไม่ต้องเสียเวลาแปล แต่อาจจะจดได้น้อย เพราะจดภาษาไทยง่ายกว่า ท่านให้แผ่นพับคำอธิบายและเข็มกลัดรูปมนุษย์ปักกิ่ง ท่านอธิบายว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ศึกษาที่นี้ มีทั้งคน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ที่บริเวณนี้มีอยู่สามถ้ำที่มีซากคน
ถ้ำมนุษย์ปักกิ่ง อายุประมาณครึ่งล้านปี ร่องรอยขาดตอนไปเมื่อสองแสนปี ในถ้ำพบกระดูก เครื่องมือหิน ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกประมาณร้อยชนิด เข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่มนุษย์ล่ามา
ถ้ำที่ 4 เป็นถ้ำที่ขุดพบใหม่ พบฟันมนุษย์อายุแสนปี เครื่องมือหินเถ้าถ่าน ซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ถ้ำบน พบโครงกระดูกคน 8 คน หัวกระโหลก เครื่องประดับกระดูกสัตว์ เครื่องมือหินอายุประมาณ 10,000 ปี
ไปดูถ้ำที่ 1 แต่เดิมเป็นที่ตัดหินปูน แล้วมีผู้พบโครงกระดูก เขาแสดงชั้นหิน 13 ชั้น มีบางชั้นเท่านั้นที่พบซากมนุษย์โบราณ มีร่องรอยเถ้าถ่าน ถ้ำนี้ค้นพบใน ค.ศ. 1959

(น.161) ที่นี่ไม่ใช่ที่พบมนุษย์ที่เก่าที่สุดของจีน ที่เก่าที่สุดอยู่ในยูนนาน ที่หยวนโม่ อายุ 1.7 ล้านปี ในซีอานมีอายุประมาณ 1.15 ล้านปีพบใน ค.ศ. 1964 จากถ้ำเราไปที่พิพิธภัณฑ์ ของในพิพิธภัณฑ์นั่นเขาว่าส่วนใหญ่เป็นของจำลอง ของจริงเอาไปเก็บไว้ที่สถาบัน เขาว่าเริ่มต้นทิ้งศพเอาไว้เฉยๆ มาถึงตอนหลังจึงรู้จักการฝังศพ ในพิพิธภัณฑ์นี้มีโครงกระดูกสัตว์หลายอย่างเช่น กวาง หมูป่า แรด ซากสัตว์เหล่านี้ช่วยเป็นเครื่องชี้บ่งถึงสภาพนิเวศน์ และภาวะแวดล้อมของสมัยนั้น เช่นแรดจะต้องอยู่ในภูมิอากาศชื้นที่ค่อนข้างจะอบอุ่น นกกระจอกเทศอยู่ในภูมิอากาศแห้งเป็นทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย มีสัตว์ป่าเช่นเสือ ลิง สัตว์ที่อยู่ในทุ่งหญ้า เช่นกวางชนิดหนึ่งที่มีเขาใหญ่ สัตว์ที่ชอบอยู่ในเขตที่มีบึงน้ำเช่นควาย สัตว์ที่อยู่ในถ้ำเช่นหมาในและหมี ที่มีสัตว์หลายๆ แบบคงจะเป็นด้วยในช่วงนั้นอากาศมีความเปลี่ยนแปลงสูง นอกจากนั้นสปอร์และเกสรพืชที่วิเคราะห์ได้จากดินในถ้ำยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาชนิดของพืชที่มีอยู่ในบริเวณนั้น บางอย่างก็คล้ายกับในปัจจุบันเพราะว่าวิวัฒนาการของพืชช้ากว่าวิวัฒนาการของสัตว์ มีเครื่องมือหินของสมัย Lower Paleolithic ในพิพิธภัณฑ์นี้ยังมีการอธิบายวิวัฒนาการมนุษย์โบราณทั่วโลก ไม่เฉพาะที่อยู่ในประเทศจีนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีวัตถุโบราณที่มาจากสถานที่อื่น เช่นแผ่นหินที่มีปลาฝังอยู่เต็มไปหมด อธิบายว่าบริเวณนี้เคยเป็นหนองน้ำ แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้พื้นพิภพยกตัวขึ้น อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างสูญพันธุ์ไป ปลาในแผ่นหินนี้มีอยู่ 4 ชนิด ขณะนี้สูญพันธุ์ไปเสียแล้วสองชนิด คงยังพบอยู่อีกสองชนิดในตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 20

(น.20) เมื่อรับประทานเสร็จลากลับตึก 12 วันนี้ไม่ค่อยหนาวเห็นจะเป็นเพราะไม่มีลม นัดกันว่าพรุ่งนี้จะวิ่งหกโมงครึ่ง เพราะก็เท่ากับตีห้าครึ่งบ้านเรา ตอนนี้หน้าหนาว คงมืดตื้อ จากนั้นก็รื้อข้าวของ อาบน้ำ แลกเงิน ฯลฯ ข้าพเจ้ามาอยู่เตี้ยวหยูว์ไถครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ไม่ได้คิดเขียนหรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับอาคารรับรองนี้ แต่พี่หวานว่าน่าสนใจดีเลยแปลย่อๆมาให้ ข้าพเจ้าได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงไว้ในภาคผนวก ข อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมีข่าวน่าสนใจอื่นๆอีก เช่น เรื่องธนาคารโลกให้เงินกู้จีนสำหรับการอนุ- รักษ์ป่าไม้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการปลูกป่า ขยายป่าสงวนแห่งชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ (เพื่อใช้ไม้) เขตโครงการอยู่ทางทิศใต้ และตะวันออกของจีน (กวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ ยูนนาน หูหนาน หูเป่ย เจ้อเจียง และชานตุง) มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมศูนย์ป่าไม้ทั้งประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกันแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น มีระบบติดตามควบคุมผลไม่ให้การปลูกป่าก่อให้เกิดการพังทลายของดิน โครงการเงินกู้ของธนาคาร โลกนี้นอกจากมีเป้าหมายในการปลูกป่าแล้ว ยังมุ่งให้มีแนวคิดใหม่และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในงานป่าไม้ การสร้างแนวป่ากันชน (Shelter-belts) และปรับปรุงการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติ

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า 164



(น.164) ใน 6 ของจีนที่ไม่เคยขาดน้ำ มีอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท คือ ปิโตรเคมี โลหะ ไฟฟ้า รถยนต์ ปิโตรเคมีใหญ่ที่สุด มีการทำกระดาษ ถลุงโลหะ มีการท่องเที่ยวทั้ง 4 ฤดู แม่น้ำซงฮัวเจียงไหลผ่านกลางเมือง ไหลเป็นรูปตัว S รอบเมืองล้อมด้วยภูเขา ดินฟ้าอากาศกึ่งอากาศทะเล มีแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างประเทศสนใจ ได้แก่ หมอกควันน้ำแข็ง (อู้ซง) (ไม่ทราบจะแปลอย่างไร) เป็นลักษณะทางธรรมชาติพิเศษ 1 ใน 4 ของสิ่งมหัศจรรย์จีน คือ แม่น้ำฉางเจียง ป่าหิน กุ้ยหลิน และจี๋หลิน อู้ซงนี้ไม่ใช่หิมะ ไม่ใช่น้ำแข็ง เป็นผลึกเหมือนปะการังสีขาว มีแสงระยิบระยับ ดังได้เห็นมาแล้ว สิ่งมหัศจรรย์อีก 3 อย่าง (ทิวทัศน์กุ้ยหลิน ป่าหินที่ยูนนาน และช่องแคบซานเสียแห่งแม่น้ำฉางเจียง) ไปได้ทุกเวลา แต่ที่จี๋หลินนี้มีอู้ซงแค่ 3 เดือนและไม่ได้มีทุกวัน ประมาณ 30 หนเท่านั้น (เวลาทำกำหนดการการมาเยือนภาคอีสานของจีนในครั้งนี้ ยังต้องเขียนว่าถ้ามีอู้ซงทำอย่างไร ไม่มีอู้ซงจะทำอย่างไร)


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

มณฑลยูนนาน

ยูนนานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในแผนที่ราวปี 109 ก่อนคริสต์กาล ตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่น[1]

ภูมิประเทศ

เนื้อที่ 383,000 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของพื้นที่ประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้ง 21° 9´ - 29° 15´ เหนือ เส้นแวง 97° 39´-106° 12´ ตะวันออก ระยะทางจากทิศเหนือจรดใต้ 990 กิโลเมตร ทิศตะวันออกจรดตะวันตก 865 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา 84% พื้นที่ราบสูง (plateau) ภาคกลางและภาคตะวันออก (1,800-2,000 เมตร) 10% พื้นที่ราบในหุบเขา (mountain basin) 6% และพื้นที่ราบฝั่งแม่น้ำระหว่างหุบเขา (river basin) ข่าเก๋อโป๋เฟิงเป็นยอดเขาสูงสุด (6,740 เมตร) บนเทือกเขาเหมยหลี่เสวี่ยซาน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานพื้นที่ต่ำสุด 76 เมตร บริเวณแม่น้ำหงเหอ และแม่น้ำหนานซี บรรจบกันทางภาคใต้ของมณฑล เทือกเขาขนาดใหญ่วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ พื้นที่สูงเริ่มจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลาดลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเทือกเขาใหญ่มีระยะห่างกันไม่มากนัก ทำให้เกิดหุบเขาที่ลาดชันสูงและลึกมาก มีแม่น้ำสายใหญ่ 3 สายขนานกัน ไหลจากทิศเหนือลงใต้ ได้แก่ แม่น้ำจินซาเจียง (Jinshajiang), แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง-Lancangjiang) และแม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง-Nujiang) หุบเขาขนาดใหญ่หลายแห่งมีสภาพลาดชันจากฝั่งแม่น้ำขึ้นไปตามแนวดิ่งสูงกว่า 3,000 เมตร ความลาดชันจากยอดสูงสุด คือ ข่าเก๋อโป๋เฟิงลงสู่ฝั่งแม่น้ำโขง มีความแตกต่างของระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางถึง 4,700 เมตร ภูมิประเทศทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนานจึงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งหุบเขาใหญ่ (gorge area) มณฑลยูนนานเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำอันมหาศาล มีแม่น้ำใหญ่-น้อย และสาขาเกือบ 1,000 สาย บรรจบกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของเอเชีย 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำหนานผานเจียง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง แม่น้ำหนานผานเจียงเมื่อไหลเข้ามณฑลกวางสีเรียกกันว่า แม่น้ำหงสุ่ยเหอ นอกจากนั้นมีแม่น้ำแดง (หยวนเจียง) แม่น้ำแยงซี (จินซาเจียง) แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง) แม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง) และแม่น้ำอิระวดี (ยุ่ยลี่เจียง) แม่น้ำเหล่านี้ให้น้ำถึงปีละ 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบขนาดใหญ่บนที่ราบสูงได้แก่ ทะเลสาบเทียนฉือ เอ๋อร์ไห่ และหลูกูหู[2]

ภูมิอากาศ

มณฑลยูนนานได้รับอิทธิพลของลมมรสุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลมมรสุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และมวลอากาศ (air mass) จากที่ราบสูงทิเบต ฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกหนักช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละท้องที่ บางแห่งมีปริมาณฝนมากกว่า 1,500 มม./ปี (ชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลและชายแดนใต้ของจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา) บนพื้นที่ราบสูงภาคกลางและภาคตะวันออกของมณฑล ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 มม./ปี หรือน้อยกว่า พื้นที่บางแห่งเป็นที่อับฝน ได้แก่ หุบเขาใหญ่ที่ร้อนและแห้งแล้ง (arid area) ปริมาณฝนลดลงเหลือเพียง 500 มม./ปีหรือน้อยกว่า เช่น หุบเขาแม่น้ำหยวนเจียง [3]

ประชากร

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ท่านท้าวฯ บอกว่า ชนกลุ่มน้อยจะอยู่บริเวณชายแดนมณฑลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางใต้และทางตะวันตกมีพวกอี๋มากกว่าเพื่อน มีพวกที่อยู่ตามภูเขาชัน ปลูกผัก เลี้ยงแพะ ทำนา ท่านว่ายูนนานเป็นที่ราบสูง[4] มณฑลยูนนานมีชนเผ่ามาก แต่ละเผ่าก็มีนิทานของตนเอง นิทานบางเรื่องอธิบายประวัติของชื่อทางภูมิศาสตร์ (ชื่อหมู่บ้าน ชื่อภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น) มีคนรวบรวมเรื่องพื้นบ้านเรียกว่าชื่อท้องถิ่นในยูนนาน[5]

ปัญหาทางด้านการศึกษา

เรื่องเกี่ยวกับการศึกษานั้น มาดามเล่าว่าเขาพยายามให้การศึกษาเป็น 9 ปี ปัญหาการศึกษาของชนกลุ่มน้อยมีอยู่มาก พวกนี้อยู่ในที่ห่างไกลการคมนาคม แม้ว่าในมณฑลมีโรงเรียนมากกว่า 60,000 โรง แต่ก็ยังยากที่จะครอบคลุมพื้นที่ภูเขาได้ บนภูเขาหลายแห่งมีโรงเรียนประเภทครูคนเดียวสอนนักเรียน 10 กว่าคน ซึ่งมีระดับการศึกษาแตกต่างกันหมด ทางแก้ปัญหาอีกวิธีคือ ตั้งโรงเรียนให้เด็กๆ มาเรียนรวมกัน สำหรับการสอนอาชีพ พวกจีนไปดูงานเมืองไทย ซึ่งมาดามว่าทำได้ดีมาก[6] อีก 5 ปีมีแผนการให้เด็กนักเรียน 70% เรียนจบ 9 ปี เปรียบเทียบกับมณฑลอื่นยังนับว่ามณฑลนี้ล้าหลังในด้านการศึกษา[7] สิ่งที่พัฒนายากที่สุดคือเรื่องการศึกษาเป็นงานที่ใช้เงินมาก งบประมาณ 3,000 ล้านหยวนก็ยังไม่พอ มีทางที่จะช่วยเหลือตั้งเป็นโครงการ “ความหวัง” ซี ว่าง กง เชอ เปิดโอกาสให้ประชาชน บริษัทองค์กรต่างๆ บริจาคช่วยเด็ก ให้ค่าหนังสือเรียนคนละ 60 หยวน/ปี เด็กพวกนี้ไม่ต้องเสียค่าอาหาร ช่วยให้มีรายได้ระหว่างเรียนการขายพืชต่างๆ ยังยากเพราะถนนยังไม่ดีทั่วถึง เช่น แตงโมที่นี่ขายราคาถูกมากแต่ปักกิ่งแพงมาก [8] ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องการบริการการศึกษาและการรักษาพยาบาลของพวกชนกลุ่มน้อยในยูนนานในเขตทุรกันดาร คุณเผิงอธิบายว่ามีหมอดูแล ส่วนการศึกษาก็เป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจีน ชนกลุ่มน้อยเรียนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางครึ่งหนึ่ง ต้องเรียนภาษาของตนและภาษาจีน ขณะนี้ที่สถาบันชนกลุ่มน้อยมีการสอนภาษาไทยด้วย บุตรหลานของชนกลุ่มน้อยได้เรียนประถมมัธยมและระดับสูงกว่านั้น แต่ยังเข้ามหาวิทยาลัยน้อย ที่สถาบันมีการสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี สอนเรื่องประวัติศาสตร์ชนกลุ่มน้อยและอีกหลายสาขาวิชา พยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน เช่น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก สถานกงสุลไทยในคุนหมิงได้มีส่วนช่วย สนับสนุนพวกอาจารย์ที่สอนภาษาไทยไปเรียนในประเทศไทย หวังว่าเด็กที่เรียนจบมาจะมีโอกาสใช้ภาษาไทยและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยต่อไป ขณะนี้มีการสอนภาษาเวียดนามและภาษาพม่าด้วย จะเปิดสอนภาษาลาวและเขมรต่อไป วิชาพม่า มีอาจารย์พม่ามา แต่เวียดนามยังไม่ได้ส่งอาจารย์มาช่วยสอน[9]

สาธารณูปโภค

โรงไฟฟ้า

สำหรับเรื่องไฟฟ้านี้ แต่ก่อนใช้พลังน้ำ 60% ถ่านหิน 40% ปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น พูดเรื่องไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ที่แม่น้ำล้านช้างมีสถานีไฟฟ้า เขื่อนสูงร้อยกว่าเมตร ใกล้ๆ ต้าหลี่ก็จะสร้างอีกแห่ง รวมแล้วในยูนนานมี 8 แห่ง สร้างไปแล้วแห่งหนึ่ง สำหรับแห่งที่ 2 จะสร้างห่างจากเชียงรุ้ง 15กิโลเมตร บริษัทของไทยได้ลงนามแล้ว แต่รัฐบาลกลางยังไม่ได้อนุมัติโครงการ แห่งแรกบริษัทยูนนานสร้างเอง ได้ไฟฟ้า 1.5 ล้านกิโลวัตต์ เริ่มสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เพิ่งเสร็จปีนี้ ขณะนี้เวลาฤดูฝนมณฑลยูนนานมีไฟฟ้ามากใช้ไม่หมด ต้องส่งไปที่กวางตุ้ง และมณฑลอื่นสถานีกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กมีอยู่ประจำอำเภอ[10]

สิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ

ยูนนานเป็นมณฑลที่มีพรรณพืชมากกว่าทุกๆ มณฑลของจีน[11]
มีตัวอย่างดีบุกและสังกะสีว่าเป็นแร่ที่มีมากในหงเหอโจว มณฑลยูนนาน[12]
ยูนนานมีถ่านหินมากทุกแห่ง เช่นที่ คุนหมิง กูชิง ใช้ในการกำเนิดไฟฟ้า ในการอุตสาหกรรม และการหุงหาอาหาร[13]
แร่ธาตุไทยจีนคล้ายคลึงกัน เพราะมีสภาพภูมิประเทศคล้ายกัน ข้าพเจ้าถามท่านเรื่องถ่านหิน ท่านอธิบายว่าบางส่วนของแม่น้ำแยงซีเกียงไม่มีถ่านหิน ที่ยูนนานหรือกุ้ยโจวมี ได้ส่งไปในที่ที่ไม่มีถ่านหิน ต่อไปจากคุนหมิงไปต้าหลี่นอกจากจะปรับปรุงสนามบิน ปรับปรุงถนนแล้ว ยังจะสร้างทางรถไฟสำหรับขนสินค้าที่สำคัญคือ ถ่านหิน[14]
ในยูนนานมีทะเลสาบหลายแห่ง ได้แก่เทียนฉือที่ข้าพเจ้าเคยไปขณะนี้น้ำเสีย ต้องใช้เวลา 15 ปี จึงแก้ไขได้ (โดยการเปลี่ยนน้ำ) เอ๋อร์ไห่ยังไม่ถึงกับเสีย [15]
มีภูเขามากที่ราบน้อย บริเวณป่ามีสัตว์ป่ามาก เช่น มีเสือ เสือดาว แรด วัวป่า หมี งูเหลือม กวางฟาน เป็นต้น [16]

ความหลากหลายทางพรรณพฤกษชาติ

มณฑลยูนนานมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่พิเศษกว่าที่อื่น มีสภาพที่ทำให้มีทรัพยากรพืชจำนวนมากกว่า 15,000 ชนิด ประมาณครึ่งหนึ่งของพืชพรรณที่มีอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรแห่งพฤกษศาสตร์ มีชนชาติส่วนน้อยมากกว่า 20 ชนชาติ การพัฒนามณฑลต้องถือเรื่องพืชพรรณและป่าไม้เป็นสำคัญ ทั้งต้องค้นคว้าสภาพภูมิประเทศทุกแง่ให้ดีด้วย[17] สภาพเทือกเขาสูงและหุบเขาใหญ่ทำให้เกิดภูมิอากาศเฉพาะแห่ง (microclimate) มากมาย บนเทือกเขาขนาดใหญ่จะมีภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ที่เชิงเขาจนถึงยอดสูงสุด จากแบบ tropic, subtropic, warm-temperate, temperate, cold จนถึงแนวเขตที่มีหิมะปกคลุม (snow-line)

สังคมพืชป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ


- ความแตกต่างของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของมณฑลยูนนานก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและพรรณพฤกษชาติ
- สังคมพืช ได้แก่ Tropical rain forest (ป่าดิบชื้น) Monsoon rain forest หรือ Seasonal rain forest (ป่าดิบแล้ง) Subtropical evergreen broad-leaf forest (ป่าดิบเขา หรือ Montane forest) Alpine needle-leaf forest (ป่าสนเขา) Alpine scrub (ป่าละเมาะเขา) Alpine meadow (ทุ่งหญ้าภูเขา)
- พรรณพฤกษชาติที่มีท่อลำเลียงน้ำ-อาหาร (vascular plants) ของมณฑลยูนนานมีประมาณ 15,000 ชนิด หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพรรณพฤกษชาติทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเปรียบเทียบเนื้อที่ของมณฑลซึ่งมีเพียง 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่ทั้งประเทศ มณฑลยูนนานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพรรณพฤกษชาติสูงมาก โดยเฉพาะจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 19,200 ตารางกิโลเมตร แต่มีพรรณพฤกษชาติชั้นสูงประมาณ 5,000 ชนิด (พรรณพฤกษชาติของประเทศไทยมีประมาณ 10,000-11,000 ชนิด)[18]

โครงการวางแผนพัฒนาทางด้านวิชาการ

ในจีนมีการวิจัย 4 ระดับ คือระดับประเทศ ระดับมณฑล การทหาร และมหาวิทยาลัย ขณะนี้ทางการรัฐบาลกลางขอให้มณฑลช่วยตัวเองให้มากที่สุด การวิจัยนั้นขอให้ประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันและด้านอุตสาหรรม มีการส่งเสริมให้ธุรกิจมีการวิจัยต่างๆ อาศัยสถาบันการวิจัยที่มีอยู่แล้วและช่วยในเรื่องค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามจีนมีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ทางการวิจัยไม่พอเพียง[19]
ยูนนานมีโครงการพัฒนาทางวิชาการที่สำคัญ 4 โครงการ
1. หั่วจู้ (คบเพลิง) เป็นการส่งเสริมเผยแพร่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงให้กว้างขวางขึ้น
2. ซิงหั่ว เป็นโครงการเทคโนโลยีชนบทเพื่อให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้อง ใช้เทคโนโลยีเหมาะสม (Appropriated Technology)
3. ช่วงเย่ เป็นโครงการบุกเบิกค้นคว้าเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีพิเศษในมณฑล
4. เจิ้นซินหนงเย่ เป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรกรรมแผนใหม่ ส่งเสริมเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานให้แก่เกษตรกรรม เมื่อเกษตรกรมีความรู้มากขึ้นก็จะมีรายได้มากขึ้น รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือ โดยพยายามหาเงินช่วยในการลงทุน[20]

เศรษฐกิจ

เกษตรกรรม

เพาะปลูก

มีการปลูกป่าสนเพื่อกรีดยางสน ยูนนานทำไม้ได้เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ อันดับหนึ่งนั้นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอันดับสองเป็นมณฑลเสฉวน ในยูนนานมีโรงงานบ้างแต่ทำไม่มาก[21]
เห็ดหูเจ่า แปลว่า เห็ดเท้าเสือ เห็ดชิงโถว เห็ดจี้จง เป็นเห็ดป่าชนิดหนึ่ง เห็ดหม่อเล่อ ยอดผักกูด เก็บได้ตามป่า ส่งออกไปญี่ปุ่นได้ ผักกูดแบบนี้ไทยก็มีและดูเหมือนจะส่งญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ถั่วหยุนโต้ว เป็นถั่วที่ปลูกขึ้นเฉพาะที่สูง ชาวเขาที่ปลูกข้าวไม่ขึ้น มักจะปลูกถั่วชนิดนี้และนำลงมาขายแล้วซื้อข้าวกิน[22]
ที่ดินเหมาะสมทางการเกษตรในยูนนานมีไม่พอ ต้องพยายามหาวิธีทำการผลิตอย่าง intensive ส่วนหนึ่งปลูกธัญพืช อีกส่วนหนึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาสูบ อ้อย[23]
บนภูเขามีไผ่ 250 พันธุ์ ปลูกในเนื้อที่ 17,000 ตารางเมตร การปลูกไผ่ทำได้ยากเพราะไผ่แต่ละชนิดขึ้นในระบบนิเวศน์ต่างๆ กัน เอามาปลูกรวมกันแบบนี้ไม่เป็นไปตามสภาพธรรมชาติ ขณะนี้ตายไปเกือบสิบชนิด เสียดายไม่มีเวลาขึ้นไปดู สองข้างทางเดินปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ เช่น ตู้จวน สีสันสวยงาม แต่ส่วนมากยังไม่ออกดอก เพราะเขากะให้ออกตอนเริ่มงานแล้ว มีต้นหัวป่ากั้ว ออกผลเล็กๆ สีแดง มีสรรพคุณแก้กระหายน้ำได้ พบมากในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และเสฉวน[24] ชาวบ้านเผาป่ากันมาก รัฐบาลห้ามทำลายป่า แต่ที่ทำกินเขาใช้วิธี แบ่งเป็นแปลงๆ เว้นไว้แปลงหนึ่ง แล้วหมุนเวียนไปอีก รายได้เฉลี่ยชาวบ้านแถบสิบสองปันนานี้ 945 หยวน/คน/ปี แต่ของประเทศราว 804 หยวน/คน/ปี
แถวๆ นี้มีพื้นที่มาก ประชากรน้อย ต้องหาอาชีพต่างๆ ให้โดยการนำเอาพืชจากประเทศต่างๆ มาปลูก ยาสูบซึ่งปัจจุบันเป็นรายได้หลักของมณฑลก็ได้นำพันธุ์ดีจากสหรัฐฯ มาปลูก [25]

ฟาร์มโคนม

เดี๋ยวนี้โคนมของเอกชนเลี้ยงดีกว่าของรัฐบาลเสียอีก เพราะดูแลได้ทั่วถึง เมื่อนมสดออกมามีเครื่องฆ่าเชื้อจะเข้าโรงงานนมผง มีการทำเนยมากแต่น้อย นมแพะส่วนมากเอามาทำขนม เพราะคนจีนไม่นิยมดื่มนมแพะ คนยูนนานมีอาหารพิเศษทำจากนมแพะอย่างหนึ่ง เขาเอานมแพะต้มสกัดน้ำออก เอาแรงกดเป็นก้อนคล้ายๆ เต้าหู้ อาหารอีกอย่างหนึ่งมีนมแพะต้ม ข้างบนเป็นชั้นๆ เขาจะช้อนมาตากแห้งแล้วทอด จะฟูกรอบ คนในเมืองชอบกินนมสด ชนบทชอบนมแพะ ที่ยูนนานนี้มีชาวนาเลี้ยงเองและมีโรงงานนมผงด้วย ในตอนเช้าๆ รถของโรงงานจะไปซื้อนมสดจากชาวนา ตอนนี้ทางการจะส่งเสริมให้เอกชนทำ และมีการเลี้ยงแพะนมด้วย การเลี้ยงสัตว์นี้มีหน่วยงานเทคนิค สัตวแพทย์ของรัฐบาลออกไปตรวจสอบการเลี้ยงมีสถานีแนะทางวิทยาศาสตร์การปศุสัตว์ สถานีจะช่วยดูแล แต่เก็บค่ารักษาด้วย

เลี้ยงสัตว์

ข้าพเจ้าถามถึงวัวเนื้อ เขาก็บอกว่าที่ยูนนานนี้เลี้ยงวัวเนื้อตามภูเขามีหญ้ามาก วัวเนื้อนั้นส่วนมากจะเป็นวัวเนื้อพันธุ์พื้นเมืองเขากำลังผสมกับพันธุ์ดี วัวเนื้อของยูนนานตัวเล็ก จะต้องเอาวัวพันธุ์ของมณฑลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งตัวโตมาผสม สำหรับการฆ่าสัตว์ เขามีโรงฆ่ากึ่งอัตโนมัติ และมีตู้เย็นเก็บเนื้อ ข้าพเจ้าถามถึงการเลี้ยงไก่ ท่านประธานฯ บอกว่า การเลี้ยงไก่ก็มีแต่ยังทำไม่ดี เสียที่มีโรคมาก เดิมทางยูนนานเลียนแบบโรงเลี้ยงไก่ที่ปักกิ่ง แต่ปรากฏว่าทำแล้วขาดทุนแยะ โรงเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ของรัฐบาลนี้ เดี๋ยวนี้ใช้เฉพาะเป็นที่เพาะไก่ส่งให้คอมมูนเลี้ยง เดี๋ยวนี้จีนเอาพันธุ์ไก่ ไหลหัวจี หรือไก่เล็กฮอร์นซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ที่ขนขาวทั้งตัวมาจากสหรัฐฯ และแคนาดา ไก่พันธุ์นี้ถ้าเลี้ยงให้ดีๆ แล้ว ถึงคราวออกไข่จะให้ไข่ถึง 280 ฟองต่อปี ถ้าจะกินเนื้อก็โตเร็ว 3-4 เดือนก็ได้เนื้อหลายกิโลกรัม ข้าพเจ้าถามถึงการเลี้ยงแกะ ท่านประธานฯ บอกว่าเขตเขาที่หนาวๆ หน่อยจะมีการเลี้ยง ในมณฑลที่มีโรงปั่นทอขนสัตว์ ไหมพรม ผ้าห่มขนสัตว์ ผ้าสักหลาด ส่วนการเลี้ยงไหมก็มีเหมือนกัน เขาก็ทอไหมคล้ายๆ ของเสฉวนแต่ยังสู้ไม่ได้ ข้าพเจ้าถามต่อถึงการเลี้ยงหมู ท่านประธานฯ บอกว่าคนยูนนานชอบหมู คนชนบทแทบทุกครอบครัวมีการเลี้ยงหมู 3-5 ตัว บางคนก็เลี้ยง 10 กว่าตัว เอกชนเลี้ยงได้ ส่วนมากเขาจะเลี้ยงเพื่อเอาปุ๋ยด้วย หมูมีหลายพันธ์ที่ได้จากเสฉวน จะดีมากแต่ของยูนนานไม่ดี ตัวเล็กแค่ 60-70 ชั่ง ก็แปลกที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินอยู่เสมอว่าหมูของยูนนานเขาดีมาก มีพันธุ์ที่ใช้ทำเบคอนได้ดี ตัวยาวๆ ตั้งแต่มาเมืองจีนนี้พยายามถามเรื่องหมูสืบว่าที่ไหนดี ได้ยินแต่คำปฏิเสธ หมูยูนนานที่เดินกันไปมาข้าพเจ้าก็ว่าคล้ายๆ หมูชาวเขาของเรา ก่อนจะออกจากเมืองไทยข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ไปถามหาหมูพันธุ์ ไห้หู ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจากแถบไหน ก็ได้แต่ถามเขาทั่ว และบอกไว้กับกระทรวงต่างประเทศจีน ให้ช่วยติดต่อถามไถ่ให้ด้วย ท่านประธานฯ เล่าต่อว่า เขตเขานั้นพวกที่เลี้ยงหมูจะไม่เลี้ยงในคอก เขาชอบเลี้ยงปล่อยๆ คนไหนที่เลี้ยงหมูด้วยปลูกผักด้วย เขาจะเลี้ยงปล่อยๆ และจะทำรั้วล้อมผักไม่ให้หมูกิน วิธีนี้ชาวเขาของไทยก็ทำ เพราะการเลี้ยงหมูปล่อยๆ จะทำให้หมูมีเนื้ออร่อยกว่า และประหยัดแรงงานคนด้วย นอกจากพวกที่อยู่ในเขตเขาแล้ว ส่วนมากจะเลี้ยงในคอก ข้าพเจ้าเคยเห็นเองทางภาคเหนือ ว่าเขาปลูกบ้านและเลี้ยงหมูที่ภูเขาลูกหนึ่ง และปลูกผักไว้บนเขาอีกลูกหนึ่ง เพื่อป้องกันหมูกินผัก อาหารที่ชาวยูนนานใช้เลี้ยงหมูมีเศษอาหารที่คนไม่กินแล้ว สาหร่ายน้ำ กากถั่ว ข้าว เศษผัก ใบมันเทศ ต้นไม้ชนิดหนึ่งใบคล้ายกล้วย ต้นเหมือนเผือก (อันนี้จนปัญญาจริงๆ ว่ามันต้นอะไรกัน ไม่ทราบว่าท่านประธานฯ แต่งเองหรือเปล่า) มันสำปะหลัง มะละกอ (เอาลูกมะละกอดิบไปต้ม)[26]

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาสูบ

อุตสาหกรรมยาสูบ ต้องผลิตมากขึ้น ขณะนี้ผลิตได้ 40% ของผลผลิตทั่วประเทศ และส่งออกได้ 45%[27] บุหรี่เป็นสินค้าที่ทำรายได้ดีมาก ขณะนี้ยูนนานคุมตลาดทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย อากาศในมณฑลอำนวยต่อการปลูกยาสูบ ทำให้ได้ยาสูบที่มีคุณภาพดี นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมเครื่องกล เคมี การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร[28] ด้านยาสูบจะมีการลงทุนด้านเครื่องจักรผลิตบุหรี่มากขึ้น บุหรี่จีนมีชื่อเสียง 10 กว่ายี่ห้อล้วนแต่ใช้ยาสูบยูนนานทั้งนั้น ข้าพเจ้าถามถึงบุหรี่หมีแพนด้าที่เคยเห็นสมัยก่อน เขาบอกว่าผลิตน้อยจนเกือบไม่มีแล้ว[29] เดินผ่านร้านยูนนาน ดูยาสูบยูนนานซึ่งมีชื่อเสียงมาก ปีที่แล้วส่งภาษียาสูบให้รัฐบาลกลางได้ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีหลายยี่ห้อ บุหรี่มีชื่อของจีน 12 ยี่ห้อ เป็นของยูนนาน 9 ยี่ห้อ บุหรี่เมืองอี้ซีในยูนนานราคาแพงกว่าบุหรี่ต่างประเทศ (ถ้าไม่นับภาษี)[30]

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ด้านการท่องเที่ยวมาจากต่างประเทศประมาณ 520,000 กว่าคน ส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่นและยังมีประเทศในยุโรปด้วย ชาวยุโรปชอบไปท่องเที่ยวที่ทะเลสาบเทียนฉือ และเขตปกครองต้าหลี่ คนจากคุนหมิงก็เดินทางไปประเทศไทยเป็นแสนคนแล้ว อีก 15 ปีคงเป็นล้านคน ค่าเดินทางไปประเทศไทยไม่แพงเกินไปที่ชาวคุนหมิงจะจ่ายได้ คือ จ่าย 3,000 หยวน ได้ไปเที่ยวทั้งกรุงเทพฯ และพัทยา จากปักกิ่งไปฮ่องกง ไปสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย จ่าย 10,000 หยวน[31] การท่องเที่ยวของยูนนานอาศัยทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม โบราณสถานที่น่าสนใจ และประเพณีหลายหลากของชนกลุ่มน้อย ถือได้ว่ามีทรัพยากรท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ที่สุดมณฑลหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วในบรรดา 31 มณฑลและนครของประเทศรวมกัน ยูนนานถือได้ว่าเป็นอันดับที่ 7 ในด้านการท่องเที่ยวและเป็นที่ 1 ในภาคตะวันตก มณฑลที่ประสบความสำเร็จทางด้านการท่องเที่ยวส่วนมากเป็นมณฑลทางทิศตะวันออก ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฮกเกี้ยน[32] ขณะนี้การท่องเที่ยวเจริญและได้พบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มีเมืองโบราณอยู่ใต้ทะเลสาบฝู่เซียน มีโบราณวัตถุมากมาย แถวป่าหินมีร่องรอยกำแพงเมืองจีน[33]

อุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ

กำหนดให้มี 18 โครงการสำคัญ ทุกวันนี้บางโครงการพัฒนาจนมีขนาดใหญ่พอควรแล้ว เช่น โครงการ ดอกไม้สด ผลิตได้ 600 ล้านดอก ถือเป็นหนึ่งในสามของการผลิตทั่วประเทศ ฉะนั้นควรจะพัฒนาในด้านนี้เพื่อเพิ่มพูนรายได้ของประเทศให้มากขึ้น[34]

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อัญมณี และการป่าไม้

อุตสาหกรรมหลักของยูนนานขณะนี้คือ ยาสูบ แต่งานนี้จะช่วงสร้างอุตสาหกรรมใหม่คือ อุตสหกรรมการผลิตไม้ดอกต่างๆ เท่ากับเป็นการใช้ยาสูบเพื่อหลีกเลี่ยงยาสูบ

ความสัมพันธ์กับไทย

ด้านเศรษฐกิจ

ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศนั้นมีความร่วมมือกับไทยมากที่สุด ถึงแม้จะลดน้อยไปบ้างในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับผู้ใหญ่ในพรรคและในระดับรัฐบาลมณฑล ผู้ว่าราชการฯ หลี่เองไปไทย 3 ครั้ง ไปเยือนตั้งแต่เหนือจดใต้ นักท่องเที่ยวไทยก็มาที่ยูนนานมากที่สุด และคนยูนนานก็ไปเที่ยวเมืองไทยมากเช่นกัน โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือ โครงการโรงไฟฟ้าที่จิ่งหงที่ไทยเป็นผู้ลงทุน นอกจากนั้นยังมีสำนักงานของธนาคารไทย ฉะนั้นถึงแม้ว่าเกิดวิกฤติการณ์ก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังมั่นคงอยู่[35] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ขณะนั้นชาว ยูนนานยังไม่รู้จักคนไทยดีนักและคนไทยก็ยังไม่รู้จักชาวยูนนานดีนักเช่นกัน แต่เมื่อปีที่แล้วมีคนไทยมา 10,000 กว่าคน คนยูนนานเองก็ไปเมืองไทยหลายหมื่นคนต่อปี นอกจากการไปมาหาสู่กันธรรมดาๆ แล้วยังมีความสัมพันธ์ต่อกันในระดับสถานศึกษาต่างๆ หลายแห่ง มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนในยูนนานหลายกิจการ และนักธุรกิจจีนก็ไปลงทุนในประเทศไทย ฉะนั้นปีหนึ่งๆ มีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนหลายสิบคณะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคณะผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ 14 จังหวัดของไทยมาเยือน ชาวยูนนานติดต่อกับทางเหนือของไทยเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อได้พบผู้ว่าฯ จากภาคใต้ทำให้เข้าใจสถานการณ์ทางภาคใต้ของไทยดีขึ้น จะเห็นได้ว่าภายใน 10 กว่าปีมานี้ความสัมพันธ์พัฒนาดีขึ้นมาก

ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

จีนและไทยร่วมมือตกลงกันพัฒนาบริเวณแม่น้ำโขง ติดต่อกันผ่านทางพม่าและลาว มีโครงการสร้างถนนจากคุนหมิงที่ติดต่อลงมาได้ถึงเชียงใหม่ ในส่วนที่อยู่ในประเทศก็กำลังสร้างอยู่ ถ้าถนนสายนี้เสร็จแล้วจะมีประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันระหว่างประเทศแถบนี้ หวังว่าจะเสร็จใน 3-4 ปี นอกจากทางรถยนต์แล้ว มีแผนในเรื่องการปรับปรุงทางรถไฟทั้งในประเทศและนอกประเทศออกไปทางใต้ถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ทางตะวันออกถึงประเทศกัมพูชา และจะต่อออกไปถึงเวียดนามด้วย รัฐบาลไทยได้มาตั้งกงสุลใหญ่ที่คุนหมิง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีมากขึ้น ส่วนการติดต่อทางน้ำนั้น เดินทางไปได้หลายประเทศโดยผ่านแม่น้ำโขง เรื่องการคมนาคมติดต่อกันทางน้ำนี้ได้ประชุมกันมา 3 ครั้งแล้ว ยังไม่มีการตกลงกันเรื่องการเดินเรือเป็นทางการ มีแต่เรือเล็กๆ เพราะว่าท้องน้ำมีก้อนหินที่เรือใหญ่กินน้ำลึกเข้าไม่ได้ ต่อไปการขนส่งทางน้ำจะเป็นสิ่งสำคัญ [36]

Next >>